xs
xsm
sm
md
lg

ผู้จัดการสุดสัปดาห์

x

“ม.44” สยบ “ธัมมี่” ?? ธรรมกายตกสวรรค์ชั้น “ดาวดึงส์” ถึงเวลา “ปฏิรูปศาสนา”

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

“พระเทพญาณมหามุนี (ไชยบูลย์ ธัมมชโย)” เจ้าอาวาสกิตติมศักดิ์วัดพระธรรมกาย
ผู้จัดการสุดสัปดาห์ - ในที่สุด พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ก็ตัดสินใจใช้อำนาจ “ม.44” ในรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย (ฉบับชั่วคราว) พ.ศ.2557 ในการเข้าตรวจค้น “วัดพระธรรมกาย” และจับกุม “พระเทพญาณมหามุนี (ไชยบูลย์ ธัมมชโย)” เจ้าอาวาสกิตติมศักดิ์วัดพระธรรมกาย เมื่อเวลา 01.00 น. ของวันที่ 16 กุมภาพันธ์ 2560

คำสั่งหัวหน้า คสช. ที่ 5/2560 กำหนดให้วัดพระธรรมกาย ตลอดจนพื้นที่โดยรอบวัดพระธรรมกายใน อ.คลองหลวง จ.ปทุมธานี รวมถึงพื้นที่หมู่ 7 หมู่ 8 หมู่ 9 หมู่ 10 หมู่ 11 หมู่ 12 และหมู่ 13 ในตําบลคลองสอง และพื้นที่หมู่ 7 หมู่ 8 หมู่ 9 หมู่ 10 และหมู่ 11 ใน ต.คลองสาม อ.คลองหลวง จ.ปทุมธานี เป็นพื้นที่ควบคุม

        นี่นับเป็น “ครั้งที่ 3” แล้ว สำหรับปฏิบัติการควานหาตัวพระธัมมชโย ผู้ต้องหาตามหมายจับในข้อหาฟอกเงินและรับของโจรคดีทุจริตสหกรณ์เครดิตยูเนี่ยน คลองจั่น และผู้ต้องหาตามหมายจับในคดีศูนย์ปฏิบัติธรรมเวิลด์พีซ วัลเล่ย์ บุกรุกพื้นที่อุทยานแห่งชาติเขาใหญ่ คดีสวนป่าหิมวันต์ อ.ภูเรือ จ.เลย เครือข่ายวัดธรรมกาย ที่มีการก่อสร้างอาคารและสิ่งปลูกสร้างบุกรุกที่สาธารณะและทำลายทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม และคดีโครงการมุกตะวัน ซึ่งเป็นสถานที่ปฏิบัติธรรมของวัดพระธรรมกาย บุกรุกยึดถือครอบครองป่าสงวนแห่งชาติ ป่าควนจุก อ.เกาะยาว จ.พังงา

ทว่า คราวนี้น่าจับตายิ่งกว่า เพราะไม่เหมือน 3 ครั้งที่ผ่านมา เนื่องจากมีการใช้คำสั่งตาม “ม.44” เพื่อจัดการกับพระธัมมชโย ซึ่งมิอาจตีความเป็นอย่างอื่นว่า พล.อ.ประยุทธ์ ในฐานะหัวหน้า คสช.และนายกรัฐมนตรี ได้ตัดสินใจกระทำการเพื่อลบข้อครหาก่อนหน้านี้และธำรงไว้ซึ่งความเป็น “นิติรัฐ” และใช้ “ทหาร” เช้าร่วมปฏิบัติการครั้งนี้ด้วย

รวมแล้ว มีการสนธิกำลังเจ้าหน้าที่จากดีเอสไอ ตำรวจ และทหาร รวมถึง 4,240 นายเลยทีเดียว





