xs
xsm
sm
md
lg

ผู้จัดการสุดสัปดาห์

x

ชำแหละแดนสนธยา “ไทยพีบีเอส” หลัง “หมอกฤษดา” ไขก๊อกเซ่นปมหุ้นร้อน งบ 2 พันล้าน/ปี มี “คนดู” กี่คน??

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: MGR Online

ทพ.กฤษดา เรืองอารีย์รัชต์ อดีตผู้อำนวยการองค์การกระจายเสียงและแพร่ภาพสาธารณะแห่งประเทศไทย (ส.ส.ท.)
ผู้จัดการสุดสัปดาห์ - ใส่เกียร์ถอยก็ไม่ทันการณ์ สุดท้ายจำใจต้องลาออกจากตำแหน่ง กับการตัดสินใจซื้อหุ้นกู้ซีพีเอฟของสถานีโทรทัศน์ไทยพีบีเอส ยุคที่มี “หมอ” จากตระกูล ส. มานั่งเป็นผู้บริหารองค์กร “สื่อสาธารณะ” แห่งนี้

ก่อนหน้าที่จะลาออก ทพ.กฤษดา เรืองอารีย์รัชต์ ผู้อำนวยการองค์การกระจายเสียงและแพร่ภาพสาธารณะแห่งประเทศไทย (ส.ส.ท.) หรือไทยพีบีเอส ได้พยายามแก้ไขสถานการณ์เฉพาะหน้าโดยร่อนแถลงการณ์ยุติการลงทุนซื้อหุ้นกู้ดังกล่าวไปแล้ว แต่ยังหยุดกระแสไม่อยู่ บทเรียนการตัดสินใจที่คงไม่ผิดนักหากจะบอกว่า “พลาด” คราวนี้ ต้องจารึกไว้ อย่าได้ทำอีก

ความจริงแล้ว หาก “คุณหมอจากตระกูล ส.” ไม่ลืมว่าตัวเองนั้นถูกตั้งคำถามถึงความรู้ ความเชี่ยวชาญ และประสบการณ์ในการบริหารงาน “สื่อสารมวลชน” หรือ “สื่อสาธารณะ” มาตั้งแต่แรกถ้าก้าวพลาดเท่ากับขุดหลุมฝังตัวเองเร็วขึ้น คงไม่ทะเล่อทะล่าไปตัดสินใจซื้อหุ้นยักษ์ใหญ่เกษตรซึ่งอยู่เฉยๆ ก็พลอย “ซวย” ตามไปด้วย

อีกอย่างคือการแสดงอาการคาดโทษเล่นงานทางวินัยพนักงานที่วิพากษ์วิจารณ์และตั้งคำถามด้วยความห่วงกังวลถึงความไม่สง่างามขององค์กรในการกระทำครั้งนี้ ยังสะท้อนให้เห็นภาพ “อำนาจนิยม” ของคุณหมอ ทั้งที่ไทยพีบีเอสเป็นองค์กรสื่อสาธารณะหาใช่ “ค่ายทหาร” แต่อย่างใดไม่ ก็ยิ่งทำให้คุณหมอขาลอย ไม่มีหลังพิงเมื่อเกิดเรื่องใหญ่ตามมา

“พนักงานที่นำเรื่องนี้ไปพูด มีความเข้าใจผิดเรื่องนี้อย่างมาก ถ้าเราเข้าไปซื้อหุ้นเข้าตลาดหลักทรัพย์โดยตรงแบบนี้ถึงเป็นเรื่อง แต่กรณีนี้เป็นการลงทุนซื้อตราสารหนี้ตามปกติเท่านั้น และไม่มีผลต่อการนำเสนอข่าวเกี่ยวกับซีพีเอฟอย่างแน่นอน ....จะนัดพนักงานไทยพีบีเอส มาพูดคุยเพื่อ ทำความเข้าใจเรื่องนี้อีกครั้ง และถ้าใครยังไม่เข้าใจ นำข้อมูลไปสื่อสารภายนอกองค์กรแบบผิดพลาด ทำให้เกิดความเสียหายจะถูกลงโทษทางวินัยด้วย” ผอ.สถานีไทยพีบีเอส ให้สัมภาษณ์กับสำนักข่าวอิศรา

