ช่องว่างระหว่างความร่ำรวยล้นฟ้า กับความยากจนข้นแค้นของประชากรส่วนใหญ่ของโลก ยิ่งถ่างมากขึ้น ทวีความรุนแรงมากขึ้นท่ามกลางกระแสโลกาภิวัตน์-เสรีประชาธิปไตย-ทุนนิยมเสรีที่ผูกขาดระดับโลก นำมาสู่การเลือกตั้งที่พลิกจากกระแสหลัก เช่น กรณีการพลิกล็อกที่สหรัฐฯ ได้ประธานาธิบดีชื่อโดนัลด์ ทรัมป์ รวมทั้งการลงประชามติของอังกฤษที่พลิกล็อกให้ออกจากอียู และขณะนี้กำลังเกิดอาการระบาดขยายวงไปในยุโรป ที่ฝ่ายประชาชนส่วนใหญ่ถูกทอดทิ้งจากระบบที่ใช้กันมา 70 ปี หลังสงครามโลกครั้งที่สอง
ประชาชนส่วนข้างมากในหลายประเทศไม่พอใจโลกาภิวัตน์ รวมทั้งเสรีประชาธิปไตยทุนนิยมผูกขาด ที่ทำให้เกิดทั้งการโกงชาติและถ่างช่องว่างความรวย-จนมากขึ้นทุกขณะ
ล่าสุด ต้องขอบคุณองค์การกุศลที่อังกฤษ ชื่อ OXFAM เพิ่งออกรายงานที่น่าตกใจ ว่าด้วยช่องว่างคนรวย-จน ที่ประเทศมุสลิมมีประชากรมากที่สุด และเป็นประเทศที่มีขนาดเศรษฐกิจใหญ่ที่สุดในอาเซียน นั่นคือประเทศอินโดนีเซีย
รายงานของ OXFAM สรุปเมื่ออาทิตย์ที่แล้วนี้เองว่าประชาชนถึง 100 ล้านคน (หรือ2/5 ของ 250 ล้านคน) มีทรัพย์สินรวมกันแล้ว มีค่าเท่ากับเศรษฐีที่มั่งคั่งที่สุดของเขาเพียง 4 คนรวมกัน!
ประชากร 2/5 หรือ 100 ล้านคนนั้นยากจนข้นแค้นมาก มีปริมาณนับหัวคนจนเหล่านี้เกือบจะครึ่งหนึ่งของประชากรทั้งหมด พวกเขามีรายได้ถัวเฉลี่ยประมาณวันละ 3 ดอลลาร์สหรัฐ หรือ 100 บาทเท่านั้น แม้ค่าครองชีพจะต่ำมาก แต่เขาก็อยู่อย่างแร้นแค้นไม่พอกินพอใช้
OXFAM วิเคราะห์จากข้อมูลที่เขาไปติดตามตรวจสอบมา พบว่าตลอด 2 ทศวรรษที่ผ่านมา เศรษฐกิจของอินโดนีเซียเติบโตอย่างแข็งแกร่ง มีกลไกตลาดที่เสริมเศรษฐกิจอย่างดี และเป็นประชาธิปไตยเสรีมากที่สุดประเทศหนึ่งของอาเซียน
ระบบเศรษฐกิจและการเมืองเช่นนี้ กลับสร้างมหาเศรษฐีที่ติดอันดับของนิตยสาร Forbes เป็นคนเพียงหยิบมือเดียวที่ร่ำรวยเอาๆ สามารถขยายการถือครองที่ดินอย่างกว้างขวางใหญ่โต
มหาเศรษฐี 4 คนที่มั่งคั่งเท่ากับคน 100 ล้านคนนี้ อยู่ในธุรกิจยาสูบ แล้วขยายเครือข่ายไปกุมธุรกิจอื่นๆ อย่างกว้างขวาง
OXFAM เสนอทางแก้ไขคือระบบเก็บภาษีที่ต้องมีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น เพราะมีการเลี่ยงภาษีจากคนรวย ทั้งหาช่องโหว่ไม่จ่ายภาษี แล้วยังมีขนเงินไหลออกไปฝากที่เกาะแก่ง (offshore) ที่ไม่เก็บภาษีในการจดทะเบียนบริษัท เช่น เกาะเคแมน, เวอร์จิ้น, บาฮาม่า, ลาบวน เป็นต้น
OXFAM พยายามผลักดันให้รัฐบาลประเทศต่างๆ จัดทำข้อตกลงเพื่อไม่ให้มีการเลี่ยงภาษีเช่นนี้ หรือเพิ่มอัตราภาษีให้เป็นธรรมยิ่งขึ้น โดยเฉพาะผู้มีรายได้สูงมากและมีที่ดินจำนวนมาก รวมทั้งการจัดเก็บภาษีมรดก
เฉพาะปี 2558 ปีเดียว มีเงินไหลออกจากอินโดนีเซียสูงถึง 101,000 ดอลลาร์ (ประมาณ 3.6 ล้านล้านบาท) เพื่อไปฝากที่เกาะแก่งนอกชายฝั่ง เพื่อเลี่ยงการจ่ายภาษีรายได้ทั้งส่วนบุคคลหรือของกิจการต่างๆ ไม่ยอมจ่ายให้รัฐบาลอินโดนีเซีย ซึ่งก็เป็นเหตุการณ์คล้ายประเทศอื่นๆ ในอาเซียนเช่นกัน รัฐบาลอินโดนีเซียจึงขาดรายได้จากภาษีที่ควรจะเก็บได้ เพื่อนำมาทำนุบำรุงหรือดูแลด้านการศึกษา, การรักษาพยาบาลสำหรับประชาชนผู้ยากจนส่วนใหญ่
