xs
xsm
sm
md
lg

ผู้จัดการสุดสัปดาห์

x

หลักฐานมัด “ดีลลับปรองดอง” ปล่อยผีภาษีหุ้นชินคอร์ป 1.6 หมื่นล้าน “อนุทิน” โซ่ข้อกลางหวังนายกฯ

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


ผู้จัดการสุดสัปดาห์ - หากติดตามมหากาพย์ภาษีหุ้นชินคอร์ปของครอบครัว ทักษิณ ชินวัตร ที่มีอยู่มากมายหลายคดี ก็เห็นแล้วว่ารับประทานแห้วกันมาเป็นระยะๆ ไม่ว่าจะด้วยเหตุผลกลใดก็ตามแต่ และล่าสุดบทสุดท้ายของมหากาพย์ภาษีหุ้นชินฯ ก็ไม่ต่างไปจากฉากจบแบบเดิมๆ แบบที่ผ่านๆ มา

นำมาซึ่งบทวิจารณ์ตัวละครสำคัญอันได้แก่ กรมสรรพากร ผู้มีหน้าที่ไล่เบี้ยนำภาษีมาเป็นรายได้แผ่นดิน แต่มักมี “รอยรั่ว-รูโหว่” ให้พวกเงินถุงเงินถังชั่งเสาะหาช่องว่างหลุดรอดไปไม่ต้องเสียภาษีสักแดง ส่วนกับตัวเล็กตัวน้อย ประชาชนคนหาเช้ากินค่ำ มนุษย์เงินเดือน กรมสรรพากรเที่ยวตามเก็บภาษีละเอียดทุกเม็ด

ทั้งที่ สำนักงานตรวจเงินแผ่นดิน (สตง.) จะชี้ช่องให้ติดตามนำเงินภาษีก้อนใหญ่มาทำประโยชน์แก่แผ่นดิน แต่ “ลูกเพ่” ของสรรพากร อย่าง กระทรวงคลัง ก็ยังไม่วายเตะลูกออกจนได้ แบบนี้ เจอเล่นงานข้อหาละเว้นการปฏิบัติหน้าที่ ให้เป็นขวัญหูขวัญตาแก่ประชาชนบ้างประไร

โดยเฉพาะเมื่อเป็นกรณี “ภาษีหุ้นชินคอร์ป” อันเกี่ยวเนื่องไปถึงตัว ทักษิณ ชินวัตร โดยตรง จนหลีกเลี่ยงไม่ได้ว่า “ผู้มีอำนาจ” ในปัจจุบัน อันหมายถึงรัฐบาล และคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) เริ่ม “เสียรูปมวย” อย่างเห็นได้ชัดกับการฟาดฟัน “ระบอบทักษิณ” ทั้งที่หน้าฉากออกอาการฮึ่มๆจะเอาเป็นเอาตาย แต่พอใกล้ถึง เวลาเผด็จศึก กลับเลือกที่จะเต้นฟุตเวิร์คถ่วงเวลา เหมือนรอระฆังหมดยก ทั้งที่ต้อนคู่ต่อสู้เข้ามุม จนเลือกจะประเคนอาวุธใส่ได้ทุกรูปแบบ

เฉกเช่นเดียวกับกรณี ทุจริตโครงการรับจำนำข้าว ที่จับ “หนูปู” ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี เข้าหลักประหารแล้ว แต่ยังไม่มีทีท่าจะลงดาบเพชฌฆาตเสียที

ถือเป็นกรณีสำคัญที่สังคมจับตามองว่า หาก คสช.เลือกที่จะเอาหูไปนาเอาตาไปไร่ ไม่เผด็จศึก “สองศรีพี่น้อง” อย่างที่ควรจะเป็น ก็ยิ่งเพิ่มน้ำหนัก ให้กับ “ดีลลับปรองดอง” ที่เคยมีการพูดกันก่อนหน้านี้ว่า หลังฉากบรรดาผู้มีอำนาจได้ตกลง “เกี๊ยะเซียะ” หลีกเลี่ยงการแตกหักกันไปล่วงหน้าแล้ว….ใช่หรือไม่

