ต้นอาทิตย์นี้ มีรายงานการจัดอันดับระดับโลกที่น่าสนใจมาก 2 รายงาน แปลกมากที่ทั้ง 2 รายงานนี้ ได้ประกาศออกมาในวันเดียวกัน คือวันจันทร์ที่ 20 มีนาคม
ทุกวันที่ 20 มีนาคม เป็นวันที่สมัชชาใหญ่องค์การสหประชาชาติประกาศให้เป็น “วันความสุขของโลก (World Happiness Day)” เริ่มต้นเมื่อ 5 ปีที่แล้ว คือปี ค.ศ. 2012 (พ.ศ.2555)
ส่วนอีกรายงานนั้นเป็นการจัดอันดับมหาเศรษฐีโดยนิตยสาร Forbes ซึ่งได้จัดทำมาเป็นเวลานาน เริ่มจากจัดอันดับเศรษฐีอเมริกันที่มีทรัพย์สิน 100 ล้านดอลลาร์ (คือ Millionaire) จนถึง1,000 ล้าน (Billionaire)
“วันความสุขโลก” มีจุดเริ่มต้นจากประเทศเล็กๆ ที่พวกเราคนไทยรู้จักดี และคนทั่วโลกก็ตื่นเต้นและศรัทธาต่อการบริหารประเทศเก่าแก่แห่งนี้ที่ทำให้พลเมืองของตนมีความสุข และความพอเพียงอย่างไม่น่าเชื่อ ประเทศนี้จำกัดจำนวนนักท่องเที่ยวจากต่างประเทศที่จะได้รับอนุญาตให้เข้ามาเยี่ยมชมวัฒนธรรมเก่าแก่โบราณของพวกเขา เขาไม่ยกเว้นเสียจนเปิดให้นักท่องเที่ยวเข้ามาอย่างถล่มทลาย จนอาจทำให้แหล่งท่องเที่ยว, ถนนหนทาง, น้ำสะอาด, ไฟฟ้า, การกำจัดของเสีย รวมทั้งเจ้าหน้าที่ที่จะดูแลสถานที่ต่างๆ มีไม่พอจะรับนักท่องเที่ยวได้ อันนี้เป็นที่ร่ำลือกันทั้งโลก นั่นคือประเทศภูฐาน ซึ่งตอนนี้ทำไมถึงมีเปลี่ยนให้เขียนและอ่านแบบแปลกๆ ว่าภูฏาน
เมื่อปี ค.ศ. 2011 (พ.ศ. 2554) ได้มีข้อเสนอจากนายกรัฐมนตรีของภูฏานไปยังองค์การสหประชาชาติว่าโลกเราควรจะมีวันแห่งความสุขของโลก โดยกษัตริย์ภูฏานขณะนั้นได้เปิดประเด็นเรื่องการวัด Gross National Happiness หรือความสุขมวลรวมประชาชาติ แทนที่จะมีแต่สูตรการวัดของธนาคารโลกหรือไอเอ็มเอฟ หรือธนาคารเอดีบี (ธนาคารพัฒนาแห่งเอเชีย) รวมทั้งตำราเศรษฐศาสตร์ทุนนิยมเสรี และโลกาภิวัตน์ที่เน้นแต่ผลผลิตมวลรวมประชาชาติ และแข่งขันกันว่าขนาดเศรษฐกิจของใครจะโตกว่ากัน ทั้งๆ ที่สูตรที่ใช้กันมานานนมนี้ได้แอบซ่อนความยากจนทุกข์ยากของประชาชนส่วนใหญ่ประเทศต่างๆ เอาไว้ ประชาชนส่วนใหญ่ของประเทศที่มีภาพรวมว่ามั่งคั่งนี้ ประสบแต่ความยากไร้ บางแห่งแม้แต่น้ำสะอาดหรือไฟฟ้าก็ยังไม่มีด้วยซ้ำ เป็นภาพลวงตาที่มองว่าเป็นประเทศมั่งคั่ง