รายงานฉบับที่เพิ่งออกมาของ OXFAM นี้ เป็นฉบับที่ 2 ของปีนี้ ฉบับแรกออกมาตอนต้นปี พร้อมๆ กับการประชุม World Economic Forum ที่เมือง Davos ประเทศสวิตเซอร์แลนด์
รายงานฉบับแรกก็สร้างความฮือฮาไปทั้งโลกทีเดียว โดยชี้ให้โลกได้เห็นถึงความบิดเบี้ยวแบบคนกินคนที่เกิดขึ้นในโลกของเราใบนี้ เขาสรุปว่า มีเศรษฐีใหญ่สุดของโลกเราแค่ 8 คน ที่มีทรัพย์สินมากมายมหาศาล มูลค่าเท่ากับการนำเอาทรัพย์สินของคนทั้งโลกมารวมกันถึง 3,600 ล้านคน! จำนวนคนทั้งโลกมี 7,200 ล้านคนขณะนี้ เพราะฉะนั้น มหาเศรษฐีแค่ 8 คนของโลก (เป็นคนอเมริกันซะ 6 คน) จึงมั่งคั่งเท่ากับคนครึ่งโลกมีทรัพย์สินมากองรวมกันยามนี้
แน่นอนว่า 8 มหาเศรษฐีนี้ ก็นำโดย เจ้าพ่อไอทีส่วนใหญ่ เรียงจากบิล เกตส์, มาร์ค ซัคเคอร์เบิร์ก, แลร์รี เอลลิสัน มีแทรกก็เจ้าพ่อสื่อของเม็กซิโก, นักเล่นหุ้นมือเซียน วอร์เรน บัฟเฟตต์
OXFAM รายงานอย่างตื่นเต้นว่า ช่องว่างรวย-จนนี้ มันได้พุ่งขึ้นอย่างไม่น่าเชื่อ เอาเฉพาะเมื่อปีที่แล้ว (2559) อัตราส่วนอยู่ที่ : มหาเศรษฐีของโลก 62 คน มีทรัพย์สินเท่ากับทรัพย์สินของประชากรครึ่งหนึ่งของโลกมากองรวมกัน
พอพ้นไปเพียง 1 ปี ช่องว่างยิ่งถ่างมากขึ้น กลายเป็นมหาเศรษฐีแค่ 8 คน (ไม่ใช่ 62 คนของปีที่แล้ว) มีทรัพย์สินกองโตเท่ากับทรัพย์สินของคนในครึ่งหนึ่งของทั้งโลก
ข้อเรียกร้องของ OXFAM ก็เหมือนแผ่นเสียงตกร่อง เรียกร้องให้รัฐบาลทั่วโลกต้องรีบจัดการ คือเพิ่มอัตราภาษีสำหรับคนที่รวยล้นฟ้า และรีบจัดทำข้อตกลงระหว่างประเทศเพื่อหยุดการแข่งขันกันลดภาษีบุคคลและนิติบุคคล
นักเศรษฐศาสตร์กระแสรอง เช่น Joseph Stiglitz, Paul Krugman (ทั้งคู่ได้รับรางวัล Nobel ด้วย), Jeffrey Sachs, รวมทั้งปัญญาชนคนดังของสหรัฐฯ อย่าง Noam Chomsky ต่างมีจุดยืนคัดค้านแนวคิดแบบพรรครีพับลิกันของสหรัฐฯ (และแนวขวาของประเทศต่างๆ) ว่าถ้ารัฐบาลลดภาษีคนรวยแล้ว คนรวยและบริษัทที่มั่งคั่งจะนำเงินที่ไม่ต้องจ่ายภาษีไปลงทุนมากขึ้น, จ้างงานเพิ่มขึ้น ซึ่งนักเศรษฐศาสตร์กระแสรองได้ค้นคว้าเอาตัวเลขมายันกันเลยว่าไม่ได้เป็นเช่นนั้นเลย ความมั่งคั่งไม่เคย Trigger Down แบบน้ำล้นแก้ว, แล้วล้นมาถึงคนจน
ภาษีที่ลดให้แก่คนรวย ไม่เคยทำให้ความเหลื่อมล้ำในรายได้ของคนลดลงแต่อย่างใดเลย
ไม่เพียงการเก็บภาษีคนรวยให้สูงขึ้น, เป็นธรรมมากขึ้น แต่ยังมีปัจจัยของการจ่ายใต้โต๊ะหรือการโกงชาติ ซึ่งทางไอเอ็มเอฟในระยะหลังๆ นี้ ก็ต้องออกมายอมรับว่าเป็นปัจจัยให้เกิดความยากจน และความเหลื่อมล้ำในประเทศต่างๆ
และสำหรับประเทศอินโดนีเซียที่ตอนนี้ได้มีการจัดคะแนนด้านเสรีประชาธิปไตยดีมากในหมู่ประเทศอาเซียน ก็ต้องมีคำถามว่าทำไมเสรีประชาธิปไตยจึงไม่สามารถสร้างความเป็นธรรมในสังคม หรือลดความเหลื่อมล้ำของรายได้ให้ดีขึ้น มีแต่ช่องว่างจะยิ่งถ่างออกไป.