xs
xsm
sm
md
lg

ผู้จัดการสุดสัปดาห์

x

ปรองดองไม่ใช่ปองร้าย อย่ามองข้ามพลังประชาชน

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


ผู้จัดการสุดสัปดาห์ -นโยบายปฏิรูปประเทศ ยุทธศาสตร์ชาติของรัฐบาลและคสช. ที่เน้นนโยบายด้านความสามัคคีปรองดองเป็นหลัก กำลังเดินหน้าไปตามทิศทางที่กำหนด วันนี้มีหนทางที่จะเดินเรียบร้อย และคนทำงานก็ตบเท้ากันมาอย่างพร้อมหน้าพร้อมตา สำรวจรายชื่อแล้ว ล้วนแต่บิ๊กเนมทั้งนั้น

เป็นชะตากรรมที่เห็นความหวังยุติความขัดแย้งและความสามัคคีปรองดองรออยู่ข้างหน้า
 
คณะกรรมการป.ย.ป. ที่มี “บิ๊กตู่”พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) เป็นประธาน ชุดนี้ถือว่าเป็น“ซุเปอร์บอร์ด”ของประเทศอย่างแท้จริง

ส่วนรัฐบาลก็มาร่วมวงกันทุกคน แทรกอยู่ในคณะกรรมการ 4 ชุด ไม่ว่าจะเป็นคณะกรรมการบริหารราชการแผ่นดินเชิงยุทธศาสตร์ ที่มีนายกฯ เป็นประธาน มี สมคิด จาตุศรีพิทักษ์ รองนายกฯ เป็นรองประธานคนที่ 1 และ วิษณุ เครืองาม รองนายกฯ เป็นรองประธานคนที่ 2

ในคณะกรรมการเตรียมการปฏิรูปประเทศ มีนายกฯ เป็นประธาน พล.อ.ธนะศักดิ์ ปฏิมาประกร รองนายกฯ เป็นรองประธานคนที่ 1 และ พล.ร.อ.ณรงค์ พิพัฒนาศัย รองนายกฯ เป็นรองประธานคนที่ 2 คณะกรรมการเตรียมการยุทธศาสตร์ มีนายกฯ เป็นประธาน และ พล.อ.อ.ประจิน จั่นตอง รองนายกฯ เป็นรองประธาน และ คณะกรรมการเตรียมการเพื่อสร้างความสามัคคีปรองดอง มีนายกฯ เป็นประธาน พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรี และรมว.กลาโหม เป็นรองประธาน

แล้วแต่ละชุดก็มีที่ปรึกษาคณะกรรมการมาจากผู้มีตำแหน่งแห่งหนทั้งนั้น ทั้งประธานสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) รองประธาน สนช. ประธานสภาขับเคลื่อนการปฏิรูปประเทศ (สปท.) รองประธาน สปท. ตลอดไปจนผู้บริหารระดับสูง แม่ทัพนายกอง ยกโขยงกันมาเป็นกรรมการกันพรึบ เท่านั้นยังไม่พอ ยังไปดึงภาคเอกชน คนที่เคยทำงานปรองดองมานั่งอยู่อีก

เหมือนจะหยุดอยู่แค่นั้น แต่ไม่ใช่เลย “บิ๊กตู่”ไปเอาผู้มีหน้าตาในสังคม มานั่งเป็นที่ปรึกษาป.ย.ป.ชุดใหญ่อีก 40 ชีวิต เรียกว่า ระดับบิ๊กๆ กันทั้งนั้น ทั้งในราย บวรศักดิ์ อุวรรณโณ อดีตประธานคณะกรรมาธิการยกร่างรัฐธรรมนูญ บัณฑูร ล่ำซำ ประธานกรรมการและประธานเจ้าหน้าที่บริหาร ธนาคารกสิกรไทย จำกัด (มหาชน) ศุภชัย พานิชภักดิ์ เลขาธิการการประชุมสหประชาชาติว่าด้วยการค้าและการพัฒนา หรือ อังก์ถัด (UNCTAD) พล.อ.เอกชัย ศรีวิลาศ ผู้อำนวยการและ

บุคลากรของสำนักสันติวิธีและธรรมาภิบาล สถาบันพระปกเกล้า เรียกว่า ใครมีหน้ามีตา พอน่าเชื่อถือ รัฐบาลไปกว้านมาหมด

ถ้าเป็นอย่างนี้แสดงว่า หมายมั่นปั้นมือเอาไว้มาก เพราะแต่ละคนที่ไปดึงมาเป็นตัวละครที่เคยถูกพูดถึงให้เข้ามาช่วยเวลาเกิดความขัดแย้งทางการเมืองทุกครั้ง ครั้งนี้แม้จะไม่ได้มาเป็นคนกลาง แต่ก็เข้ามามีส่วนร่วม มีตำแหน่งแหน่งหน เป็นกิจจะลักษณะ

