xs
xsm
sm
md
lg

ผู้จัดการสุดสัปดาห์

x

ปลุกผีขุด”คลองไทย” ภาคต่อของ “คอคอดกระ” ภารกิจที่ยังไม่สำเร็จของนายหน้าจีน

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

ภาพที่สำนักข่าวออนไลน์หลายแห่งรายงานอ้างว่า พลเอก ชวลิต ยงใจยุทธและ China-Thailand Kra Infrastructure Investment & Development ลงนามร่วมกันใน MOU โครงการขุดคอคอดกระที่กว่างโจว ประเทศจีน เมื่อวันที่ 15 พ.ค. 2558
ผู้จัดการสุดสัปดาห์ - น่าจับตากลุ่มสมาชิกสภาขับเคลื่อนการปฏิรูปประเทศไทย หรือ สปท.สายทหาร นำโดย “บิ๊กเยิ้ม” พล.อ.ธวัชชัย สมุทรสาคร ที่ยังไม่ละความพยายามในการปลุกผีโครงการขุด “คลองไทย” เชื่อมทะเลอันดามันและอ่าวไทย ทั้งๆ ที่คณะผู้นำรัฐบาล ทั้งพล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และพล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม ตอกฝาโลงโครงการนี้แล้วว่า ไม่เอาๆ

แต่ “บิ๊กเยิ้ม” ก็ยังเดินหน้า ทั้งยังดึงเอาพล.อ.พงษ์เทพ เทศประทีป ในฐานะนายกกิตติมศักดิ์สมาคมการค้าและอุตสาหกรรมไทย-จีน เข้ามาร่วมเป็นทัพหน้า ช่วยผลักดันโครงการนี้ โดยอาจมีความหวังลึกๆ ว่าชื่อชั้นของพล.อ.พงษ์เทพ จะทำให้รัฐบาลพล.อ.ประยุทธ์ หันมาให้ความสนใจอภิมหาโครงการที่ผ่านการปลุกปล้ำกันมากว่า 3 ศตวรรษแล้วอีกครั้ง

ความเคลื่อนไหวปลุกผีขุดคลองไทยที่เกิดขึ้นในรอบนี้ สปท.สายทหาร งัดยุทธวิธี “ป่าล้อมเมือง” คือ ไปเปิดเวทีรับฟังความคิดเห็นของคนในพื้นที่ ทำพิธีกรรมรวบรวมข้อมูล รับฟังความคิดเห็น พร้อมกับล่ารายชื่อประชาชนผู้สนับสนุน โดยตั้งเป้าให้ได้กว่า 100,000 รายชื่อ เพื่อนำมายื่นเสนอต่อรัฐบาลเพื่อให้เดินหน้าศึกษาข้อดีและข้อเสียของโครงการต่อไป

การเดินสายของ กลุ่ม สปท. สายทหาร เริ่มมีการจัดเวทีรับฟังความเห็นของคนในพื้นที่ เช่น เมื่อวันที่ 11 กุมภาพันธ์ 2560 เปิดเวทีรับฟังความคิดเห็นและรับฟังข้อเสนอแนะโครงการคลองไทย หัวใจของชาติ (คลองไทย 9 A) ที่โรงแรมชัยคณาธานี อ.เมืองพัทลุง จ.พัทลุง โดยมีอดีตสมาชิกวุฒิสภา อดีตสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร หัวหน้าส่วนราชการ ตัวแทนภาคเอกชน ตัวแทนนักธุรกิจ/หอการค้า ตัวแทนนักการเมืองท้องถิ่น ประชาชน นักเรียน นักศึกษา ของจังหวัดพัทลุงเข้าร่วมกิจกรรมประมาณ 300 คน

