xs
xsm
sm
md
lg

ถ่านหินเชื้อเพลิงแห่งความตาย

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


ปัญญาพลวัตร
โดย พิชาย รัตนดิลก ณ ภูเก็ต

ถ่านหินเป็นเชื้อเพลิงที่มนุษย์นำมาใช้อย่างมากมายตั้งแต่ยุคการปฏิวัติอุตสาหกรรม และมีการใช้มาอย่างต่อเนื่องจนถึงปัจจุบัน เหตุผลสำคัญคือถ่านหินมีราคาถูกเมื่อเทียบกับเชื้อเพลิงอื่นๆ และในระยะแรกมนุษย์ไม่ทราบผลกระทบที่เกิดจากการใช้ถ่านหินมากนัก แต่ต่อมาเมื่อมีการใช้มากขึ้นและต่อเนื่องเป็นเวลานาน ถ่านหินก็ราคาแพงขึ้นและมนุษย์ก็เริ่มทราบถึงผลร้ายที่เกิดจากถ่านหินทั้งในเรื่องการสร้างมลพิษการปล่อยก๊าซเรือนกระจก และการบั่นทอนชีวิตของมนุษย์

ถ่านหินเป็นสิ่งที่สามารถสร้างผลกระทบได้ในทุกกระบวนการ ตั้งแต่การผลิต ไปจนถึงการนำไปใช้ ในขั้นตอนการผลิต มีการทำเหมืองเพื่อนำถ่านหินมาใช้ ซึ่งต้องขุดลึกลงไปในพื้นดิน เป็นการทำงานที่เสี่ยงอันตรายสูง และคร่าชีวิตคนงานเป็นจำนวนมากตลอดระยะเวลาในประวัติศาสตร์ เฉพาะในปี ๒๕๕๙ เหมืองถ่านหินในบางประเทศอย่างเช่น ปากีสถาน รัสเซียและจีน เกิดระเบิดและมีคนเสียชีวิตรวมกันนับร้อยคน โดยเฉพาะที่ประเทศจีน ข่าวเหมืองถ่านหินระเบิดและผู้เสียชีวิตมีเป็นประจำแทบทุกเดือน และแม้แต่ในสหรัฐอเมริกาเองที่ถือว่าทันสมัยและเน้นความปลอดภัยของคนงานสูง สถิติของกรมแรงงานสหรัฐอเมริการะบุว่าช่วงปี ๒๕๕๗ ถึง ๒๕๕๙ มีคนงานเสียชีวิตรวมกัน ๓๗ คน ดังนั้นการทำเหมืองถ่านหินจึงเป็นอุตสาหกรรมที่สร้างอันตรายต่อชีวิตคนงานเป็นอย่างยิ่ง และจะเป็นอันตรายมากขึ้นในเหมืองของประเทศที่การคุ้มครองความปลอดภัยของแรงงานต่ำ

เมื่อได้ถ่านหินมาแล้ว อันตรายที่ตามอีกอย่างเกิดขึ้นในกระบวนการขนส่งถ่านหิน ยิ่งระยะทางระหว่างเหมืองกับโรงงานที่นำถ่านหินไปใช้เป็นเชื้อเพลิงไกลกันเท่าไร ก็ยิ่งเพิ่มโอกาสในการสร้างอันตรายเพิ่มมากขึ้นเท่านั้น หากประเทศใดที่ต้องนำเข้าถ่านหินจากต่างประเทศ ดังที่รัฐบาลไทยกำลังจะทำอยู่นั้น ก็ยิ่งเพิ่มโอกาสในการเกิดผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมและชีวิตความเป็นอยู่ของประชาชนชนมากขึ้น เพราะต้องขนถ่านหินลงเรือจากแหล่งผลิตในอินโดนีเซียหรือออสเตรเลีย นำเรือเข้ามาเทียบท่าในจังหวัดกระบี่ ขนถ่ายถ่านหินจากเรือมาใส่รถบรรทุกเพื่อขนส่งไปยังโรงไฟฟ้า ซึ่งย่อมสร้างผลกระทบต่อชุมชนที่รถบรรทุกเหล่านั้นแล่นผ่านอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้

เมื่อถ่านหินถูกมาใช้เป็นเชื้อเพลิง เรื่องที่หนักหนาสาหัสก็เกิดขึ้น เพราะว่าในบรรดาเชื้อเพลิงหลักที่มนุษย์ใช้อยู่ในปัจจุบัน การศึกษาทางวิทยาศาสตร์เพื่อเปรียบเทียบผลกระทบจากการผลิตพลังงานต่อหน่วยของเชื้อเพลิง ระหว่างถ่านหิน กับน้ำมัน ก๊าซธรรมชาติ พลังงานน้ำ พลังงานแสงแดด พลังงานลม และพลังงานไบโอดีเซลพบว่า ถ่านหินสกปรกที่สุด ปล่อยสารพิษมากที่สุด และสร้างก๊าซเรือนกระจกมากที่สุดด้วย

