เมื่อวันศุกร์ที่ 24 มีนาคมที่ผ่านมา ท่านประธานสภาผู้แทนราษฎรสหรัฐฯ ส.ส.หนุ่มแห่งรัฐ วิสคอนซิน ผู้เคยได้รับคัดเลือกให้เป็นคู่หูในการสมัครตำแหน่งรองประธานาธิบดีคู่กับผู้สมัครตำแหน่งประธานาธิบดีมิตต์ รอมนีย์ เมื่อปี 2012 เขาคือนายพอล ไรอัน ได้รีบเดินทางด่วนไปทำเนียบขาว เพื่อรายงานให้ประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์ ทราบถึงข่าวร้าย นั่นก็คือร่างกฎหมายการรักษาพยาบาลของสหรัฐฯ (American Healthcare Act หรือ AHCA) ฉบับใหม่เอี่ยมที่จะมาแทนที่กฎหมายเดิมที่ใช้มาแล้ว 7 ปี คือ Affordable Care Act (ACA) กำลังจะถูกคว่ำในสภาล่าง ที่นายพอล ไรอัน เป็นประธานผู้ยิ่งใหญ่นั่นแหละ เพราะเสียงที่จะยกมือรับร่างกฎหมายฉบับนี้ มีไม่ถึงครึ่งหนึ่งของจำนวน ส.ส.ในสภาล่างทั้งหมด โดยมี ส.ส.ทั้งหมด 435 ที่นั่ง เพื่อให้ร่างกฎหมายนี้ผ่านสภา จะต้องได้มือสนับสนุน 218 เสียง แต่ท่านประธานสภาพอล ไรอัน หาเสียงได้ไม่ครบ
เสียงจากพรรครีพับลิกันซึ่งเป็นพรรคของท่านประธานสภาเอง และเป็นพรรคของท่านประธานาธิบดีทรัมป์เองด้วย แต่เสียงสนับสนุนร่างกฎหมายไม่ถึงครึ่งสภา เสียงของพรรคเอง คือ ส.ส.รีพับลิกันกลับหายไปเกือบ 40 คน
เสียงที่หายไป คือบรรดา ส.ส.รีพับลิกันที่อนุรักษนิยมสุดๆ พวกเขาตั้งกลุ่มที่เรียกว่า Freedom Caucus (หรือมุ้งเสรีภาพ น่าสังเกตว่าพวกฝักใฝ่หรือจุดยืนที่อนุรักษนิยมมากๆ มักชอบเรียกตัวเองว่า เป็นพวกไขว่คว้าเสรีภาพรวมทั้งเป็นชื่อพรรคที่อนุรักษ์ หรือขวาตกขอบของยุโรป เช่น Freedom Party ของฮอลแลนด์, ออสเตรีย เป็นต้น ทั้งๆ ที่พวกเขาจะยืนอยู่ตรงข้ามกับพวกเสรีนิยม คือลิเบอรัล และพวกฝักใฝ่ฟรีด้อมมักชอบเผด็จการที่จะปิดกั้นเสรีภาพของกลุ่มอื่นๆ ในสังคม) เป็นกลุ่มที่ประกอบไปด้วย ส.ส.รีพับลิกันที่มักจะมาจากรัฐที่ไม่ใช่อุตสาหกรรมสมัยใหม่ประเภทไอที ; มักเป็น ส.ส.จากรัฐที่ทำเกษตรกรรมที่อยู่ทางตอนกลาง หรือห่างไกลเมืองใหญ่ๆ เช่น เนวาดา, ไอดาโฮ, ไวโอมิง และรัฐทางตอนใต้ เช่น โอกลาโฮมา เป็นต้น