ในคำประกาศของสมัชชาใหญ่สหประชาชาติในพ.ศ. 2554 ให้วันที่ 20 มีนาคม เป็นวันแห่งความสุขของโลกนั้น ได้ให้นิยาม “ความสุข” คือการกินดีอยู่ดี “Well-Being” ซึ่งเป็นเป้าหมายหรือจุดหมายที่มนุษยชาติไขว่คว้าเพื่อไปให้ถึง คือที่ประชาชนส่วนใหญ่มีคุณภาพชีวิตที่ดีมีความสุข
นายบัน คี มุน เลขาธิการสหประชาชาติตอนนั้น ได้รวบรวมเอานักวิชาการจากหลายแห่งและพวก NGOs มาจัดทำรายงานเรื่องความสุขของโลก โดยจัดเกณฑ์วัดที่ไม่ใช่ตัวเงินเท่านั้น แต่มีเรื่องสุขภาพของประชาชน, อายุยืนอย่างมีคุณภาพ, ความเอื้อเฟื้อเผื่อแผ่ในสังคม, รัฐที่มีธรรมาภิบาล-ไม่โกงชาติ
นักวิชาการเด่นๆ ได้มาร่วมจัดทำบัญชีลำดับประเทศแห่งความสุขครั้งแรกในปี 2554 โดยมีศ.ดร.เจฟฟรีย์ แซคส์ ที่เป็นนักเศรษฐศาสตร์มีชื่อเสียง และเป็นผู้ก่อตั้งสถาบันโลก (Earth Institute) มหาวิทยาลัยดีเด่นโคลัมเบีย (ที่นิวยอร์ก) และเป็นนักเศรษฐศาสตร์จะเรียกว่ากระแสรองที่ไม่ได้มองความมั่งคั่งคิดจากตัวเงินเป็นตัววัด ท่านผู้นี้เป็นผู้จัดทำรายงาน ซึ่งมีการจัดอันดับประเทศแห่งความสุขนี้มา 5 ฉบับแล้ว
ปรากฏว่า ประเทศในแถบยุโรปเหนือจะติดอันดับต้นๆ โดยมีเดนมาร์กอยู่อันดับ 1 ถึง 4 ครั้ง และมีสวิตเซอร์แลนด์ติดอันดับ 1 มา 1 ครั้ง
สำหรับรายงานปี 2560 นี้ ปรากฏว่าประเทศนอร์เวย์ได้ติดอันดับ 1 ส่วนประเทศในยุโรปเหนือ ก็จะติดอันดับรองๆ ลงมาคือ
1.นอร์เวย์ 6. เนเธอร์แลนด์
2. เดนมาร์ก 7. แคนาดา
3. ไอซ์แลนด์ 8. นิวซีแลนด์
4. สวิตเซอร์แลนด์ 9. ออสเตรเลีย
5. ฟินแลนด์ 10. สวีเดน
ศ.เจฟฟรีย์ แซคส์ ได้อธิบายว่าประเทศนอร์เวย์ แม้จะได้รับผลกระทบจากราคาน้ำมันที่ตกต่ำลงมากว่า 50 เปอร์เซ็นต์ของราคาเมื่อปี 2014 (พ.ศ. 2558) แต่มาตรฐานความสุขของประชาชนยังสามารถรักษาไว้ได้อย่างดีเยี่ยม ประเทศนี้เขาสร้างภูมิคุ้มกันจากความผันผวนราคาน้ำมันได้อย่างไม่หวาดหวั่น (อันนี้น่าจะต่างกับประเทศผู้ผลิตน้ำมันอื่นๆ เช่น เวเนซุเอลา, ไนจีเรีย หรือซาอุดีอาระเบีย ที่มีอาการหนักเอาการหลังราคาน้ำมันตกลงมา)
ประเทศท็อปเทนมีระบบรัฐสวัสดิการค่อนข้างสูง มีการเก็บภาษีคนรวยในอัตราสูง มีความโปร่งใสในการใช้งบประมาณของรัฐ (แทบไม่มีการโกงชาติเลย) และบรรษัทภิบาลก็สูงเช่นกัน การกระจายรายได้ดีเยี่ยม และที่สำคัญมีเศรษฐีน้อยคนนักจากประเทศเหล่านี้ที่จะติดอยู่ใน Forbes List!!
