ผู้จัดการสุดสัปดาห์ - สมเด็จพระจักรพรรดิอากิฮิโตะ และสมเด็จพระจักรพรรดินีมิชิโกะ แห่งญี่ปุ่น เสด็จพระราชดำเนินประเทศไทยเป็นการส่วนพระองค์ ระหว่างวันที่ 5 - 6 มี.ค. 2560 ทรงถวายราชสักการะพระบรมศพ พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช ณ พระที่นั่งดุสิตมหาปราสาท ในพระบรมมหาราชวัง เพื่อแสดงความเสียพระราชหฤทัยและแสดงความอาลัยเป็นครั้งสุดท้าย เป็นประจักษ์ว่า 2 พระราชวงศ์มีพระราชไมตรีอันแน่นแฟ้นและมีความสัมพันธ์อันดีต่อกันมาอย่างยาวนาน
5 มี.ค. 2560 สมเด็จพระจักรพรรดิอากิฮิโตะ และ สมเด็จพระจักรพรรดินีมิชิโกะ แห่งญี่ปุ่น เสด็จฯ โดยเครื่องบินพระที่นั่งเที่ยวบินพิเศษของรัฐบาลญี่ปุ่นถึงประเทศไทย และเสด็จฯ ไปยังพระที่ดุสิตมหาปราสาท ทรงสดับพระพิธีธรรมสวดพระอภิธรรม และทรงวางพวงมาลาถวายราชสักการะ พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช จากนั้น เสด็จฯ ออกไปยังอาคารสำนักราชเลขาธิการ ทรงลงพระปรมาภิไธยและพระนามาภิไธยในสมุดแสดงความเสียพระราชหฤทัย
ต่อมา สมเด็จพระเจ้าอยู่หัวมหาวชิราลงกรณ บดินทรเทพยวรางกูร เสด็จฯ ออก ณ พระที่นั่งอัมพรสถาน ทรงรับสมเด็จพระจักรพรรดิ และสมเด็จพระจักรพรรดินีแห่งญี่ปุ่น ทั้ง 3 พระองค์ ทรงมีพระราชปฏิสันถารกันอย่างใกล้ชิด สมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ได้ถวายของขวัญจากสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ ในรัชกาลที่ ๙ แด่สมเด็จพระจักรพรรดิ และสมเด็จพระจักรพรรดินี ซึ่งแสดงถึงพระราชไมตรีอันดีระหว่างราชวงศ์ไทยกับราชวงศ์ญี่ปุ่น
ครั้งนี้นับเป็นครั้งที่ 4 ในการเสด็จฯ มาเยือนประเทศไทย โดยสำนักพระราชวังอิมพีเรียลได้เผยแพร่พระประวัติความสัมพันธ์ระหว่างสองราชวงศ์ ความว่า สมเด็จพระจักรพรรดิอากิฮิโตะ และสมเด็จพระจักรพรรดินีมิชิโกะแห่งญี่ปุ่น เคยเสด็จฯ เยือนประเทศไทยหลายครั้ง
เดือนธันวาคม ปี พ.ศ. 2507 เสด็จเยือนไทยครั้งยังทรงดำรงพระอิสริยยศเป็นมกุฎราชกุมาร เจ้าชายอากิฮิโตะ และเจ้าหญิงมิชิโกะแห่งญี่ปุ่น โดยเป็นการเสด็จฯ เยือนประเทศไทยเป็นการตอบแทน เมื่อครั้งพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช และสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ ทรงเสด็จฯ เยือนประเทศญี่ปุ่น ในปี พ.ศ. 2506
เดือนกันยายน ปี พ.ศ. 2534 สมเด็จพระจักรพรรดิอากิฮิโตะ และสมเด็จพระจักรพรรดินีมิชิโกะแห่งญี่ปุ่น เสด็จฯ เยือนประเทศไทย ในฐานะพระราชอาคันตุกะ
