ผู้จัดการสุดสัปดาห์ - สัปดาห์ที่ผ่านมา กระบวนการสร้างความปรองดอง ภายใต้การดำเนินงานของคณะกรรมการบริหารราชการแผ่นดินตามกรอบการปฏิรูปประเทศยุทธศาสตร์ชาติ และการสร้างความสามัคคีปรองดอง (ป.ย.ป.) ได้เดินหน้าไปอีกคืบ เมื่อกลุ่มคนที่มีความเห็นแตกต่างกันชนิดอยู่คนละขั้ว ได้เข้าให้ความเห็นต่อคณะอนุกรรมการรับฟังความคิดเห็นเพื่อสร้างความสามัคคีปรองดอง ในชุดคณะกรรมการเตรียมการเพื่อสร้างความสามัคคีปรองดอง ที่กระทรวงกลาโหม
เริ่มจากกลุ่มแนวร่วมประชาธิปไตยต่อต้านเผด็จการแห่งชาติ (นปช.) หรือ กลุ่มคนเสื้อแดง ฐานมวลชนของนายทักษิณ ชินวัตร และพรรคเพื่อไทย ได้เข้าให้ข้อเสนอแนะแนวทางปรองดอง ต่อพล.อ.ชัยชาญ ช้างมงคล ปลัดกระทรวงกลาโหม ในฐานะประธานคณะอนุกรรมการรับฟังความคิดเห็นเพื่อสร้างความสามัคคีปรองดองฯ เมื่อวันที่ 15 มีนาคม
หลังจากนั้น วันที่ 17 มีนาคม ตัวแทนกลุ่มคณะกรรมการประชาชนเพื่อการเปลี่ยนแปลงประเทศไทยให้เป็นประชาธิปไตยที่สมบูรณ์อันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข(กปปส.) ที่กลายร่างมาเป็น มูลนิธิมวลมหาประชาชนเพื่อการปฏิรูปประเทศไทย (มปท.) ภายใต้การนำของนายสุเทพ เทือกสุบรรณ ก็ได้เข้าให้ข้อเสนอแนะ
ในวันที่ 15 มีนาคมนั้น มีแกนนำ นปช.ที่เข้าเสนอความคิดเห็น ประกอบด้วย นายจตุพร พรหมพันธุ์ ประธาน นปช. นายณัฐวุฒิ ใสยเกื้อ เลขาธิการ นปช.นางธิดา ถาวรเศรษฐ นพ.เหวง โตจิราการ นายวีระกานต์ มุสิกพงศ์ นายนิสิต สินธุไพร นายธนาวุฒิ วิชัยดิษฐ์ นายศักดิ์ระพี พรหมชาติ นายอารี ไกรนรา นายก่อแก้ว พิกุลทอง นายเกริกมนตรี รุจโสตถิรพัฒน์ เป็นต้น
พร้อมกันนี้ แกนนำ นปช.ยังได้นำเอกสารเป็นข้อเสนอ 16 หน้าเสนอต่อคณะอนุกรรมการรับฟังความคิดเห็น โดยแบ่งเป็น 2 ส่วน คือ คำตอบตามกรอบคำถาม 11 ข้อที่คณะอนุกรรมการฯ กำหนด และอีกส่วนเป็นมุมมองเรื่องการสร้างความปรองดองของ นปช. โดยอ้างว่ามีหลักการคือ ความปรองดองจะเกิดได้ด้วยการสร้างประชาธิปไตย