จากนั้น เมื่อวันที่ 12 มีนาคม 2560 จัดเวทีเสวนาเรื่อง ชาวนครศรีธรรมราชคิดอย่างไรกับการให้รัฐบาลแต่งตั้งคณะกรรมการศึกษาความเป็นไปได้ของการขุดคลองไทย แนว9 A และบรรยายพิเศษ ในหัวข้อ คลองไทย (คลองคอดกระ ) หัวใจของชาติ ที่ห้องประชุมโรงแรมราวดี อ.เมือง จ.นครศรีธรรมราช โดยมีนายวันชัย คงเกษม ผู้ว่าราชการจังหวัดพัทลุง หัวหน้าส่วนราชการ ภาคเอกชน นักธุรกิจ ประชาชน นักเรียน นักศึกษา และผู้สนใจจากหลายจังหวัดในภาคใต้นับพันคนเข้าร่วมรับฟังและร่วมแสดงความคิดเห็น

"อยากให้เกิดโครงการนี้ แต่ต้องมีการศึกษาอย่างลึกซึ้ง ถึงข้อดี ข้อเสีย ให้เกิดผลกระทบต่อประชาชนน้อยที่สุด แม้ว่าผลประโยชน์ของประเทศชาติ จะมาก่อนก็ตาม หลายส่วนขานรับโครงการคลองไทย จึงได้จัดสัมมนารับฟังความคิดเห็นจาก 3 ส่วน ทั้งฝ่ายประชาชน ฝ่ายวิชาการ และฝ่ายบริหาร สรุปข้อมูลส่งให้รัฐบาล พิจารณาว่า จะจัดทำโครงการคลองไทยหรือไม่ ส่วนตัวคิดว่าโครงการเริ่มดำเนินการในวันนี้ มีความล่าช้ามากแล้ว แต่ไม่ควรช้าไปกว่านี้" พล.อ.พงษ์เทพ กล่าวในเวทีรับฟังความเห็นที่จ.นครศรีธรรมราช

และในวันที่ 25-26 มีนาคม 2560 คณะของ “บิ๊กเยิ้ม” จะไปเปิดเวทีที่มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ วิทยาเขตหาดใหญ่ จังหวัดสงขลา

                เนื้อหาหลักๆ ในการเร่ขายฝัน ก็ไม่แตกต่างจากที่เคยโหมประโคมกันไปว่า โครงการนี้เป็นลอจิสติกส์ทางทะเลที่ใหญ่มาก เชื่อมต่อระหว่างอันดามันกับอ่าวไทย ประเทศไทยอยู่ในภูมิศาสตร์ ที่มีความได้เปรียบมาก ไม่ควรห่วงเรื่องความมั่นคง เพราะมีกองทัพเรือที่เข้มแข็ง และไม่ต้องห่วงแหล่งเงินลงทุน เพราะมีหลายประเทศทั้งใหญ่และเล็กได้ประโยชน์จากโครงการนี้

แนวคิดการขุดคลองผ่านคอคอดกระ มีมาตั้งแต่ปีมะโว้ ในรัชสมัยของพระบาทสมเด็จพระนารายณ์มหาราชแล้ว และโครงการขุดคอคอดกระ ก็ถูกหยิบยกขึ้นมาเป็นความฝันอันยิ่งใหญ่ของประเทศไทย มาตลอด โดยนักการเมืองและผู้มีอำนาจที่ชูโครงการนี้ขึ้นมา เช่น พล.อ.ชาติชาย ชุณหะวัณ, นายสมัคร สุนทรเวช, พล.อ.ชวลิต ยงใจยุทธ, นายพินิจ จารุสมบัติ, นายโภคิน พลกุล และ พล.ท.หาญ ลีลานนท์ เป็นต้น

โดยข้อเสนอในการขุดคอคอดกระที่มีการศึกษากันไว้ที่ผ่านๆ มามีอยู่ 2 แนว คือ แนว 5A (สตูล-สงขลา) จากการศึกษาของบริษัท TAMS เมื่อปี 2516 และแนว 9A จากการศึกษาของคณะกรรมาธิการวิสามัญเพื่อศึกษาความเป็นไปได้ของโครงการขุดคอคอดกระ (คลองไทย) วุฒิสภา ในปี 2548