มุ้งเสรีภาพนี้ไม่ชอบร่างกฎหมายของประธานาธิบดีทรัมป์ ซึ่งผู้ร่างจริงๆ ก็คือส.ส.พอล ไรอัน นั่นเอง เพราะในร่างนี้ จะทำให้ประชาชนที่ซื้อประกันของโอบามาแคร์ จะถูกตัดออกจากการประกันทันทีถึง 20 ล้านคน อันนี้ก็จะกระทบต่อฐานเสียงของพวก ส.ส.ที่ต้องลงเลือกตั้งในปีหน้า (2018) เพราะเขาเลือกตั้ง ส.ส.กันทุก 2 ปี พวก ส.ส.ในมุ้งเสรีภาพเกรงมากว่าตัวเองจะไม่ได้กลับมาเป็น ส.ส.อีก ความจริงพวก ส.ส.มุ้งเสรีภาพนี้ ก็อยากให้ยกเลิกโอบามาแคร์ (ACA) ทั้งหมด เพราะรัฐบาลกลางต้องแบกค่าใช้จ่ายมหาศาล และบริษัทประกันก็ไปคิดเบี้ยประกันสูงขึ้นในลูกค้าที่เป็นชนชั้นกลาง
พวกเขาต่อรองกับประธานาธิบดีทรัมป์ เพื่อจะชะลอการตัดพวกคนจนออกจากระบบประกันทันที ซึ่งการเจรจาต่อรองกับประธานาธิบดีทรัมป์เกิดขึ้นจนถึงวันพฤหัสบดีที่ 23 มีนาคม
ประธานาธิบดีทรัมป์ ได้เคยประกาศเมื่อช่วงหาเสียง 1 ปีครึ่งที่ผ่านมา ว่าเขาจะยกเลิกโอบามาแคร์ (ACA) ในวันแรกที่เขามารับตำแหน่ง ซึ่งเขาก็ต้องทำตามคำสัญญานี้ให้ได้ ทั้งๆ ที่เวลาเพิ่งผ่านไปเพียง 17 วันหลังนายพอล ไรอัน ได้เปิดตัวร่างกฎหมายฉบับนี้
17 วันนับเป็นเวลาที่สั้นมากสำหรับการทำความเข้าใจกับร่างกฎหมายที่ยุ่งยากซับซ้อน และต้องพยายามไปเปรียบเทียบกับกฎหมาย ACA ที่กำลังใช้อยู่ในปัจจุบัน
นายทรัมป์ ก็คือนายทรัมป์ ลูกเศรษฐีนักพัฒนาอสังหาริมทรัพย์แห่งควีนส์ที่นิวยอร์ก และเขาเป็นนักธุรกิจอสังหาที่เขี้ยวมากๆ เคยแต่ใช้วิธีข่มขู่ (Bully) ในการเจรจาต่อรองมาตลอด กล้าได้กล้าเสียชนิดเดิมพันหมดตัว หนนี้เขาก็ใช้วิธียื่นคำขาด (Ultimatum) ว่าส.ส.ในมุ้งเสรีภาพจะ Take It หรือ Leave It ถ้าจะไม่สนับสนุนร่างกฎหมายนี้เขาจะหมายหัวเอาไว้เลย ขนาดนายสตีฟ แบนนอนได้ออกมาร่วมข่มขู่ผ่านรายการสัมภาษณ์ทางโทรทัศน์ว่าจะจัดทำ Shit-List สำหรับหมายหัว เป็นบัญชีบนหนังสุนัขว่าใครคือศัตรูของทรัมป์ ซึ่งก็จะต้องมีผลต่อไป ไม่ว่าจะเป็นงบประมาณ และเรื่องโครงการต่างๆ ที่บรรดา ส.ส.ใน Shit-List จะตกที่นั่งลำบากถ้าประกาศเป็นศัตรูของทรัมป์
วันพฤหัสบดีที่ 23 มีนาคม เป็นวันที่ทรัมป์เกิดโมโหมาก และประกาศจะตัดเป็นตัดตายกับ ส.ส.มุ้งเสรีภาพ เพื่อเร่งให้พวก ส.ส.เหล่านี้วิ่งมาสนับสนุนร่างกฎหมายนี้
