xs
xsm
sm
md
lg

ผู้จัดการสุดสัปดาห์

x

ครม.ต่อสัญญา”วอยซ์ ออฟ อเมริกา”6 ปี 60 ปี IBBวัตถุประสงค์มากกว่าความสัมพันธ์2ประเทศ

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


ผู้จัดการสุดสัปดาห์ -ที่ประชุมคณะรัฐมนตรีสัปดาห์ก่อนรัฐบาลไทยอนุมัติการขยายอายุความตกลงระหว่างรัฐบาลไทยกับรัฐบาลสหรัฐอเมริกา ว่าด้วยสถานีวิทยุกระจายเสียง 1,000 กิโลวัตต์ ของสถานีวิทยุเสียงอเมริกา ออกไปจนถึง วันที่ 30 ก.ย.66 (ปัจจุบันความตกลงฯ ได้หมดอายุลงแล้วเมื่อวันที่ 30 ก.ย.59 )

ในรายละเอียดสหรัฐฯ จะได้มอบเงินแก่รัฐบาลไทยจำนวนทั้งสิ้น 1,500,000 ดอลลาร์สหรัฐ หรือ 52,845,000 บาท (ตามอัตราแลกเปลี่ยน 35.23 บาท/ดอลลาร์สหรัฐ)

จะมีหนังสือแลกเปลี่ยนของฝ่ายไทยและอนุมัติให้รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศเป็นผู้ลงนามในหนังสือแลกเปลี่ยนฯ และหากมีความจำเป็นต้องแก้ไขปรับปรุงร่างหนังสือแลกเปลี่ยนฯ ในส่วนที่ไม่ใช่สาระสำคัญของร่างหนังสือแลกเปลี่ยนฯ ให้ กต. สามารถพิจารณาดำเนินการได้ โดยไม่ต้องขอความเห็นชอบจากคณะรัฐมนตรีอีกครั้ง

จนถึงปัจจุบันกว่า 50 ปี วิทยุเสียงอเมริกา หรือสถานีวิทยุกระจายเสียง 1,000 กิโลวัตต์ ข้อมูลจากเว็บไซต์ วิกิพีเดีย ระบุว่าวิทยุเสียงอเมริกา (อังกฤษ: Voice of America หรือ VOA)เป็นหน่วยงานสารสนเทศสหรัฐอเมริกา การกระจายเสียงวิทยุและสื่อโทรทัศน์ให้บริการโดยรัฐบาลกลางสหรัฐอเมริกา ภายใต้การดูแลของคณะกรรมการบริหารกิจการแพร่เสียงและแพร่ภาพ (Broadcasting Board of Governorsหรือ BBG) เพื่อดำเนินการในสิ่งที่ตนรับผิดชอบทางด้านการทูตสาธารณะ อย่างเช่นการโฆษณาชวนเชื่อ หรือการนำเสนอข้อมูลที่ออกแบบมาเพื่อเปลี่ยนแปลงผู้รับสื่อไปในทิศทางที่ถูก กำหนดโดยผู้ใช้สื่อ และดำเนินการภายใต้ข้อสันนิษฐานว่าปฏิกิริยาในต่างประเทศทีมีต่อสหรัฐอเมริกา ต่อประชาชนชาวอเมริกาและ ต่อนโยบายของสหรัฐอเมริกา สามารถทำให้มีอิทธิพลในทางบวกได้

วิทยุเสียงอเมริกา ออกอากาศเป็นภาษาต่าง ๆ 46 ภาษา รวมทั้งภาษาไทย ครอบคลุมเกือบทั้งโลก นำเสนอข่าว รายการดนตรี รายการวัฒนธรรม รายการข่าวสารทางการเมือง ผ่านดาวเทียมและระบบเอฟเอ็ม เอเอ็ม วิทยุคลื่นสั้น และยังมีทางอินเทอร์เน็ตทางเว็บไซต์ http://www.voanews.com วิทยุเสียงอเมริกามีสาขาและสัญญากับสถานีวิทยุและโทรทัศน์หลายเครือข่าย รวมถึงเครือข่ายเคเบิลทั่วโลก