ทั้งนี้ กองทัพบกมอบหมายให้ พล.ต.ธรรมนูญ วิถี รองแม่ทัพภาคที่ 1 เป็นผู้แทนกองทัพบก ในการดูแลภาพรวมการปฏิบัติงานของทหาร โดยให้ พล.ต.พัลลภ เฟื่องฟู ผู้บัญชาการกองพลทหารปืนใหญ่ต่อสู้ อากาศยาน (พล.ปตอ.) เป็นผู้บัญชาการเหตุการณ์ฝ่ายทหาร ภารกิจหลักคือการดูแลความสงบเรียบร้อยบริเวณรอบนอก เน้นป้องกันกลุ่มบุคคลที่พกพาอาวุธเข้าไปในพื้นที่ควบคุม ส่วนการตรวจสอบภายในวัดพระธรรมกายเป็นหน้าที่ของตำรวจและดีเอสไอเท่านั้น โดย พล.ต.ธรรมนูญจะเป็นผู้รายงานสถานการณ์ภาพรวมให้ พล.ท.อภิรัชต์ คงสมพงษ์ แม่ทัพภาคที่ 1 เพื่อรายงานต่อให้ พล.อ.เฉลิมชัย สิทธิสาท ผู้บัญชาการทหารบก ตามลำดับ 

คำสั่งดังกล่าวอธิบายถึงเหตุผลและความจำเป็นในการใช้คำสั่งดังกล่าวว่า “ตามที่ได้ปรากฏว่ามีบุคคลบางคนหรือบางกลุ่มมีข้อกล่าวหาว่ากระทําความผิดอาญาอันมีผลกระทบต่อความสงบเรียบร้อยของสังคมและบ้านเมือง ซึ่งการกระทําความผิดดังกล่าวนําไปสู่การออกหมายตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญาแล้ว แต่มิได้ให้ความร่วมมือในการปฏิบัติตามหมายของพนักงานสอบสวนหรือพนักงานฝ่ายปกครองหรือตํารวจชั้นผู้ใหญ่หรือของศาล แล้วแต่กรณี ทั้งยังมีการขัดขวาง ปิดบัง ซ่อนเร้น ตลอดจนปิดกั้นพื้นที่มิให้เจ้าหน้าที่เข้าไปปฏิบัติงานได้ และการขัดขวางดังกล่าวยังขยายอาณาบริเวณกว้างขวาง หรือมีกลุ่มคนจํานวนมากเข้ามาสมทบหรือชุมนุมกันจนน่าวิตกว่าจะเกิดเหตุร้ายขึ้น เป็นเหตุให้การบังคับใช้กฎหมายไม่บรรลุผล และทําลายความสงบเรียบร้อยของส่วนรวม จึงจําเป็นต้องกําหนดมาตรการให้อํานาจในการควบคุมพื้นที่ขึ้นเป็นการชั่วคราวเท่าที่จําเป็นเพื่อให้การบังคับใช้กฎหมายในส่วนของกระบวนการยุติธรรมทางอาญาเป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพ เกิดความสงบเรียบร้อยในบ้านเมือง รวมทั้งเพื่อรักษาความมั่นคงปลอดภัยในชีวิตและทรัพย์สินของประชาชนโดยรวม

“สำหรับสาระสำคัญ กำหนดให้พนักงานเจ้าหน้าที่ ข้าราชการหรือเจ้าหน้าที่ของกรมสอบสวนคดีพิเศษ (ดีเอสไอ) ตํารวจ ทหาร หรือเจ้าพนักงานฝ่ายปกครอง ตลอดจนเจ้าหน้าที่ของรัฐที่ได้รับการร้องขอจากกรมสอบสวนคดีพิเศษในการสนธิกําลังหรือสนับสนุนช่วยเหลือในการปฏิบัติการตามคําสั่งนี้สามารถดำเนินการ 8 ประการ ได้แก่ ควบคุมการเข้าหรือออกในพื้นที่, สั่งให้บุคคลใดออกจากพื้นที่ภายในเวลาที่กําหนด หรือสั่งให้บุคคลใดเข้าไปอยู่ในพื้นที่ใดเพื่อประโยชน์ในการควบคุมหรือดูแลความปลอดภัย หรือให้งดเว้นการกระทําใด ๆ อันเป็นการรบกวนหรือขัดขวางการปฏิบัติงานของพนักงานเจ้าหน้าที่ ขณะเดียวกัน ยังมีอำนาจออกคําสั่งเรียกให้บุคคลใดมารายงานตัวหรือให้ถ้อยคําต่อพนักงานเจ้าหน้าที่ ตลอดจนส่งมอบเอกสารหรือหลักฐานใดที่เกี่ยวข้องกับการกระทําความผิด, จับกุมตัวบุคคลที่กระทําความผิดอาญาซึ่งหน้า และควบคุมตัวผู้ถูกจับนําส่งพนักงานสอบสวนเพื่อดําเนินการตามกฎหมายต่อไป