ตัวถ่านหินนั้นมีความสกปรกและมีพิษในตัวของมันเอง ไม่ว่าจะทำอย่างไรก็ไม่อาจชำระล้างพิษสกปรกออกไปได้ สิ่งที่ทำได้คือการเปลี่ยนร่างแปลงรูปความสกปรกและความมีพิษให้ซ่อนอยู่ในรูปแบบอื่น ที่ประชาชนมองไม่เห็น มลพิษที่เห็นได้อย่างชัดเจนจากถ่านหินคือ มลพิษทางอากาศ ผู้สนับสนุนการใช้ถ่านหินจึงพยายามคิดค้นเทคโนโลยีเพื่อดักจับและจัดการสารพิษทางอากาศเหล่านั้น เพื่อลดมลทินของถ่านหินในสายตาสาธารณะ

มีการดักจับเถ้าถ่านโดยเครื่องดักจับ เมื่อดักจับแล้วก็นำไปเก็บไว้ที่บ่อพัก ฝังหรือกองเอาไว้ที่ไหนสักแห่ง แต่สารพิษเหล่านั้นอาจรั่วซึมเข้าสู่น้ำผิวดินและใต้ดินได้ ดังนั้นพื้นที่บริเวณใดที่ถูกเลือกให้เป็นที่รองรับหรือซ่อนสารพิษจากถ่านหิน ก็มีโอกาสรับเคราะห์จากการที่แหล่งน้ำถูกปนเปื้อนจากสารพิษ ยิ่งกว่ายิ่งกว่านั้นสารพิษบางตัว เช่น ไดออกซิน/ฟิวแรน ซึ่งเป็นสารสนับสนุนการเกิดมะเร็งที่รุนแรงที่สุด ยังไม่มีเทคโนโลยีใดที่สามารถขจัดได้ สารนี้มาพร้อมกับการเผาไหม้ถ่านหิน

สำหรับฝุ่นละอองขนาดเล็กที่มองไม่เห็นและเป็นอันตรายต่อสุขภาพ ในปัจจุบันมีเทคโนโลยีที่ดักจับฝุ่นแบบนี้ได้ร้อยละ ๙๙ แต่ต้นทุนแพงมาก ส่วนซัลเฟอร์ไดออกไซด์ที่เป็นเหตุทำให้เกิดฝนกรดและฝุ่นละอองขนาดเล็ก ซึ่งหากได้รับไม่มากก็จะมีปัญหาเกี่ยวกับทางเดินหายใจ แต่หากได้รับอย่างต่อเนื่อง ก็มีโอกาสเป็นมะเร็งสูง การดักจับซัลเฟอร์ไดออกไซด์ที่ทั้งแบบแห้งและแบบเปียก แบบแห้งดักได้ประมาณร้อยละ ๙๐ แบบเปียกดักได้ร้อยละ ๙๕ การดักจับใช้รูปแบบการฉีดพ่นน้ำและหินปูน ซึ่งจะทำให้เกิดตะกอนของซัลเฟอร์ สารปรอท และโลหะหนักตัวอื่นๆ

แม้ว่าปัจจุบันมีเทคโนโลยีที่ดักจับสารพิษต่างๆในรูปแบบก๊าซหรือฝุ่นละอองที่เกิดจากการเผาไหม้ถ่านหินได้อย่างมีประสิทธิภาพมากขึ้นเมื่อเทียบกับอดีต แต่ก็ยังไม่อาจจัดการกับสารก่อมะเร็งอย่างไดออกซินได้ รวมทั้งการจัดการกับของเสียที่แปลงรูปจากก๊าซและฝุ่นละอองเป็นของเหลวและของแข็ง ปัจจุบันการจำกัดใช้รูปแบบบ่อพัก ซึ่งหากรั่วไหลไปสู่แหล่งน้ำสาธารณะทั้งแม่น้ำและทะเล หายนะรูปแบบใหม่ก็จะเกิดขึ้นตามมา

