ผู้จัดการสุดสัปดาห์ - การสร้างความสามัคคีปรองดองของคนในชาติ เป็นส่วนหนึ่งของ "โรดแมป" รัฐบาลคสช. ที่ประกาศว่าจะต้องทำให้สำเร็จก่อนที่จะมีการเลือกตั้ง เพื่อไม่ให้การเมืองหลังการเลือกตั้งกลับไปซ้ำรอยเก่า ที่มองเห็นความขัดแย้งรออยู่ข้างหน้า
พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และหัวหน้าคสช. ถึงกับตั้งคณะกรรมการบริหารราชการแผ่นดินตามกรอบการปฏิรูปประเทศยุทธศาสตร์ชาติ และการสร้างความสามัคคีปรองดอง (ป.ย.ป.) ขึ้นมา เพื่อการนี้โดยเฉพาะ และมอบให้พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรี และรมว.กลาโหม กำกับดูแล ในหัวข้อ การสร้างความปรองดอง
ขณะนี้ก็อยู่ในช่วงของการเก็บรวมรวมความเห็น จากพรรคการเมือง กลุ่มการเมือง ข้าราชการ นักวิชาการ นักศึกษา สื่อมวลชน ผู้นำท้องถิ่น และประชาชนทั่วไป จนเกือบครบตามกรอบที่วางไว้แล้ว
แม้กระแสวิพากษ์วิจารณ์ส่วนใหญ่ จะมองข้ามช็อตไปแล้วว่าสิ่งที่รัฐบาลกำลังทำอยู่นี้ ก็เป็นเพียงแค่ "พิธีกรรม" ที่จะหวังผลสัมฤทธิ์ได้ยากก็ตาม แต่ทุกฝ่ายก็ไปร่วมแสดงความเห็นกันอย่างคึกคัก เพื่อให้ได้เห็นภาพของความร่วมไม้ร่วมมือ
ทั้งที่ หลักใหญ่ใจความของฝ่ายการเมืองแต่ละขั้ว ก็ยังอยู่ตรงข้ามกันเหมือนเดิม และยังคงเป็นเหมือนเส้นขนานที่ไม่มีวันบรรจบ คือ ฝ่ายหนึ่งต้องการให้นิรโทษกรรมในคดีทางการเมือง อีกฝ่ายต้องการให้ดำเนินการต่อไปตามกระบวนการยุติธรรม แต่ก็ต้องเก็บไว้ในใจ เพราะ พล.อ.ประยุทธ์ มักพูดเสมอว่า แนวทางปรองดอง จะไม่มีการพูดถึงเรื่องนิรโทษกรรม หากยังตีกัน ไม่ยอมกัน ก็คงต้องเลื่อนโรดแมปออกไป
ดังนั้น เมื่อแต่ละกลุ่มที่เข้าไปให้ความเห็นแล้ว ต่างก็ออกมาให้สัมภาษณ์ อวยกันไปมา เป็นที่ครึกครื้น
อย่างล่าสุด กลุ่มแนวร่วมประชาธิปไตยต่อต้านเผด็จการแห่งชาติ (นปช.) ที่เป็นหนึ่งในขั้วขัดแย้ง ก็เพิ่งยกขบวนกันไปประมาณ 10 คน นำโดย นายจตุพร พรหมพันธุ์ นายณัฐวุฒิ ใสยเกื้อ นางธิดา ถาวรเศรษฐ นพ.เหวง โตจิราการ นายนิสิต สินธุไพร นายธนาวุฒิ วิชัยดิษฐ์ นายศักดิ์ระพี พรหมชาติ นายอารี ไกรนรา นายก่อแก้ว พิกุลทอง เป็นต้น เพื่อเสนอความเห็นต่อ คณะอนุกรรมการรับฟังความคิดเห็นเพื่อสร้างความสามัคคีปรองดอง ที่มี พล.อ.ชัยชาญ ช้างมงคล ปลัดกระทรวงกลาโหม เป็นประธาน ที่กระทรวงกลาโหม เมื่อวันที่ 15 มี.ค. ที่ผ่านมา
