xs
xsm
sm
md
lg

ผู้จัดการสุดสัปดาห์

x

สงคราม : อูเบอร์ VS แท็กซี่มิเตอร์ ม.44 มีไว้ทำไม?

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

กลุ่มแท็กซี่มิเตอร์ รวมตัวยื่นหนังสือร้องเรียนต่อกระทรวงคมนาคมขอให้ยุติ อูเบอร์ - แกร็บคาร์  เมื่อวันที่ 20 มี.ค. ที่ผ่านมา
“คนขับแท็กซี่กับคนขับอูเบอร์อาจมีการปะทะกันบนท้องถนน!”

ผู้จัดการสุดสัปดาห์ - นั่นคือคำกล่าวตอนหนึ่งของ สนิท พรหมวงษ์ อธิบดีกรมการขนส่งทางบก เมื่อครั้งประชุมหารือแนวทางการให้บริการอูเบอร์ในประเทศไทยช่วงสัปดาห์ที่ผ่านมา แสดงความกังวลใจและเป็นห่วงความรุนแรงที่อาจเกิดขึ้นจากกรณีพิพาทของกลุ่มแท็กซี่มอเตอร์ที่ออกมาเรียกร้องให้ภาครัฐดำเนินการขั้นเด็ดขาดกับอูเบอร์

ประเด็นดังกล่าวยืดเยื้อมาหลายปี ขณะเดียวกัน ยังไม่มีบทสรุปว่าจะดำเนินการในทิศทางใดแม้มีการเรียกผู้เกี่ยวข้องประชุมหารืออยู่หลายครั้ง กระทั่งล่าสุดความชัดเจนก็ยังไม่ปรากฏ

ส่วนสถานการณ์ตอนนี้ภาครัฐยังคงปราบปรามอูเบอร์ฐานกระทำผิดตาม พระราชบัญญัติรถยนต์ พ.ศ. 2522 ในปฏิบัติการล่อซื้อ จับปรับเงิน ปรับทัศนคติ ฯลฯ แต่ในส่วนของผู้บริโภคยังคงพึงพอใจเรียกใช้บริการอูเบอร์ต่อไป แม้ทราบว่าดีว่าอูเบอร์ยังให้บริการอย่างผิดกฎหมายก็ตาม เช่นเดียวกัน ผู้ขับอูเบอร์ยังคงตระเวนรับส่งผู้โดยสารตามจุดหมายปลายทางต่อไปแม้อาจโดนจับก็ตาม

สำหรับข้อสรุปเบื้องต้นจากการประชุมในครั้งนี้ กระทรวงคมนาคมได้ขอร้องให้อูเบอร์หยุดบริการเป็นเวลา 6 เดือน - 1 ปี ซึ่งระหว่างนี้จะศึกษาแนวทางการกำกับดูแลทั้งด้านมาตรฐานยานพาหนะ การคุ้มครองผู้โดยสาร ผู้ขับขี่ การเสียภาษี ฯลฯ นำสู่การปรับแก้กฎหมายทั้งกฎหมายขนส่งทางบกและสรรพากรรองรับบริบทของยุคสมัย

แต่ทางอูเบอร์ยืนยันว่าไม่สามารถรับข้อเสนอดังกล่าวได้ กลายๆ ว่า “อูเบอร์จะไม่ยอมหยุดวิ่ง”

เอมี่ กุลโรจน์ปัญญา ผู้อำนวยการอาวุโส ฝ่ายนโยบายรัฐสัมพันธ์และสื่อสารองค์กร ประจำภูมิภาคเอเชียแปซฟิก อูเบอร์ กล่าวย้ำชัดว่า อูเบอร์จะยังให้บริการต่อไป ในระหว่างที่รัฐบาลไทยศึกษาแนวทาง โดยให้เหตุผลว่าทางบริษัทต้องรับผิดชอบผู้โดยสารและผู้ขับขี่ที่ความต้องการใช้บริการแอปพลิเคชั่นอูเบอร์ นอกจากนี้ ประเทศไทยเป็นประเทศเดียวในอาเซียนที่มีปัญหาเรื่องบริการอูเบอร์ ซึ่งประเทศอื่นๆ ออกกฎหมายรองรับตลอดจนทำการศึกษาเพื่อปรับแก้กฎหมายไปแล้ว การที่อูเบอร์ยังไม่ได้รับการรองรับตามกฎหมายไทยนั้นตีความได้สองประเด็น หนึ่ง - เป็นสิ่งผิดกฎหมาย และสอง - เป็นโอกาสทางการทำธุรกิจบริการและพัฒนากฎหมายของประเทศ
เอมี่ กุลโรจน์ปัญญา ผู้อำนวยการฯ อูเบอร์ ประจำภูมิภาคเอเชียแปซฟิก ประกาศจุดยืนอูเบอร์จะยังให้บริการต่อไป
ผู้อำนวยการฯ อูเบอร์ กล่าวต่อไปว่า ที่ผ่านมาอูเบอร์ได้ให้การช่วยเหลือตลอดจนให้คำปรึกษาผู้ขับขี่ของอูเบอร์ ที่ต้องเผชิญกับปัญหาการต่อต้านจากแท็กซี่ท้องถิ่นรวมถึงการโดนเจ้าหน้าที่รัฐจับกุม และยืนยันว่าทางอูเบอร์พร้อมที่จะสนับสนุนงบประมาณในการศึกษาของรัฐบาลไทยในการศึกษาเพื่อส่งเสริมระบบขนส่งสาธารณะให้สามารถตอบสนองต่อรายได้ประชากร ความปลอดภัย และเศรษฐกิจของประเทศ