ในจังหวะเดียวกับที่มีกระแสข่าวของ อนุทิน ชาญวีรกูล หัวหน้าภูมิใจไทย ที่ว่ากันว่ามีบทบาทสำคัญในการเป็น “โซ่ข้อกลาง” ของดีลเกี๊ยะเซียะครั้งนี้ ที่ออกมาสารภาพว่า เมื่อหลายปีก่อน ได้เคยสร้างผลงานในลักษณะดีลลึกลับมาแล้ว เมื่อครั้งที่หอบ “บิ๊กบัง” พล.อ.สนธิ บุญยรัตกลิน อดีตหัวหน้าคณะมนตรีความมั่นคงแห่งชาติ (คมช.) เมื่อครั้งมีตำแหน่งเป็น ส.ส.และหัวหน้าพรรคมาตุภูมิ ขึ้นเครื่องบินส่วนตัวไปพบ “ทักษิณ” อันเป็นที่มาของ ร่าง พ.ร.บ.นิรโทษกรรมฯ ที่ “บิ๊กบัง” เป็นผู้เสนอต่อสภาผู้แทนราษฎรในยุครัฐบาลยิ่งลักษณ์ ซึ่งเป็นหนึ่งในปัจจัยสำคัญที่ก่อให้เกิดวิกฤตทางการเมือง

อาจจะมองว่าเป็นคนละเรื่องเดียวกัน แต่ก็ถือว่าเป็นประจักษ์พยานที่ทำให้เห็นภาพ “ดีลลับปรองดอง” เด่นชัดขึ้น


 ปล่อยผีภาษีหุ้นชินคอร์ป
ฉากสุดท้าย “ภาษีหุ้นชินคอร์ป” ถูกจุดกระแสเป็นข่าวใหญ่เรียกความสนใจจากผู้คนล้นหลามก่อนการนัดประชุมชี้ชะตา โดย สมชัย สัจจพงษ์ ปลัดกระทรวงการคลัง ออกมาพูดชัดถ้อยชัดคำว่า ในบ่ายวันที่ 7 มีนาคม 2560 คณะกรรมการวินิจฉัยภาษีอากร ที่มี ประภาส คงเอียด รองปลัดกระทรวงการคลัง เป็นประธาน จะประชุมพิจารณาตามข้อเสนอของกรมสรรพากร เกี่ยวกับข้อเสนอการขยายเวลาการประเมินเพื่อออกหมายเรียกเก็บภาษีเงินได้จาก ทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี จากการขายหุ้น บมจ.อินทัช (INTUCH) หรือเดิมคือ บมจ.ชินคอร์ปอเรชั่น (SHIN) ให้แก่บริษัทเทมาเส็ก โฮลดิ้งส์ (พีทีอี) จำกัด ผ่านบริษัท ซีดาร์ โฮลดิ้งส์ รวมเป็นเงินการซื้อหุ้นกว่า 73,000 ล้านบาท เพื่อประเมินมูลค่าภาษีประมาณ 16,000 ล้านบาท จากกำหนดเดิมสิ้นสุดอายุความ ในวันที่ 31 มีนาคม 2560 ตอนนี้ข้อมูลมีเพียงพอแล้วและคาดว่าคงจะได้ข้อสรุป

โดยข้อเสนอที่กรมสรรพากร โยนเข้าสู่ที่ประชุมคณะกรรมการวินิจฉัยภาษีอากร ในวันดังกล่าว มีที่มาจากกรณีที่ พิศิษฐ์ ลีลาวชิโรภาส ผู้ว่าการตรวจเงินแผ่นดิน (สตง.) ทำหนังสือไปยังรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง และกรมสรรพากร ให้พิจารณาขยายเวลาจัดเก็บภาษีออกไป จากกำหนดเดิมสิ้นสุดอายุความ วันที่ 31 มีนาคม 2560 เพื่อให้กรมสรรพากร มีเวลาออกหมายเรียกเก็บภาษีเงินได้จาก “ตระกูลชินวัตร” เพราะหากปล่อยคดีให้หมดอายุความจะดำเนินการจัดเก็บภาษีไม่ได้ และหากไม่ขยายเวลาออกไป คณะกรรมการวินิจฉัยภาษีอากร ต้องมีเหตุผลรองรับ

ผู้ว่าการ สตง. ชี้ช่องว่า เนื่องจาก สตง.พิจารณาจากมาตรา 3 อัฎฐ ประมวลรัษฎากร สามารถขยายเวลาออกไปสำหรับกรณีใดกรณีหนึ่ง ซึ่งมีเหตุสมควรต่อการจัดเก็บภาษี เพราะมีมูลค่าจัดเก็บภาษีจำนวนมาก เพราะหากผู้เกี่ยวข้องและกรมสรรพากร ไม่ดำเนินการจัดเก็บภาษีและขยายเวลาออกอาจต้องมีความผิดมาตรา 154,157 ประมวลกฎหมายอาญา เนื่องจากละเลยการปฏิบัติหน้าที่ มีโทษทั้งจำคุกสูงสุด 10 และปรับ สตง.ในฐานะผู้ติดตามและตรวจสอบจึงทำหน้าที่ เพื่อนำเงินภาษีดังกล่าวมาใช้ประโยชน์