หลังการเสนอความเห็น นายจตุพร ก็ออกมาให้สัมภาษณ์ว่า อยากเห็นความปรองดอง จึงได้นำเสนออย่างตรงไปตรงมาว่า ให้ทุกฝ่ายยอมรับถึงความผิดพลาดที่เกิดขึ้น ซึ่ง นปช. ก็ไม่ได้กระทำการทุกอย่างถูกต้องไปทั้งหมด พรรคการเมือง กลุ่มการเมือง และ กองทัพ ต่างมีส่วนถูกส่วนผิดกับสถานการณ์ของการบ้านเมืองทั้งสิ้น แม้ในกลุ่มนปช. จะมีคนตาย คนเจ็บมากที่สุด สูญสิ้นอิสรภาพ ได้รับการปฏิบัติอย่างอยุติธรรมมากที่สุด แต่พวกเราก็ยินดีเข้าสู่กระบวนการปรองดอง เพื่อจะร่วมหาทางออกให้กับประเทศ เพราะปลายทางเรายังมองเห็นวิกฤตกันอยู่ แม้จะไม่มีปรองดอง แต่ถึงเวลาตามโรดแมป หรือเลยกำหนดโรดแมปก็ตาม ก็ต้องเกิดปัญหาตามกลไกรัฐธรรมนูญอยู่ดี ไม่ว่าจะนายกฯ คนนอก หรือคนในก็ตาม การเลือกตั้งก็จะเริ่มปัญหา ถ้าบ้านเมืองยังไม่ตกลงกันชัดเจนว่าเราจะเดินหน้ากันอย่างไร เพราะฉะนั้นการรับ
ฟังความคิดเห็นครั้งนี้ จึงไม่มีการตั้งแง่ในเรื่องการนิรโทษกรรม และอภัยโทษ ตามที่นายกฯได้เคยพูดไว้ว่า การอภัยโทษนั้นเป็นพระราชอำนาจ ไม่ใช่เป็นอำนาจของคสช. หรือรัฐบาล
ขณะที่ นายณัฐวุฒิ ใสยเกื้อ เลขาธิการ นปช. บอกว่า นปช.ไม่ได้มาในฐานะต้นเหตุความขัดแย้ง แต่เราเป็นคนกลุ่มหนึ่งที่ได้รับผลจากความขัดแย้งในสังคมไทย ที่มีต่อเนื่องหลายสิบปี จากกลุ่มการเมืองที่สนับสนุน แนวคิดอนุรักษ์นิยม กับกลุ่มเสรีนิยม เผชิญหน้ากัน แต่นปช.ก็ไม่ได้ปฏิเสธความรับผิดชอบต่อสถานการณ์ดังกล่าว ทั้งยินดีให้ความร่วมมือในการการสร้างความปรองดองด้วย
ส่วนคดีความที่เกิดขึ้นในระหว่างนี้ และอนาคต เราก็พร้อมที่จะเข้าสู่กระบวนการยุติธรรม ต่อสู้คดีจนถึงที่สุด เพียงแต่ นปช.อยากเห็นความยุติธรรมอย่างแท้จริง ไม่เลือกข้าง ไม่เลือกปฏิบัติ อีกทั้งฝ่ายผู้มีอำนาจ จำเป็นต้องพิจารณาชะตากรรมของประชาชน ที่ได้รับผลกระทบจากความขัดแย้งทางการเมือง ทั้งคดีความ ความเสียหายชีวิต และทรัพย์สิน รวมถึงการเสียโอกาสความก้าวหน้าในการงานด้วย
ขณะเดียวกันเมื่อการปรองดองไม่ได้เริ่มต้นที่นิรโทษกรรม และอภัยโทษ ทาง นปช. ก็ขอเพียงความรับผิดชอบ เยียวยา บรรเทาความเจ็บปวดต่อประชาชนทุกฝ่ายที่ได้รับผลกระทบทางการเมืองด้วย
