xs
xsm
sm
md
lg

ผู้จัดการสุดสัปดาห์

x

อวสานโลกสวย SET ZERO ธรรมกาย ยอมรับได้หรือยังว่า “ธัมมี่” คือผู้ชนะ

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


ผู้จัดการสุดสัปดาห์ - ณ เวลานี้ สังคมกำลังตั้งคำถามมากมายเกี่ยวกับ “พระธมฺมชโย” และลัทธิธรรมกายว่า สุดท้ายแล้วจะจบลงอย่างไร เพราะสถานการณ์ประหนึ่งว่า ทุกอย่างกำลังกลับไป “นับหนึ่ง” ใหม่อีกครั้ง ส่วนความคาดหวังที่จะ SET ZERO วัดพระธรรมกายให้เข้ารูปเข้ารอยหลุดพ้นจากพุทธทุนนิยม รวมถึงการจับกุมและสึกพระธมฺมชโยจากสมณเพศนั้น ดูห่างไกลจากความเป็นจริงยิ่งนัก

ปฏิบัติการไล่ล่าตัวพระธมฺมชโย ซึ่งเป็นการสนธิกำลังของหน่วยงานรัฐทุกภาคส่วน ทั้งตำรวจ ทหารและกรมสอบสวนคดีพิเศษ(ดีเอสไอ) ไม่นับรวมถึงสำนักงานพระพุทธศาสนาแห่งชาติ(พศ.) และกระทรวงมหาดไทย นับตั้งแต่มีประกาศใช้ ม.44 จบลงแบบ “งงๆ”

กลุ่มคนที่จัดอยู่ในประเภท “โลกสวย” อาจมองว่า ทำได้แค่นี้ก็น่าชื่นชมแล้วสำหรับลัทธิธรรมกายที่หยั่งรากอิทธิพลในราชอาณาจักรไทยมาจนพรั่งพร้อมไปด้วยสรรพกำลังครบครัน

แต่กลุ่มคนอีกจำนวนหนึ่ง ซึ่งก็มีจำนวนไม่น้อยเช่นกัน มองว่า นี่นับเป็นความล้มเหลว และยังค้นหาคำตอบว่า ทำไมอยู่ๆ ดีเอสไอถึงได้หยุดการค้นหาตัวพระธมฺมชโยไปเสียเฉยๆ และสรุปคำตอบออกมาเพียงแค่ว่า พระธมฺมชโยไม่ได้อยู่ในวัดพระธรรมกาย พร้อมทั้งตั้งคำถามตามมาถึงความเอาจริงเอาจังในครั้งนี้ของรัฐบาล เพราะรับรู้อยู่เต็มอกว่า ถ้าไม่ใช่รัฐบาลที่มีอำนาจรัฎฐาธิปัตย์เต็มร้อยอยู่ในมือ ก็ไม่มีทางที่จะจัดการกับวัดพระธรรมกายได้ เหมือนเช่นที่ปรากฏให้เห็นมาแล้วในอดีต

เวลานี้ เรื่องทั้งหมดจึงย้ายกลับไปอยู่ในมือ “มหาเถรสมาคม(มส.)” ซึ่งเป็นองค์กรปกครองสูงสุดของคณะสงฆ์ไทย อีกครั้ง คล้ายๆ กับการจัดเก็บภาษีหุ้นชินคอร์ปที่ถูกส่งผ่านไปอยู่ในมือของกรมสรรพากร องค์กรที่นั่งยัน นอนยันและยืนยันมาโดยตลอดว่าคดีหมดอายุความไปแล้ว ขณะที่รัฐบาลลอยตัวไปแบบสบายๆ

แถมปฏิกิริยาที่เกิดขึ้นจากมหาเถรสมาคม ซึ่งมีอำนาจทั้งในทางโลกและในทางธรรมครบทุกประการ ก็ไม่ได้มีอะไรออกมาเป็นชิ้นเป็นอัน แต่จะว่าไปแล้วก็มิได้แตกต่างไปจากสิ่งที่สังคมคาดเดามากนัก เนื่องเพราะเป็นที่รับรู้กันโดยถ้วนทั่วแล้วว่า ในมหาเถรสมาคมนั้นมีคนที่มีสายสัมพันธ์กับพระธมฺมชโยและวัดพระธรรมกายเกินครึ่ง

