xs
xsm
sm
md
lg

ผู้จัดการสุดสัปดาห์

x

เซียนหุ้น “ทัตตชีโว” ชิตังเม โป้ง....รวย

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


ผู้จัดการสุดสัปดาห์ - พักเรื่องจับและสึก “พระธมฺมชโย” ต้นธาตุต้นธรรมของวัดพระธรรมกาย เอาไว้ก่อน เพราะเวลานี้มีเรื่อง “ร้อน” เสียยิ่งกว่า เมื่อ “ขจรศักดิ์ พุทธานุภาพ” อัยการพิเศษ สำนักการสอบสวน 3 เปิดเผยภายหลังการประชุมคณะพนักงานสอบสวนในคดีพิเศษที่เกี่ยวเนื่องเกี่ยวพันกับการฟอกเงินของวัดพระธรรมกายเมื่อวันที่ 15 มีนาคม 2560 ที่ผ่านมาว่า “พระทตฺตชีโวเล่นหุ้น”

แถมเงินที่นำไปซื้อหุ้นก็เงินที่พระทตฺตชีโวนำออกจาก “บัญชีของวัด” อีกต่างหาก

นั่นหมายความว่า อดีตพระราชภาวนาจารย์ที่ถูกถอดสมณศักดิ์เมื่อครั้งเป็นรองเจ้าอาวาสและรักษาการเจ้าอาวาส กำลังทำผิดกฎหมาย เพราะทั้งสองตำแหน่งถือเป็นตำแหน่งเจ้าพนักงาน ซึ่งเข้าข่ายมีความผิดมาตรา 157 ฐานเป็นเจ้าพนักงานปฏิบัติหรือละเว้นการปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบด้วย

อย่างไรก็ดี การพระทฺตตชีโว พระองค์อื่นๆ หรือบุคลากรของทางวัดพระธรรมกายเล่นหุ้นนั้น ไม่ใช่เรื่องแปลก เพราะเป็นที่รับรู้กันอยู่แล้วว่า วัดพระธรรมกายมีศิษยานุศิษย์ที่เข้าขั้น “เซียนหุ้น” อยู่เป็นจำนวนไม่น้อย แต่ที่โดดเด่นก็เห็นทีจะหนีไม่พ้นอดีตเซียนหุ้นใหญ่ที่เคยต้องคดีและหลบไปยังต่างประเทศกระทั่งคดีหมดอายุความจึงเดินทางกลับเข้ามาในราชอาณาจักรไทย

อดีตเซียนหุ้นขาใหญ่คนนั้นจะเป็นใครเสียไม่ได้นอกจาก “เสี่ยสอง-นายสอง วัชรศรีโรจน์”

ขณะเดียวกันวัดพระธรรมกายก็มีลูกศิษย์ที่มีธุรกิจอยู่ในตลาดหลักทรัพย์จำนวนหลายบริษัท ยกตัวอย่างเช่น บริษัท แลนด์ แอนด์ เฮ้าส์ จำกัด(มหาชน)ของ “เจ้าสัวอนันต์ อัศวโภคิน” มหาเศรษฐีไทยที่เคยติดอันดับมหาเศรษฐีโลกมาแล้ว

กล่าวสำหรับเสี่ยสองหรือ นายสอง วัชรศรีโรจน์ นั้น ถือเป็นนักลงทุนขาใหญ่ชื่อเสียงกระฉ่อนระหว่างปี 2532 - 2536 และทำให้ตลาดหลักทรัพย์สั่นสะเทือนด้วยการซื้อหุ้น “ธนาคารกรุงเทพพณิชย์การหรือบีบีซี” ถึง 34 ล้านหุ้น จนถูกแจ้งจับในข้อหาปั่นหุ้น เมื่อปี 2535