แต่ปรากฏว่าลองนับมือสนับสนุนกันหลายรอบก็ยังไม่ครบถึง 218 เสียง
ทั้งๆ ที่ ส.ส.รีพับลิกันเป็นเสียงข้างมากในสภา และไม่ต้องการเสียงของ ส.ส.พรรคเดโมแครตแม้แต่เสียงเดียวก็น่าจะชนะได้
ทั้งๆ ที่บรรดา ส.ส.รีพับลิกันทั้งหลายต่างแสดงความไม่พอใจและต้องการล้มกฎหมายโอบามาแคร์ (ACA) มาตลอด 7 ปีที่ผ่านมา (เมื่อครั้งโอบามาเสนอร่างกฎหมาย ACA เข้าสภาและผ่านออกมาอย่างทุลักทุเลเมื่อ 2010 นั้น ไม่มีมือของ ส.ส.รีพับลิกันแม้แต่เสียงเดียวที่ยกให้แก่กฎหมายนี้)
แต่ไม่มีการเตรียมร่างกฎหมายที่อยากให้มาแทนที่โอบามาแคร์เลย ความไม่พร้อมมีอยู่มาก และก็เป็นประเภทดีแต่พูดโจมตีกฎหมายของโอบามา แต่ไม่ยอมทำการบ้าน
สรุปว่า นายพอล ไรอัน ได้ไฟเขียวนาทีสุดท้ายจากประธานาธิบดีทรัมป์ ให้เลื่อนการลงคะแนนซึ่งได้เลื่อนมาแล้ว 1 หน สุดท้ายก็คงต้องถอนร่างนี้ออกไป
นับเป็นการเสียความน่าเชื่อถือของประธานาธิบดีทรัมป์ ที่บอกว่าตัวเองเป็นยอดนักเจรจาต่อรอง แต่หนนี้ล้มเหลวไม่เป็นท่า แล้วยังมาใช้ไม้แข็งประกาศยื่นคำขาด ก็เลยตกม้าตายอย่างเขียด
พาลไปถึงเอาความน่าเชื่อถือของท่านประธานสภาพอล ไรอัน ที่ลงทุนร่างกฎหมายด้วยตนเอง และเวลามาเปิดตัวก็ถึงกับถลกแขนเสื้อเชิ้ตขึ้นทั้ง 2 แขน เพื่อแสดงว่ากำลัง “ลุย” จนตอนนี้มีเสียงเรียกร้องว่าเขาควรลาออกจากตำแหน่งประธานสภาด้วย เพราะแพ้กฎหมายด้านการเงิน และมันน่าขยายผลไปถึงปี 2020 ที่นายพอลวางแผนจะลงสมัครประธานาธิบดีด้วย
เรื่องนี้สอนให้รู้ว่า การเป็นนักธุรกิจที่อาจจะดูมั่งคั่งและประสบความสำเร็จมาบ้าง แต่ไม่ใช่ว่าจะนำการต่อรอง ข่มขู่ทางธุรกิจมาใช้กับการบริหารบ้านเมือง ; ตลอดจนการฟันธงว่า ตนจะทำสำเร็จได้ในเวลาสั้นๆ กับปัญหาที่ซับซ้อน เราก็เคยเห็นประเทศที่หาเสียงจะแก้ปัญหาจราจรใน 6 เดือน แล้วก็ล่มไม่เป็นท่า หรือการจะเลิกนำเงินเข้ากองทุนน้ำมันจนราคาน้ำมันจะถูกลง...ก็ล่มเช่นกัน รวมทั้งจะทำราคาข้าวให้สูงในตลาดโลก ด้วยการรับจำนำข้าวสารทุกเมล็ด ทำเอาราคาข้าวมีแต่ตกเอาๆ
เพราะกลายเป็นว่าเรามี “ภูเขาข้าว” สูงเสียดฟ้า น่าอนาถใจนัก.