หลายคนอาจสงสัยว่า ทำไมภูฏานจึงไม่อยู่ในท็อปเทนหล่ะ? คำตอบก็คือเพราะในสูตรที่คำนวณความสุขนี้ ก็ยังมิวายนำเอาผลผลิตมวลรวมประชาชาติเป็นตัวคำนวณรายได้ต่อหัวต่อคนด้วย และเพราะภูฏานมีรายได้ประชาชาติต่อหัวค่อนข้างต่ำ เลยทำให้ไม่ติดท็อปเทน
รายงานประเทศแห่งความสุขนี้ช่างต่างกับลำดับมหาเศรษฐีของโลกที่วัดความมั่งคั่งด้วยตัวเงินใน Forbes List ซึ่งเดิมมักมีแต่นักธุรกิจเจ้าของกิจการด้านอุตสาหกรรม, เหมืองแร่, การเงิน และพลังงาน เริ่มจากบริษัทผลิตอุตสาหกรรมเหล็ก, รถยนต์, น้ำมัน, การเงิน, ค้าปลีก, สินค้าอุปโภค-บริโภค ต่อมาหลังๆ นี้ก็เป็นพวกอุตสาหกรรมไอที และค้าปลีกแบบออนไลน์
เศรษฐีใน Forbes List จะถูกมองว่าสูบเลือดสูบเนื้อจากเพื่อนร่วมชาติ, เพื่อนร่วมโลก โดยขายสินค้าและบริการที่ราคาสูงลิ่ว นี่เป็นสินค้าที่ไร้เทียมทาน ก็ยิ่งมีการเรียกราคาไร้เทียมทานเช่นกัน หรือกิจการผูกขาด เช่น กรณีพลังงานของไทย ก็ติดอยู่ในลิสต์มั่งคั่งนี้ด้วย ที่ร้ายไปกว่านั้นก็คือ หลายกิจการพยายามหลบเลี่ยงภาษี โดยแอบไปเปิดบริษัทในประเทศที่ไม่เก็บภาษีเลย เช่น เกาะเคย์แมน, บาฮามาส เป็นต้น ซึ่งผู้มั่งคั่งเหล่านี้หาทางไม่จ่ายภาษีด้วยวิธีที่ปิดลับพิสดารเช่นนี้นี่เอง
หลังๆ นี้ก็เลยเกิดค่านิยมต้องแบ่งเงินบางส่วนมาจัดทำมูลนิธิกลายเป็นนักบริจาคการกุศลรายใหญ่ เป็นผู้มีใจบุญสุนทานทำการกุศลใหญ่โต นำเงินไปช่วยประเทศที่ยากจน เช่น บิล เกตส์ ร่วมกับ วอร์เรน บัฟเฟตต์ และผู้มั่งคั่งร่ำรวยของโลก จะก่อตั้งมูลนิธิ ก็คล้ายๆ กับผู้มั่งคั่งเมื่อเกือบร้อยปีที่แล้วในยุครถยนต์ฟอร์ดของเฮนรี่ ฟอร์ด หรือตระกูลร็อคกี้ เฟลเลอร์, ตระกูลแวนเดอร์บิลต์, ตระกูลคาร์เนกีที่จัดตั้งมูลนิธิเพื่อก่อตั้งกองทุนเพื่อการศึกษา, ก่อตั้งมหาวิทยาลัยดีเด่นในสหรัฐฯ ส่วนหนึ่งเพื่อเลี่ยงภาษี และที่สำคัญเพื่อเผยแพร่ระบบทุนนิยมเสรีโลกาภิวัตน์ให้เติบโตกว้างขวางต่อไป.