xs
xsm
sm
md
lg

ผู้จัดการสุดสัปดาห์

x

NEXT STEP ธรรมกาย ลัทธิใหม่ นิกายใหม่ ศาสนาใหม่

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


ผู้จัดการสุดสัปดาห์ - ถึงตอนนี้ ดูเหมือนว่า การไล่ล่านำตัว “พระเทพญาณมหามุนี (ไชยบูลย์ธมฺมชโย" เจ้าอาวาสกิตติมศักดิ์ วัดพระธรรกาย มาลงโทษตามกระบวนการยุติธรรมนั้น มิได้แตกต่างจากการไล่ล่าตามหาตัวนักโทษชายหนีคดีทักษิณ ชินวัตรมาดำเนินคดีเลยแม้แต่น้อย มิหนำซ้ำ ดูเหมือนว่าจะหา(ตัว) ยากเสียยิ่งกว่าอีกต่างหาก

กระนั้นก็ดี สิ่งที่สังคมกระหายใคร่รู้ก็คือ จุดจบของปฏิบัติการที่ใช้กำลังเจ้าหน้าที่จำนวนมหาศาลเพื่อควานหาตัวพระธมฺมชโยนั้น จะจบลงอย่างไร และอนาคตของอาณาจักรธรรมกายและศิษยานุศิษย์ที่ไม่เคารพต่อกฎหมายบ้านเมืองนั้น จะเป็นอย่างไร

แน่นอน สุดท้ายแล้วเจ้าหน้าที่ก็จะต้องถอนตัวกลับคืนสู่ที่ตั้ง เพราะเชื่อเหลือเกินว่า จะไม่สามารถจับกุมพระธมฺมชโยมาดำเนินคดีได้

นี่คือชัยชนะของพระธมฺมชโยและวัดพระธรรมกายที่สามารถใช้ “พลังแห่งศรัทธา” ในการปกป้องตนเองให้รอดพ้นจากกฎหมายบ้านเมืองโดยที่ไม่สามารถทำอะไรได้

แล้วสังคมไทยจะทำอย่างไรกันดี?
ช่างหัวมันเช่นนั้นหรือ

ขณะที่ชาวธรรมกายเองก็ต้องยอมรับเช่นกันว่า สิ่งที่ตนเองกำลังทำอยู่นั้น ได้ก่อให้เกิดปัญหาใหญ่หลวงแก่ราชอาณาจักรไทย เพราะสิ่งที่เกิดขึ้นทำให้เห็นว่า ต้นธาตุต้นธรรมของชาวธรรมกายกำลังทำตัวอยู่เหนือกฎหมาย และมีขุมกำลังที่พร้อมจะพลีกายถวายชีวิตเพื่อปกป้องตนเอง
เป็นรัฐอิสระและเป็นรัฐซ้อนรัฐในราชอาณาจักรไทย

กระทั่ง พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ(คสช.) ต้องประกาศกร้าวว่า จะไม่ยกเลิกใช้ ม.44 จนกว่าจะได้ตัว “พระธมฺมชโย” มาดำเนินคดีตามกฎหมาย

และเมื่ออำนาจทางฝ่ายอาณาจักรไม่สามารถจัดการกับพระธมฺมชโยและวัดพระธรรมกายได้ เผือกร้อนก้อนนี้ก็จะถาโถมลงมากดดัน “มหาเถรสมาคม(มส.)” ซึ่งเป็นองค์กรปกครองสูงสุดของคณะสงฆ์ไทยให้ดำเนินการในทางใดทางหนึ่ง

ถ้าพระธมฺมชโยยังคงดึงดัน มส.จะแก้ไขและจัดการอย่างไร

กรณีที่เป็นเรื่องเกี่ยวกับลัทธิความเชื่อ เป็นไปได้หรือไม่ที่สุดท้ายแล้ว เรื่องจะจบลงเหมือนกับกรณี “สันติอโศก” และ “สมณะโพธิรักษ์” ที่ต้องแยกตัวออกจากการปกครองของคณะสงฆ์ไทย หรือ มส.