เว็บไซต์ วิกิพีเดีย ระบุว่า ภาคภาษาไทยเป็นหนึ่งในบรรดาภาษาเริ่ม แรกของวีโอเอ(Voice of America)ที่เริ่มออกอากาศในช่วงสงครามโลกครั้งที่สอง [ต้องการอ้างอิง] โดยผู้ประกาศรุ่นแรกๆ เป็นสมาชิกขบวนการเสรีไทยในอเมริกา และเป็นภาคภาษาแรกที่เริ่มบุกเบิกการกระจายเสียงถึงผู้ฟังโดยตรงโดยอาศัย ความร่วมมือจากสถานีวิทยุต่างๆ ในประเทศไทย

ขณะที่มติครม.ระบุถึงสาระสำคัญของเรื่องการขออนุมัติการขยายอายุความตกลงระหว่างรัฐบาลไทยกับรัฐบาลสหรัฐอเมริกา ว่าด้วยสถานีวิทยุกระจายเสียง 1,000 กิโลวัตต์ ของสถานีวิทยุเสียงอเมริกา ออกไปจนถึง วันที่ 30 ก.ย.66 (ปัจจุบันความตกลงฯ ได้หมดอายุลงแล้วเมื่อวันที่ 30 ก.ย.59)ว่า
 
สถานีวิทยุกระจายเสียงดังกล่าวยังสามารถดำเนินการต่อไปได้จนกว่าฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งแจ้งบอกยกเลิกความตกลงฯ ล่วงหน้าอย่างน้อย 18 เดือน) โดยดำเนินการผ่านการแลกเปลี่ยนหนังสือเดินทางการทูตระหว่างไทยและสหรัฐอเมริกา
 
วัตถุประสงค์ เพื่อส่งเสริมการแลกเปลี่ยนและการเผยแพร่ข้อมูลข่าวสารทางการกระจายเสียงผ่านสถานีวิทยุกระจายเสียง 1,000 กิโลวัตต์ ตามกำหนดเวลาที่สองฝ่ายได้ตกลงกันไว้แล้ว ครอบคลุมพื้นที่ในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ตลอดจนบริเวณตอนใต้ของจีน

กลุ่มผู้ฟังเป้าหมาย คือชาวไทยและชาวต่างชาติในจังหวัดชายแดนและประเทศเพื่อนบ้าน (เช่น เมียนมา ลาว เวียดนาม กัมพูชา และบังกลาเทศ) โดยเผยแพร่รายการประเภทข่าวสาร สารคดี และสาระน่ารู้ด้านการต่างประเทศทั้งภาษาไทยและภาษาต่างประเทศ (อังกฤษ ลาว เขมร และเวียดนาม)

โดยรายการของฝ่ายสหรัฐฯ ซึ่งผลิตโดยสถานีวิทยุเสียงอเมริกามุ่งเน้นการเป็นแหล่งข้อมูลข่าวสารและสาระน่ารู้ที่เป็นประโยชน์ เช่น รายการประเภทข่าวสารด้านเศรษฐกิจ สังคม นวัตกรรม และศิลปวัฒนธรรม เหตุการณ์ปัจจุบัน และสารคดี ซึ่งสอดแทรกเนื้อหาที่ส่งเสริมค่านิยมเชิงบวกต่อสหรัฐฯ เช่น บทบาทที่สร้างสรรค์ของสหรัฐฯ ในเวทีระหว่างประเทศ การส่งเสริมแนวคิดด้านประชาธิปไตย สิทธิและเสรีภาพ และการค้าเสรี

ขณะที่รายการของฝ่ายไทย ซึ่งผลิตโดย“สถานีวิทยุสราญรมย์”ของ กต. มุ่งเน้นการดำเนินงานตามนโยบายการทูตสาธารณะ การทูตวัฒนธรรม และการทูตประชารัฐ เป็นช่องทางการประชาสัมพันธ์ เผยแพร่ข้อมูลข่าวสาร สร้างความรับรู้และความเข้าใจที่ถูกต้องเกี่ยวกับบทบาทและนโยบายของรัฐบาลและกระทรวงการต่างประเทศ
 
