ผู้จัดการสุดสัปดาห์ - ผลพวงจากการขายหุ้น บริษัทชินคอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) หรือ “ชินคอร์ป” ของ “ตระกูลชินวัตร” ให้แก่ “กองทุนเทมาเส็ก” ตั้งแต่เมื่อปี 2549 มูลค่าราว 7.3 หมื่นล้านบาท ก่อนที่ “รัฐบาลทักษิณ” จะถูกยึดอำนาจ นับถึงวันนี้ก็ล่วงเลยมากว่า 10 ปีเข้าให้แล้ว แต่ก็ยังไม่มีความคืบหน้าเรียกเก็บภาษีจากการซื้อขายหุ้นครั้งนั้นแต่อย่างใด
ที่น่าตกใจยิ่งกว่านั้นคือเรื่องนี้กำลังจะหมดอายุความในวันที่ 31 มีนาคมนี้แล้ว แต่ “ผู้มีอำนาจ” ทั้งรัฐบาล และคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) เหมือนเพิ่งตื่นจากภวังค์ มาตั้งท่าเอาจริงเอาจังในขณะที่เวลางวดเข้ามาเหลือไม่ถึง 2 อาทิตย์ดี
จริงๆเรื่องนี้ห่างหายจากความสนใจของประชาชนไปนานพอสมควร เพราะหลังจากศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองมีคำตัดสินให้ยึดทรัพย์ "ทักษิณ ชินวัตร" อดีตนายกรัฐมนตรี จำนวน 4.6 หมื่นล้านบาท เมื่อหลายปีก่อน หลายคนก็หลงลืมว่า ยังมีเรื่องของการจัดเก็บภาษีที่ “ตระกูลชินวัตร” ที่เกี่ยวข้องกับการซื้อ-ขายครั้งนั้นที่ยังต้องรับผิดชอบ
แม้ตลอดระยะเวลาที่ผ่านมาจะมีการอ้างว่า การซื้อขายหุ้นหนนั้นไม่ต้องเสียภาษี เนื่องจากได้รับการยกเว้นตามกฎหมาย เพราะเป็นการซื้อขายผ่านตลาดหลักทรัพย์ แต่ในชั้นของ คณะกรรมการตรวจสอบการกระทำที่ก่อให้เกิดความเสียหายแก่รัฐ (คตส.) ระบุว่า ในขั้นตอนการซื้อขายหุ้นชินคอร์ปนั้น มีช่วงหนึ่งที่ปรากฏชื่อ บริษัท แอมเพิลริช อินเวสต์เมนต์ จำกัด เข้ามาเกี่ยวข้อง จึงได้มีมติเมื่อเดือน เมษายน 2550 ให้ กรมสรรพากร เรียกเก็บภาษีเงินได้นิติบุคคลจาก “บจ.แอมเพิลริช” ในฐานะเป็นกิจการในประเทศไทย
ซึ่งผู้บริหาร บจ.แอมเพิล ริช ในขณะนั้นก็มีชื่อ “ลูกโอ๊ค” พานทองแท้ ชินวัตร - “ลูกเอม” พินทองทา ชินวัตร บุตรชาย-บุตรสาวของนายทักษิณ รวมอยู่ด้วย
พานทองแท้ กับนักโทษชายหนีคดีทักษิณ ชินวัตร
พินทองทา คุณากรวงศ์ (ชินวัตร)
เชื่อหรือไม่ว่าจากเมษายน 2550 ถึงวันนี้เป็นเวลาเกือบ 10 ปี 6 รัฐบาล ผ่านมือรัฐมนตรีว่ากระทรวงการคลัง และอธิบดีกรมสรรพากร มากหน้าหลายตา ก็ยังไม่มีความคืบหน้า เรียกเก็บภาษีได้สักแดงเดียว เหมือนกับไปชนตออะไรบางอย่าง
แต่จะพูดว่าไร้ความเคลื่อนไหวเลยก็คงจะไม่ใช่ ทุกๆ รัฐบาลก็มีการขยับเรื่องนี้พอสมควร ในลักษณะแตะๆปล่อยๆอย่างมี “นัยยะ” ตั้งแต่ พล.อ.สุรยุทธ์ จุลานนท์ ที่รับลูกต่อจาก คตส.ในการประเมินภาษีพร้อมเบี้ยปรับจาก “พานทองแท้ - พินทองทา” ที่มูลค่า 11,300 ล้านบาท แต่ก็พ้นจากตำแหน่งไปเสียก่อนที่จะเห็นหน้าเห็นหลังอะไร
ถัดมาเป็นรัฐบาล สมัคร สุนทรเวช ต่อเนื่องถึงช่วงสั้นๆ ของรัฐบาล สมชาย วงศ์สวัสดิ์ ซึ่งแน่นอนว่า ไม่รับลูกต่อ จึงไม่ค่อยมีความคืบหน้าเท่าไร เดชะบุญด้วยซ้ำที่อายุทั้ง 2 รัฐบาลสั้นเกินที่จะเป่าเรื่องนี้ทิ้งไปได้