มติของ มส.ที่ออกมาในวันที่ 10 มีนาคม 2560 จึงมีเพียงแค่

1. รับทราบพระบรมราชโองการถอดยศ พระเทพญาณมหามุนี (ธมฺมชโย) เจ้าอาวาส และพระราชภาวนาจารย์ (ทตฺตชีโว) รองเจ้าอาวาส วัดพระธรรมกาย

2. รับทราบวาระพิเศษ “ให้ใช้ ม.21” กับพระธัมมชโย ในข้อหา ประพฤติผิดพระธรรมวินัยเป็นอาจิณ ซึ่งทาง มส. ได้ลงมติให้ เจ้าคณะใหญ่หนกลาง ไปดำเนินการตามขั้นตอนต่อไป

ยิ่งเมื่อตรวจสอบรายชื่อกรรมการมหาเถรสมาคมชุดปัจจุบัน ก็จะเห็นว่า ทำไมถึงเป็นเช่นนั้น

ปัจจุบัน กรรมการมหาเถรสมาคมมีทั้งหมด 20 รูป แบ่งเป็นฝ่ายมหานิกาย 10 รูปและฝ่ายธรรมยุติกนิกาย 20 รูป

กรรมการมหาเถรสมาคม ฝ่ายมหานิกาย 10 รูป ประกอบด้วย สมเด็จพระมหารัชมังคลาจารย์ (ช่วง วรปุญฺโญ) วัดปากน้ำ ภาษีเจริญ(โดยสมณศักดื์) สมเด็จพระพุทธชินวงศ์ (สมศักดิ์ อุปสโม) วัดพิชยญาติการามวรวิหาร(โดยสมณศักดิ์) สมเด็จพระพุฒาจารย์ (สนิท ชวนปญฺโญ) วัดไตรมิตรวิทยารามวรวิหาร(โดยสมณศักดิ์) สมเด็จพระพุทธโฆษาจารย์ (ประยุทธ์ ปยุตฺโต) วัดญาณเวศกวัน (โดยสมณศักดิ์) พระพรหมวชิรญาณ (ประสิทธิ์ เขมงฺกโร) วัดยานนาวา (โดยการแต่งตั้ง) พระวิสุทธิวงศาจารย์ (วิเชียร อโนมคุโณ) วัดปากน้ำ ภาษีเจริญ(โดยการแต่งตั้ง) พระพรหมดิลก (เอื้อน หาสธมฺโม) วัดสามพระยา(โดยการแต่งตั้ง) พระพรหมโมลี (สุชาติ ธมฺมรตโน) วัดปากน้ำ ภาษีเจริญ (โดยการแต่งตั้ง) พระพรหมสิทธิ (ธงชัย สุขญาโณ) วัดสระเกศราชวรมหาวิหาร(โดยการแต่งตั้ง) และพระพรหมบัณฑิต (ประยูร ธมฺมจิตฺโต) วัดประยุรวงศาวาสวรวิหาร (โดยการแต่งตั้ง)
กรรมการมหาเถรสมาคม ฝ่ายธรรมยุติกนิกาย 10 รูป ประกอบด้วย สมเด็จพระอริยวงศาคตญาณ สมเด็จพระสังฆราช (อัมพร อมฺพโร) วัดราชบพิธสถิตมหาสีมารามราชวรวิหาร ประธานกรรมการมหาเถรสมาคม สมเด็จพระมหาวีรวงศ์ (มานิต ถาวโร) วัดสัมพันธวงศาราม วรวิหาร(โดยสมณศักดิ์) สมเด็จพระวันรัต (จุนท์ พฺรหฺมคุตฺโต) วัดบวรนิเวศราชวิหาร(โดยสมณศักดิ์) สมเด็จพระธีรญาณมุนี (สมชาย วรชาโย) วัดเทพศิรินทราวาส ราชวรวิหาร(โดยสมณศักดิ์) พระพรหมเมธาจารย์ (คณิศร์ เขมวํโส) วัดบุรณศิริมาตยาราม (โดยการแต่งตั้ง) พระพรหมเมธี (จำนงค์ ธมฺมจารี) วัดสัมพันธวงศารามวรวิหาร (โดยการแต่งตั้ง) พระพรหมมุนี (สุชิน อคฺคชิโน) วัดราชบพิธสถิตมหาสีมารามราช (โดยการแต่งตั้ง) พระพรหมวิสุทธาจารย์ (มนตรี คณิสฺสโร) วัดเครือวัลย์วรวิหาร(โดยการแต่งตั้ง) พระธรรมธัชมุนี (อมร ญาโณทโย) วัดปทุมวนารามราชวรวิหาร(โดยการแต่งตั้ง) และพระธรรมบัณฑิต (อภิพล อภิพโล) วัดพระราม ๙ กาญจนาภิเษก (โดยการแต่งตั้ง)