สำหรับต้นทุนที่ใช้ในการลดสารพิษที่เกิดจากการเผาถ่านหินนั้น กลุ่มกรีนพีชได้สรุปข้อมูลจากแผนเทคโนโลยีองค์การพลังงานระหว่างประเทศซึ่งระบุว่า โรงไฟฟ้าถ่านหินที่ผลิต ๖๐๐ เมกะวัตต์ หากประสงค์จะใช้เทคโนโลยีในการจัดการผลิตและจัดการสารพิษจากอากาศให้เหลือน้อยที่สุด จะมีค่าใช้จ่ายถึง ๖๐,๒๘๐ ล้านบาท ซึ่งแพงมาก

เนื่องจากการไฟฟ้าฝ่ายผลิตของไทยชอบโฆษณาว่ามีโรงไฟฟ้าถ่านหินสะอาด ผมจึงอยากถามว่าปัจจุบันการไฟฟ้าฝ่ายผลิตมีวิธีการจัดการกับสารพิษเหล่านี้ที่โรงงานไฟฟ้าถ่านหินแม่เมาะครบหรือยัง เอาหลักๆก็แล้วกันครับ ๑) เครื่องพ่นจับซัลเฟอร์ไดออกไซด์มีหรือยัง ถ้ามี มีแบบไหน ประสิทธิภาพมากน้อยเพียงใด ๒) เทคโนโลยีที่ใช้เพื่อลดปริมาณก๊าซไนโตรเจนออกไซด์ (ตัวร้ายที่ทำให้เกิดฝุ่นขนาดเล็ก ซึ่งจะทำให้เกิดโรคเกี่ยวกับทางเดินหายใจหลายโรค) มีหรือยัง หากมีใช้แบบใด ๓) ถุงกรองฝุ่นละอองขนาดเล็กหรือเครื่องดักฝุ่นแบบไฟฟ้าสถิต มีหรือยัง ๔) การจัดการปรอททำอย่างไร และ๕) เทคโนโลยีการดักจับและเก็บคาร์บอนไดออกไซด์มีหรือยัง

การไฟฟ้าฝ่ายผลิตมีเครื่องมือและเทคโนโลยีเหล่านี้ครบหรือไม่ครบ มีตัวใดบ้าง และมีประสิทธิภาพมากน้อยเพียงใดในการจัดการกับสารพิษจากถ่านหินของโรงไฟฟ้าแม่เมาะ ช่วยบอกประชาชนให้ทราบด้วยครับ และโรงไฟฟ้าแห่งใหม่ที่คืดจะสร้างในจังหวัดกระบี่และที่อยู่ในแผนอีกหลายแห่งจะใช้เทคโนโลยีเหล่านี้ทั้งหมดหรือไม่ หรือว่าใช้ตัวใดบ้าง และไม่ใช้ตัวใดบ้าง

อีกคำถามคือ สารพิษที่แปลงรูปจากก๊าซและฝุ่น ไปสู่ของเหลวและของแข็ง ซึ่งโดยปกติทำกันสองแบบคือหากเป็นของเหลวก็จะใช้บ่อพัก หรือพ่นไปสู่ชั้นหินใต้ดิน หากเป็นของแข็งก็ฝังกลบหรือไม่ก็จัดการทำให้เป็นของเหลวแล้วฉีดพ่นสู่ชั้นหิน ไม่ทราบว่าการไฟฟ้าฝ่ายผลิตจัดการอย่างไรบ้าง หากเป็นกรณีบ่อพัก มีมาตรการป้องกันไม่ให้รั่วซึมสู่แหล่งน้ำผิวดินและใต้ดินอย่างไร ส่วนการทำโรงไฟฟ้าถ่านหินที่กระบี่ ยังต้องมีมาตรการป้องกันไม่ให้สารพิษไหลออกไปสู่ทะเลอีกด้วย แต่จะเป็นไปได้หรือ โดยเฉพาะหากเผชิญกับสถานการณ์พายุฝนรุนแรงและน้ำท่วม ซึ่งมีโอกาสสูงมากที่สารพิษจากบ่อพักจะกระจายไปสู่ทะเลและแหล่งน้ำอื่นๆ

เมื่อมองถ่านหิน ในแง่ทั้งการผลิต การขนส่ง และการนำไปใช้เป็นเชื้อเพลิงแล้ว จะเห็นได้ชัดว่าถ่านหินเป็นเชื้อเพลิงที่ไม่เหมาะในการนำมาใช้เป็นเชื้อเพลิงผลิตไฟฟ้าเป็นอย่างยิ่ง เพราะขุดมาใช้ก็อันตราย ขนส่งก็อันตราย และเมื่อใช้เป็นเชื้อเพลิงก็ยิ่งสร้างอันตรายอย่างเหลือคณานับ ในอดีตเราอาจใช้ความไม่รู้เป็นข้อแก้ตัวได้สำหรับการนำถ่านหินมาใช้ แต่ในปัจจุบันเรามีความรู้เพียงพอที่สรุปได้แล้วว่าการใช้ถ่านหินเป็นเชื้อเพลิงนั้น “ให้โทษ” มากกว่า “ให้คุณ” แก่มนุษยชาติและโลกโดยรวม แม้ว่าผู้สนับสนุนถ่านหินมีความพยายามที่จะวิจัยและพัฒนาเทคโนโลยีที่จัดการกับมลพิษจากถ่านหินดีกว่าอดีต แต่เทคโนโลยีเหล่านั้นก็ราคาแพงมากซึ่งทำให้ไม่คุ้มทุน