ในการนี้ รัฐบาลสหรัฐฯจะมอบเงินแก่รัฐบาลไทยจำนวนทั้งสิ้น 1,500,000 ดอลลาร์สหรัฐ รวมทั้งให้ความช่วยเหลือด้านเทคนิค ในการผลิตรายการและการดำเนินงานของสถานีวิทยุสราญรมย์ เพื่อแลกเปลี่ยนกับการขยายอายุความตกลงฯ ซึ่งกระทรวงการต่างประเทศได้หารือกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง (ได้แก่ กรมประชาสัมพันธ์ สำนักข่าวกรองแห่งชาติ และสำนักงานคณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ) 

"ที่ประชุม ครม.เห็นว่า การขยายอายุความตกลงฯ เป็นสัญลักษณ์ของความร่วมมือที่ใกล้ชิดระหว่างกัน เกื้อกูลประโยชน์ซึ่งกันและกัน และเป็นการสานต่อการดำเนินงานโครงการซึ่งต่อเนื่องมาตั้งแต่ปี 2511 โดยผลประโยชน์ตอบแทนที่ไทยได้รับจากการขยายอายุความตกลงฯ ครั้งนี้ มีความคุ้มค่าและเหมาะสมแล้ว" 

ขณะที่ข้อมูลจากสื่อสังคมโซเชียล มีการอ้างว่าสำหรับ สถานีวิทยุกระจายเสียงอเมริกา หรือ Voice Of America หรือ สถานีวิทยุ วีโอเอ. ที่มีชื่อเสียงในอดีตในประเทศไทย นอกจาก “สถานีวิทยุสราญรมย์”ของ กต. แล้ว เห็นจะเป็นสถานีวิทยุ วีโอเอ.บ้านดุง หรือปัจจุบันคือ สถานีวิทยุกระจายเสียงระหว่างประเทศ ประจำประเทศไทย หรือ Internation Broadcastion Bureau (IBB) ในพื้นที่ ต.บ้านดุง อ.บ้านดุง ซึ่งอยู่ห่างจาก ตัวเมืองจ.อุดรธานีไปประมาณ 11 กม.เคยเป็นอดีตสถานที่ตั้ง“ฐานทัพสหรัฐฯ -บ้านดุง”

ปัจจุบัน มีบอร์ด ไอบีบี (อินเตอร์เนชั่นแนล บอร์ดดิ้งแคสท์ เบลูย์) ซึ่งเป็นบอร์ดที่ควบคุมการดำเนินงานของสถานีวิทยุ วีโอเอ. ทั่วโลก

โดยในปี 2511 มีผู้เชียวชาญชาวสหรัฐฯ เป็นผู้ควบคุมการสื่อสารในฐานทัพ และว่าจ้างคนไทยร่วมงานเคยใช้เป็นที่ทำการ เพื่อต่อต้านการรุกรานของลัทธิคอมมิวนิสต์ที่กำลังยึดครองประเทศเพื่อนบ้านฝั่งตะออกของไทย

จนกระทั่งต่อมาในปี 2527 สถานีวิทยุ วีโอเอ. ได้พัฒนารูปแบบเป็น สถานีวิทยุกระจายเสียงระหว่างประเทศ ประจำประเทศไทย ต่อมาจากนโยบายการเมืองนำการทหารของ พล.อ.เปรม ติณสูลานนท์ ประธานองคมนตรี และรัฐบุรุษ ซึ่งดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรีในขณะนั้น ได้ออกประกาศสำนักนายกรัฐมนตรีที่ 66/2523 ทำให้แนวร่วมพรรคคอมมิวนิสต์แห่งประเทศไทย ได้วางปืนและมอบตัวเข้าเป็นผู้ร่วมพัฒนาชาติไทยจนหมดสิ้น

"สถานีเรดาร์ และแคมป์ทหารในจังหวัดอุดรธานี ได้ปิดลง" แต่เนื่องด้วยเครื่องมือสื่อสารและยุทโธปกรณ์หลายอย่างยังมีคุณค่าและประสิทธิภาพ ทางการสหรัฐฯ จึงบอกขายให้รัฐบาลสมัยนั้น ในราคาที่ถูกมาก (เป็นขอกำหนดของรัฐสภา สหรัฐอเมริกา ที่รัฐบาลสหรัฐฯ ไม่สามารถยกทรัพย์สินใดๆของรัฐบาลให้ชาติอื่นใดได้ ทางการสหรัฐฯ ในยุคนั้นจึงใช้วิธีขายสิ่งอุปกรณ์เหล่านั้นให้รัฐบาลไทยแทน)