"สิ่งที่เราเรียกร้อง ปยป. และรัฐบาล ไม่ได้มีหน้าที่รับฟัง สรุป ประมวลความคิดเห็นเท่านั้น แต่ต้องทำหน้าที่สร้างความเชื่อมั่นต่อกันทุกกลุ่ม ทุกฝ่าย เพราะสถานการณ์ตอนนี้ ความเชื่อมั่นและความไว้ใจต่อกันเป็นสิ่งสำคัญ ที่เรามาวันนี้ เพราะพร้อมให้ความร่วมมือสร้างความปรองดอง และปฏิเสธไม่ได้ว่า เรามาด้วยความไว้วางใจต่อกระบวนการดังกล่าว หากไม่ไว้วางใจ คงสนทนาโต๊ะกลมแบบนี้ไม่ได้ตั้ง 2-3 ชั่วโมงหรอก"
"สุดท้ายเราบอกคณะอนุกรรมการฯไปว่า เราไม่ได้คาดคั้น ไม่่ได้กดดันให้ต้องปฏิบัติทุกเรื่อง ทุกอย่าง หากไม่ปฏิบัติตามจะมีปฏิกิริยา เผชิญหน้ากัน ซึ่งไม่ใช่เช่นนั้น แต่เราเข้าใจว่า การปรองดองไม่มีทุกฝ่ายได้หมด และไม่มีทุกฝ่ายเสียหมด เราขอเพียงพื้นที่พูดความจริงเท่านั้น ส่วนกระบวนการจากนี้ไป อยู่ในความรับผิดชอบของรัฐบาล และ ป.ย.ป. ที่จะพิจารณา สรุปข้อคิดเห็นต่อไป ส่วนออกมาแล้วสังคมจะยอมรับได้หรือไม่ ปรองดองจริงหรือไม่ เราคงจะพิจารณากันอีกที " นายณัฐวุฒิ กล่าว
จากท่าทีของ 2 แกนนำนปช. ครั้งนี้ ดูจะลดความแข็งกร้าวลงไปเยอะ แต่จะเป็นด้วยสาเหตุใดก็สุดจะคาดเดา
อย่างไรก็ตาม นายสาธิต ปิตุเตชะ รองหัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ ได้ออกมาแสดงความเห็น ถึงความผิดปกติดังกล่าวในเชิงดักคอ ว่า วันนี้ยังเดาไม่ได้ว่ารัฐบาลในฐานะผู้ริเริ่มเวทีปรองดอง จะนำข้อเสนอ โมเดลไปสู่ทางออกของแต่ละพรรค แต่ละกลุ่มการเมือง ไปสรุปเพื่อนำไปสู่ปลายทางที่ทุกคนต้องการ ประสานรอยร้าวอย่างไร
"เราเห็นแล้วว่า ทุกฝ่ายที่เข้าร่วมเวทีปรองดองส่วนใหญ่ไม่เอาด้วยกับเรื่องนิรโทษกรรม ปลายทางที่รัฐบาลเอาคิดไว้ในใจ ไม่มีใครรู้ จะนำไปสู่การใช้โมเดลนิรโทษกรรมหรือไม่ ขึ้นอยู่กับผู้มีอำนาจอย่างรัฐบาล แต่ถ้าจะเอาเรื่องนิรโทษกรรม มาต่อรองกับพรรคการเมืองให้มาสนับสนุนผลักดันการมีนายกรัฐมนตรีคนนอกหลังการเลือกตั้งนั้น เป็นแนวคิดที่ไม่ใช่ทางออก และจะเป็นการสร้างความขัดแย้ง และรอยร้าวให้ประเทศครั้งใหม่ ไม่ใช่การปรองดองตามที่คนในประเทศต้องการ"
เห็นทีพิธีกรรมปรองดองครั้งนี้ จะมีบทสรุปอย่างไร คงต้องดูกันยาวยาว !!