ในจำนวนนี้ หากย้อนหลังไปดูข้อมูลเก่าๆ ก็จะเห็นว่า เคยมีกรรมการมหาเถรถึง 11 รูป เคยลงมติว่าพระธมฺมชโยไม่ต้องอาบัติปาราชิก มาแล้ว แม้บัดนี้ 2 ใน 11 รูปจะมรณภาพไปแล้ว 1 ใน 2 ตำแหน่งทีว่างลงมี สมเด็จพระพุทธโฆษาจารย์ (ประยุทธ์ ปยุตฺโต) วัดญาณเวศกวัน  เข้ามาเป็นโดยสมณศักดิ์ แต่ส่วนใหญ่ก็ยังคงมีจุดยืนที่ไม่เปลี่ยนแปลง

แล้วอย่างนี้จะจัดการกับพระธมฺมชโยและวัดพระธรรมกายได้อย่างไร

ปฏิกิริยาจาก มส.ที่จับต้องได้ก็คือ การมอบหมายให้สมเด็จพระพุทธชินวงศ์ (สมศักดิ์ อุปสโม) ในฐานะเจ้าคณะใหญ่หนกลางไปดำเนินการกับพระธมฺมชโยและวัดพระธรรมกาย ซึ่งไม่อาจตีความเป็นอย่างอื่นได้ว่า ทุกอย่างจะกลับไปเริ่มนับหนึ่งใหม่ตามกระบวนการของสงฆ์อีกครั้ง

เรื่องจับสึกกลางอากาศพระธมฺมชโยและพระทฺตตชีโว ไม่มีทางเกิดขึ้นในเร็ววัน ดังที่ พ.ต.ท.พงศ์พร พราหมณ์เสน่ห์ ผู้อำนวยการสำนักงานพระพุทธศาสนาแห่งชาติ อรรถาธิบายเอาไว้ว่า การจะจับพระธมฺมชโยสึกกลางอากาศนั้น ทำไม่ได้ เพราะทางคณะสงฆ์มีขั้นตอนหลายอย่าง อย่างน้อยก็คงใช้ระยะเวลาเป็นปีที่จะดำเนินไปจนถึง ม.21 ซึ่งสอดคล้องกับคำให้สัมภาษณ์ของ ดร.วิษณุ เครืองาม รองนายกรัฐมนตรี ที่ให้สัมภาษณ์ในวันเดียวกัน

กล่าวสำหรับขั้นตอนการทำงานหลังจากนี้ก็เป็นไปดังที่ พ.ต.ท.พงศ์พรเปิดเผยคือ การพิจารณาวินิจฉัยเพื่อให้พระธมฺมชโยสละสมณเพศจะเริ่มต้นที่เจ้าคณะใหญ่หนกลาง หลังจากนั้นก็จะแจ้งคำสั่งไปยังเจ้าอาวาสวัดพระธรรมกาย (ซึ่งปัจจุบันยังว่าง) ให้ดำเนินการให้พระธมฺมชโยสละสมณเพศ แต่ถ้าไม่ยอมก็จะดำเนินการขั้นต่อไป จนสุดท้ายก็คือ ให้เจ้าหน้าที่รัฐช่วยจับสึก

แล้วอย่างนี้ จะไม่ให้ใช้คำว่า ศึกยกนี้พระธมฺมชโยเป็นผู้ชนะได้อย่างไร เพราะมองไม่เห็นทางข้างหน้าหรือแสงสว่างที่ปลายอุโมงค์ให้เห็นเลยแม้แต่น้อย เพราะเจ้าคณะผู้ปกครองสายตรงทั้ง 5 รูปยังคงเป็นพระรูปเดิมๆ ที่มีสายสัมพันธ์อันแนบแน่นกับวัดพระธรรมกาย ไล่ตั้งแต่พระครูวิจิตรอาภากร เจ้าคณะตำบลคลองสี่ พระครูมงคลกิจจารักษ์(สันติชัย) เจ้าคณะอำเภอคลองหลวง พระเทพรัตนสุธี เจ้าคณะจังหวัดปทุมธานี พระเทพสุธี เจ้าคณะภาค 1 และสมเด็จพระพุทธชินวงศ์ เจ้าคณะใหญ่หนกลาง