ภายหลังการเข้าให้ข้อเสนอแนะที่กระทรวงกลาโหม นายจตุพรให้สัมภาษณ์ ว่า ได้นำเสนออย่างตรงไปตรงมาว่าให้ทุกฝ่ายยอมรับถึงความผิดพลาด ซึ่ง นปช.ไม่ได้กระทำการทุกอย่างถูกต้องไปหมด พรรคการเมือง กลุ่มการเมือง และทางกองทัพก็ตามต่างมีส่วนถูกส่วนผิดกับสถานการณ์ของการบ้านเมืองทั้งสิ้น และเราเป็นองค์กรที่มีคนตาย และบาดเจ็บมากที่สุด สูญสิ้นอิสรภาพได้รับการปฏิบัติอย่างอยุติธรรมมากที่สุด แต่พวกเราก็ยินดีเข้าสู่กระบวนการปรองดอง โดยเชื่อว่า ป.ย.ป.จะทำสำเร็จ เพราะนายกรัฐมนตรีได้นำพระราชกระแสรับสั่งของสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ที่ต้องการให้ดำเนินการด้วยความสุขุม ทำให้เกิดความรัก ความสามัคคี มาเป็นแนวทางปฏิบัติ
ขณะที่นายณัฐวุฒิ ใสยเกื้อ บอกว่า บรรยากาศการพูดคุยเป็นไปด้วยดีซึ่ง นปช.ได้ตอบทุกคำถามของคณะอนุกรรมการ ซึ่งการเข้าพูดคุยในวันนี้ไม่ใช่เพราะ นปช.เป็นสาเหตุของความขัดแย้ งแต่เพราะกลุ่ม นปช.ได้รับผลจากความขัดแย้ง จึงมาให้ความร่วมมือ โดยการเสนอความเห็นเพื่อสร้างความสามัคคีปรองดอง
แม้ว่าแกนนำ นปช.ได้ให้สัมภาษณ์ว่า ได้เสนอแนวทางสร้างความปรองดองอย่างตรงไปตรงมา และให้ทุกฝ่ายยอมรับความจริงและความผิดพลาดในอดีต แต่เมื่อดูเนื้อหาของข้อเสนอปรองดองของ นปช.ลึกลงไปแล้ว ก็จะเห็นได้ว่า นปช.เองยอมรับความเป็นจริงและความผิดพลาดของตัวเองในอดีตได้เพียงใด
นปช.ได้เสนอแนะแนวทางปรองดอง ด้วยการเริ่มคลี่คลายสาเหตุความขัดแย้งที่ดำรงอยู่ในสังคมมายาวนาน โดยอ้างว่าความขัดแย้งนั้นเกิดจากคู่ขัดแย้งหลักระหว่างผู้ปกครองในคณะรัฐประหาร กับผู้ถูกปกครองที่ต้องการระบอบประชาธิปไตย
ส่วนความขัดแย้งรอง นปช.อ้างว่าเกิดจากการแย่งชิงผลประโยชน์และอำนาจของชนชั้นนำในฝ่ายอนุรักษ์นิยม และทั้งฝ่ายนักการเมืองจากการเลือกตั้งกับพรรคอนุรักษ์นิยมด้วยกันเอง นปช.ยังอ้างอีกว่า สิ่งสำคัญคือ เมื่อชนชั้นนำและพรรคการเมืองอนุรักษ์นิยมยังปรับตัวให้ทันกับระบอบเสรีประชาธิปไตยและยังไม่ได้ชัยชนะในกติกาประชาธิปไตย จึงร่วมมือกับฝ่ายอนุรักษ์นิยมอื่นๆ รวมทั้งกองทัพทำรัฐประหารยึดอำนาจประชาชนเสมอมา โดยเฉพาะอย่างยิ่งรัฐประหาร 2 ครั้งหลัง ช่วงปี 2549 และ 2557 ทำให้ประเทศไทยมีความสุ่มเสี่ยงที่จะอยู่ในวัฏจักรการเมืองแบบที่จะมีเลือกตั้งและรัฐประหารวนเวียนเช่นนี้แบบไม่มีอนาคตในระบอบประชาธิปไตย