การแสดงออกถึงการใช้อำนาจของ คุณหมอกฤษดา เป็นการเติมเชื้อไฟความไม่พอใจของพนักงานที่คุกรุ่นอยู่แล้วเป็นทุนเดิม ตั้งแต่การเข้ามารับตำแหน่งเพราะคล้ายๆ กับว่า คุณหมอกฤษดา นั้นเป็นตัวแทนที่ “นายทุน สสส.” ในฐานะผู้สนับสนุนเงินทุนไทยพีบีเอสอย่างเป็นทางการ ส่งมากินเมือง ทั้งที่คุณหมอกฤษดาไม่ได้มีประสบการณ์ความรู้ความเชี่ยวชาญด้านสื่อมาก่อน และสมาพันธ์พนักงานไทยพีบีเอส เคยยื่นเรื่องฟ้องต่อศาลปกครองเพื่อให้ล้มการสรรหาที่คัดเลือกคุณหมอกฤษดา เป็นผู้อำนวยด้วย เพราะเห็นว่าขาดคุณสมบัติ แต่ศาลไม่รับโดยระบุว่าไม่ใช่ผู้เสียหาย

เมื่อบวกกับผลงานการบริหารของคุณหมอกฤษดาที่ผ่านมา ที่พบว่า ตกต่ำลงอย่างมาก จาก เดิมที่ไทยพีบีเอส ซึ่งใช้เงินปีหนึ่งๆ ถึง 2,000 ล้านบาทนั้น เคยอยู่ในอันดับที่ 10-11 แต่หลังจากหมอกฤษดา เข้ามาบริหาร เรตติ้งของไทยพีบีเอสได้ตกลงมาอยู่อันดับที่ 18 ซึ่งสร้างความไม่พอใจให้กับพนักงาน ถึงขนาดที่ตัวแทนสมาพันธ์พนักงานไทยพีบีเอส ได้ยื่นหนังสือให้คณะกรรมการนโยบาย ประเมินผลการทำงานของคุณหมอกฤษดา ที่ครบรอบหนึ่งปีในการทำหน้าที่เมื่อวันที่ 1 กุมภาพันธ์ 2560 แต่ไม่มีเสียงตอบรับจากคณะกรรมการนโยบายแต่อย่างใด กระทั่งมาตกม้าตายเองเมื่อเข้าซื้อหุ้นกู้ซีพีเอฟ

เรื่องราวที่เกิดขึ้นคราวนี้หากไล่เรียงดู จะเห็นว่า การตัดสินใจไปลงทุนซื้อหุ้นกู้ซีพีเอฟครั้งนี้ คุณหมอกฤษดาไม่ได้แจ้งรายละเอียดใดๆ ให้คณะกรรมการนโยบายของสถานีพิจารณาถึงความเหมาะสมหรือไม่เหมาะสม ควรหรือไม่ควร เป็นแต่การแจ้งเพื่อทราบเท่านั้น และทำไปโดยเชื่อมั่นว่าไม่ผิดกฎกติกาแต่อย่างใด

คุณหมอกฤษดาคงลืมนึกไปถึงว่า องค์กรสื่อโดยเฉพาะอย่างยิ่งสถานีไทยพีบีเอส ซึ่งประกาศความเป็นอิสระจากการครอบงำของทุนและรัฐ มาตั้งแต่แรกก่อตั้ง ต้องระมัดระวังในเรื่องจรรยาบรรณสื่อหากต้องการธำรงไว้ซึ่งความเป็นอิสระนั้น การตัดสินใจลงทุนในบริษัทเอกชนใดๆ ต้องไม่ลืมไตร่ตรองให้รอบคอบว่าจะเกิดปัญหาผลประโยชน์ทับซ้อนหรือไม่ และขัดต่อเจตนารมณ์ในการจัดตั้งสถานีแห่งนี้หรือไม่