"อูเบอร์ยินดีมากที่กระทรวงคมนาคมเดินหน้าศึกษาความเป็นไปได้เพราะว่ากฎหมายของไทยยังไม่มีการรองรับบริการ Car - Sharing ซึ่งเป็นเรื่องของเทคโนโลยีและรูปแบบบริการสมัยใหม่ที่ไม่เหมือนกับบริการรถแท็กซี่"

ขณะที่ “กลุ่มแท็กซี่มิเตอร์” ได้สวมบท “ผู้ถูกกระทำ” ออกมาเว้าวอนสังคมร้องขอความเป็นธรรม พร้อมประกาศสงครามกับศัตรูหมายเลขหนึ่งอย่าง “อูเบอร์” โดยอ้างว่าแท็กซี่ป้ายดำเหล่านี้เข้ามาแย่งผู้โดยสารแย่งพื้นที่ทำมาหากิน ร่วมถึง “แกร็บคาร์” ที่โดนหางเลขไปด้วยในข้อหาเดียวกัน

วรพล แกมขุนทด นายกสมาคมวิชาชีพผู้ขับขี่รถยนต์สาธารณะแท็กซี่ พร้อมพรรคพวกอีก 40 คัน เข้ายื่นหนังสือต่อ อาคม เติมพิทยาไพสิฐ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม เพื่อเรียกร้องให้ดำเนินการต่ออูเบอร์และแกร็บคาร์ ขอให้ยุติบทบาทของอูเบอร์และแกร็บคาร์ที่เข้ามาประกอบอาชีพผิดกฎหมาย เพราะการให้บริการในขณะนี้ผิดกฎหมายและกระทบต่อแท็กซี่ที่จดทะเบียนถูกต้อง

กลุ่มคนขับแท็กซี่มิเตอร์มองอูเบอร์เป็นตัวปัญหา โดยเฉพาะการเชิญชวนให้คนสมัครเข้าเป็นคนขับอูเบอร์และเชิญชวนให้ใช้บริการ เพราะนอกจากไม่เกรงกลัวกฎหมาย ยังยื่นขอให้กระทรวงคมนาคมแก้ไขกฎหมาย พวกเขาจึงออกมาเคลื่อนไหวร้องขอความเป็นธรรมกับผู้ประกอบอาชีพแท็กซี่ กลุ่มที่อยู่ภายใต้กฎหมายและควรได้รับการสนับสนุนได้รับความคุ้มครองในการประกอบอาชีพจากกรมการขนส่งทางบก

นายกสมาคมฯ แท็กซี่ ประกาศกร้าวว่า อูเบอร์และแกร็บคาร์ซึ่งเป็นบริษัทต่างชาติ เข้ามาโดยผิดกฎหมายเพราะเป็นการนำรถบ้านมาวิ่งให้บริการผู้โดยสารและถือว่า “อูเบอร์จงใจแย่งงานและทำลายอุตสาหกรรมแท็กซี่ไทย”

กลุ่มแท็กซี่มอเตอร์ ลงความเห็นตรงกันว่าเมื่ออูเบอร์ยืนยันว่าจะยังไม่หยุดให้บริการ จะขอความร่วมมือกับทางทหารและตำรวจซึ่งเป็นคณะกรรมการจัดระเบียบ เพื่อบังคับใช้กฎหมายอย่างจริงจัง พร้อมเสนอให้ใช้มาตรา 44 เพื่อสั่งให้รถผิดกฎหมายเหล่านี้หยุดวิ่งให้บริการทันที และเสนอกระทรวงดิจิทัลเศรษฐกิจเพื่อสังคม พิจารณาสั่งปิดแอปพลิเคชั่นดังกล่าวอันเป็นต้นเหตุของปัญหา

เช่นเดียวกับท่าทีของเครือข่ายสหกรณ์แท็กซี่ ในเขตกรุงเทพฯ วิฑูรย์ แนวพานิช ประธานเครือข่ายฯ กล่าวว่า อูเบอร์และแกร๊บคาร์นำรถยนต์ส่วนบุคคลมาให้บริการที่ปัจจุบันมีกว่า 50,000 คันนั้น ส่งผลกระทบต่อคนขับแท็กซี่เกิดปัญหาแย่งผู้โดยสาร และรายได้ของรถแท็กซี่ที่ถูกกฎหมายลดลงกว่า 30%