เท่านั้นยังไม่พอ นปช.ยังบอกอีกว่า ประชาชนยังตั้งข้อสงสัยว่าการปรองดอง โดยมีรัฐบาลคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) เป็นเจ้าภาพ จะสำเร็จได้หรือไม่ เพราะบรรยากาศการใช้อำนาจยังมีการควบคุมสิทธิเสรีภาพ และใช้มาตรา 44 ของรัฐธรรมนูญชั่วคราว อยู่ตลอดเวลา เป็นอุปสรรค ขัดขวาง และไม่เอื้ออำนวยให้เกิดความปรองดองขึ้นในสังคม
นปช.ยังเสนอไปไกลถึงว่า ให้มีคณะกรรมการที่น่าเชื่อถือทั้งในประเทศและองค์กรระหว่างประเทศ และมีองค์ความรู้ในการทำการปรองดอง ขึ้นมาทำความจริงให้ปรากฏ เพื่อนำไปสู่ความยุติธรรมเชิงสมานฉันท์ และไพ่เด็ดของ นปช.ที่โยนออกมา ก็คือ ให้ยกเลิกการใช้ประกาศ คำสั่ง ที่ออกตามมาตรา 44 และตัวมาตรา 44 ของรัฐธรรมนูญชั่วคราวด้วย โดยอ้างว่าประกาศและคำสั่งเหล่านี้มุ่งหวังจะปิดกั้นสิทธิเสรีภาพประชาชน ซึ่งถือว่านี่เป็นข้อเสนอที่ท้าทายต่อ คสช.โดยตรง
รวมทั้งมีข้อเสนอที่เหน็บแนมไปยัง คสช.อีกว่า ขอให้หยุดการสร้างความร้าวฉานและความเกลียดชังรอบใหม่ ตลอดจนเรียกร้องให้ใช้กฎหมาย ออกกฎหมาย ปฏิรูปกระบวนการยุติธรรมในประเทศ ให้มีหลักนิติธรรมที่แท้จริงและยึดโยงกับประชาชน ถูกตรวจสอบได้ โดยเฉพาะอย่างยิ่งองค์กรอิสระที่ถูกตั้งข้อสังเกตว่าเป็นสาเหตุสำคัญที่สร้างความขัดแย้งในสังคมไทย
ส่วนคำถาม 11 ข้อของคณะอนุกรรมการฯ นั้น นปช.เห็นว่า การตั้งคณะกรรมการและอนุกรรมการต่างๆ ยังไม่เป็นไปตามหลักการปรองดอง ไม่ว่าจะเป็นองค์ประกอบของคณะกรรมการ, อนุกรรมการ ยังไม่เอื้อต่อการปรองดอง ยิ่งมีการบังคับใช้คำสั่งและกฎหมายต่างๆ รวมทั้งอำนาจมาตรา 44 ตลอดจนการสร้างวาทกรรมแสดงความเกลียดชังโจมตีผู้เห็นต่างทางการเมือง กระทั่งจากฝ่ายผู้มีอำนาจ ย่อมทำให้บรรยากาศความปรองดองเกิดขึ้นได้ยาก
ยิ่งไปกว่านั้น นปช.ยังเห็นว่า คำถาม 11 ข้อนั้น มุ่งถามเพื่อตอบโจทย์ที่ได้สรุปไว้ล่วงหน้าแล้ว และมิได้สนใจสาเหตุแห่งปัญหา นปช.จึงเน้นตอบคำถามด้วยหลักคิดทั่วไป คือ อุดมการณ์การเมืองในระบอบประชาธิปไตย หลักคิดเสรีนิยมที่ให้ความเห็นแตกต่างอยู่ร่วมกันอย่างสันติได้ รวมทั้งการยอมรับกติการะหว่างประเทศว่าด้วยสิทธิพลเมืองด้านต่างๆ และหลักคิดเรื่องนิติรัฐนิติธรรมของกระบวนการยุติธรรมทั้งระบบ