เหตุการณ์คราวนั้นเสี่ยสองเกือบจะเทกโอเวอร์บีบีซีได้สำเร็จ และว่ากันว่า เหตุการณ์นั้นทำให้ “ผู้เป็นประมุขของลัทธิ” สูญเงินไปร่วมหมื่นล้านบาททีเดียว

        “เสี่ยสอง” ถือเป็นบุคคลในตำนานของตลาดหุ้นไทย เป็นบุคคลคนแรกที่สำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ (ก.ล.ต.) กล่าวโทษในข้อหาร่วมกันปั่นหุ้นแบงก์บีบีซี เมื่อปี 2535 ซึ่งต่อมาศาลฎีกามีคำสั่งยืนตามคำพิพากษาของศาลอุทธรณ์ที่ให้ยกฟ้อง เสี่ยสองยัง ถูก ก.ล.ต.กล่าวโทษในข้อหาร่วมกันปั่นหุ้น บริษัทเงินทุนเฟิสท์ซิตี้ อินเวสเม้นท์ จำกัด (มหาชน) และบริษัท รัตนการเคหะ จำกัด (มหาชน) แต่ทั้ง 2 กรณีนี้อัยการมีคำสั่งไม่ฟ้อง ต่อมา เมื่อปี 2536 ก็เจอ ก.ล.ต.กล่าวโทษในข้อหาร่วมกันปั่นหุ้น บริษัท กฤษดามหานคร จำกัด (มหาชน) และอัยการมีคำสั่งฟ้อง “เสี่ยสอง” จึงลี้ภัยหายหน้าไปจนคดีหมดอายุความลงเมื่อปี 2545 จากนั้นก็กลับมาอีกครั้งตามคำเชิญของ “เสี่ย พ.” คนดังแห่งเมืองเหนือ และมีการข่าวคราวเข้าเก็งกำไรหุ้นจนเป็นที่จับตาหลายตัว

        ณ เวลานี้ เสี่ยสอง วัชรศรีโรจน์ เปิดหน้าเว็บไซต์ www.watcharasriroj.com โชว์ตัวกันชัดแจ้ง โดยเชื่อมโยงชีวิตของนักเล่นหุ้นกับธรรมะเข้าด้วยกัน และเนื้อหาในส่วนของการช่วยเหลือสังคมด้านการฟื้นฟูศีลธรรมนั้น ได้กล่าวถึงการเข้าไปมีส่วนในโครงการที่ “หลวงพ่อธัมมชโย” มีดำริ คือ โครงการฟื้นฟูศีลธรรมโลกเพื่อถวายเป็นพุทธบูชาเนื่องในวันวิสาขบูชา สอดรับกับนโยบายของกระทรวงศึกษาธิการ เพื่อสร้างต้นแบบเยาวชนด้านศีลธรรมและคุณธรรม นำร่องโดยโรงเรียน 5,000 โรงเรียน โดยมีนักเรียนจำนวน 200,000 คน จากทั่วประเทศเข้าร่วมโครงการ

และที่ต้องขีดเส้นใต้เอาไว้ก็คือน้องชายของเสี่ยสองนั้นคือ พระมหาสมชาย ฐานวุฑฺโฒ ผู้ช่วยเจ้าอาวาสวัดพระธรรมกาย ด้านการศึกษาและการเผยแผ่

กล่าวสำหรับกรณีพระทฺตตชีโวนำเงินวัดไปเล่นหุ้นนั้น ความจริงไม่ใช่เรื่องใหม่หากแต่ดีเอสไอเคยได้รับแจ้งข้อมูลมาตั้งแต่เมื่อเดือนธันวาคมปี 2559 โดยมีความเชื่อมโยงกับคดีทุจริตสหกรณ์เครดิตยูเนี่ยนคลองจั่น เพราะเช็คที่ถูกผ่องถ่ายออกมานั้น บางส่วนเข้าวัด แต่บางส่วนก็ไปอยู่ที่กลุ่มพระและกลุ่มบุคคลภายนอกที่นำไปซื้อขายหลักทรัพย์ในตลาดหลักทรัพย์