“ผลประโยชน์ทับซ้อน” นั้นก็คือว่า ถ้าหากไทยพีบีเอส ยังถือหุ้นกู้ของซีพีเอฟอยู่ สังคมจะเชื่อมั่นได้อย่างไรว่า ไทยพีบีเอส จะทำหน้าที่รายงานข่าวตรวจสอบการดำเนินธุรกิจของเครืออุตสาหกรรมยักษ์ใหญ่ด้านการเกษตรอย่างตรงไปตรงมา

และที่ นายธาม เชื้อสถาปนศิริ นักวิชาการด้านสื่อสารมวลชน ได้โพสต์ผ่านเฟซบุ๊ก “Time Chuastapanasiri” วิจารณ์ถึงกรณีนี้อย่างดุเดือด ดังว่า “Spirits of ThaiPBS? ยังมีไหมจิตวิญญาณสื่อสารธารณะ

“ผมคิดว่า กรรมการบริหาร และกรรมการนโยบาย “หมดหนทางใดๆ ที่ที่จะแก้ตัว แก้ต่าง” ได้อีก การรักษาความอิสระ เสรีภาพ และความเที่ยงตรง โปร่งใส ตรวจสอบได้ ของไทยพีบีเอสในตอนนี้ “เข้าขั้นวิกฤตธรรมาภิบาล” จะตรวจสอบผู้อื่นได้อย่างกล้าหาญได้อย่างไรครับ? ถ้าองค์กรตัวเองก็ไม่กล้าตรวจสอบผู้บริหารองค์กรสื่อสาธารณะ “ขู่เอาผิดวินัยกับพนักงานหากเอาความลับองค์กรไปเปิดเผยต่อสาธารณะ”? นี่มันเป็นองค์กรประเภทไหนครับ นี่เป็นองค์กรรัฐ ที่มีประชาชนเป็นเจ้าของ ใช้เงินภาษีประชาชน แต่กลับ “เงียบงำปิดปากพนักงาน” นี่ไม่ใช่บริษัทเอกชนส่วนตัวนะครับ ที่จะสั่งให้ใครทำอะไรก็ได้ องค์กรนี้ มีเจ้าของ คือประชาชน!!”

“ติดตามมาด้วยการวิจารณ์ถึงคำให้สัมภาษณ์ของ ผู้อำนวยการไทยพีบีเอส ว่า “ตรรกะวิบัติ?” ฟังท่าน ผอ ส.ส.ท. “อ้างเหตุผล” ว่า ไม่มีผลประโยชน์ทับซ้อน ตลกมากครับ ไม่เคยเรียนวารสารศาสตร์ ไม่มีทางเข้าใจแนวคิดเรื่อง สิทธิเสรีภาพ และความอิสระของกองบรรณาธิการ การเอาเงินไปฝากธนาคารนั่นเรื่องหนึ่ง เอาเงินไปซื้อหุ้นกู้เอื้อธุรกิจเอกชนก็เรื่องหนึ่ง เพราะเอื้อผลประโยชน์ให้คุณให้โทษกันได้.....

“ให้ สตง. ตรวจสอบสิครับ ว่าผิดทั้งกฎหมาย ผิดทั้งจริยธรรม ผิดทั้งจรรยาบรรณของพนักงานและผู้บริหาร ส.ส.ท. หรือไม่? กฎหมายบอกว่าให้เอาเงินไปทำในกิจการของสื่อสาธารณะ เขาไม่ได้บอกว่าให้เอาเงินไปลงทุนซื้อหุ้นเก็งกำไร เงินถ้าเหลือ เอาไปทำสื่อ/สารคดี ดีๆ ให้ประชาชนได้ดู เอาเงินไปพัฒนาอบรมทักษะคนทำงานให้สร้างสรรค์สื่อดีๆ สิครับ สื่อสาธารณะต้องอิสระจากอำนาจรัฐ อำนาจทุน และกลุ่มรณรงค์ทางการเมือง

“ถ้าทำข่าวเรื่องนี้อย่างสมดุล รอบด้าน ต้องเอาความเห็นสองฝั่งมาออกสิครับ ไม่ใช่ใช้สื่อของประชาชนมาพูดอยู่แต่เพียงข้างเดียวลำพัง เหลือเชื่อจริงๆ!!”