ภาษีจากการขายหุ้นชินคอร์ปดังกล่าว นายสมชัย อธิบายความเพิ่มเติมว่า ก่อนหน้านี้กรมสรรพากร ระบุว่าเป็นการซื้อขายในตลาดหลักทรัพย์ฯ ไม่ต้องเสียภาษี แต่ สตง. มีข้อสงสัยและเสนอให้ขยายเวลาการตรวจสอบภาษี ก็ต้องตรวจสอบให้ครบถ้วนก่อนจะหมดอายุความ

“ตอนแรกคิดว่ากรณีดังกล่าวจะจบในชั้นของกรมสรรพากรแล้ว แต่เมื่อมีประเด็นเรื่องการใช้อำนาจของ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง ในการขยายอายุความ ถือเป็นข้อมูลใหม่ ต้องนำเรื่องนี้มาพิจารณาอีกครั้ง เพราะไม่อยากเป็นจำเลยสังคม” นายสมชัย กล่าว

“ปลัดฯ สมชัย” ไม่อยากเป็นจำเลยของสังคม จึงออกมาทำหน้าที่จัดการให้มีการประชุมพิจารณาเรื่องนี้ก่อนอายุความจะหมด ส่วน อภิศักดิ์ ตันติวรวงศ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง ซึ่งเป็นผู้ที่มีอำนาจหน้าที่ลงนามในการขยายเวลาการตรวจสอบ ตามที่ สตง. ชี้ช่องไว้นั้นเงียบกริบ นั่งรอการพิจารณาชงเรื่องของคณะกรรมการวินิจฉัยภาษีอากร ขึ้นมาตามลำดับชั้น

แล้วผลสรุปของคณะกรรมการวินิจฉัยภาษีอากร ที่มี “รองฯ ประภาส” นั่งเป็นประธาน ออกมาแบบสับสนยอกย้อนวกวนแบบพิกลๆ ทั้งการที่บอกว่า ไม่ได้หารือถึงการเก็บภาษีจากหุ้นชินคอร์ปโดยตรง ตั้งท่าปัดเผือกร้อนออกพ้นมือ ซึ่งก็ขัดกับที่ ปลัดกระทรวงการคลัง ให้สัมภาษณ์สื่อก่อนมีการประชุมว่า อาจจะมีการขยายเวลาประเมินภาษีเพื่อออกหมายเรียกเก็บภาษีเงินได้จากนายทักษิณหรือไม่ และท้ายที่สุดก็ไม่มีขยายอายุความการออกหมายเรียกอย่างที่คาดการณ์กันไว้ และไม่มีข้อสรุปใดๆ เกี่ยวกับการเรียกเก็บภาษีหุ้นชินคอร์ป

ก่อนที่ “ปลัดสมชัย” จะออกมาระบุว่า การพิจารณาของคณะกรรมการวินิจฉัยภาษีอากร ถือเป็นที่สิ้นสุด และเป็นครั้งสุดท้ายที่จะพิจารณากรณีนี้ โดยจะเป็นแนวทางปฏิบัติในอนาคตด้วย

สอดรับกับ ประสงค์ พูนธเนศ อธิบดีกรมสรรพากร ที่ย้ำว่าการประเมินภาษีหุ้นชินคอร์ปนั้นยุติการประเมินภาษีเมื่อช่วงปี 2554 ส่วนกรณีการขยายอายุความภาษีตามข้อเสนอของ สตง.นั้น กรมฯยืนยันว่า จะขยายได้กรณี “ให้คุณ” กับผู้เสียภาษี ไม่เคยขยายเวลาเพื่อไป “กล่าวโทษ” ผู้เสียภาษี ดังนั้นคงต้องเป็นไปตามที่คณะกรรมการวินิจฉัยภาษีสรุป

ซึ่งก็เท่ากับว่า กระทรวงการคลัง และกรมสรรพากร ยินยอมพร้อมใจกันปล่อยให้เรื่องนี้สิ้นสุดอายุความไปในปลายเดือนมีนาคม 2560 นี้ งานนี้ “นายใหญ่แม้ว” คงตีปีกพรึ่บพรั่บมั่นใจได้เลยว่า งานนี้รอดอีกแล้ว เพราะเมื่อไม่ขยายอายุความการออกหมายเรียก ก็ถือเป็นอันสิ้นสุดการทวงภาษีจาก “พ่อลูกชินวัตร” อย่างสมบูรณ์แบบ