เริ่มต้นจากเจ้าคณะใหญ่หนกลาง จากนั้นก็ผ่านไปที่เจ้าคณะภาค 1 เจ้าคณะจังหวัดปทุมธานี เจ้าคณะอำเภอคลองหลวง เจ้าคณะตำบลคลอง 4 แล้วเรื่องก็ต้องย้อนกลับมาในทางเดิมคือเจ้าคณะตำบลคลอง 4 เป็นคนตั้งเรื่อง จากนั้นก็ส่งต่อขึ้นมาที่เจ้าคณะอำเภอคลองหลวง เจ้าคณะจังหวัดปทุมธานี เจ้าคณะภาค 1 ก่อนที่จะมาถึงมือสมเด็จพระพุทธชินวงศ์ เจ้าคณะใหญ่หนกลางเป็นรูปสุดท้าย

สิ่งเดียวที่เป็นรูปธรรมจากปฏิบัติการที่เกิดขึ้นก็คือ การถอดสมณศักดิ์พระธมฺมชโยและพระทตฺตชีโว นอกเหนือจากนั้นกล่าวได้อย่างเต็มคำว่า “ย่ำอยู่ กับที่”

ด้วยเหตุดังกล่าว คดีของพระธมฺมชโยและการสะสางปัญหาวัดพระธรรมกาย จึงไม่อาจหลีกเลี่ยงที่จะจับตาไปที่สมเด็จพระราชาคณะฝั่งมหานิกายที่มีอำนาจในทางการปกครองโดยตรง นั่นก็คือ สมเด็จพระพุทธชินวงศ์ (สมศักดิ์ อุปสโม) เจ้าอาวาสวัดพิชยญาติการาม ในฐานะเจ้าคณะใหญ่หนกลาง ซึ่งได้รับมอบหมายจากมหาเถรสมาคมให้ไปดำเนินการตามขั้นตอนเพื่อจัดการกับพระธมฺมชโยว่าจะมีจุดยืนเปลี่ยนแปลงไปจากเดิมหรือไม่ อย่างไร

กระนั้นก็ดีมีรายงานอันน่าเชื่อถือออกมาว่า สมเด็จพระพุทธชินวงศ์ (สมศักดิ์ อุปสโม) เจ้าคณะใหญ่หนกลาง ได้ส่งหนังสือแจ้งถึงการดำเนินการด้วยการใช้กฎมหาเถรสมาคม ฉบับที่ 21 ว่าด้วยการให้พระภิกษุสละสมณเพศกับพระธมฺมชโยไปจังเจ้าคณะจังหวัดปทุมธานี และได้แจ้งไปยังเจ้าคณะอำเภอคลองหลวงแล้ว ทั้งนี้ สมเด็จพระพุทธชินวงศ์ยังกำชับด้วยว่า ให้เจ้าคณะผู้ปกครองปฏิบัติตามคำสั่งของ มส.ในเรื่องดังกล่าวด้วย

ขณะที่ปฏิกิริยาจากพระเทพรัตนสุธี เจ้าคณะจังหวัดปทุมธานี คือ มีหนังสือที่ จจ.ปท. 51/2560 เรื่อง นัดประชุมผู้รักษาการแทนเจ้าอาวาสวัดพระธรรมกาย ผู้ช่วยเจ้าอาวาสวัดพระธรรมกายทุกๆรูป พร้อมด้วยไวยาวัจกรและผู้ที่มีส่วนเกี่ยวข้องให้ประชุมเมื่อวันที่ 13 มีนาคม 2560 ที่ผ่านมาในวัดพระธรรมกาย

ภายหลังการประชุมพระเทพรัตนสุธี เปิดเผยว่า เป็นการเรียกประชุมเพื่อสอบถามพระสงฆ์ของวัดพระธรรมกาย ที่ถูกหมายเรียกให้ไปรายงานตัวต่อเจ้าหน้าที่กรมสอบสวนคดีพิเศษ (ดีเอสไอ) ซึ่งทั้งหมดที่มีชื่อให้ไปรายงานตัวนั้นได้ไปรายงานตัวแล้วคงเหลือแต่ พระธมฺมชโยเพียงรูปเดียวที่ไม่ได้ไป ขณะที่ในส่วนของการบริหารจัดการภายในวัดพระธรรมกายก็ให้ดำเนินการต่อไปโดยให้ญาติโยมได้เข้ามาทำบุญตักบาตรนั่งสมาธิกันตามปกติ แต่มีข้อห้ามไม่ให้ทั้งพระสงฆ์และศิษยานุศิษย์วัดพระธรรมกายได้พูดคุยกันเกี่ยวกับเรื่องประเด็นคดีความต่างๆ ของวัดพระธรรมกายอย่างเด็ดขาด