และเดือนมิถุนายน ปี พ.ศ. 2549 สมเด็จพระจักรพรรดิอากิฮิโตะ และสมเด็จพระจักรพรรดินีมิชิโกะแห่งญี่ปุ่น เสด็จฯ เยือนประเทศไทย เพื่อทรงร่วมพระราชพิธีฉลองสิริราชสมบัติครบ 60 ปี ของพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช
เฉกเช่นเดียว พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช พร้อมด้วยสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ ก็เคยเสด็จฯ เยือนประเทศญี่ปุ่นอยู่หลายครั้งในฐานะพระราชอาคันตุกะ
ขณะที่ สมเด็จพระเจ้าอยู่หัวมหาวชิราลงกรณ บดินทรเทพยวรางกูร เมื่อครั้งดำรงพระอิสริยยศมเด็จพระบรมโอรสาธิราชฯ สยามมกุฎราชกุมาร หลายครั้งเช่นกัน อาทิ เสด็จฯ เยือนประเทศญี่ปุ่น เพื่อทรงร่วมพระราชพิธีพระบรมศพของสมเด็จจักรพรรดิแห่งรัชสมัยโชวะ และเสด็จฯ เพื่อทรงร่วมพระราชพิธีบรมราชาภิเษก สมเด็จพระจักรพรรดิอากิฮิโตะ
กล่าวสำหรับสมเด็จพระจักรพรรดิอากิฮิโตะ ทรงเป็นผู้เชี่ยวชาญเรื่องสัตว์น้ำผู้ หนึ่ง ทรงศึกษาวิชามีนวิทยา จากคณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยกะคุชุอิน กรุงโตเกียว เมื่อครั้งดำรงพระอิสริยยศมกุฎราชกุมาร ได้เสด็จมายังประเทศไทย และทรงทูลเกล้าถวายปลานิลจำนวน 50 ตัว แด่พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช เมื่อวันที่ 25 มีนาคม พ.ศ. 2508 และพระองค์ได้โปรดเกล้าฯ ให้ทดลองเลี้ยงปลานิลในบ่อสวนจิตรลดา ปัจจุบันปลานิลกลายเป็นหนึ่งในปลาเศรษฐกิจสำคัญของประเทศไทย
นายฮัตสุฮิสะ ทากาชิมะ โฆษกประจำพระองค์สมเด็จพระจักรพรรดิญี่ปุ่น แถลงข่าวการเสด็จเยือนประเทศไทยของสมเด็จพระจักรพรรดิและสมเด็จพระจักรพรรดินีญี่ปุ่น ความว่า ก่อนหน้านี้ทั้ง 2 พระองค์เสด็จเยือนประเทศเวียดนามเพียงประเทศเดียว ตามคำเชิญของรัฐบาลเวียดนาม แต่เนื่องด้วยจากพระราชไมตรีอันยาวนานระหว่าง สมเด็จพระจักรพรรดิแห่งญี่ปุ่นกับพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช พระองค์จึงตัดสินพระราชหฤทัยขยายระยะเวลาเสด็จเยือนเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ออกไปอีก 1 วัน เพื่อทรงวางพวงมาลาถวายราชสักการะ พระบรมศพพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช
นายทากาชิมะ กล่าวว่า สมเด็จพระจักรพรรดิและสมเด็จพระจักรพรรดินีญี่ปุ่น เสด็จพระราชดำเนินมายังพระบรมมหาราชวัง ที่ประดิษฐานพระบรมโกศพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช โดยสมเด็จพระจักรพรรดิและสมเด็จพระจักรพรรดินีญี่ปุ่น ทรงรู้จักมาตั้งแต่ทศวรรษที่ 1960 (พ.ศ.2503) การเสด็จมาเยือนประเทศไทยครั้งนี้จึงนับเป็นโอกาสสุดท้ายถวายอำลาในหลวงรัชกาลที่ 9