เป็นอีกผลงานโบดำของ กรมสรรพากร ที่ถวายหัวรับใช้เจ็ดชั่วโคตร

แต่ที่น่าแปลกใจก็คือ ท่าทีของ “รองฯประภาส” ที่ออกมากลับลำในการให้สัมภาษณ์สื่ออีกครั้ง โดยเทียบเคียงว่าเคยมีกรณีที่ถูกศาลยึดทรัพย์แล้วแต่ภาระการเสียภาษียังอยู่ กระทรวงคลัง ต้องไปบี้กรมสรรพากร ให้ไปจัดการไล่เก็บภาษีกับนายทักษิณ

คำถามที่ต้องถามกลับนายประภาส ก็คือ ก็เมื่ออายุความการจัดเก็บภาษีของนายทักษิณ จะหมดอยู่รอมร่อในสิ้นเดือนมีนาคมนี้อยู่แล้ว ถ้าอยากให้กระทรวงคลัง สั่งกรมสรรพากร ไปรีดภาษีจากนายทักษิณ แล้วไฉนคณะกรรมการวินิจฉัยภาษีอากร ที่ท่านนั่งเป็นประธานอยู่วันนั้น ถึงไม่ขยายอายุความการออกหมายเรียกออกไป ตามที่ สตง.ชี้ช่องเอาไว้ การปิดประตูอ้างว่าไม่เคยนำมาตรา 3 อัฎฐ วรรคสอง มาใช้กรณีให้โทษผู้เสียภาษี แล้วจะต่างอะไรกับเหตุผลของกรมสรรพากร ที่เน้นย้ำแต่คำว่าไม่ต้องเก็บภาษีชินคอร์ป ยุติจบสิ้น แล้ว

เป็นการสิ้นสุดมหากาพย์อันยาวนานแบบสร้างความผิดหวังให้กับผู้ชมไม่น้อย

**ลุ้นใช้มาตรา 44 หักดีลลับปรองดอง

น่าสนใจกับท่าทีของ “บิ๊กกระทรวงคลัง-บิ๊กสรรพากร” ที่กล้าหาญชาญชัยไม่ไว้หน้า สตง.ที่ทำหนังสือเตือนกรมสรรพากรเรื่องนี้ไปหลายครั้ง พร้อมคำขู่ว่า คณะกรรมการวินิจฉัยภาษีอากร และกรมสรรพากร จะต้องรับผิดชอบ ฐานความผิดฐานละเว้นการปฏิบัติหน้าที่ หาก สตง.ตรวจสอบกรณีย้อนหลังแล้วไม่ตรงตามข้อสรุปของ คณะกรรมการวินิจฉัยภาษีอากร
หากมองผิวเผินก็อาจตีความได้ว่า “บิ๊กกระทรวงคลัง-บิ๊กสรรพากร” ใส่เกียร์ว่างไม่กล้าหัก “ระบอบทักษิณ” ก็เพื่อหวังอยู่รอดปลอดภัยในวันที่ฟ้าเปลี่ยนสี อำนาจเปลี่ยนมือ วันหนึ่งหาก “ระบอบทักษิณ” กลับมาเรืองอำนาจก็อาจได้ดิบได้ดี ก็จะไม่ถูกเช็คบิล และอาจจะพุ่งพรวดได้รับบำเหน็จเป็นเก้าอี้รัฐมนตรี อย่างที่ เบญจา หลุยเจริญ เคยได้รับมาแล้ว จากผลงานช่วยเหลือการซื้อขายหุ้นชินคอร์ป ไม่ให้เสียภาษี แม้จะมีคดีความจนถูกพิพากษาให้จำคุกก็ตาม

ไม่แปลกที่ข้าราชการระดับสูงจะคิดเช่นนั้น แต่ไม่น่าใช่ในยุค “รัฐบาลทหาร” ซึ่งประกาศปราบปรามการทุจริตคอร์รัปชั่นอย่างเด็ดขาด การลิ่วตาช่วยเหลือ “ระบอบทักษิณ” มีหรือที่คนระดับบิ๊กๆจะดูไม่ออก และหากระดับบิ๊กๆจะเอากันให้ตายกับคดีภาษีหุ้นชินคอร์ป ก็คสั่งเร่งรัดตั้งแต่หลังวันที่ 22 พฤษภาคม 2557 แล้ว ไม่ใช่เพิ่งมาตื่นกันตอนนี้