สำหรับแนวที่เป็นไปได้มากที่สุด คือ แนว 9A ที่คณะของ "บิ๊กเยิ้ม" ผลักดันอยู่ในเวลานี้ จะขุดในพื้นที่คาบเกี่ยว 5 จังหวัด คือ จาก ระโนด สงขลา-ควนขนุน พัทลุง- นครศรีธรรมราช-กันตัง ตรัง-อ่าวน้อยกระบี่ โดยอ้างว่าเป็นเส้นทางที่ส่งผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมและสภาพป่าน้อยที่สุด ส่วนการลงทุนจะเป็นการร่วมทุนของหลายชาติ โดยเฉพาะ จีน เกาหลี ญี่ปุ่น สเปน สิงคโปร์ โดยใช้เงินทุนราว 48,000 เหรียญสหรัฐฯ ซึ่งคาดว่าจะใช้เวลาขุด 6 ปี

แผนของโครงการยังจะมีการนำดินที่ได้จากการขุดคลองไทยไปถมทำเกาะเทียม 2 เกาะ ที่ฝั่งอ่าวไทย คือที่ จ.สงขลา และฝั่งอันดามัน ที่ จ.กระบี่ โดยจะเรียกว่าเป็น "เกาะเหนือ" และ "เกาะใต้" โดย เกาะเหนือ ถมเกาะได้พื้นที่ 83 ตร.กม. เพื่อทำเป็นแหล่งท่องเที่ยว พิพิธภัณฑ์ทะเล สนามกอล์ฟ โรงแรม จัดทำเป็น "เขตเศรษฐกิจพิเศษ" ส่วนเกาะใต้ ฝั่งอันดามันที่กระบี่ จะถมเกาะได้พื้นที่ 84 ตร.กม. ทำท่าเรือน้ำลึก โซนลอจิสติกส์ สถานีขนส่ง และคลังสินค้า

นอกจากนั้น ยังจะสร้างสะพานเชื่อม 2 ฝั่งของ "คลองไทย" จำนวน 4 สะพาน และ 5 อุโมงค์ โดยเป็นสะพานแขวน สำหรับรถยนต์และสะพานรูปโค้ง ด้านบนสำหรับรถไฟสายใต้ และอุโมงค์ลอดใต้คลองสาขา ถนน 3 ช่องจราจรแยกไปกลับ การขุด "คลองไทย" จะทำให้สามารถลดระยะเวลาเดินทางได้ 700 กม. หรือราว 40 ชม.

เรียกว่าวาดฝันกันไว้สวยหรูจริงๆ

ที่ผ่านมา กระแสปลุกโครงการนี้ ที่ฮือฮากันมากๆ ก็คราวที่มีข่าวเมื่อปี 2558 ว่า จีนและไทยได้มีการลงนาม MOU ให้มีการศึกษาโครงการขุดคอคอดกระ ที่กว่างโจว ประเทศจีน เมื่อวันที่ 15 พฤษภาคม 2558 โดยมีรูป พล.อ.ชวลิต ยงใจยุทธ อดีตนายกรัฐมนตรี ร่วมลงนามเผยแพร่ไปตามสังคมออนไลน์ ซึ่งต่อมาโฆษกกระทรวงการต่างประเทศจีนแถลงปฏิเสธรายงานข่าวดังกล่าว และหลังจากนั้น พล.อ.ชวลิต ยงใจยุทธ ก็ออกมาแถลงปฏิเสธด้วยเช่นกัน
แนว 9A ผ่าน 5 จังหวัด โครงการขุดคลองไทย
พล.อ.ธวัชชัย สมุทรสาคร
หลังจากนั้น ในช่วงต้นเดือนตุลาคม 2558 ก็มีกระแสข่าวรัฐบาลจีนสนใจโครงการขุดคอคอดกระขึ้นมาอีก โดยสื่อจีน CCTV ได้เผยแพร่รายงานพิเศษเรื่องเส้นทางสายไหมสู่อนาคต ตอนที่ 2 ว่ารัฐบาลจีน มีโครงการศึกษาความเป็นไปได้เกี่ยวกับการขุดคอคอดกระของไทยเพื่อเปิดเส้นทางการเดินเรือใหม่โดยตัดผ่านคอคอดกระ แต่จากการตรวจสอบข่าวของหลายฝ่าย พบว่ามีความคลาดเคลื่อนและรัฐบาลจีนไม่มีส่วนเกี่ยวข้องใดๆ   