นายทากาชิมะ กล่าวต่อไปว่า ทั้ง 2 พระองค์ทรงซาบซึ้งในพระมหากรุณาธิคุณของสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวที่พระราชทานของขวัญ และตระเตรียมการต้อนรับอย่างดี และสะดวกสบายเหมือนกับทรงอยู่ในญี่ปุ่น เช่น ถวายรถยนต์โรลส์ - รอยซ์ ลีมูซีน สีครีม ระหว่างประทับที่กรุงเทพมหานคร ที่เข้าใจว่าในหลวงรัชกาลที่ ๙ ทรงเคยใช้เป็นพระราชพาหนะส่วนพระองค์
ทั้งนี้ การเสด็จสู่สวรรคาลัยของพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช วันที่ 13 ตุลาคม 2559 เมื่อสมเด็จพระจักรพรรดิอากิฮิโตะ ทรงทราบข่าวการสวรรคต พระองค์ทรงโทมนัสเป็นอย่างยิ่ง ทรงไว้ทุกข์แสดงความอาลัยเป็นเวลา 3 วัน และทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้นายชิกะโอะ คะวะอิ เลขาธิการสำนักพระราชวัง เป็นผู้แทนพระองค์เดินทางยังสถานเอกอัครราชทูตไทย ณ กรุงโตเกียว เพื่อส่งสาสน์แสดงความเสียพระราชหฤทัยของทั้งสองพระองค์
หลังจากนั้น ในวันที่ 20 ตุลาคม 2559 ซึ่งเป็นวันพระราชสมภพของสมเด็จพระจักรพรรดินีมิชิโกะ ทรงเจริญพระชนมพรรษา 82 พรรษา พระองค์ทรงตอบคำถามผ่านทางจดหมาย ซึ่งส่งผ่านสมาคมผู้สื่อข่าวประจำสำนักพระราชวังของญี่ปุ่น พระองค์ทรงเขียนข้อความระลึกถึงพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวภูมิพลอดุลยเดช ความว่า
“ในค่ำคืนวันที่ 13 ตุลาคม ข้าพเจ้าได้ทราบข่าวที่น่าเสียใจอย่างยิ่ง เกี่ยวกับการจากไปของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวภูมิพลอดุลยเดช พระองค์ทรงมีพระชนมพรรษามากกว่าข้าพเจ้า 6 - 7 ปี และทรงให้ความกรุณาใส่ใจดูแลข้าพเจ้ามาโดยตลอด ราวกับพี่ชายที่แสนดี นับตั้งแต่ข้าพเจ้าอายุได้ราว 20 ปี ก่อนหน้านี้ ข้าพเจ้าได้รับทราบข่าวการประชวรของพระองค์ และคาดหวังว่า จะมีโอกาสเข้าเฝ้าฯ พระองค์อีกครั้ง ข้าพเจ้าขอแสดงความเสียใจอย่างสุดซึ้งต่อสมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินีนาถ พระบรมวงศานุวงศ์ไทยทุกพระองค์ และปวงชนชาวไทย”
การเสด็จพระราชดำเนินประเทศไทยเป็นการส่วนพระองค์ ของสมเด็จพระจักรพรรดิอากิฮิโตะ และสมเด็จพระจักรพรรดินีมิชิโกะแห่งญี่ปุ่น เป็นการแสดงให้เห็นถึงความสัมพันธ์แน่นแฟ้น ระหว่าง 2 พระราชวงศ์ที่มีความผูกพันกันมาอย่างยาวนาน โดยเฉพาะคำลงนามถวายความอาลัยครั้งสุดท้ายของสมเด็จพระจักรพรรดิอากิฮิโตะ ซึ่งถูกเปิดเผยโดย วสันต์ วณิชชากร ช่างภาพของสำนักข่าวเอพี ที่ทำให้ปวงพสกนิกรชาวไทยซาบซึ้งและถึงกับหลั่งน้ำตาออกมาอีกครั้งว่า
....The time has come for us to say “sayonara”
サヨナラ