“การดำเนินการในวัดพระธรรมกายหลังจากนี้รักษาการเจ้าอาวาสวัดพระธรรมกายเป็นผู้ดูแล ซึ่งจะต้องมารายงานกับตัวกับอาตมาก่อนในฐานะเจ้าคณะปกครองสงฆ์ตามลำดับขั้นตอนต่อไป” พระเทพรัตนสุธีให้ข้อมูล

หรือแปลเป็นไทยก็คือยังไม่มีการส่งพระจากภายนอกวัดพระธรรมกายเข้าไปเป็นเจ้าอาวาส และพระวิเทศภาวนาจารย์ (สมบุญ สมฺมปุญฺโญ) ยังคงรั้งตำแหน่ง “รักษาการแทนเจ้าอาวาสวัดพระธรรมกาย” จากการแต่งตั้งของ พระครูวิจิตรอาภากร เจ้าคณะตำบลคลองสี่ เหมือนเดิม ซึ่งชวนให้สงสัยว่า ทำไมถึงไม่มีการแต่งตั้งเจ้าอาวาสคนใหม่เสียที หรือจะให้เข้าใจว่า ยังไม่ได้รับไฟเขียวจากพระธมฺมชโยหรือพระทตฺตชีโวกระนั้นหรือ

สรุปก็คือ แนวรบที่วัดพระธรรมกายยังคงเหมือนเดิม
วัดพระธรรมกายก็ยังคงเป็นวัดพระธรรมกาย
รักษาการเจ้าอาวาสก็ยังคงเป็นพระจากวัดพระธรรมกาย
เจ้าอาวาสวัดพระธรรมกายก็ยังไม่ได้มีการแต่งตั้ง


ส่วนการที่พระครูมงคลกิจจารักษ์ เจ้าคณะอำเภอคลองสอง คณะพระวินยาธิการและผู้แทนสำนักงานพระพุทธศาสนาแห่งชาติ จังหวัดปทุมธานี ลงพื้นที่ตรวจสอบในวัดพระธรรมกายอย่างต่อเนื่อง รวมถึงคำสั่งให้วัดพระธรรมกายจัดทำและแจ้งบัญชีรายชื่อพระภิกษุสามเณรในวัดทั้งหมดให้เจ้าคณะจังหวัดปทุมธานีทราบภายในวันที่ 31 มีนาคม 2560 และให้วัดพระธรรมกายจัดทำบัญชีรายรับรายจ่ายของวัดแจ้งเจ้าคณะจังหวัดปทุมธานีนั้น แม้อาจจะแลดูว่าทำงานอยู่บ้าง แต่นั่นเป็นเพียงปลายทางของปัญหาเท่านั้น เพราะต้องยอมรับว่า ต้นตอของเรื่องราวทั้งหมดคือพระธมฺมชโย ซึ่งเวลานี้ไม่รู้ว่าอยู่แห่งหนตำบลไหน

สรุปก็คือ งานนี้คงต้องรอกันต่อไป และดูว่าฝ่ายมหานิกายที่นำโดยสมเด็จพระพุทธชินวงศ์จะมีบทสรุปในขั้นตอนสุดท้ายอย่างไร.....ส่วนจะรอนานแค่ไหน ก็หวังว่า คงจะไม่นานเกินไปนัก ไม่เช่นนั้น ตัวสมเด็จพระพุทธชินวงศ์เองก็อาจจะต้องมีปัญหาตามมาเป็นแน่แท้

ส่วนเรื่องการปฏิรูปมหาเถรสมาคมนั้นฟันธงเปรี้ยงได้เลยว่า มีโอกาสเกิดขึ้นได้ยากยิ่งกว่าเข็นครกขึ้นภูเขา ฝนทั่งให้เป็นเข็มแลดูจะกระทำง่ายกว่าเสียด้วยซ้ำไป เว้นเสียแต่ว่า.....

งานนี้ ชิตัง เม โป้ง.....จบหรือไม่จบไม่รู้ แต่ที่แน่ๆ และเป็นความจริงที่ไม่อาจตีความเป็นอื่นได้ก็คือ ชั่วโมงนี้...พระธมฺมชโยคือ ผู้ชนะ

โลกสวยกันต่อไป....นะจ๊ะ...


กำลังโหลดความคิดเห็น