ขณะเดียวกัน ในพื้นที่ 3,200 ไร่ ที่สหรัฐอเมริกาเคยใช้เป็นฐานทัพชั่วคราว เพื่อต่อต้านการรุกรานของลัทธิคอมมิวนิสต์ดังกล่าว ทางการสหรัฐฯ จึงขอเช่าจากรัฐบาลไทยในสมัยนั้นเป็นเวลา 25 ปี เริ่มตั้งแต่ปี 2527 สามารถต่อสัญญาได้ 2 ครั้ง ครั้งละ 10 ปี หลังสิ้นสุดการต่อสัญญาครั้งสุดท้ายแล้ว ทางการสหรัฐฯ จะต้องยกทรัพย์สินทั้งหมดให้เป็นของรัฐบาลไทย

การก่อตั้งสถานีวิทยุวีโอเอ ที่ อ.บ้านดุง จ.อุดรธานี เป็นไปตามข้อตกลงระหว่างประเทศสหรัฐอเมริกา และประเทศไทย โดยมีการเซ็นสัญญา เมื่อปี 2527 ด้วยงบประมาณของสหรัฐ จำนวน 125 ล้านเหรียญดอลลาร์สหรัฐ

แต่สถานที่แห่งนั้นกลับกลายเป็นข่าวฮือฮาทั่วโลก และในประทศไทยเมื่อปี 2549 ว่าเป็น “คุกลับในประเทศไทย”จนรัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี ในฐานะผู้ดูแลกรมประชาสัมพันธ์ ในขณะนั้น (เนื่องจากในปี 2546 สถานีวิทยุ วีโอเอ.ได้โอนไปขึ้นกับ กรมประชาสัมพันธ์ของไทย) และ รมว.ต่างประเทศในขณะนั้น ได้ออกมาตอบโต้การนำเสนอข่าวของสื่อมวลชนสหรัฐอย่างรุนแรง ว่าตกเป็นเครื่องมือของต่างชาติที่ปล่อยข่าวทำร้ายประเทศไทยในช่วงนั้นทำเอา สถานีถ่ายทอดสัญญาณของสถานีวิทยุเสียงอเมริกาที่ อ.บ้านดุง จ.อุดรธานี และสถานีถ่ายทอดสัญญาณฯ ที่ อ.ภูกระดึง จ.เลย ถูกจับตาอย่างมาก

ขณะที่เอกอัครราชทูตสหรัฐอเมริกา ประจำประเทศไทย หลายคนเดินทางไปดูงาน จ.อุดรธานี หลายครั้ง เช่นในปี 2554 นางคริสตี้ เคนนี่ เอกอัครราชทูตสหรัฐอเมริกา ประจำประเทศไทย ในขณะนั้น ได้เดินทางไปยังสถานีวิทยุกระจายเสียงแห่งประเทศไทย (สวท.) เพื่อดูงาน และยังมีโอกาสพบกับส.ส.อุดรธานี ด้วย
 
นับจากปี2527 ถึงปี 2552 สถานีวิทยุ IBB ในประเทศไทย ที่ทางการสหรัฐอเมริกาได้เช่าพื้นที่ของไทยครบ 25 ปี และต่อมาได้มีการพิจารณาต่อสัญญาครั้งที่สองอีก 10 ปี และล่าสุด สรุปที่จะต่อสัญญา วอยซ์ ออฟ อเมริกา ไปอีก 6 ปี (หมดสัญญาวันที่ 30 ก.ย.59-ต่อสัญญาถึง 30 ก.ย.66)
 
ถือว่ารัฐบาลไทยและรัฐบาลสหรัฐอเมริกา "กำลังเดินหน้า เพื่อสร้างมหามิตรครอบคลุมพื้นที่ในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ตลอดจนบริเวณตอนใต้ของจีน และให้ความเคารพในบูรณภาพแห่งดินแดนของมิตรประเทศอย่างประเทศไทยอีกครั้ง


กำลังโหลดความคิดเห็น