"ปัญญาพลวัตร”
“พิชาย รัตนดิลก ณ ภูเก็ต”
การดูงานเป็นวิธีการอย่างหนึ่งที่หน่วยงานทั้งราชการและเอกชนใช้เป็นเครื่องมือในการศึกษาหาความรู้ให้กับบุคลากร หลักคิดพื้นฐานของการดูงานคือ การที่บุคคลได้มีโอกาสไปพบเห็น ได้รับฟัง และมีประสบการณ์โดยตรงกับสิ่งที่ต้องการศึกษา จะทำให้เกิดความสนใจ เข้าใจ และตระหนักในประเด็นที่ต้องการศึกษามากขึ้น การดูงานจึงมักเป็นส่วนหนึ่งของการเรียนการสอนในสถาบันการศึกษา การฝึกอบรม และการพัฒนาทรัพยากรมนุษย์ของหน่วยงานต่างๆมาอย่างยาวนาน
นอกจากการดูงานจะทำให้ผู้ที่ไปดูเกิดความรู้ความเข้าใจแล้ว ในบางกรณีก็ยังเป็นแหล่งสร้างแรงบันดาลใจแก่ผู้ที่ไปดูงานด้วย เช่น หน่วยงานด้านการพัฒนาพาชาวบ้านไปดูงานในหมู่บ้านที่ประสบความสำเร็จในการพัฒนา ชาวบ้านที่ไปดูก็อาจเกิดแรงบันดาลใจในการพัฒนาหมู่บ้านของตนเองให้ประสบความสำเร็จบ้าง แรงบันดาลใจเกิดขึ้นระหว่างกระบวนการสนทนาแลกเปลี่ยนเรียนรู้ซึ่งกันและกัน และเมื่อเห็นว่าหมู่บ้านอื่นเขาทำได้ ก็คิดว่าหมู่บ้านเราก็น่าจะทำได้เช่นเดียวกัน
ในกรณีหน่วยงานต่างๆก็มีหลักคิดคล้ายคลึงกัน เช่น ผู้บริหารโรงพยาบาลพาบุคลากรของหน่วยงานไปดูงานด้านการจัดการความรู้ของโรงพยาบาลที่ประสบความสำเร็จในเรื่องนี้ ผู้ที่ไปดูก็เกิดความเข้าใจถึงการปฏิบัติที่เป็นรูปธรรมว่า การจัดการความรู้ทำกันอย่างไร มีปัญหาอะไรบ้าง และแก้ไขอย่างไร รวมทั้งเกิดแรงบันดาลใจในการสร้างระบบการจัดการความรู้ภายในหน่วยงานของตนเองขึ้นมาด้วย
การดูงานจึงเป็นกระบวนการเรียนรู้ซึ่งทำให้เกิดการถ่ายทอดความรู้ ที่สรุปจากบทเรียนของการนำไปปฏิบัติจริง เป็นความรู้เชิงปฏิบัติที่สามารถทำได้จริง มีพลังในการสร้างรอยประทับในจิตใจและความคิดแก่ผู้ที่ประสบพบเห็น ในแง่นี้จึงทำให้การดูงานเป็นวิธีการศึกษาที่ถูกนำมาใช้อย่างแพร่หลายจนเป็นแบบแผนหลักอย่างหนึ่งของการแสวงหาความรู้
ผมเองเวลาสอนวิชาต่างๆ ก็พานักศึกษาไปดูงานในพื้นที่ต่างจังหวัดเป็นประจำ เพื่อให้เกิดการประสานเชื่อมโยงระหว่างการนั่งเรียนทฤษฎีในห้องเรียนกับการปฏิบัติที่เกิดขึ้นในสนามจริง สิ่งที่สำคัญในการดูงานคือการเลือกพื้นที่หรือสถานที่ให้สอดคล้องกับวัตถุประสงค์ของการเรียนรู้ (พื้นที่ดูงานในวิชาที่ผมสอนอยู่ภายในประเทศทั้งหมดครับ ยังไม่เคยพานักศึกษาไปต่างประเทศเลย) การเตรียมความคิดและประเด็นในการศึกษาแก่ผู้ที่จะไปดูงาน และเมื่อเสร็จสิ้นการดูงานแล้วก็ให้แต่ละกลุ่มนำเสนอและวิพากษ์สิ่งที่ได้จากการดูงาน รวมทั้งแลกเปลี่ยนความคิดระหว่างกันของผู้ที่ไปดูงานด้วย