เป็นลัทธิความเชื่ออีกลัทธิหนึ่ง เพียงแต่ชาวธรรมกายจะต้องไม่นุ่งห่มผ้ากาสาวพัตร์ให้เหมือนกับพระไทย เพราะทุกวันนี้ตัวพระธมฺมชโยก็มีนุ่งห่มจีวรที่ไม่ได้เหมือนกับคณะสงฆ์ไทยอยู่แล้ว

กลายเป็นลัทธิธรรมกาย กลายเป็นนิกายธรรมกาย ที่แตกแขนงความเชื่อและความคิดเห็นไปตามแนวทางของตนเอง

ทั้งนี้ ในปัจจุบัน ลัทธิความเชื่อและนิกายต่างๆ ในโลกมีเป็นจำนวนมาก ที่โด่งดังและเป็นที่รู้จักก็อย่างเช่น ลัทธิชินโต ลัทธิขงจื้อ ลัทธิเต๋า หรือลัทธิความเชื่อยุคใหม่ก็อย่างเช่น ลัทธิโอมชินริเกียว ที่ อาซาฮาระ โชโค (ชื่อจริง - มัทสึโมโต้ จิซึโอะ) เจ้าลัทธิได้จดใบอนุญาตเป็นลัทธิอย่างถูกต้องตามกฎหมายที่ที่ทำการจังหวัดโตเกียวในวันที่ 25 สิงหาคม 1989

นอกจากนั้น ลัทธิใหม่อีกลัทธิหนึ่งที่รู้จักกันดีก็คือ “ลัทธิฝ่าหลุนกง” ซึ่งถือกำเนิดในประเทศจีน โดยมี นายหลี่หงจื้อ เป็นเจ้าลัทธิ ซึ่งแต่เดิมฝ่าหลุนกงเป็นสำนักด้านพลังลมปราณ โดยนายหลี่หงจื้อได้นำเอาท่ามวยไท้เก๊กผสมท่ามวยสำนักต่างๆ ท่ารำไทยผสานกันเป็นท่าเฉพาะของการฝึก “พลังศักยภาพ” และนำเอาคำศัพท์ของศาสนาพุทธ เต๋า และคริสต์ มาผสมกันจนเกิดเป็นคำศัพท์เฉพาะของฝ่าหลุนกง สร้างความเชื่อถือให้แก่ผู้ฝึกฝ่าหลุนกงเป็นจำนวนมาก ในช่วงแรกรัฐบาลยอมรับให้ฝ่าหลุนกงเป็นการฝึกเพื่อสุขภาพและส่งเสริม แต่เมื่อฝ่าหลุนกงเริ่มมีการเคลื่อนไหวก่อกวนรัฐบาลขึ้น รัฐบาลจีนจึงเริ่มทำการปราบปรามฝ่าหลุนกง

หรือแม้กระทั่งพุทธศาสนาเองก็แตกแขนงออกไปเป็นหลายนิกาย โดยมีนิกายใหญ่ 2 นิกายคือ นิกายหินยานและนิกายมหายาน ซึ่งมูลเหตุแห่งความขัดแย้งเกิดขึ้นหลังจากที่พระพุทธเจ้าปรินิพพานแล้วประมาณ 100 ปีเมื่อมีความคิดเห็นไม่ตรงกันเกี่ยวกับการปฏิบัติตามพระธรรมวินัย

หลังปรินิพพานของพระพุทธเจ้า พระธรรมวินัยที่พระองค์ทรงสั่งสอน ได้ถูกรวบรวมเป็นหมวดหมู่ด้วยการสังคายนาพระธรรมวินัยครั้งแรก จนมีการรวบรวมขึ้นเป็นพระไตรปิฎก ซึ่งเป็นหลักการสำคัญที่ไม่มีการเปลี่ยนแปลงมาตลอดของฝ่าย เถรวาท ที่ยึดหลักไม่ยอมเปลี่ยนแปลงคำสั่งสอนของพระพุทธเจ้า แต่ในการสังคายนาพระธรรมวินัยครั้งที่สอง ได้เกิดแนวคิดที่เห็นต่างออกไปว่าธรรมวินัยสามารถปรับปรุงเปลี่ยนแปลงได้ตามเวลาและสถานการณ์เพื่อความอยู่รอดแห่งศาสนาพุทธ แนวคิดดังกล่าวจึงได้เริ่มก่อตัวและแตกสายออกเป็นนิกายใหม่ในชื่อของ มหายาน