ถึงแม้รัฐบาลจีนจะออกตัวว่าไม่มีส่วนเกี่ยวข้อง แต่ในทางความเป็นจริงก็คือ มีการเดินหน้าผลักดันโครงการนี้ผ่านทางภาคเอกชนของจีนอย่างต่อเนื่อง ดังเช่นที่เกิดขึ้นในเวลานี้ ที่ดำเนินการผ่านสมาคมการค้าและอุตสาหกรรมไทย-จีน โดยมี พล.อ.พงษ์เทพ เป็นทัพหน้า

ขณะที่เมื่อปี 2559 ที่ผ่านมา มีความเคลื่อนไหวผ่านสมาคมวัฒนธรรมและเศรษฐกิจไทย-จีน ที่มีนายโภคิน พลกุล นั่งเป็นนายกสมาคม เพราะจะว่าไปหากโครงการนี้สำเร็จได้ ประเทศที่ได้ประโยชน์มากกว่าใครก็คือจีน เพราะช่วยร่นระยะเวลาในการขนส่งน้ำมันจากตะวันออกกลางไปยังจีน

แต่ไม่ว่าภาคเอกชนจีนในสมาคมใดก็ตามจะเป็นสปอนเซอร์ ก็ล้วนแต่ใช้บริการ "บิ๊กเยิ้ม" ท.ทหารด้วยกันกับบิ๊กตู่และบิ๊กป้อม เป็นหัวหมู่ทะลวงฟัน และอีกคนคือ "บิ๊กหาญ" พล.อ.หาญ ลีลานนท์ อดีตแม่ทัพภาค 4 ที่นั่งแท่นเป็นประธานที่ปรึกษาโครงการศึกษาคลองไทย ของ สปท.

"..... ผมสนับสนุนโครงการนี้ โดยไม่ได้มีผลประโยชน์ใดๆ แต่เพราะสนับสนุนมานานแล้ว ก็ยังไม่มีรัฐบาลใดกล้าที่จะตัดสินใจทำเพื่ออนาคตของประเทศและลูกหลาน โดยมีผลการศึกษาข้อดีข้อเสียให้พิจารณา ผมจึงเชื่อว่าในอนาคตเมื่อมีการขุดคลองไทยนี้ขึ้นมาได้สำเร็จเศรษฐกิจประเทศไทยจะก้าวหน้า และไทยเราจะเป็นพี่ใหญ่ในอาเซียน คนไทยมีงานทำมากมาย จะมั่นคง มั่งคั่ง และยั่งยืน รัฐบาลของท่านจะไม่ "เสียของ" แล้ว วันนั้นทุกคนจะเรียกติดปากว่า "คลองประยุทธ์" เลยทีเดียว" พล.อ.หาญ กล่าวไว้เมื่อคราวเสนอเรื่องต่อพล.อ.ประยุทธ์ เมื่อปีที่ผ่านมา ก่อนจะถูกตีตกไป

 ถึงแม้คณะขายฝันจะคาดการณ์ว่าโครงการคลองไทย จะให้ประโยชน์ด้านการขนส่ง การสร้างงาน สร้างเศรษฐกิจ แต่ปัญหาที่ถกกันไม่จบ และจะกลายเป็นความขัดแย้งรุนแรงนอกจากประเด็นเรื่องความมั่นคงแล้ว ยังมีเรื่องผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อม ซึ่งเป็นปัญหาใหญ่ของการดำเนินโครงการขนาดใหญ่ทุกโครงการในขณะนี้