ทั้งเปิดใจถึงกรณีแท็กซี่ปฏิเสธรับผู้โดยสารว่าเป็นเพียงส่วนน้อยแต่สังคมเหมารวมแท็กซี่ทั้งหมด สะท้อนปัญหาคนขับแท็กซี่ประสบเรื่องต้นทุนสูง เช่า ค่าเช่ารถ ค่าเชื้อเพลิง ฯลฯ ส่งผลให้มีรายจ่ายขั้นต่ำ 1,200 บาท กลุ่มแท็กซี่มิเตอร์ยังร้องขอให้กระทรวงคมนาคมทบทวนโครงสร้างค่าโดยสารขอปรับขึ้นราคาอีกด้วย

ทางด้านอธิบดีกรมการขนส่งทางบก กล่าวว่า เมื่อเบอร์ยืนยันว่าไม่หยุดให้บริการ ทางเจ้าหน้าที่จะต้องดำเนินการตามกฎหมายต่อไป แต่คงไม่จัดการขั้นเด็ดขาดถึงขั้นใช้อำนาจตามมาตรา 44 ของคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) เบื้องต้นทางกรมการขนส่งฯ ได้จัดทำร่างกฎกระทรวงเกี่ยวกับระบบเรียกใช้บริการผ่านแอปพลิเคชั่นทางโทรศัพท์มือถือ ซึ่งได้ผ่านความเห็นชอบจากคณะรัฐมนตรีตั้งแต่กลางปีที่แล้ว

อย่างไรก็ตาม ขณะที่กรมการขนส่งทางบกยังแก้ปัญหาไม่ตก และยืนกรานว่าจะไม่ใช้ ม.44 แก้ปัญหา เวลานี้ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ(คสช.) ได้ใช้อำนาจ ม.44 แก้ปัญหาการเกิดอุบัติเหตุทางท้องถนนและการบังคับใช้กฎหมายจราจรที่มีช่องว่างช่องโหว่ออกมาเป็นที่เรียบร้อยแล้ว ซึ่งก็ไม่รู้ว่าสุดท้ายแล้วจะได้ผลดังที่ตั้งเป้าไว้หรือไม่

ไม่ว่าจะเป็นเรื่องการเชื่อมโยงข้อมูลระหว่างสำนักงานตำรวจแห่งชาติ (สตช.) และกรมการขนส่งทางบก เพื่อบังคับให้ผู้ใช้รถที่ถูกใบสั่งเพราะทำผิดกฎจราจรไม่สามารถหลีกเลี่ยงได้อีกต่อไป ซึ่งหากผู้ต่อภาษีรายใดชำระค่าปรับเรียบร้อยก็สามารถต่อภาษีได้ทันที แต่หากผู้ต่อภาษีไม่สะดวกชำระค่าปรับทางเจ้าหน้าที่กรมการขนส่งทางบกจะออกป้ายต่อภาษีชั่วคราว ซึ่งจะมีลักษณะเป็นใบเสร็จ พร้อมแสตมป์ข้อความที่ระบุว่า “ใช้เป็นป้ายต่อทะเบียนภาษีชั่วคราว” หากกรณีถูกเจ้าหน้าที่ตำรวจจราจรเรียกตรวจสอบรถก็สามารถแสดงป้ายดังกล่าวได้ ทั้งนี้ ป้ายต่อภาษีชั่วคราวจะมีอายุ 30 วัน และระหว่างช่วงเวลาดังกล่าวผู้ต่อภาษีต้องไปชำระค่าปรับให้ครบถ้วน แต่หากไม่ดำเนินการหลังพ้น 30 วันเจ้าหน้าที่ตำรวจจะเป็นผู้ดำเนินคดีฟ้องร้องต่อไป 

ไม่ว่าจะเป็นการบังคับให้รถตู้โดยสารวิ่งในพื้นที่กรุงเทพมหานครและระหว่างจังหวัดมีที่นั่งแค่ 13 ที่นั่ง รวมทั้งการบังคับให้มีการติดตั้งเข็มขัดนิรภัยทั้งในรถโดยสารและรถยนต์ส่วนบุคคลทุกคัน

เพราะสุดท้ายแล้ว หากยังแก้ปัญหาระหว่าง “อูเบอร์” กับ “แท็กซี่มิเตอร์” ไม่ได้ กรมการขนส่งทางบกก็อาจต้องกลืนน้ำลายตัวเองด้วยการขอให้ใช้ ม.44 ก็เป็นได้

แต่จะใช้เพื่อผลประโยชน์ของประชาชนหรือผู้ประกอบการเป็นที่ตั้ง…ไม่ทราบได้

 


กำลังโหลดความคิดเห็น