กลับกลายเป็นว่าภาษีหุ้นชินคอร์ปที่รัฐสามารถเรียกเงินเข้าหลวงได้จะๆ 1.6 หมื่นล้านบาท แต่ “หัวไม่ส่าย หางก็ไม่ขยับ” อย่างมีนัยยะ ปล่อยทิ้งไว้เกือบ 3 ปี จนใกล้หมดอายุความค่อยมาทำเป็นตื่นตัว แล้วพอระฆังหมดยก ก็จะบอกว่าทำอะไรไม่ได้

เป็นเช่นนี้แล้ว ประสาร มฤคพิทักษ์ อดีตสภาปฏิรูปแห่งชาติ (สปช.) ถึงกับเรียกร้องให้พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ใช้อำนาจตามมาตรา 44 จัดการเรื่องนี้ ในการเรียกให้ “ทักษิณ” ยื่นแบบเสียภาษีดังกล่าวภายในเดือนมีนาคมนี้ พร้อมไล่เบี้ยว่าใครในกรมสรรพากรที่อยุ่เบื้องหลังการไม่ออกหมายเรียก ซึ่งเข้าข่ายกระทำความผิดข้อหาละเว้นการปฏิบัติหน้าที่ ตามมาตรา 157 ของประมวลกฎหมายอาญา

ข้อสรุปของกระทรวงการคลังอาจจะถือเป็นบทอวสานมหากาพย์ภาษีหุ้นชินคอร์ป แต่ข้อเสนอของนายประสารก็หาใช่เรื่องเหลือบ่ากว่าแรง หาก พล.อ.ประยุทธ์ ในฐานะหัวหน้า คสช.รับฟังรายงานผลจากกระทรวงการคลังแล้ว ยังจะมีไม้เด็ดพลิกฟื้นคดีดังแห่งทศวรรษอะไรอีกมั๊ย จะกล้างัดมาตรา 44 มาจัดการหรือไม่

แง่หนึ่งเพื่อให้การบังคับใช้กฎหมายเข้ารูปเข้ารอย

อีกแง่หนึ่งก็เหมือนเป็นการประกาศด้วยว่า ไอ้เรื่องเบื้องลึกเบื้องหลังนั้น มันเป็นเรื่องของ “ดีลลับปรองดอง” ที่ออกมาในทำนอง “เป็นคุณ” กับ “ครอบครัวชินวัตร” มันเป็นเรื่องที่มโนกันไปเองทั้งนั้น

 “อนุทิน” โซ่ข้อกลางหวังนายกฯ
หลังจากเข้าศักราชใหม่มาไม่นาน รัฐบาล พล.อ.ประยุทธ์ ก็ผุดโปรเจ็กต์ยักษ์ขึ้นมาอย่างไม่มีปี่มีขลุ่ย นัยว่าเป็นการเร่งขับเคลื่อนภารกิจในช่วงสุดท้ายของโรดแมป คสช. โดยการตั้ง คณะกรรมการบริหารราชการแผ่นดินตามกรอบปฏิรูปประเทศ ยุทธศาสตร์ชาติ และการสร้างความสามัคคีปรองดอง (ป.ย.ป.) ก่อนจะแตกไลน์ออกมา 4 คณะกรรมการย่อย ซึ่งขณะนี้ก็ยังอยู่ในช่วงตั้งไข่ มีการระดมผู้ทรงคุณวุฒิทั่วฟ้าเมืองไทยเข้าร่วม

ต้องยอมรับว่าในกรอบการทำงานของ ป.ย.ป.นั้น เรื่องที่ผู้คนให้ความสนใจมากที่สุด หนีไม่พ้นการสร้างความปรองดองสมานฉันท์ให้เกิดขึ้นในสังคมไทย ซึ่งตลอดเวลาเกือบ 3 ปีที่ผ่านมาภายใต้การบริหารของ คสช.นั้น แม้จะมีความสงบเรียบร้อยดี แต่เรื่องความปรองดองสมานฉันท์นั้นยังไร้วี่แวว

ทำให้การทำงานของ คณะกรรมการเตรียมการเพื่อสร้างความสามัคคีปรองดอง ภายใต้การนำ “บิ๊กป้อม” พล.อ.ประวิตร วงศ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม จึงถูกจับตามากกว่าคณะกรรมการชุดอื่นๆ