อีกทั้งการจัดการมลพิษจากถ่านหินก็ทำได้เพียงแค่การแปลงรูปมลพิษจากสถานะก๊าซและฝุ่น มาเป็นของเหลวและของแข็ง ซึ่งตัวพิษนั้นก็ยังคงอยู่ไม่ได้หาไปไหน เพียงแต่ถูกเก็บกักไว้ ซึ่งหากเก็บไม่ดี มีอุบัติเหตุและภัยธรรมชาติเกิดขึ้น ก็อาจเกิดการรั่วไหลและแพร่กระจายของสารพิษ ซึ่งจะทำให้เกิดการเสียหายในวงกว้างได้

หากรัฐบาลฟังข้อมูลรอบด้าน มีเหตุผล ใช้ปัญญาอย่างรอบคอบ รับผิดชอบต่อสังคมและคำนึงถึงผลประโยชน์ของประชาชนทั้งในระยะสั้นและระยะยาว ทางเลือกที่จะเกิดขึ้นก็คือ “การยุติการใช้ถ่านหินเป็นเชื้อเพลิงในการผลิตไฟฟ้า”

แต่หากผลปรากฏว่ารัฐบาลเลือกใช้ถ่านหินเป็นเชื้อเพลิงในการผลิตไฟฟ้าที่จังหวัดกระบี่ และที่อื่นๆในอนาคต ก็ย่อมแสดงว่า เหตุผลและปัญญาของผู้ตัดสินใจถูกบดบังด้วยความผิดพลาดในการตัดสินครั้งก่อน ที่ครม.มีมติอนุมัติให้ บริษัท กฟผ. อินเตอร์เนชั่นแนล ไปซื้อหุ้นของ บริษัท Adaro Indonesia (AI) สัดส่วน ๑๑-๑๒ % มูลค่าประมาณ ๑.๑๗ หมื่นล้านบาท ที่ทำเหมืองถ่านหิน ในเกาะกาลิมันตัน ประเทศอินโดนีเซีย ซึ่งนั่นหมายถึงว่าการตัดสินของรัฐบาลเป็นไปเพื่อตอบสนองผลประโยชน์ของคนส่วนน้อยกลุ่มหนึ่งเท่านั้นเอง หาได้คำนึงถึงประโยชน์ส่วนรวมและคนส่วนใหญ่แต่อย่างใด

ตรรกะก็คือ การไฟฟ้ามีหุ้นในเหมืองถ่านหิน เพื่อให้ได้กำไรมากที่สุดอย่างต่อเนื่อง ก็ต้องขายถ่านหินให้มากที่สุด หลักประกันในการขายถ่านหินให้ได้มากก็คือ ต้องมีโรงไฟฟ้าที่ใช้ถ่านหินเป็นเชื้อเพลิงคอยรับซื้อถ่านหินในปริมาณที่มากและต่อเนื่อง ดังนั้นการไฟฟ้าจึงต้องสร้างโรงไฟฟ้าถ่านหินขึ้นมารองรับ

โรงไฟฟ้าถ่านหินจึงเป็นเพียงภาพตัวแทนของการลงทุนทางธุรกิจที่ต่อเนื่อง เพื่อแสวงหากำไรในหลายขั้นตอนของผู้ผลักดัน ส่วนการอ้างเรื่องความไม่เพียงพอของไฟฟ้า และความหลากหลายและสมดุลของเชื้อเพลิงเป็นเหตุผลลวงและเท็จที่สร้างขึ้นมา เพื่อกลบเกลื่อนเหตุผลที่แท้จริงเท่านั้น เพราะในความเป็นจริงมีทางเลือกในการใช้แหล่งพลังงานไฟฟ้าที่ดีกว่าถ่านหินจำนวนมาก แต่กลับไม่เลือกใช้

“ถ่านหินว่าสกปรกแล้ว แต่ใจคนบางคนดูเหมือนจะสกปรกมากยิ่งกว่า”


กำลังโหลดความคิดเห็น