ต่อมาเป็นคิวของ รัฐบาล อภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ ถือเป็นช่วงที่สำคัญ เนื่องจากศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง มีคำพิพากษายึดทรัพย์ทักษิณจำนวน 4.6 หมื่นล้านบาท เมื่อเดือนกุมภาพันธ์ 2553 พร้อมระบุว่า “ทักษิณ” คือ เจ้าของหุ้นชินคอร์ปตัวจริง ซึ่งเท่ากับว่า “พานทองแท้ - พินทองทา” เป็นเพียง “นอมินี” เท่านั้น
จุดเปลี่ยนครั้งสำคัญคือในช่วง รัฐบาล ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร ที่มีความพยายามในการตัดจบเรื่องนี้ มีทั้งการคืนเงินสด-ทรัพย์สินที่เคยอายัดไว้ให้ “พานทองแท้ - พินทองทา” ต่อเนื่องด้วยความเห็นของอธิบดีกรมสรรพากรขณะนั้นที่ชื่อ “สาธิต รังคสิริ” ที่ทำหน้าที่เป็น “ทนายหน้าหอ” ระบุว่า การขายหุ้นชินคอร์ปให้แก่กองทุนเทมาเส็ก เป็นการซื้อขายผ่านตลาดหลักทรัพย์ ที่ได้รับการยกเว้นภาษีตามกฎหมาย และไม่มีการประเมินภาษีชินคอร์ปต่อไป
จนมาถึงรัฐบาล พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ที่เข้ามายึดอำนาจเมื่อเดือนพฤษภาคม 2557 และเป็นสำนักงานตรวจเงินแผ่นดิน (สตง.) ที่มี พิศิษฐ์ ลีลาวชิโรภาส เป็นผู้ว่าการ สตง.เขี่ยไฟใส่ฟืน รื้อเรื่องนี้ขึ้นมาอีกคำรบ โดยแทงหนังสือไปถึง ประสงค์ พูนธเนศ อธิบดีกรมสรรพากร เพื่อให้ดำเนินการเกี่ยวกับการจัดเก็บภาษีหุ้นชินคอร์ป เมื่อเดือนสิงหาคม 2559 หรือ 2 ปีกว่าหลังจากที่รัฐบาล คสช.เข้ามาบริหารประเทศ
แต่ “อธิบดีประสงค์” ก็ไม่เล่นด้วย โดยให้ความเห็นว่า เรื่องนี้ได้จบไปอย่างบริบูรณ์แล้ว เนื่องจากนายทักษิณได้ถูกศาลฎีกาฯพิพากษายึดทรัพย์ 4.6 หมื่นล้านบาทไปแล้ว ซึ่งภาษีที่จะเรียกเก็บก็อยู่ในก้อนดังกล่าว เมื่อรูปการณ์เป็นเช่นนั้น “ผู้ว่าฯพิศิษฐ์” ไม่ลดละความพยายาม เสนอให้รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังใช้อำนาจมาตรา 3 อัฏฐ วรรคสอง แห่งประมวลรัษฎากร ในการขยายกำหนดเวลาการออกหมายเรียกตรวจสอบการเสียภาษีออกไปเกิน 5 ปี เพื่อสั่งให้ กรมสรรพากร ออกหมายเรียกตรวจสอบและทำการประเมินภาษีก่อนหมดอายุความภายในวันที่ 31 มีนาคม 2560
ประสงค์ พูนธเนศ อธิบดีกรมสรรพากร
นายวิษณุ เครืองาม รองนายกรัฐมนตรี ในฐานะมือกฎหมายของรัฐบาล
ก่อนที่เมื่อช่วงต้นเดือนมีนาคม 2560 คณะกรรมการวินิจฉัยภาษีอากรที่มี ประภาส คงเอียด รองปลัดกระทรวงการคลัง เป็นประธาน จึงได้มีมติไม่ขยายเวลาออกหมายเรียกเก็บภาษีชินคอร์ปตามแนวทางของ สตง. โดยให้เหตุผลว่า การขยายเวลาตามกฎหมายสามารถทำได้ในกรณี “เป็นคุณแก่ผู้เสียภาษี” เท่านั้น