ขณะที่ นายณรงค์ เพ็ชรประเสริฐ กรรมการนโยบาย ได้สอบถามเรื่องที่เกิดขึ้นกับผู้อำนวยการแต่ไม่ได้รับคำตอบที่ชัดเจน และจะนำเรื่องนี้เข้าเป็นวาระในการประชุมคณะกรรมการนโยบายในวันที่ 16 มี.ค. 2560 นี้ ก่อนที่จะเลื่อนการประชุมด่วนขึ้นมาเป็นวันที่ 15 มีนาคม และจบลงด้วยการไขก๊อกของคุณหมอกฤษดา

ทั้งนี้ คุณหมอกฤษดา ได้แจกแจงการซื้อหุ้นกู้ซีพีเอฟ ผ่านสื่อต่างๆ เมื่อวันที่ 14 มีนาคม 2560 ว่า เมื่อเดือนมกราคม 2560 ได้นำเงินทุนหมุนเวียนไปลงทุนซื้อหุ้นซีพีเอฟจากธนาคารที่จัดจำหน่ายมูลค่าประมาณ 100 ล้านบาท เป็นการลงทุนหุ้นกู้ในลักษณะซื้อตราสารหนี้ ได้ดอกเบี้ย 3% ต่อปี ซึ่งเป็นรูปแบบการลงทุนปกติของ ส.ส.ท.ตาม พ.ร.บ. องค์การกระจายเสียงและแพร่ภาพสาธารณะแห่งประเทศไทย พ.ศ.2551 ตามมาตรา 11 เรื่องทุน ทรัพย์สินและรายได้ขององค์กร (7) ดอกผลที่เกิดจากเงินหรือทรัพย์สินขององค์กร

ตาม พ.ร.บ.ไทยพีบีเอส ได้รับเงินสนับสนุนจากภาษีสุราและยาสูบอัตรา 1.5% สูงสุดไม่เกินปีละ 2,000 ล้านบาท ซึ่งจะได้รับการจัดสรรตลอดปี แต่ช่วงต้นปีจะได้รับเงินจัดสรรก้อนใหญ่กว่าทุกช่วง คณะกรรมการบริหารมีหน้าที่ต้องบริหารเงินทุนหมุนเวียนในแต่ละปีให้เกิดประโยชน์สูงสุด โดยมีผู้เชี่ยวชาญด้านการเงินแนะนำการลงทุนที่ได้ผลตอบแทนสูงสุดภายใต้ พ.ร.บ.กำหนดให้สามารถดำเนินการได้

การซื้อหุ้นกู้ซีพีเอฟ ในเดือน ม.ค.ที่ผ่านมา ผู้เชี่ยวชาญวิเคราะห์แล้วว่า เป็นหุ้นกู้ที่ได้รับการจัดอันดับความน่าเชื่อถือระดับ A+ สูงที่สุดเมื่อเทียบกับหุ้นกู้บริษัทเอกชน และพันธบัตรขณะนั้น ซึ่งอยู่ที่ราว 2% รวมทั้งสูงกว่าเงินฝากธนาคารระยะสั้น และระยะ 12 เดือน ซึ่งในแต่ละปีไทยพีบีเอส มีผลตอบแทนจากการบริหารเงินทุนหมุนเวียน และการลงทุนต่างๆประมาณ 40 ล้านบาทต่อปี นอกจากนั้น ยังยืนยันว่า การซื้อหุ้นกู้ซีพีเอฟ ไม่มีผลต่อการนำเสนอข่าวของกลุ่มซีพี และพร้อมให้ตรวจสอบ