“นอกจากนี้ ยังให้อำนาจดําเนินการเพื่อควบคุมระบบสาธารณูปโภค ระบบการสื่อสาร การใช้อากาศยานไร้คนขับ (โดรน) ตลอดจนกําหนดมาตรการและดําเนินการอื่นใดเพื่อประโยชน์ในการควบคุมหรือดูแลความปลอดภัย, เข้าไปในเคหสถานหรือสถานที่ใดเพื่อตรวจค้น รวมตลอดทั้งค้นตัวบุคคลและยานพาหนะ, รื้อถอน ทําลาย หรือเคลื่อนย้ายสิ่งปลูกสร้างหรือสิ่งกีดกั้น และดําเนินการอื่นใดที่จําเป็นตามสมควรแก่กรณี ให้อธิบดีกรมสอบสวนคดีพิเศษเป็นผู้รับผิดชอบในการปฏิบัติการตามคําสั่งนี้ หากผู้ใดขัดขวางหรือฝ่าฝืนหรือไม่ปฏิบัติตามคําสั่งของพนักงานเจ้าหน้าที่ตามคําสั่งนี้ ให้ระวางโทษจําคุกไม่เกิน 1 ปี หรือปรับไม่เกิน 20,000 บาท หรือทั้งจําทั้งปรับ”

คำสั่งดังกล่าวคือการส่งสัญญาณ “เอาจริง” และกระทำการในนามรัฐบาลและ คสช.เป็นครั้งแรก ซึ่งก็ดูเหมือนว่า “โฆษกนะจ๊ะ” นายองอาจ ธรรทนิทา จะรับรู้ได้เช่นกัน จึงชิงตัดหน้าเข้ามอบตัวกับตำรวจกองปราบปรามก่อนที่ได้รับการประกันตัว พร้อมเงื่อนไขห้ามออกนอกประเทศและยุยงปลุกปั่น

ขณะที่ ตัว “พระธัมมชโย” เอง แม้สุดท้ายแล้วจะไม่เจอตัว และสังคมคาดเดาล่วงหน้าได้ว่า พระธัมมชโยจะไม่ยอมมอบตัวร้อยเปอร์เซ็นต์ก็ตาม แต่ปฏิบัติการปิดล้อมวัดพระธรรมกายเพื่อล่าตัวพระธัมมชโยในครั้งนี้ ก็ถือว่าประสบความสำเร็จในระดับหนึ่งที่สามารถรักษาความเป็นนิติรัฐเอาไว้ได้

ส่วนกลุ่มศิษยานุศิษย์แม้จะปลุกระดมคนเข้ามาได้ พร้อมโฆษณาชวนเชื่อกล่าวหารัฐบาลสารพัดสารพัน เช่น บุกธรรมกายเพราะต้องการกลบข่าวเลิกโครงการหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้า ฯลฯ แต่เมื่อรัฐเอาจริง ก็ไม่สามารถต้านทานเอาไว้ได้