ส่วนนิกายวัชระยานมีต้นกำเกิดจากมหายาน จากนั้นได้แยกตัวออกเป็นนิกายย่อยอีกประมาณ 4 นิกาย ได้แก่ นิกายศูนยวาทหรือมาธยมิก ผู้ก่อตั้งคือ คุรุนาคารชุน นิกายวิชญานวาทหรือโยคาจาร ผู้ก่อตั้ง คือ ท่านไมตรีนาถ นิกายจิต อมตวาท และ นิกายพุทธตันตระหรือมนตรยานซึ่งต่อมาได้พัฒนาเป็นวัชระยาน

ดังนั้น ถ้ามีความเห็นที่แตกต่าง ธรรมกายจะแยกตัวออกจากหินยานไปเป็นมหายานก็ไม่ใช่เรื่องผิด หรือถ้าจะคิดการณ์ใหญ่ถึงขั้นตั้งเป็นนิกายหรือลัทธิธรรมกาย แม้กระทั่งศาสนาธรรมกายก็สามารถทำได้เช่นกัน

แน่นอน ถ้าให้เลือก เชื่อว่า วัดพระธรรมกายและพระธมฺมชโยอาจมีความลังเลอยู่บ้าง แต่ถ้าเป็นมติของมหาเถรสมาคม(มส.) ก็ไม่มีทางเลี่ยง

และ ณ เวลานี้ มหาเถรสมาคม(มส.) ก็เริ่มมีความเคลื่อนไหวเกี่ยวกับเรื่องนี้แล้ว โดยในการประชุมมหาเถรสมาคม(มส.) นัดแรกเมื่อวันที่ 20 กุมภาพันธ์ 2560 ซึ่งสมเด็จพระอริยวงศาคต สมเด็จพระสังฆราชสกลมหาสังฆปริณายก(อัมพร อมฺพโร) เป็นประธาน ได้หยิบยกกรณีพระธมฺมชโยและวัดพระธรรมกายขึ้นมาหารือ

นายพนม ศรศิลป์ ผู้อำนวยการสำนักงานพระพุทธศาสนาแห่งชาติ (พศ.) ได้เปิดเผยภายหลังการประชุมว่า มส. มีความห่วงใยสถานการณ์ที่เกิดขึ้นเกี่ยวกับกรณีของวัดพระธรรมกาย ซึ่งพระพรหมมุนี เลขานุการสมเด็จพระสังฆราช มีบัญชาให้เจ้าคณะปกครองที่เกี่ยวข้องกับวัดพระธรรมกายทั้งหมด ประชุมหารือถึงการแก้ปัญหาที่เกิดขึ้น โดยมีสมเด็จพระพุทธชินวงศ์ เจ้าอาวาสวัดพิชยญาติการาม เจ้าคณะใหญ่หนกลาง เป็นประธานการประชุมเจ้าคณะภาค เจ้าคณะจังหวัดปทุมธานี ร่วมกับผู้แทนกระทรวงยุติธรรม และผู้แทน มส.

ดังนั้น ก้าวต่อไปของวัดพระธรรมกายและ มส.จึงน่าสนใจยิ่งนัก

ถ้าวัดพระธรรมกายมั่นใจในหลักธรรมคำสอนของพระธมฺมชโย ทำไมถึงไม่ตัดสินใจแยกตัวออกเป็นนิกายใหม่ เป็นลัทธิใหม่ โดยไม่ขึ้นตรงต่อการปกครองของคณะสงฆ์ไทยไปเสียให้รู้แล้วรู้รอด และเมื่อแยกนิกายเป็นที่เรียบร้อยก็จะไม่มีใครวิพากษ์วิจารณ์วัดพระธรรมกายอีกต่อไป ซึ่งความจริงก็ไม่ใช่ว่าวัดพระธรรมกายจะไม่ยินยอมพร้อมใจ เพียงแต่สถานการณ์ยังไม่สุกงอมเพราะต้องเป็นขุมกำลังให้อุปัชฌาอาจารย์ของตนเองก้าวขึ้นสู่ตำแหน่งที่ปรารถนาเอาไว้
ถามว่า วัดพระธรรมกายสามารถทำได้ทันทีเลยหรือไม่