ส่วนการปฏิรูปประเทศและการวางยุทธศาสตร์ชาตินั้น นปช.เสนอให้ดำเนินการในช่วงเวลาที่มีรัฐบาลที่มาจากประชาชนตามกติการะบอบประชาธิปไตย องค์กรรัฐข้าราชการต่างๆ ที่ไม่ยึดโยงกับประชาชนต้องขึ้นต่ออำนาจรัฐบาลประชาธิปไตยที่มาจากการเลือกตั้ง ไม่ทำตัวเป็นอิสระและมีอำนาจเหนืออำนาจประชาชนในระบอบประชาธิปไตย
การปฏิรูปเร่งด่วน ไม่ว่าจะเป็นการปฏิรูประบบราชการทหารพลเรือน องค์กรอิสระ กระบวนการยุติธรรม การศึกษา ระบบตรวจสอบแบบสากลที่ได้มาตรฐาน ด้านเศรษฐกิจต้องปฏิรูปโครงสร้างเศรษฐกิจใหม่เพื่อแก้ปัญหาความยากจนและความเหลื่อมล้ำ ความล้าหลังในภาคการผลิต และรัฐวิสาหกิจ เป็นต้น ต้องอยู่ในแนวทางและบรรยากาศของรัฐบาลที่มาจากประชาธิปไตยอันยึดโยงกับประชาชน
และ นปช.ยังมีข้อเสนอปิดท้ายว่า เพื่อระงับความขัดแย้งรุนแรงในอนาคต เราเรียกร้องให้มีการร่างรัฐธรรมนูญใหม่ที่มาจากประชาชนจากอำนาจประชาชนและยกเลิกประกาศ คำสั่ง ระเบียบ ที่เกิดจากคณะรัฐประหารทุกฉบับที่ยังมีผลใช้อยู่ โดยมีการจัดตั้งคณะกรรมการปฏิรูปบรรดากฎหมายที่ขัดหลักนิติธรรมและไม่เป็นไปตามระบอบประชาธิปไตย รวมทั้งขอให้ทุกฝ่ายที่มีส่วนร่วมในความขัดแย้งเข้าสู่กระบวนการปรองดองตามหลักการรวมทั้งกองทัพและ คสช.
เห็นได้ชัดว่า ข้อเสนอสร้างความปรองดองตามแนวทางของ นปช.นั้น อยู่บนหลักการไม่ยอมรับอำนาจของ คสช.เริ่มตั้งแต่การมองสาเหตุความขัดแย้งที่ นปช.อ้างว่า เป็นความขัดแย้งระหว่างคณะรัฐประหารและประชาชนที่ต้องการประชาธิปไตย
ดังนั้น ข้อเสนอการสร้างความปรองดอง จึงเป็นการเรียกร้องให้ยกเลิกประกาศ คำสั่ง และกฎหมายต่างๆ ที่ออกมาตามมาตรา 44 ของรัฐธรรมนูญชั่วคราว ซึ่งเป็นการใช้อำนาจรัฏฐาธิปัตย์ของคณะรัฐประหาร ทั้งยังได้ตอกย้ำว่า การสร้างความปรองดองโดยมีรัฐบาล คสช.เป็นเจ้าภาพจะสำเร็จได้หรือไม่
ส่วนการปฏิรูปประเทศ นปช.ก็มีข้อเสนอให้ไปดำเนินการในช่วงที่มีรัฐบาลมาจากการเลือกตั้ง ซึ่งเป็นข้อเสนอที่ ป.ย.ป.ไม่อาจยอมรับได้อยู่แล้ว ถ้าหากยอมรับ ก็เท่ากับว่าต้องยุบ ป.ย.ป.ไปโดยปริยาย เพราะเท่ากับว่า รัฐบาลนี้ไม่ต้องทำการปฏิรูปประเทศหรือวางยุทธศาสตร์ชาติแล้ว รอให้รัฐบาลชุดหน้าที่มาจากการเลือกตั้งทำไปเลย
ท้ายที่สุดแล้ว ข้อเสนอของ นปช.จึงไม่ใช่ข้อเสนอที่จะสร้างความปรองดองอย่างแท้จริง แต่เป็นข้อเสนอที่จะลบล้างผลพวงจากการรัฐประหาร เพื่อเปิดทางให้ “นายใหญ่” ทักษิณ ชินวัตร ได้กลับมานั่นเอง