อย่าลืมว่า การขุดคลองไทย นอกจากจะต้องเวนคืนที่ดินและอพยพประชาชนครั้งใหญ่แล้ว รายงานการศึกษาด้านสิ่งแวดล้อม โดย ดร.เปี่ยมศักดิ์ เมนะเศวต และคณะ เมื่อปี 2542 ยังชี้ว่าจะส่งผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมที่สำคัญ เช่น การแลกเปลี่ยนมวลน้ำด้านอ่าวไทยกับทะเลอันดามัน, ปัญหาการรุกล้ำของน้ำเค็มเข้าไปในแผ่นดิน, ปัญหาการกระจายของตะกอนจากการขุดร่องน้ำ, ปัญหาการทำลายปะการัง สาหร่ายและหญ้าทะเล และปัญหาการบุกรุกป่าชายเลน โดยแนว 9A นั้นจะส่งผลกระทบโดยตรงต่อแหล่งท่องเที่ยวฝั่งอันดามัน แหล่งหญ้าทะเล แหล่งอาศัยของปลาพะยูน และผลกระทบต่อลุ่มน้ำปากพนัง

ถ้ายังนึกไม่ออกว่า หากเดินหน้าโครงการนี้จะเกิดแรงต่อต้านมากน้อยเพียงไหน ก็ขอให้ดูตัวอย่างโครงการโรงไฟฟ้าถ่านหินกระบี่ ที่การไฟฟ้าฝ่ายผลิตฯ และรัฐบาล กำลังเผชิญหน้ากับการคัดค้านอยู่ในเวลานี้ และนี่คงเป็นเหตุผลสำคัญที่ทำให้พล.อ.ประวิตร และ พล.อ.ประยุทธ์ ปิดประตูตาย

“ในฐานะที่ดูแลด้านความมั่นคง ตนเคยพูดไปหลายครั้งในเรื่องนี้ ถ้าเสนอมาใหม่ก็ยังยืนยันเหมือนเดิมว่าไม่เอา ไปทำเรื่องอื่นก่อนดีกว่า เรื่องนี้ใครจะทำก็ทำไป แต่ตนไม่คิด เพราะเดี๋ยวมีปัญหานำไปสู่ความขัดแย้งอีก เนื่องจากมีทั้งคนเห็นด้วยและไม่เห็นด้วย เพราะฉะนั้นก็ไม่ต้องทำ เป็นแบบนี้ดีอยู่แล้ว เงินก็คงไม่ได้เพิ่มอะไรมากขึ้นนัก ส่วนเรือขนส่งวิ่งอ้อมไปไกลหน่อย ก็ไม่เป็นไร ไม่เสียหาย ทั้งนี้ขอยืนยันว่าเรื่้องดังกล่าวไม่ได้เป็นนโยบายจากทั้งรัฐบาลและ คสช. เพราะถ้าอะไรที่ไปกระทบกับความมั่นคงก็ไม่ดี” บิ๊กป้อม เคยให้สัมภาษณ์เมื่อคราว สปท.สายทหาร ดันโครงการนี้ขึ้นมาเมื่อเดือนพฤษภาภาคม 2559

และเพียงแค่มีการเคลื่อนไหว สปท.สายทหาร ไปจัดเวทีรับฟังความเห็นในพื้นที่ในเวลานี้ ดร.ธรณ์ ธำรงนาวาสวัสดิ์ คณบดีคณะประมง มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ ก็ออกมาเสนอประเด็นผ่านเฟซบุ๊กส่วนตัว Thon Thamrongnawasawat ตั้งคำถามให้คณะผู้เสนอโครงการตอบสังคม โดยใช้หลักการพัฒนาอย่างยั่งยืน SD หรือ Sustainable Development - สร้างประโยชน์ให้สูงสุด ลดผลกระทบให้มากสุด

คำถามใหญ่อันดับแรก คือ คลองดังกล่าวสอดคล้องกับแผนพัฒนาชาติหรือไม่ ? สอดคล้องกับยุทธศาสตร์ไหน แผนพัฒนาอย่างยั่งยืน 15 ปี ยุทธศาสตร์ชาติ 20 ปี ฯลฯ ซึ่งผู้เสนอโครงการคงจะต้องทำการบ้านตรงนี้ เท่าที่ทราบ รัฐบาลกำลังเน้น SEA (Strategic Environmental Assessment) เท่าที่อ่านหรือไปประชุม SEA ระบุให้ภาคใต้เน้นหนักเรื่องการท่องเที่ยวแบบยั่งยืน ซึ่งก็สอดคล้องกับสถานการณ์ที่เป็นอยู่ในปัจจุบัน

