ผู้จัดการสุดสัปดาห์ - บัดนี้เป็นที่ชัดเจนแล้วว่า รัฐบาล พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ตัดสินใจขั้นเด็ดขาดที่จะดำเนินการก่อสร้างโรงไฟฟ้าถ่านหินใน 2 พื้นที่คือ ที่ อ.เหนือคลอง จ.กระบี่ กับที่ อ.เทพา จ.สงขลา แม้ว่าจะมีเสียงคัดค้านอย่างหนักจากประชาชนในพื้นที่ที่พร้อมลุกขึ้นสู้เพื่อปกป้องถิ่นฐานบ้านช่องของตนเอง โดยพร้อมจะแลกแม้กระทั่งอิสรภาพ รวมถึงเลือดเนื้อและชีวิต
“เรื่องโรงไฟฟ้าถ่านหินที่เตรียมเคลื่อนไหว ผมขอร้องอย่าเข้ามาเลย เดี๋ยวก็ผิดกฎหมาย ถูกดำเนินคดี จับกุม เพราะว่ามันห้ามการเคลื่อนไหวขณะนี้ มีอะไรก็พูดจาให้รู้เรื่อง และวันนี้ผมก็เห็นคนในพื้นที่มีความต้องการ ผมก็เลยสั่งการให้กับทางกระทรวงพลังงาน จัดการประชุมในวันที่ 17 ก.พ. 2560 นี้ ว่าจะทำหรือไม่ทำ ฉะนั้นก็อย่ามาเดินขบวนกันตอนนี้ เดี๋ยวก็มีปัญหาทางกฎหมายอีกนะครับ ผมเตือนไว้ก่อนนะ เพราะฉะนั้นการจะเดินขบวนอะไรนี้ขออนุญาตหรือยัง ขออนุญาตตาม พ.ร.บ.การชุมนุมที่มีอยู่แล้ว คำสั่ง คสช.ก็มี อะไรก็มี และนี่ปัญหาประเทศไทย กฎหมายมีทุกตัวก็ยังจะทำๆ ที่จริงเขาทำตามเดิม ที่เป็นเรื่องของถ่านหินนี่ มันเป็นเรื่องของตามแผนพีดีพีเดิม เขาตั้งไว้อยู่แล้ว”
จากคำแถลงของนายกฯ ลุงตู่ นอกจากเป็นการเตือนแล้ว ยังมีน้ำเสียงข่มขู่อยู่ในทีด้วย ซึ่งเวลานี้ก็น่าจะเห็นกันแล้วว่าสถานการณ์เดินหน้าไปในทิศทางไหน อย่างไร
และที่ชัดเสียยิ่งกว่าก็คือ การที่รัฐบาลให้การสนับสนุนระดมคนเพื่อหนุนการก่อสร้างโรงไฟฟ้าถ่านหินเต็มที่ โดยมีประจักษ์พยานคือหนังสือจาก “ที่ว่าการอำเภอคลองท่อม จ.กระบี่” สั่งให้มีการเกณฑ์ประชาชนไปร่วมสนับสนุนโครงการก่อสร้างโรงไฟฟ้าในวันที่ 16 กุมภาพันธ์ 2560
แน่นอน ใครจะไปเชื่อว่า อำเภอคลองท่อม จะกล้ากระทำการโดยลำพังในเรื่องใหญ่เรื่องโตระดับประเทศเยี่ยงนี้ เพราะในสถานการณ์ที่กำลังร้อนถึงขั้นติดดาบปลายปืนนั้น ไม่มีทางเป็นไปได้ที่ “อำเภอ” จะดำเนินการโดยพลการตามลำพัง
ดังนั้น จึงหมายความว่า กระทรวงมหาดไทย ที่มี บิ๊กป๊อก-พล.อ.อนุพงษ์ เผ่าจินดา เป็นรัฐมนตรีว่าการสนับสนุนให้มีการสร้างโรงไฟฟ้าถ่านหิน และรวมไปถึงรัฐบาล พล.อ.ประยุทธ์ โดยไม่สามารถตีความเป็นอย่างอื่นได้