ทั้งในแง่ของการทำงาน ที่ต้องยอมรับว่าเป็น “โจทย์หิน” เนื่องจากในอดีตมีการตั้งคณะทำงาน คณะกรรมการมาแล้วสารพัด แต่ก็ยังไม่สามารถนำรายงานสรุป-ข้อเสนอไปปฏิบัติได้อย่างเป็นรูปธรรม เป็นเหตุให้สังคมไทยต้องตกอยู่ภายใต้ความขัดแย้งมานานนับสิบปีเข้าให้แล้ว

อีกความน่าสนใจก็หนีไม่พ้นตัวของ “บิ๊กป้อม” ผู้มากบารมี หลายคอนเนชั่น ที่โดดมารับงานใหญ่เป็น “มิสเตอร์ปรองดอง” ด้วยตัวเอง ทั้งที่รู้ว่าเป็นภารกิจที่ไม่หมู จึงเชื่อได้ว่าพี่ใหญ่แห่ง คสช.และเป็นพี่ใหญ่แห่งบูรพาพยัคฆ์คงได้ดีดลูกคิดคำนวณมาแล้วว่า งานนี้เป็นบวกกับตัวเองแน่ๆ พร้อมประกาศแบบไม่กลัวหน้าแหกว่า 3 เดือนนี้จะเห็นหน้าเห็นหลังแน่นอน

คณะกรรมการฯของ “บิ๊กป้อม” เปิดหัวการทำงานโดยตั้งคณะอนุกรรมการรับฟังความเห็นขึ้นมาเพื่อเปิดเวทีให้ “ฝ่ายการเมือง” ได้เข้ามาร่วมแสดงความคิดเห็นทั้งในเรื่องของการปฏิรูป และในเรื่องของการร่วมสร้างบรรยากาศทางการเมือง

การเชิญฝ่ายการเมืองเข้าแสดงความคิดเห็นครั้งนี้ แม้จะไม่ถือเป็นการปลดล็อคการแช่แข็งพรรคการเมืองอย่างเป็นทางการ แต่ก็ถือเป็นช่องหายใจที่ทำให้หลายพรรคการเมืองได้ยืดเส้นยืดสาย หายใจหายคอคล่องขึ้น หลายพรรคมีการประกาศนัดประชุมอย่างเป็นกิจลักษณะ ต่างจากที่ผ่านมาที่ทำกันในแอบบหลบๆซ่อนๆ

อีกปรากฏการณ์ที่สำคัญคือ “นักการเมืองระดับเซเลบฯ” หลายคนเลือกที่จะโดดมาแสดงบทบาท เข้าฉากด้วยตัวเอง ตั้งแต่ สุวัจน์ ลิปตพัลลภ ที่นำลูกพรรคชาติพัฒนาเข้าพบทีมงานทหารในช่วงแรก คุณหญิงสุดารัตน์ เกยุราพันธุ์ ที่เคยประกาศว่าไม่ได้เป็นกระทั่งสมาชิกพรรคเพื่อไทย ก็ยังร่วมขบวนแกนนำเพื่อไทยไปที่กระทรวงกลาโหมเช่นกัน ที่ขาดไม่ได้กับคิวของ อนุทิน ชาญวีรกูล หัวหน้าพรรคภูมิใจไทย ที่เพิ่งเข้าเสนอแนวทางปรองดองเป็นพรรคท้ายๆ

จริงๆ แล้วข้อเสนอของอต่ละพรรคการเมืองก็ไม่ค่อยต่างกัน และไม่มีอะไรใหม่เท่าที่ควร แต่ข้อเสนอของค่ายภูมิใจไทยถูก “เดอะแจ๊ค” วัชระ เพชรทอง อดีต ส.ส.ค่ายประชาธิปัตย์ ออกมาแฉว่ามีคำแสลงหูอย่าง “นิรโทษกรรมยกเว้นโทษ” รวมอยู่ด้วย จนเกิดวิวาทะดุเดือดระหว่างนายวัชระ กับ “บังซุป” ศุภชัย ใจสมุทร โฆษกพรรคภูมิใจไทย

พูดกันไปพูดกันมาก็ย้อนความไปถึง “วีรกรรมประวัติศาสตร์” ของนายอนุทิน หรือ “เสี่ยหนู” ที่เมื่อปี 2556 รับบท “สารถีจำเป็น” หอบ “บิ๊กบัง”พล.อ.สนธิ บุญยรัตกลิน อดีตหัวหน้า คมช. เมื่อครั้งมีตำแหน่งเป็นส.ส. และหัวหน้าพรรคมาตุภูมิ ขึ้นเครื่องบินส่วนตัวไปพบ “นายแม้ว” ทักษิณ ชินวัตร ถึงต่างประเทศ