ดูเหมือนว่าองคาพยพของรัฐบาล จะหลีกเลี่ยงที่จะเข้ามาข้องเกี่ยวกับเรื่องร้อนๆนี้ แล้วภาวนาให้หมดอายุความในวันที่ 31 มีนาคม 2560 ไปเสียที ทำให้ “ทักษิณและครอบครัว” กำลังจะได้ประโยชน์จากเจตนาของ “ใครบางคน” ที่ต้องการให้เรื่องเป็นการ “ยกประโยชน์ให้จำเลย” เพราะช่องโหว่ทางกฎหมาย ท่ามกลางเสียงโห่ฮาที่มีไปถึงตัว “นายกฯลุงตู่” พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ว่ายักคิ้วหลิ่วตาให้มีการ “ล้มมวย” หรือไม่
แตกต่างจากท่าทีของ “ผู้ว่าฯพิศิษฐ์” ที่นับถอยหลังใกล้หมดวาระในตำแหน่งอยู่รอมร่อ ที่ขมีขมันแบบกัดไม่ปล่อย ถึงขนาดขู่ว่าจะเอาผิดมาตรา 157 กับกรมสรรพากร หากไม่จัดเก็บภาษีหุ้นชินคอร์ป ราวกับต้องการสร้างผลงานทิ้งทวน หรือเคราะห์ดีอาจได้ต่อลมหายใจยืดอายุในตำแหน่ง “มือปราบโกง” ไปอีกสักระยะ
เรื่องนี้ต้องให้เครดิต สตง.ที่จุดพลุขึ้นมาฟ้องสังคม หาก สตง.เงียบไปด้วย ก็ไม่รู้เหมือนกันว่า จะมีใครพูดถึงเรื่องนี้ เพราะ กรมสรรพากร ก็ชัดเจนว่าไม่อยากยุ่งเกี่ยว ไม่ว่าจะเป็นอธิบดีคนก่อนๆ หรือในยุคของ “อธิบดีประสงค์” ที่เหมือนโดนสะกดให้สงบปากสงบคำเรื่องนี้ไว้ ในอารมณ์หัวไม่ส่าย หางก็ไม่ขยับ
ทั้งๆที่เป็นยุคของรัฐบาลทหารที่มีอำนาจรัฐฏาธิปัตย์เต็มรูปแบบ แต่ท่าทีกลับเหมือนไม่อยากจะเก็บภาษีจาก “ตระกูลชินวัตร” สักเท่าไร แม้จะมูลค่าสูงถึง 1.2 หมื่นล้านบาทก็ตาม
เป็นช่วงเดียวกับที่รัฐบาล คสช. โดย “บิ๊กป้อม” พล.อ.ประวิตร วงศ์สุวรรณ รับโต้โผเป็นผู้ขับเคลื่อนการสร้างความปรองดองสมานฉันท์ให้เกิดขึ้น จึงมีการตั้งข้อสังเกตออกมาว่า เรื่องนี้เป็นหนึ่งใน “แพกเกจเกี้ยเซียะ” กับ “ฝ่ายทักษิณ” ในการที่จะไม่ตีกันให้ตาย เพื่อประคองกันเข้าร่วม “ดีลปรองดอง” หรือไม่อย่างไร
บังเอิญที่ช่วงนี้คดีความต่างๆ ที่เกี่ยวกับ “คนตระกูลชิน” และเครือข่ายพรรคเพื่อไทย ไม่ค่อยเดินหน้า ยิ่งทำให้ชวนคิดว่า คดีอืดเพราะมีใครบางคนต้องการให้อืด เพื่อเป็นส่วนหนึ่งของแนวทางการสร้างความปรองดองหรือไม่ ไม่ว่าจะเป็นคดีรับจำนำข้าวของ “หนูปู” ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี ในชั้นศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองก็ดูจะล่าช้าไปจากกำหนดเดิมค่อนข้างมาก ส่วนการเรียกค่าเสียหายที่ทำไปทำมาก็ไปค้างอยู่ในชั้นศาลปกครอง ที่ไม่รู้ว่าจะเสร็จสิ้นเมื่อไร
เมื่อเสียงโห่ฮารุมเร้าขึ้นเรื่อยๆ อาจจะสะกิดต่อมละอาย “บิ๊ก คสช.” จน “นายกฯลุงตู่” ต้องออกมาให้ความเห็นบ้าง แต่ก็ในลักษณะโยนให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องทั้งกระทรวงการคลัง-กรมสรรพากรไปศึกษา เพื่อดำเนินการอย่างใดอย่างหนึ่งให้ทันสิ้นเดือนนี้
พิศิษฐ์ ลีลาวชิโรภาส ผู้ว่าฯ สตง.
พล.ต.อ.ชัยยะ ศิริอำพันธ์กุล เลขาธิการคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการฟอกเงิน (ปปง.)