อย่างไรก็ตาม ถึงแม้การซื้อหุ้นกู้ดังกล่าว ไม่ขัดต่อกฎหมาย แต่ไทยพีบีเอส ควรทบทวน และคิดใหม่ ทำใหม่ นี่เป็นคำแนะนำจาก “ผู้มีอิทธิพลนอกไทยพีบีเอส” ซึ่งปลุกปั้นและช่วยทำคลอดสถานีโทรทัศน์แห่งนี้มากับมือ นั่นคือ ดร.สมเกียรติ ตั้งกิจวานิชย์ ประธานสถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย (ทีดีอาร์ไอ) ที่ให้ความเห็นผ่านเฟซบุ๊ก ‘Somkiat Tangkitvanich’ เอาไว้ว่า

“มีเสียงวิพากษ์วิจารณ์เรื่อง Thai PBS ซื้อตราสารหนี้ (หุ้นกู้) ของ CPF นักข่าวหลายคนติดต่อสัมภาษณ์ผม ผมได้ให้สัมภาษณ์ไปเพียงบางแห่งเท่านั้น เพราะไม่สามารถตอบคำถามต่างๆ ทีละครั้งได้หมด จึงขอแสดงความเห็นในบางประเด็นผ่าน Facebook ไปทีเดียวครับ

ประเด็นแรก มีคำถามว่า Thai PBS ในฐานะองค์กรสื่อสาธารณะ ไม่ควรลงทุนในตลาดทุน เพราะจะเป็นการแสวงหาผลกำไรใช่หรือไม่?

มาตรา 11 ของกฎหมาย Thai PBS เขียนไว้ชัดเจนว่า รายได้ของ Thai PBS มาจาก 7 แหล่ง โดยแหล่งหนึ่งคือดอกผลที่เกิดจากเงินหรือทรัพย์สิน ซึ่งหมายถึงผลตอบแทนจากการลงทุน การที่ Thai PBS ไปลงทุนในการซื้อตราสารหนี้จึงไม่น่าจะเป็นปัญหาในข้อกฎหมายแต่อย่างใด

ในต่างประเทศ เป็นเรื่องปรกติที่องค์กรสาธารณะ ซึ่งรวมถึงองค์กรสาธารณะประโยชน์ต่างๆ ทั้งมูลนิธิ องค์กรไม่แสวงหาผลกำไรและสถาบันการศึกษา เช่น มหาวิทยาลัยต่าง ๆ เอาทรัพย์สินของตนไปลงทุนในตลาดทุน (ซื้อหุ้น ตราสารหนี้และอื่น ๆ) เพราะหากจะให้เอาเงินไปฝากธนาคารอย่างเดียวก็จะได้ผลตอบแทนต่ำมาก ไม่เพียงพอกับการนำไปสนับสนุน กิจกรรม ขององค์กร โดยเฉพาะในยุคที่อัตราดอกเบี้ยต่ำมากเช่นในปัจจุบัน มหาวิทยาลัยเยลใน สหรัฐ เป็นตัวอย่างของหน่วยงานที่มีผลตอบแทนสูงเกินกว่า 10% ต่อปีต่อเนื่องหลายปี จากการลงทุนอย่างฉลาดในหุ้นทั้งในและต่างประเทศ ตราสารหนี้ อสังหาริมทรัพย์ และธุรกิจร่วมลงทุน (venture capital)

ในประเทศไทย มีความเข้าใจผิดว่า องค์กรสาธารณะไม่สามารถ หรือไม่ควรลงทุนใด ๆ นอกจากฝากเงินกับธนาคาร มิฉะนั้นจะเป็นการแสวงหาผลกำไร ซึ่งผิดวัตถุประสงค์องค์กร ผลก็คือองค์กรต่าง ๆ รวมทั้งมูลนิธิจำนวนมากมีปัญหาการขยายกิจกรรมสาธารณะประโยชน์ของตน เพราะขาดเงินทุน ในความเป็นจริง เส้นแบ่งของหน่วยงานแสวงหาผลกำไร และหน่วยงานไม่แสวงหาผลกำไรคือ มีการนำส่วนของรายได้ที่มากกว่ารายจ่ายมาแบ่งกันในรูปเงินปันผลหรือไม่ ไม่ใช่ว่ารายได้มาจากไหน

ประเด็นที่สอง มีคำถามว่า การไปลงทุนตราสารหนี้ของ CPF จะทำให้ Thai PBS เสียความอิสระในการเสนอข่าวที่เกี่ยวข้องกับ CPF หรือไม่?