การสร้างเขตพัฒนาขนาดใหญ่ ทั้งลอจิสติกส์ ฯลฯ ยังหมายถึงการใช้พลังงานมหาศาล โดยเฉพาะพลังงานไฟฟ้า ซึ่งแค่นี้ภาครัฐก็บอกว่าภาคใต้จะไม่พอแล้ว จะสร้างโรงไฟฟ้าก็ยังไม่แน่อยู่เลย แล้วเราจะเอาไฟฟ้ามาจากไหน ? นั่นเป็นตัวอย่างคำถาม ยังมีเรื่องแรงงาน ฯลฯ

มาถึงเรื่องความคุ้มค่า เมื่อกล่าวถึงคลองไทย หลายคนอาจคิดถึงคลองสุเอซหรือคลองปานามา ซึ่งเป็น 2 คลองหลักของโลก

คลองสุเอซลดระยะทางได้ 7,000 กิโลเมตร คลองปานามาลดระยะทางประมาณ 14,500 กิโลเมตร คลองไทยลดระยะทาง 700 กิโลเมตร ตัวเลขที่แตกต่างมีความหมายอย่างยิ่ง การลดระยะทางได้มาก หมายถึงเรือยินดีจ่ายเงินเพราะคุ้มต่อค่าน้ำมันและเวลา แต่ถ้าลดได้ 700 กิโลเมตร จะลดได้กี่บาท (คิดเป็นต่อคอนเทนเนอร์) เรือจะยินดีจ่ายกี่บาท ?

นั่นคือคำถามสำคัญ เพราะจะเกี่ยวข้องกับรายได้ของเรา (หรือผู้ลงทุน) เนื่องจากค่าลงทุนมหาศาลถึง 1.68 ล้านล้านบาท เฉพาะดอกเบี้ยก็คงมหาศาล ถ้าเราเก็บจากเรือที่ผ่านคลองได้ไม่มาก อาจทำให้ไม่คุ้มค่า

คำถามต่อไปเกี่ยวกับสิ่งแวดล้อม ข้อเสนอโครงการที่บอกว่าเส้นทาง 9A จะมีผลกระทบกับสิ่งแวดล้อมน้อยที่สุด เรื่องนี้คงต้องเพิ่มเติมคำอธิบาย เหตุผลคือเส้นทางมาที่กระบี่ บริเวณนี้เป็นเขตรวมเศรษฐกิจท่องเที่ยวหลักของภาคใต้ (กระบี่-ภูเก็ต-พังงา) เป็นคลัสเตอร์ท่องเที่ยวสำคัญที่สุดของไทย (รองจากกรุงเทพ) นอกจากนี้ รัฐบาลยังประกาศพื้นที่คุ้มครองสิ่งแวดล้อม ทั้งจังหวัดกระบี่ ภูเก็ต และพังงา

ผู้เสนอคงต้องตอบให้ชัดเจนว่า ถ้ามีผลกระทบน้อยสุดเมื่อเทียบกับเส้นทางอื่น แล้วรัฐบาลจะประกาศพื้นที่คุ้มครองสิ่งแวดล้อมทั้ง 3 จังหวัดทำไม ? คงต้องทำตารางเปรียบเทียบ ให้น้ำหนักในแต่ละด้าน เพื่อมาดูให้จริงจังว่าเส้นทาง 9A ที่มีผลกระทบน้อยที่สุด มันมีหลักการและเหตุผลอย่างไร ? เกาะลันตาที่ตั้งอยู่ปากคลองเต็มๆ จะมีผลกระทบมากน้อยแค่ไหน ? สุดท้ายคือการสร้างเกาะเทียม แต่ละเกาะขนาด 83 ตารางกิโลเมตร เรื่องนี้ต้องว่ากันอีกยาว ....

ขายฝันกันต่อไป อภิมหาโครงการ "คลองไทย" ตราบใดที่ภารกิจนายหน้าจีนยังไม่บรรลุผล

 
 


กำลังโหลดความคิดเห็น