ก่อนที่ “บิ๊กบัง” จะกลับเป็นผู้เสนอ ร่าง พ.ร.บ.นิรโทษกรรมฯ ต่อสภาผู้แทนราษฎรในยุครัฐบาล ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร ก่อนจะกลายเป็น “พ.ร.บ.สุดซอย” ซึ่งเป็นหนึ่งในปัจจัยสำคัญที่ก่อให้เกิดวิกฤตความขัดแย้งทางการเมือง จนทำให้ “รัฐบาลหนูปู” ต้องมีอันเป็นไป พร้อมการเข้ามาของคสช. ที่นำโดย “บิ๊กตู่”พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา เมื่อเดือนพฤษภาคม 2557

ซึ่ง “เสี่ยหนู” ก็ยอมรับโดยดุษฎีว่า เป็นเรื่องจริง

เหตุการณ์ที่ “บิ๊กบัง” ในฐานะหัวหน้าคณะรัฐประหาร บินไปพบกับ “ทักษิณ” หัวหน้ารัฐบาลที่ถูกรัฐประหารนั้น ถือเป็นเรื่องเมาต์ในวงเหล้า-วงไวน์ มาหลายปี และคนที่เล่าได้อย่างออกรสที่สุดก็ไม่ใช่ใครที่ไหน เป็น “เสี่ยหนู” ที่มักเล่าด้วยความภาคภูมิใจถึงวีรกรรม “ลับ ลวง พราง” หนนั้น แต่ครั้งนี้ถือเป็นการการสารภาพความจริงต่อสาธารณะอย่างเป็นทางการ

น่าสนใจที่ว่า “อนุทิน” ถือเป็นหนึ่งในตัวละครสำคัญของท้องเรื่อง “ดีลลับปรองดอง” หลายภาคที่ “ผู้จัดการสุดสัปดาห์” ได้เคยเปิดประเด็นไว้ ก่อนที่ “บิ๊ก คสช.” จะเรียงหน้าออกมาปฏิเสธเป็นพัลวันว่า เป็นเรื่องที่มโนกันไปเอง

เป็น “อนุทิน” ทายาทเจ้าของอาณาจักร “ซิโน-ไทย” ที่มีเงาตระหง่านของ เนวิน ชิดชอบ หัวหน้าตัวจริงของพรรคภูมิใจไทยอยู่ข้างหลัง ขนาบไปด้วย วิชัย ศรีรัตนประภา เจ้าของอาณาจักรคิงพาวเวอร์ ซึ่งเชื่อมโยงไปถึง “พี่ใหญ่ คสช.” ได้ไม่ยาก

ขณะเดียวกันความสัมพันธ์กับ ทักษิณ ชินวัตร ก็แน่นปึ้ก โดยนายอนุทินยังให้เกียรติเรียกว่า “นาย” ทุกคำที่พูดถึง รวมทั้งมีข้อมูลด้วยว่านายอนุทินเป็นนักการเมืองที่เดินทางไปพบนายทักษิณในต่างประเทศอยู่บ่อยครั้ง ด้วยเครื่องบินส่วนของตัวเอง โดยมี “แขกรับเชิญ” สลับหน้ากันไปตามวาระความจำเป็น คล้ายๆกับที่พา พล.อ.สนธิไปพบนายทักษิณเมื่อราว 5 ปีก่อนนั่นเอง และก็เป็น “เสี่ยหนู” ยังเป็นตัวเชื่อมที่สำคัญระหว่าง “ทักษิณ - เนวิน” ที่ความสัมพันธ์สะบั้นกันไปนานจากวรรคทอง “มันจบแล้วครับนาย” ที่แม้จะยังไม่มีการต่อสายคุยกันโดยตรง แต่ความแค้นในอดีตก็เลือนรางไปจากใจไม่น้อยแล้ว

กระทั่ง “ดีลล้ม” การเก็บ “ภาษีหุ้นชินคอร์ป” ก็เชื่อมโยงกันได้อย่างหลวมๆ ว่าอาจจะเป็นฝีมือของพี่น้องนอกไส้ “เนวิน - อนุทิน” จากชื่ออธิบดีกรมสรรพากร ประสงค์ พูนธเนศ ที่อีกขาหนึ่งเป็นประธานกรรมการการท่าอากาศยานแห่งประเทศไทย (ทอท.) เจ้าของสัญญาสัมปทานร้านค้าปลอดภาษี (ดิวตี้ฟรี) ของกลุ่มบริษัท คิง เพาเวอร์ ที่ “เจ้าสัววิชัย” เป็นเจ้าของ และมี ทวีศักดิ์ พูนธเนศ พี่ชายของอธิบดีประสงค์เป็นผู้บริหารอยู่ด้วย