การลงทุนตราสารหนี้ของ CPF ทำให้ Thai PBS มีฐานะเป็น “เจ้าหนี้” ของ CPF ไม่ใช่เป็น “ผู้ถือหุ้น” ดังที่จะเกิดจากการลงทุนในหุ้น ความแตกต่างก็คือ เจ้าหนี้จะได้ผลตอบแทนในอัตราแน่นอนคือ ดอกเบี้ย โดยไม่ขึ้นกับผลประกอบการของบริษัทเหมือนการได้เงินปันผลของผู้ถือหุ้น ในแง่มุมดังกล่าว กรณีนี้จึงไม่แตกต่างจากการที่ Thai PBS เอาเงินไปฝากธนาคารสักแห่ง เพราะมีผลทำให้ Thai PBS มีฐานะเป็น “เจ้าหนี้” ของธนาคารนั้นเช่นกัน และไม่น่าจะทำให้ Thai PBS ทำข่าวที่เกี่ยวกับธนาคารนั้นอย่างตรงไปตรงมาไม่ได้

ผมไม่คิดว่า Thai PBS ในฐานะ “เจ้าหนี้” จะต้องไปเกรงอกเกรงใจ CPF ซึ่งเป็น “ลูกหนี้” ในการทำข่าวแต่อย่างใด ถ้าจะมีความเสี่ยง ก็ไม่ใช่ความเสี่ยงในเรื่องผลประโยชน์ทับซ้อนของสื่อ แต่เป็นความเสี่ยงทางการเงินกรณีที่ลูกหนี้ไม่ใช้เงินคืน ซึ่งไม่น่าจะเกิดขึ้นในกรณีนี้เพราะเครือซีพีมีฐานะการเงินมั่นคง

ที่กล่าวมาทั้งหมดนี้ไม่ได้หมายความว่า การลงทุนของ Thai PBS ในตราสารหนี้ของ CPF จะไม่มีประเด็นคำถามเลย เพราะการไปลงทุนที่เฉพาะเจาะจงในกิจการใดนั้น นอกจากจะมีมิติด้านการเงินแล้ว ยังมีมิติในเชิง “สัญลักษณ์” ด้วย โดยการลงทุนนั้นอาจถูกมองว่าเป็นการ “สนับสนุน” องค์กรที่ไปลงทุนนั้น ในต่างประเทศ กองทุนต่าง ๆ เช่น กองทุนบำนาญข้าราชการของแคลิฟอร์เนีย (CalPERS) ซึ่งมีแนวคิดก้าวหน้า จะหลีกเลี่ยงจากการลงทุนในกิจการที่ทำลายสิ่งแวดล้อม ละเมิดสิทธิแรงงานหรือไม่มีความรับผิดชอบต่อสังคม โดยหวังว่าความเป็นนักลงทุนรายใหญ่ของตนจะช่วยปรับพฤติกรรมของบริษัทต่างๆ ได้

ในประเทศไทย เมื่อเร็ว ๆ นี้ ก็มีการตั้ง “กองทุนรวมธรรมาภิบาลไทย” ซึ่งมุ่งลงทุนในหุ้นที่มีธรรมาภิบาลดี แล้วเอาเงินปันผลส่วนหนึ่งไปสนับสนุนงานต่อต้านคอรัปชัน ซึ่งมีผลดีทั้งมิติทางสังคมและมิติทางสัญลักษณ์