ซึ่งมีคณะรัฐมนตรี พล.อ.ประยุทธ์ เสียบอยู่ในทุกชุดอีกต่างหาก ดังนั้นถ้ารอบนี้คณะนี้ทำงานล่ม บอกเลยแนวคิดจะสร้างความปรองดองในอนาคตสำเร็จยาก เพราะใหญ่กว่านี้ไม่มีอีกแล้ว พร้อมเพรียงฟูลเพาเวอร์ แบบนี้
 
เมื่อมีทรัพยากรอุ่นหนาฝาคั่งขนาดนี้ แถมนักการเมืองแห่ตอบรับเข้าร่วมกับการหาทางปรองดอง ถ้ายังไม่สำเร็จ ก็ต้องยอมให้คนด่า คนนินทาล่ะ นอกจากนี้รัฐบาลยังโชคดีกว่ารัฐบาลอื่นๆ ที่พยายามจะทำ แต่ไม่สำเร็จ เพราะทุกฝ่ายไม่ได้ให้ความร่วมมือเหมือนครั้งนี้

เหนือกว่าคน ในครั้งนี้รัฐบาลมีทุกอย่าง แถมยังมีดาบอาญาสิทธิ์อย่าง มาตรา 44 คอยทะลวงเมื่อเจออุปสรรคปัญหา แต่อยู่ที่ว่าจะแก้ปัญหาถูกจุดหรือไม่ หรือ แอ๊กชั่นออกมาคราวนี้ เป็นแค่การแก้ไขปัญหาเฉพาะหน้าเท่านั้น

เพราะวันนี้สิ่งที่รัฐบาลกำลังทำ ดูเหมือนจะเจาะจงไปที่ฝ่ายการเมืองเสียส่วนใหญ่ นักการเมืองที่ให้ความร่วมมือกันทุกพรรค ก็เพราะซื้อใจรัฐบาลกับ คสช. เพื่อจะไปเลือกตั้ง  
           
      ยังไม่มีมุมไหนที่จะมองเห็นว่า รัฐบาลจะให้ความสำคัญกับภาคประชาชน แต่อย่างใด

ตอนนี้ภาคประชาชนประกาศจุดยืนแล้วว่า ถ้าจะให้เข้าร่วมมหกรรมสร้างความสามัคคีปรองดองครั้งประวัติศาสตร์ด้วย รัฐบาลทหารต้องลืม และเลิกคิดว่าประชาชนทะเลาะกัน ถ้าคิดว่ามูลเหตุจัดแย่งแบ่งฝ่ายมาจากประชาชนทะเลาะกันก็ผิดทาง จะเดินหน้าต่อได้ยาก

ความเข้าใจไม่ถูกต้องในปมนี้ รัฐบาลต้องปรับและยอมรับว่าประชาชนออกมาเคลื่อนไหวทางการเมือง เป็นเพราะประชาชนทนไม่ได้ที่เห็นรัฐบาลในอดีตกำลังทำลายชาติบ้านเมือง ขืนปล่อยให้อยู่ต่อไปสิ้นชาติ สิ้นแผ่นดินแน่ พลังของประชาชนจึงออกมาขับไล่รัฐบาล ไม่ใช่การชวนทะเลาะ ไม่ใช่การต่อสู้ทางการเมืองเพื่อความสะใจเลย ซึ่งภาคประชาชนอย่างกลุ่มพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตย ก็พร้อมที่จะให้ข้อเสนอแนะดีๆ แก่รัฐบาลในการแก้ปัญหาที่ตรงเป้า เช่น ข้อเสนอให้หยุดคดีที่เหล่าประชาชนถูกยัดเยียดขัอหาอย่างไม่เป็นธรรม จากการเคลื่อนไหวทางการเมือง ไว้ชั่วคราว

แล้วให้ พล.อ. ประยุทธ์ ใช้อำนาจตั้งคณะกรรมการแยกแยะคดีที่มีเหตุจูงใจทางการเมือง ออกจากคดีอาญา ไม่ส่งศาลเพื่อพิจารณาเป็นคดีอาญา และคดีแพ่ง อย่างที่เป็นคดีเช่นวันนี้

ถ้ารัฐบาลทหารปรับทัศนคติที่มีต่อการเมืองภาคประชาชนได้ ทำความเข้าใจให้ถูกต้อง ตั้งสมมติฐานให้ตรงกับปัญหา ทำให้ภาคประชาชนเชื่อมั่น เดินเข้าร่วมวงปรองดองก็จะเป็นพลังผลักดันนโยบายปรองดองไปสู่ความสำเร็จได้อย่างแน่นอน 

แต่ต้องไม่ลืมให้ความสำคัญกับการแก้ปัญหาคดีการเมืองที่ไม่เป็นธรรม อันเสมือนเป็นบ่วงที่รัดคอประชาชนออกเสียก่อน ปลดล๊อกปมนี้ได้ โอกาสสะสางปัญหาความขัดแย้ง นำประเทศกลับสู่ความสามัคคีปรองดอง ก็จะอยู่ไม่ไกลเกินฝัน


กำลังโหลดความคิดเห็น