แต่กระนั้นก็ดี ยังคงมีคำถามคาใจซึ่งเป็นโจทย์ใหญ่ของ คสช.ที่จะต้องแสวงหาคำตอบมาให้ได้ก็คือ ตั้งใจจะจับพระธัมมชโยจริงๆ หรือทำเป็นเพียงแค่พิธีกรรม เพราะทำไปทำมาปฏิบัติการณ์ครั้งล่าสุดที่เกิดขึ้น สังคมมีความรู้สึกร่วมกันว่า ถึงจะอย่างไรก็จับพระธัมมชโยไม่ได้ บางรายถึงขนาดบอกว่า พระธัมมชโยไม่อยู่ในวัดให้จับเสียด้วยซ้ำไป

อย่างไรก็ดี มิใช่แค่เพียงการออกคำสั่งตาม ม.44 เท่านั้น หากแต่ก่อนหน้านี้ในช่วงระนาบเวลาเดียวกันก็มีความเคลื่อนไหวสำคัญและน่าสนใจไม่แพ้กัน นั่นก็คือ ความเคลื่อนไหวของ สมพร เทพสิทธา สมาชิกสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) และประธานคณะอนุกรรมาธิการศาสนาในคณะกรรมาธิการการศาสนา ศิลปะ วัฒนธรรมและการท่องเที่ยว ในฐานะสภายุวพุทธิกสมาคมแห่งชาติ ในพระบรมราชูปถัมภ์ เตรียมจะนำกรณีพระลิขิตของ สมเด็จพระญาณสังวร สมเด็จพระสังฆราช สกลมหาสังฆปริณายก ประมุขแห่งคณะสงฆ์พระองค์ก่อน ที่เคยมีพระลิขิตให้ พระเทพญาณมหามุนี (ไชยบูลย์ ธมฺมชโย) หรือ “พระธัมมชโย” ต้องปาราชิก กลับขึ้นมาอีกครั้ง หลังก่อนหน้านี้เรื่องทำท่าจะหายไปในกลีบเมฆ

โดยมีข่าวว่า นายสมพรจะส่งคนไปถวายหนังสือแด่ สมเด็จพระอริยวงศาคตญาณ สมเด็จพระสังฆราช สกลมหาสังฆปริณายก (อัมพร อมฺพโร)ในฐานะประธานที่ประชุมมหาเถรสมาคม (มส.) เพื่อให้พิจารณา 2 ประเด็นสำคัญ

ประเด็นที่นายสมพรจะยื่นให้พิจารณาคือ 1.ขอให้ทรงสนับสนุนยุทธศาสตร์ชาติด้านพุทธศาสนา และ2.ขอให้ทรงนำพระลิขิตของสมเด็จพระญาณสังวร สมเด็จพระสังฆราช สกลมหาสังฆปริณายก อดีตสมเด็จพระสังฆราชพระองค์ก่อน ที่เคยมีพระลิขิตให้พระธัมมชโย อดีตเจ้าอาวาสวัดพระธรรมกาย ต้องปาราชิก มาพิจารณาอีกครั้ง

เนื่องจากเรื่องดังกล่าวยังค้างคาใจใครหลายคน โดยเฉพาะ มส.ยุคเก่า ที่นำโดย สมเด็จพระมหารัชมังคลาจารย์ หรือ “สมเด็จช่วง” เจ้าอาวาสวัดปากน้ำ ภาษีเจริญ ที่แม้จะมีการยื่นเรื่องไปให้ มส.หลายครั้ง แต่กลับไม่ได้ถูกนำไปพิจารณาเลยสักครา

นอกจากนี้ ยังมีการตั้งข้อสังเกตถึงความสัมพันธ์ที่ดีระหว่าง “วัดปากน้ำ ภาษีเจริญ” กับ “วัดพระธรรมกาย” ที่อาจเป็นสาเหตุหนึ่งที่ทำให้เรื่องดังกล่าวไม่สามารถไปถึงไหน และไม่เข้าสู่การพิจารณาของ มส. เลย