และก็เป็นคิวของบุรุษที่ได้ชื่อว่า “เนติบริกร” อย่าง วิษณุ เครืองาม รองนายกรัฐมนตรี ในฐานะมือกฎหมายประจำรัฐบาล ที่แม้กรมสรรพากรจะยืนยันว่า ทำไม่ได้ แต่ระดับ “เนติบริกร” แล้วไม่มีอะไรยากเกินความสามารถในการหาช่องทางเพื่อทำให้คดีไม่ขาดอายุความง่ายๆ หรือที่เจ้าตัวขนานนามว่า เป็น “อภินิหารทางกฎหมาย”
แต่เป็น “อภินิหาร” อะไรนั้น ช่วงแรกเจ้าตัวขออุบไว้ก่อน
จนเกิดคิวแทรกโดย พล.ต.อ.ชัยยะ ศิริอำพันธ์กุล เลขาธิการคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการฟอกเงิน (ปปง.) ที่เสนอทางเลือกตาม “สไตล์ฮาร์ดคอร์” โดยชงให้คดีนี้เป็น “คดีฟอกเงิน” เพื่อทำให้คดีไม่มีหมดอายุความ และสามารถสืบ-ยึดทรัพย์ย้อนหลังไปได้ ซึ่งคนที่จะโดนคดีก็หนีไม่พ้น “พานทองแท้ - พินทองทา”
เมื่อ ปปง.เปิดไพ่ใหม่ให้เล่นแบบได้-เสีย “รองฯวิษณุ” จึงรีบแบไต๋แบบหมดหน้าตัก โดยระบุว่า จะหยิบยกคำตัดสินของศาลภาษีอากรกลางเมื่อปี 2555 ที่ระบุว่า “พานทองแท้ - พินทองทา” บุตรของนายทักษิณเป็น “นอมินี” ไม่ใช่ตัวการสำคัญ ดังนั้นจึงให้ กรมสรรพากร ออกหมายเรียกตัวการสำคัญคือตัวพ่ออย่าง “ทักษิณ” แทน ซึ่งรัฐบาลรู้อยู่แล้วว่า “ทักษิณ” ไม่มาเข้ากระบวนการแน่นอน
เป็นที่มาของ “อภินิหารทางกฎหมาย” ที่เมื่อขอออกประเมินภาษีไปแล้วไม่มา ถือว่าระยะเวลาได้หยุดลง ก่อนครบอายุความ 10 ปี หลังจากนี้ก็คือ จะดำเนินการฟ้องร้องต่อไป โดยจะสู้กันใน 3 ศาล
ดูรวมๆ เหมือน “รองฯวิษณุ” พยายามอย่างเต็มพิกัดเพื่อไล่เบี้ยเรียกภาษีจาก “ทักษิณ” แต่เอาจริงๆ แล้วการเลือกวิธีดังกล่าวเป็นการลดแรงเสียดทานจากสังคมเท่านั้น โดยการทำไม่ให้ขาดอายุความ เพราะถ้าขาดไม่ใช่แค่กรมสรรพากร แต่เป็นรัฐบาลที่จะถูกครหาว่า ปล่อยปละละเลย จนหนักถึงขั้น “เกี้ยเซียะ” กันหรือไม่
อย่างน้อยๆ คดีนี้ก็ยังต้องว่ากันไปอีกเป็น 10 ปี ยังไม่รู้ว่าที่สุดจะเรียกภาษีจาก “ทักษิณ” ได้หรือไม่ แต่อย่างน้อยก็เอาตัวรอดไปได้แล้วว่า พยายามหาทางให้คดียังเดินไปต่อ ไม่จบแค่วันที่ 31 มีนาคมนี้
เป็นอภินิหารที่สำแดงโดย “วิษณุ เครืองาม” ที่ได้ชื่อเป็น “เนติบริกร” ครั้งแรกก็ด้วยฝีไม้ลายมือในการจัดแจงช่องทางกฎหมายให้กับ “ทักษิณ ชินวัตร”
เป็นอภินิหารที่ “มือกฎหมาย คสช.” พยายามดิ้นรนเพื่อไม่ให้เกิดข้อครหาที่มีต่อรัฐบาล คสช. ที่โยนเรื่องเข้าสู่กระบวนการยุติธรรม ซึ่งไม่สามารถกำหนดเวลาได้ว่าจะสิ้นสุดเมื่อใด ยิ่งหากอำนาจผลัดมือไปถึงรัฐบาลเลือกตั้ง โอกาสที่ฝ่ายบริหารในวันหน้าจะถอนเรื่องออกจากชั้นศาลก็มีความเป็นได้สูง
สุดท้ายเป็นอภินิหารของ “ลุงวิษณุ” ที่ปลดเปลื้องพันธนาการ-ถอนชนักให้แก่ “หลานโอ๊ค-หลานเอม” มากกว่าการทวงถามเงิน 1.2 หมื่นล้านบาทให้ตกมาเป็นของแผ่นดิน…..ใช่หรือไม่ ลุงวิษณุช่วยตอบที