        ในครั้งนั้น นายขจรศักดิ์ พุทธานุภาพ อัยการพิเศษฝ่ายสำนักงานคดีสอบสวน 3 เคยระบุว่า เงินที่ถูกโอนหรือโยกไปเล่นหุ้นทั้งหมดที่ตรวจพบประมาณ 1,000 ล้านบาท มีนอมินีถือแทน

        และในครั้งนั้น พระสนิทวงศ์ วุฑฺฒิวํโส ผู้อำนวยการสำนักสื่อสารองค์กร วัดพระธรรมกาย ได้ออกมาปฏิเสธว่า ไม่เป็นแล้วจริง ไม่มีการนำเงินของวัดไปซื้อขายหุ้นในตลาดหลักทรัพย์ใดๆทั้งสิ้น

ในห้วงเวลานั้น มีการวิเคราะห์กันว่า คนกลุ่มนี้เป็นกลุ่มทุนที่มีผลประโยชน์ร่วมกับวัดพระธรรมกาย นำเงินบริจาคที่เป็นเช็คโอนเข้าวัด แล้วถูกถือโดยนอมินี จากนั้นก็นำไปเล่นหุ้นโดยคนบางกลุ่ม ที่มีความเชื่อมโยงกับวัดพระธรรมกาย รวมทั้งมีข้อมูลด้วยว่า มีบริษัทโบรกเกอร์และมีพระเข้าไปเกี่ยวข้องด้วยหลายรูป เป็นส่วนที่ดูแลเรื่องเงินวัด และนำเงินส่วนนี้ออกไป และพบว่า เซียนหุ้นอักษรย่อ ส. มีส่วนเกี่ยวข้อง

และวันนี้ความชัดเจนก็ปรากฏออกมาในอีกขั้นหนึ่งแล้ว เมื่อฝ่ายอัยการและดีเอสไอออกมายืนยันถึงเรื่องการเล่นหุ้นของเครือข่ายวัดพระธรรมกาย

และเม็ดเงินก้อนนั้นคงหนีไม่พ้นข้อมูลชุดเดิมคือเกี่ยวข้องกับคดีรับเช็คของสหกรณ์เครดิตยูเนี่ยนคลองจั่น ที่นายศุภชัย ศรีศุภอักษร อดีตประธานสหกรณ์เครดิตยูเนี่ยนคลองจั่น นำมามอบให้ “พระธัมมชโย” และวัดพระธรรมกาย ในช่วงระหว่างปี 2552 - 2555 จำนวน 13 ฉบับ เป็นเงิน 768.4 ล้านบาท จากเงินที่มีการยักยอกมาบริจาคให้วัดพระธรรมกาย 1,400 ล้านบาท

รวมทั้งมีข้อมูลออกมาด้วยว่า ในช่วงระหว่างปี 2553 - 2559 มีการนำเงินไปเล่นหุ้น โดยเฉพาะหุ้นในกลุ่มอสังหาริมทรัพย์และธุรกิจการเงินการธนาคารบางแห่ง รวมทั้งหุ้นในกลุ่มที่เกี่ยวกันกับ “เสี่ย ส.” และเครือญาติ ซึ่งไม่ต้องเอ่ยชื่อตรงๆ ก็คงพอจะรู้ได้ว่าเป็นบริษัทไหนบ้าง