ดังนั้น คำถามในเรื่องนี้ก็คือ Thai PBS ซึ่งเป็นองค์กรสื่อที่มีภารกิจเพื่อมุ่งสนับสนุนการพัฒนาสังคมที่มีคุณภาพ ควรลงทุนใน CPF หรือไม่? หากดูท่าทีของสาธารณะต่อความรับผิดชอบต่อสังคมของบริษัทในเครือซีพีในกรณีต่าง ๆ ที่ผ่านมา ผมเห็นว่า ผู้บริหาร Thai PBS ควรพิจารณาทบทวนการลงทุนนี้อีกครั้ง

“เรื่องนี้ไม่ถึงกับมีผลกระทบเสียหายอะไรมากมาย ถ้าทำไปโดยไม่ได้คิดให้รอบคอบ ก็คิดใหม่ ทำใหม่ได้ครับ”

ในตอนเที่ยงวันถัดมา 15 มีนาคม 2560 หลังจาก “ผู้มีอิทธิพลนอกไทยพีบีเอส” ให้ความเห็น คุณหมอกฤษดา ก็เตรียมปิดฉากเรื่องนี้ด้วยการออกแถลงการณ์ยุติลงทุนซื้อหุ้นกู้ซีพีเอฟ “....กรณีนี้มีผู้ชมผู้ฟังส่วนหนึ่งได้ตั้งข้อสังเกตถึงความเหมาะสมของการลงทุนดังกล่าว และกังวลว่าจะกระทบความเป็นอิสระในการทำหน้าที่สื่อสาธารณะ ทั้งนี้ ผู้บริหาร ส.ส.ท. ขอขอบคุณในทุกข้อคิดความเห็นจากทุกภาคส่วน และรู้สึกเสียใจ ขออภัยที่สร้างความกังวลใจให้กับประชาชนที่ติดตามไทยพีบีเอส มาโดยตลอด .....

“เพื่อยืนยันในหลักการของสื่อสาธารณะที่ให้ความสำคัญต่อการมีส่วนร่วมของประชาชนอย่างรอบด้าน เสียงวิพากษ์วิจารณ์ และข้อคิดความเห็นต่างๆ ต่อการบริหารสินทรัพย์สภาพคล่องของ ส.ส.ท. จึงเป็นสิ่งที่ฝ่ายบริหาร ส.ส.ท.ตระหนัก และเล็งเห็นว่า จำเป็นต้องมีการพิจารณาทบทวนกรอบนโยบายลงทุน รวมทั้งการยุติการลงทุนในตราสารหนี้บางบริษัทที่อาจจะส่งผลให้ภาคประชาชน และสังคมโดยรวมเกิดข้อสงสัย และความคลางแคลงใจ โดยจะมีการนำเสนอให้คณะกรรมการนโยบาย ส.ส.ท.พิจารณาโดยเร็วที่สุด”

แต่จุดพลิกผันที่สำคัญถึงขั้นทำให้คุณหมอกฤษดา ต้องไขก๊อกในที่สุด อยู่ที่ท่าทีของ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ในตอนเย็นเมื่อวันที่ 15 มีนาคม ที่สั่งให้เจ้าหน้าที่ที่เกี่ยวข้องไปตรวจสอบกรณีที่ไทยพีบีเอสเข้าไปซื้อหุ้นซีพีเอฟด้วย

นั่นเป็นสัญญาณชัดจากท่านผู้นำที่ทำให้คณะกรรมการนโยบายไทยพีบีเอส ต้องเรียกประชุมด่วนเพื่อพิจารณาปมร้อนในทันที และในที่สุด เมื่อเวลาประมาณเกือบสองทุ่ม หมอกฤษดา ก็ได้แจ้งลาออกในที่ประชุม เพื่อแสดงความรับผิดชอบต่อกรณีที่เกิดขึ้น และคณะกรรมการนโยบายก็อนุมัติ มีผลให้ตำแหน่งรองผู้อำนวยการหมดสภาพตามไปด้วย

บทเรียนราคาแพงครั้งนี้ สอนให้รู้ว่า “ทีหลังอย่าทำ”


กำลังโหลดความคิดเห็น