ในการดูงานแต่ละครั้งจะมีการแบ่งนักศึกษาเป็นกลุ่ม แต่ละกลุ่มก็รับผิดชอบในการตั้งคำถาม สรุป และต้องนำเสนอเมื่อดูงานกันเสร็จแล้ว ผมให้นักศึกษานำเสนอในช่วงกลางคืนของวันที่ไปดูงาน ให้แต่ละกลุ่มนำเสนอสิ่งที่ตนเองได้รับจากการดูงาน และเปิดให้มีการอภิปรายกันอย่างเข้มข้นในประเด็นต่างๆ มีหลายครั้งที่อภิปรายกันตั้งแต่สองทุ่มไปจนถึงเที่ยงคืน บรรยากาศการถกเถียงเป็นไปอย่างสนุกสนาน เรียกว่าเมื่อวิชาการผสานกับความเป็นจริง ความน่าเบื่อของวิชาการก็คลายลงไปได้มากทีเดียว และที่สำคัญอย่างหนึ่งที่ผมพบเสมอคือ ระหว่างการนำเสนอและการอภิปรายเชิงวิชาการ นักศึกษามักมีส่วนร่วมในการแสดงความคิดมากกว่าเรียนในห้องเรียนครับ
ผมคิดว่าการดูงานที่มีการเตรียมความคิดและมีการจัดระบบการแลกเปลี่ยนเรียนรู้ที่ดีจะก่อให้เกิดประโยชน์ได้มาก แต่ปัญหาที่เกิดขึ้นในสังคมไทยคือ หน่วยงานต่างๆจำนวนมากมิได้มีเป้าหมายเพื่อใช้การดูงานให้ประโยชน์ในการพัฒนาความรู้และกระบวนการทำงานอย่างจริงจังนัก กลับใช้การดูงานเป็นเครื่องมือในการบังหน้า เพื่อแสวงหาความสำราญและความสนุกสนานเป็นที่ตั้ง เมื่อเป็นเช่นนี้จึงทำให้การดูงานเป็นสิ่งที่มีมลทินขึ้นมา
ความคิดกระแสหลักของการดูงานที่ดำรงอยู่ในหน่วยงานราชการและหลักสูตรอบรมผู้บริหารระดับสูงของหน่วยงานต่างๆ คือการใช้การดูงานเป็นเครื่องมือในการสร้างความชอบธรรมแก่การท่องเที่ยว โดยเฉพาะการดูงานในต่างประเทศ หลักคิดนี้ดำรงอยู่และถูกนำไปปฏิบัติมาอย่างยาวนานในระบบราชการไทย จนกระทั่งเป็นแบบแผนที่ยอมรับกันโดยทั่วไปว่าเป็นเรื่องปกติ เข้าทำนองที่ว่าใครๆ ก็ทำกันตั้งแต่ผู้บริหารระดับสูงจนไปถึงเจ้าหน้าที่ระดับล่าง
การออกแบบการดูงานที่นิยมทำกันจึงเป็นผสานกันระหว่างการท่องเที่ยวกับการดูงานจริง บางหน่วยงานก็จัดโปรแกรมดูงาน พอๆ กับการท่องเที่ยว บางหน่วยงานจัดให้ไปเยี่ยมชมสถานที่ท่องเที่ยวมากกว่าไปดูงาน แต่บางหน่วยงานก็เกินเลยไปถึงขนาดเที่ยวอย่างเดียวก็มี ทำกันอย่างนี้มานาน จวบจนกระทั่งรัฐบาลยุคนี้มีคำสั่งให้หน่วยงานต่างๆเข้มงวดเรื่องการไปดูงานต่างประเทศ กระนั้นก็มีหน่วยงานบางแห่งรวมทั้งหลักสูตรการอบรมระดับผู้บริหารระดับสูงบางหลักสูตรก็ยังคงทำอยู่แบบเดิมๆ คือเน้นเที่ยวมากกว่าดูงาน
จนไม่นานมานี้มีเรื่องร้องเรียนขึ้นมาว่าผู้บริหารสถานศึกษาศึกษาแห่งหนึ่งในภาคเหนือใช้การดูงานบังหน้าการท่องเที่ยวอย่างน่าเกลียด จนนำไปสู่การที่คณะกรรมการตรวจเงินแผ่นดิน (คตง.)มีมติให้ผิดวินัยร้ายแรงต่ออธิการบดีของสถานศึกษาแห่งนั้น และให้สำนักงานคณะกรรมการตรวจเงินแผ่นดิน (สตง.) ตรวจสอบพฤติกรรมของผู้บริหารเพิ่มเติมว่า เข้าข่ายการกระทำทุจริตและใช้อำนาจในทางที่มิชอบหรือไม่
ในปัจจุบันสังคมเกิดความตระหนักมากขึ้นว่า การใช้ดูงานเพื่อบังหน้าการท่องเที่ยวต่างประเทศเป็นสิ่งที่ไม่ถูกต้อง เพราะเป็นการใช้งบประมาณแผ่นดินอย่างไม่เหมาะสม ผิดวินัยราชการ ผิดจริยธรรม และผิดกฎหมายอีกด้วย หน่วยงานตรวจสอบการใช้งบประมาณแผ่นดินอย่าง สตง. จึงเดินหน้าตรวจสอบโครงการศึกษาดูงานของหน่วยงานหลายแห่ง เช่น สำนักงานคณะกรรมการเลือกตั้ง ศาลรัฐธรรมนูญ ศาลยุติธรรม (หลักสูตรผู้บริหารกระบวนการยุติธรรมระดับสูง) หลักสูตรวิทยาลัยการป้องกันราชอาณาจักร (วปอ.) และแม้กระทั่งโครงการของสำนักคณะกรรมการงานป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ปปช.) ซึ่งเป็นหน่วยงานที่เกี่ยวกับการปราบปรามการทุจริตโดยตรงก็ยังถูกตรวจสอบด้วย