ตอบได้เลยว่าทำได้ เพราะวัดพระธรรมกายพรั่งพร้อมทั้งกำลังคน และกำลังทุนทรัพย์ แถมยังมีวัดสาขาต่างๆ ที่ไปลงหลักปักฐานเอาไว้ในประเทศต่างๆ ทั่วโลกแล้วอีกต่างหาก ซึ่งก็ต้องยอมรับว่า วัดพระธรรมกายเป็นวัดพุทธที่มีสาขามากที่สุดในโลก

ที่สำคัญคือมีความชื่ออันเป็นอัตลักษณ์ของตนเองโดยที่ไม่ต้องอิงแอบแนบชิดกับนิกายเถรวาท ซึ่งเป็นแนวทางที่คณะสงฆ์ไทยยึดปฏิบัติ และศิษยานุศิษย์ก็พร้อมที่จะเดินไปตามเส้นทางใหม่โดยเชื่อว่า จะไม่ก่อให้เกิดปัญหาใดๆ ตามมา

พระพุทธรูปของธรรมกายก็มีเอกลักษณ์เป็นของตนเอง สิ่งปลูกสร้างของธรรมกายก็มีเอกลักษณ์ของตนเอง รูปแบบพิธีกรรมต่างๆ ก็มีเป็นของตนเอง แม้แต่ชุดอุบาสกอุบาสิกาที่สวมใส่ในการปฏิบัติธรรมก็มีเอกลักษณ์เป็นของตนเอง ดังนั้น ธรรมกายจึงพร้อมที่จะแยกตัวออกไปร้อยเปอร์เซ็นต์

ธรรมกายและพระธมฺมชโยจะยินยอมเดินไปในเส้นทางนั้นหรือไม่

แต่ถ้ายังคงยึกยัก สุดท้ายก็มีคามเป็นไปได้เช่นกันว่า คณะสงฆ์ก็อาจต้องประกาศลงโทษตามกระบวนการของสงฆ์ตามที่พระธรรมวินัยได้บัญญัติไว้ เริ่มจากการประกาศ อุกเขปนียกรรม ซึ่งเป็นวิธีการลงโทษที่ภิกษุผู้ต้องอาบัติแล้ว ไม่ยอมรับว่าเป็นอาบัติ หรือไม่ยอมทำคืนอาบัติ หรือมีความเห็นชั่วร้าย (ทิฏฐิบาป) ไม่ยอมสละซึ่งเป็นทางเสียสีลสามัญญตา หรือ ทิฏฐิสามัญญตา คือ ไม่ให้ฉันร่วม ไม่ให้อยู่ร่วม ไม่ให้มีสิทธิเสมอกับภิกษุทั้งหลาย หรือพูดง่ายๆ ว่า ถูกตัดสิทธิแห่งภิกษุชั่วคราว และถ้ายังคงดึงดันท้ายที่สุดแล้วก็หนีไม่พ้นต้องประกาศ “ปัพพาชนียกรรม” ขับธรรมกายออกไปจากหมู่สงฆ์ สิ้นสุดความเป็นวัดและเป็นพระในเถรวาทพุทธศาสนาไทยแบบถาวร

ส่วนคดีพระธมฺมชโยก็ไม่มีทางเป็นอื่นใด เพราะนี่เป็นคดีทางโลกมิใช่คดีทางธรรม ดังนั้น พระธมฺมชโยจึงไม่มีสิทธิเป็นเจ้าอาวาสวัดพระธรรมกายอีกต่อไป ไม่ว่าจะกิตติมศักดิ์หรือไม่ก็ตาม จากนั้นก็ผันตัวไปเป็น “ผู้นำทางจิตวิญญาณ” หลบหนีและไปเคลื่อนไหวอยู่นอกราชอาณาจักรไทย

เพียงเท่านี้ทุกอย่างก็จะลงตัว
กำเนิดใหม่ธรรมกายกำลังจะเริ่มต้นขึ้นแล้ว...นะจ๊ะ
ชิตังเม โป้ง...จบ


กำลังโหลดความคิดเห็น