อย่างไรก็ดี วัดพระธรรมกายก็ปฏิเสธข่าวโดยออกแถลงการณ์ยืนยันว่าไม่เป็นความจริง

ขณะที่นายขจรศักดิ์ได้ออกมาตอกย้ำข้อมูลอีกครั้งหลังวัดพระธรรมกาย เสียงแข็งว่า จากร่องรอยธุรกรรมทางการเงินที่ตรวจสอบพบว่า ในช่วงปี 2553-2559 พระทฺตตชีโวดำรงตำแหน่งรักษาการเจ้าอาวาส ได้มีการนำเงินกว่า 1,000 ล้านบาท ออกไปกระจายให้บุคคลและพระสงฆ์นำไปลงทุน ซึ่งหลักฐานปรากฏชัดว่าเป็นที่นายศุภชัย ศรีศุภอักษรโอนจากสหกรณ์เงินเครดิตยูเนี่ยนคลองจั่น จำกัด บริจาคเข้ามายังบัญชีวัดพระธรรมกายและพระธมฺมชโยก่อนถูกส่งต่อไปให้พระสงฆ์และกลุ่มบุคคลต่างๆ

ทั้งนี้ แม้ว่าพระทตฺตชีโวจะไม่ได้ใช้ชื่อในการเล่นหุ้นแต่เชื่อว่ามีการใช้กลุ่มบุคคลและบุคคลที่เป็นนักธุรกิจให้เป็นนอมินีมีทั้งการเล่นหุ้นและปั่นหุ้นพนักงานสอบสวนเตรียมออกหมายเรียกผู้มีรายชื่อเกี่ยวข้องกับการเล่นหุ้นของพระทตฺตชีโวเข้าให้ปากคำแล้ว และเมื่อสำนวนคดีทั้ง 15 คดีเสร็จสมบูรณ์จะเห็นภาพความเชื่อมโยงถึงกันทั้งหมด

“กรณีนี้พนักงานสอบสวนจำเป็นต้องเรียกพระมหาบุญชัย จารุทัตโตพระผู้รับผิดชอบด้านการเงินของวัด เข้าให้ปากคำอีกครั้งรวมถึงเจ้าหน้าที่จากสำนักงานกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ (กลต.)และโบรกเกอร์ต่างๆที่ทำหน้าที่รับซื้อขายหุ้นให้กับนอมินีของพระทตฺตชีโวด้วย เพราะพบว่าเจ้าหน้าที่ของวัดและผู้เกี่ยวข้องได้นำเงินของวัดออกไปเปิดพอร์ตลงทุนซื้อขายหุ้นผ่านโบรกเกอร์ 2-3 แห่ง” นายขจรศักดิ์ให้ข้อมูลเพิ่มเติม

นี่นับเป็นความคืบหน้าที่สำคัญและน่าสนใจที่เกิดขึ้นกับวัดพระธรรมกาย เพราะทำให้สังคมได้รู้ถึงความไม่ชอบมาพากลมากขึ้นเป็นลำดับ

ใครเลยจะไปคิดว่า หนทางดับทุกข์ที่พร่ำสอนศิษยานุศิษย์นั้นเป็นเพียง เรื่องโคมลอย หากแต่ความจริงวัดนี้มีเป้าหมายสูงสุดคือการทำให้เชื่อว่า “นิพพานัง ปรมัง ธนัง” หรือนิพพานเป็นทรัพย์อันยอดเยี่ยม ส่วนทรัพย์นั้นจะเข้ากระเป๋าใคร คงไม่ต้องบอก

ขณะเดียวกัน นอกจากเรื่องเล่นหุ้นแล้ว คดีความที่เกิดขึ้นยังทำให้ทราบด้วยว่า ธรณีสงฆ์ของวัดพระธรรมกายมีเพียงกว่า 100 ไร่เท่านั้น ขณะที่อาคาร สิ่งปลูกสร้าง และที่ดินจำนวนมาก รวมถึงสำนักปฏิบัติธรรมในต่างจังหวัดซึ่งล้วนถือครองในชื่อมูลนิธิต่างๆ มิได้ถูกยกให้เป็นธรณีสงฆ์แต่ประการใด

งานนี้ เห็นชัดๆว่า….ชิตัง เม โป้ง....รวยนะจ๊ะ


กำลังโหลดความคิดเห็น