เมื่อไม่กี่วันมานี้ก็ได้มีการเผยแพร่โครงการดูงานของ วิทยาลัยเสนาธิการ (วสท.) ออกสู่สาธารณะ ซึ่งกำหนดการในโครงการแสดงถึงรายการท่องเที่ยวเป็นจำนวนมาก เมื่อมีเรื่องราวปรากฎออกมาเช่นนี้ ก็เป็นสิ่งหลักเลี่ยงไม่ได้ที่ สตง. จะต้องเข้าไปตรวจสอบ มิฉะนั้นก็จะถูกวิจารณ์ได้ว่าเลือกปฏิบัติ แต่ผมไม่ค่อยแน่ใจว่า สตง.จะกล้าเข้าไปตรวจสอบหรือไม่ หรือเมื่อเข้าไปตรวจสอบแล้วผลลัพธ์จะออกมาเหมือนกับที่เกิดขึ้นกับอธิการบดีของสถาบันการศึกษาหรือไม่
เมื่อเหตุการณ์เกิดขึ้นแล้ว การตรวจสอบอย่างมีมาตรฐานเดียวกันก็เป็นเรื่องสำคัญ ไม่ว่าผู้กระทำเรื่องนั้นจะมีพลังอำนาจมากน้อยเพียงใด แต่สิ่งที่รัฐบาลควรทำเพื่อป้องกันไม่ให้เรื่องทำนองนี้เกิดขึ้นอีก คือการกำหนดแนวทางที่ชัดเจนลงไปในการศึกษาดูงานในต่างประเทศของหน่วยงานราชการ โครงการและ/หรือการอบรมที่ใช้งบประมาณแผ่นดิน
แนวทางที่ชัดเจนต้องชัดทั้งในเรื่องเป้าประสงค์ว่าต้องการอะไรจากการดูงานต่างประเทศ ซึ่งจะต้องสมเหตุสมผลและสมจริง เป้าประเด็น ควรเป็นเรื่องที่ใหม่ เรื่องที่แตกต่าง และสามารถนำกลับมาปรับใช้ในหน่วยงานได้อย่างเป็นรูปธรรม เป้าสถานที่ ต้องเลือกสถานที่ให้สอดคล้องกับเป้าประเด็นและเป้าประสงค์ ซึ่งจะต้องไม่มีสถานที่ท่องเที่ยวในรายการ และเป้าเวลา ต้องกำหนดเวลาให้พอดีกับการดูงานเท่านั้น ดูเสร็จแล้วให้กลับประเทศทันที
นอกจากนั้นก็ควรกำหนดให้มีการบันทึกเสียงหรือบันทึกภาพของการดูงานให้ครอบคลุมระยะเวลาที่ใช้ และเรื่องใดที่สามารถเผยแพร่ต่อสาธารณะได้ ก็ให้หน่วยงานที่ไปดูงานนำมาเผยแพร่ผ่านช่องทางการสื่อสารขององค์การ เพื่อให้ประชาชนทั่วไปที่สนใจเข้าไปดูและมีโอกาสเรียนรู้ด้วย และจะต้องจัดทำรายงานภาพรวมและรายงานเฉพาะบุคคลของผู้ที่ไปดูงาน ซึ่งในรายงานควรมีองค์ประกอบอย่างน้อยสามส่วนคือ ส่วนแรกคือบทสรุปความรู้ที่ได้จากการดูงาน ส่วนที่สองคือข้อคิดเห็นหรือข้อสังเกตจากการดูงาน และส่วนที่สามคือแนวทางการนำมาประยุกต์ใช้ในสังคมไทย เมื่อทำก็ให้เผยแพร่ต่อสาธารณะตามช่องทางสื่อสารขององค์การต่อไป
ในปัจจุบันนักการเมืองและข้าราชการของรัฐส่วนใหญ่มีหลักคิดเรื่องการดูงานไม่ถูกต้อง ผิดเพี้ยนจากหลักการที่ควรจะเป็น ซึ่งจะต้องปฏิรูปครับ ผมคิดว่าการดูงานยังเป็นวิธีการที่มีประโยชน์ แต่จะต้องมีการปฏิรูปหลักคิด แนวทาง และกระบวนการการดูงานเสียใหม่ เพื่อก่อให้เกิดประโยชน์ต่อสังคมและคุ้มค่ากับงบประมาณที่ประเทศสูญเสียไป