กลับมาที่ความเคลื่อนไหวในระยะหลังของ “อนุทิน” ทายาทเจ้าของอาณาจักร “ซิโน-ไทย” ก็เต็มไปด้วยความมั่นอกมั่นใจที่จะสานฝันของ “พ่อจิ้น” ชวรัตน์ ชาญวีรกุล ให้สำเร็จกับเก้าอี้ “นายกรัฐมนตรี” ที่เมื่อหลายปีก่อนนายชวรัตน์เคยได้เชยชมเพียงแค่ในฐานะนายกรัฐมนตรีรักษาการแทน สมชาย วงศ์สวัสดิ์ เมื่อตัวเองแก่ตัวลงเรื่อยๆ จึงหวังบ่มเพาะลูกชายให้สุกงอมสานต่อความใฝ่ฝันที่ว่านี้ จนมีข่าวว่าช่วงนี้ “พ่อจิ้น” ใช้เวลาส่วนใหญ่ในการเดินสายหอบดวงชะตา-วันตกฟากของลูกชายไปให้สำนักหมอดู-พระ-โหรเช็กดวงให้ และทุกสำนักก็ฟันธงเปรี้ยงคล้ายกันว่า นายกฯ คนต่อไปไม่พ้น “ลูกหนู” อย่างแน่นอน

หลังจากที่ “อนุทิน” ส่องกระจกสำรวจตัวเองแล้วว่า ก็ยอมรับว่ามีข้อด้อยในเรื่องประสบการณ์ในทางการเมือง กระทั่ง ส.ส.ก็ยังไม่เคยเป็น จนมีข่าวว่าเจ้าของอาณาจักรซิโน-ไทย ผู้มีทรัพย์สินหลายหมื่นล้าน ได้ย้ายสำมะโนครัวไปเป็น “ผู้อาศัย” ที่บ้านของนายเนวินที่ จ.บุรีรัมย์ เพื่อเตรียมตัวลงสมัคร ส.ส.ที่เขต 1 จ.บุรีรัมย์ เพื่อความชัวร์ว่าจะได้เป็น ส.ส. แบบนอนมา

ส่วนงานด้านบริหาร งานรัฐมนตรี ต้องยอมรับว่าระดับ “อนุทิน” ยังมีไม่มากเท่าที่ควร แม้สมัยที่พ่แป็นรัฐมนตรีหลายกระทรวง เจ้าตัวจะไปคอยจัดแจงงานบริหารในลักษณะ “รัฐมนตรีสั่งการ” อยู่บ้าง แต่ก็ไม่เป็นที่ยอมรับในวงกว้าง จึงเห็นว่าช่วงหลังมานี้ “เสี่ยหนู” หันไปสนใจการศึกษาเล่าเรียนอย่างผิดสังเกต มีองค์กร-หน่วยงานไหนเปิดหลักสูตรอบรม ก็จะมีชื่อนายอนุทินไปลงทะเบียนคนแรกๆเสมอ แถมยังเป็นที่รักใคร่ของเพื่อนๆ ทุกหลักสูตร ที่พร้อมใจกันเรียกอย่างชินปากว่า “ท่านนายกๆ” จนเจ้าตัวยิ้มไม่หุบกันเลยทีเดียว

นับว่าดีลประวัติศาสตร์อย่างการพบกันของ “บิ๊กบัง - ทักษิณ” เป็นเครื่องยืนยันรูปแบบการทำงานการเมืองของ “ผู้มีอำนาจ” ที่นิยมการตกลงกันหลังฉากได้เป็นอย่างดี รวมทั้งเป็นหลักฐานมัดก้าวย่างทางการเมืองของ “เสี่ยหนู” ผู้ปรารณาตัวเป็น “ว่าที่นายกรัฐมนตรี” ได้ไม่มากก็น้อยว่าพร้อมที่จะเป็นได้ทั้ง “พิราบส่งข่าว” หรือ “โซ่ข้อกลาง” หากระดับบนมีการส่งสัญญาณถึงกัน

และเป็นบทบาทโซ่ข้อกลางที่หวังได้บำเหน็จเป็นถึงนายกรัฐมนตรีเลยทีเดียว 


กำลังโหลดความคิดเห็น