ขณะเดียวกัน สำนักงานพระพุทธศาสนาแห่งชาติ (พศ.) ในฐานะเลขาธิการ มส. ยังถูกมองว่า ไม่ทำหน้าที่ของตัวเองเท่าที่ควร โดยเฉพาะในยุค พนม ศรศิลป์ ผู้อำนวยการ พศ.คนปัจจุบัน ที่บางครั้งยังโดนค่อนแคะว่า เป็นมือไม้ให้กับพระบางรูปด้วยซ้ำ





แต่เมื่อมีการโปรดสถาปนาสมเด็จพระสังฆราชองค์ใหม่ นายสมพรจึงถือเป็นฤกษ์ยามดีที่จะยื่นเรื่องเข้าไปอีกครั้ง เพื่อให้สิ่งที่คาใจใครหลายคนสิ้นสุดเสียที โดยเฉพาะยุคนี้ที่นายสมพรเชื่อว่า เหมาะสมที่สุด เนื่องจากมีสมเด็จพระสังฆราชที่มีวัตรปฏิบัติงดงาม เป็นที่เลื่อมใสของพุทธศาสนิกชน

“การดำเนินการกับพระธัมมชโยต่อจากนี้ พศ. จะมีบทบาทสำคัญ มาวันนี้เมื่อมีการเปลี่ยนแปลงสมเด็จพระสังฆราชองค์ใหม่แล้ว พศ.ก็ต้องปรับปรุงตัวใหม่ จะทำตัวแบบเดิมไม่ได้แล้ว ต้องเป็นผู้รับใช้มส. วันนี้มส.เปลี่ยนทิศทางใหม่แล้ว วันนี้เราได้สมเด็จพระสังฆราชองค์ใหม่ที่ยึดพระธรรมวินัย ก็ต้องยึดพระธรรมวินัย จะมาช่วยอะไรกันไม่ได้อีกแล้ว เพราะท่านไม่ได้มีอะไรเกี่ยวกับวัดพระธรรมกายที่จะมาปกป้องอะไรกันอีกแล้ว ปกป้องไม่ได้แล้ว หมดไปแล้ว หมดสมัยแล้ว”

หนำซ้ำยังมีความเคลื่อนไหวที่น่าสนใจขึ้นเรื่อยๆ เมื่อที่ประชุมคณะอนุกมธ.ศาสนาชุดที่มีนายสมพร เป็นประธานได้มีมติเห็นชอบในนามอนุ กมธ.ศาสนา ส่งหนังสือถึง พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ออมสิน ชีวะพฤกษ์ รมต.ประจำสำนักนายกรัฐมนตรี ในฐานะกำกับดูแล พศ. และ วิษณุ เครืองาม รองนายกรัฐมนตรีฝ่ายกฎหมายของรัฐบาลไปแล้วเมื่อต้นเดือนที่ผ่านมา โดยเป็นหนังสือแจ้งมติอนุ กมธ.ศาสนาว่าเห็นควรให้มีการออกร่างพระราชบัญญัติอุปถัมภ์และคุ้มครองพระพุทธศาสนา พ.ศ. …

รวมทั้งเห็นควรให้มีการแก้ไขปรับปรุงเพิ่มเติมพระราชบัญญัติคณะสงฆ์ พ.ศ.2505 แก้ไขเพิ่มเติม พ.ศ.2535 อีกครั้ง หลังก่อนหน้านี้มีการแก้ไขมาตรา 7 พ.ร.บ.คณะสงฆ์ฯไปเพียงมาตราเดียวเท่านั้น

กรณีอาบัติปาราชิกของ “ธัมมชโย” จึงดูน่าสนใจเรื่อยๆ แบบมีนัยสำคัญ แม้นายสมพร จะเป็นสมาชิกสนช.อาวุโสที่สุด มีอายุอานามมากที่สุดในบรรดาทั้ง 200 ชีวิตใน สนช. แต่ต้องอย่าลืมว่า นายสมพรคือ “หัวเรือใหญ่” ในการแก้ไขมาตรา 7 พ.ร.บ.คณะสงฆ์ พ.ศ.2505 ฉบับแก้ไขเพิ่มเติม พ.ศ.2535 เมื่อปลายปีที่แล้วจนมาเป็นพ.ร.บ.คณะสงฆ์ พ.ศ.2505 แก้ไขเพิ่มเติมครั้งที่ 2พ.ศ.2560 ที่ให้การโปรดสถาปนาสมเด็จพระสังฆราชเป็นพระราชอำนาจ

ทำให้เรื่องการแต่งตั้งสมเด็จพระสังฆราชองค์ใหม่ที่ยืดเยื้อยาวนานจบลงได้ ชนิดที่ไม่มีผู้ใดคัดค้าน โดยที่ประชุม สนช.เห็นชอบผ่าน 3 วาระรวดแบบไร้ข้อกังขา

ซึ่งการที่ สนช. เห็นชอบให้แก้ไขมาตรา 7 พ.ร.บ.คณะสงฆ์ครั้งนั้นแบบ 3 วาระรวด เป็นเรื่องที่ไม่ง่ายเลย เพราะถือเป็น “กฎหมายร้อน” ที่ก่อนหน้านี้ พระเมธีธรรมาจารย์ หรือ “เจ้าคุณประสาร” เลขาธิการศูนย์พิทักษ์พระพุทธศาสนาแห่งชาติ (ศพศ.) คัดค้านหัวชนฝา ถึงขั้นขู่จะก่อม็อบอยู่ร่ำไป

แต่เมื่อนายสมพร นำสมาชิกสนช. ลุยฝ่าแก้ไขแบบผ่าน 3 วาระรวด แบบไม่สนเสียงค้านของ “เจ้าคุณประสาร” และสามารถผ่านไปด้วยดีแบบไม่มีความวุ่นวาย นั่นแสดงให้เห็นว่า นายสมพร เองก็ไม่ธรรมดา เช่นเดียวกันกับครั้งนี้การที่นายสมพร ออกมาตีปี๊บเรื่องอาบัติปาราชิกของ “ธัมมชโย” อีกครั้ง มันก็เป็นเรื่องที่จะละสายตาไม่ได้เช่นเดียวกัน

และนั่นไม่ใช่เพราะคำพูดของนายสมพร อย่างเดียว แต่สิ่งต่างๆ ที่นายสมพร พูดได้เริ่มดำเนินการกันแล้ว

“จดหมายทั้งหมดเขียนเสร็จหมดแล้ว ก็จะให้คนนำหนังสือไปทูลเกล้าฯ ถวายสมเด็จพระสังฆราชที่วัดราชบพิธฯ ในวันอังคาร (14 ก.พ.) แล้วหลังจากนั้นผมคงขอทำเรื่องขอเข้าพบท่านทีหลัง"

แน่นอน “คนอาวุโส” ระดับนี้ ไม่ทำอะไรโดยขาดความรอบคอบ ไตร่ตรอง-ดูทิศทางลมมาก่อนแน่ ที่สำคัญการหยิบของร้อนอีกครั้งทันทีที่มีการแต่งตั้งสมเด็จพระสังฆราชองค์ใหม่ จึงเป็นเรื่องที่น่าสนใจอย่างยิ่ง

ต้องรอดูว่า นายสมพร จะเป็นของจริงเหมือนเมื่อคราวแก้ไขมาตรา 7 พ.ร.บ.คณะสงฆ์อีกหรือไม่

งานนี้ บอกได้คำเดียวว่า ลัทธิธรรมกาย ห้ามกระพริบตากันเลยทีเดียว

เพราะทุกฝ่ายเห็นพ้องต้องกันว่า ถึงเวลาคืนความสุข...ถึงเวลาปฏิรูปศาสนา....และถึงเวลาสังคายนาความฟอนเฟะที่ดำรงอยู่มาเนิ่นนานเสียที

และงานนี้ ดูแล้วพระเดชพระคุณหลวงพ่อธัมมชโย ของชาวธรรมกายคงไปไม่ถึงสวรรค์ชั้นดาวดึงส์อย่างแน่นอน....นะจ๊ะ


กำลังโหลดความคิดเห็น