ดังเช่นที่ ประสิทธิชัย หนูนวล ผู้ประสานงานเครือข่ายปกป้องอันดามันจากถ่านหิน ได้โพสต์เฟซบุ๊กส่วนตัว ถึงเส้นทางคำสั่งที่ไม่ใช่แค่เฉพาะอำเภอคลองท่อม เท่านั้น หากแต่เป็นคำสั่งที่มาจากรัฐบาลกันเลยทีเดียว
กล่าวคือ เริ่มแรกมีหนังสือรายงานจากรองเลขาธิการคณะรัฐมนตรี แจ้งมายัง รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรี เพื่อรับทราบ หนึ่งในนั้นเป็นเรื่องการผลักดันเดินหน้าโรงไฟฟ้าในภาคใต้ จากนั้นมีหนังสือจากรองเลขาธิการ ครม.ถึงรัฐมนตรีกระทรวงมหาดไทย เพื่อแจ้งมติ ครม.และข้อสั่งการนายกรัฐมนตรีในการผลักดันโรงไฟฟ้าในภาคใต้โดยเฉพาะจังหวัดกระบี่
ต่อมามีหนังสือจากรองผู้ว่าราชการจังหวัด ไปยังนายอำเภอเพื่อขอให้ผลักดันการดำเนินการสร้างโรงไฟฟ้าจังหวัดกระบี่ โดยอ้างมติ ครม.และข้อสั่งการนายกรัฐมนตรี และสุดท้ายมีหนังสือจากอำเภอสู่กำนันผู้ใหญ่บ้านเพื่อให้ขนคนไปสนับสนุนโรงไฟฟ้าถ่านหินวันที่ 16 กุมภาพันธ์
เกี่ยวกับการระดมม็อบหนุนสร้างโรงไฟฟ้านั้น ทั้ง พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม ทั้งนายกฤษฎา บุญราช ปลัดกระทรวงมหาดไทย จะออกมาปฏิเสธพร้อมสั่งให้ตรวจสอบข้อเท็จ แต่สุดท้ายก็ต้องจำนน เมื่อนายพินิจ บุญเลิศ ผู้ว่าราชการจังหวัดกระบี่ มีคำสั่งให้ นายเศวตฉัตร สุวรรณรัตน์ ปลัดอำเภอคลองท่อมเศวตฉัตร มาช่วยราชการที่ทำการปกครองจังหวัดกระบี่ และตอบอ้อมๆ แอ้มๆ ว่า “เกิดการเข้าใจผิดในข้อเท็จจริงว่า หากให้ประชาชนสนับสนุนการก่อสร้างโรงไฟฟ้าดังกล่าวจะเกิดผลดีต่อประชาชนและประเทศชาติโดยรวมจึงได้แจ้งกำนันผู้ใหญ่บ้านเชิญชวนประชาชนที่เห็นด้วยไปสนับสนุนดังกล่าว จังหวัดกระบี่ขอกราบประทานโทษในความผิดพลาดครั้งนี้และกำชับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องไม่ให้เกิดเหตุการณ์เช่นนี้ขึ้นอีกและให้นายเศวตฉัตร มาช่วยราชการที่ทำการปกครองจังหวัดกระบี่แล้ว”
อันที่จริงแผนสร้างโรงไฟฟ้าถ่านหินบนแผ่นดินด้ามขวาน ไม่ใช่เพิ่งจะมาเริ่มขึ้นในรัฐบาลลุงตู่ แต่มีมาแล้วหลายสิบปี และการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) เคยปักหมุดมาแล้วในหลายจังหวัด ตั้งแต่ประจวบคีรีขันธ์ ไล่เรียงลงมาสู่ชุมพร สุราษฎร์ธานี นครศรีธรรมราช ตรัง สตูล หรือแม้กระทั่งบนแผ่นดินไฟใต้อย่างที่ปัตตานี แต่สุดท้ายเวลานี้ต้องการปักหมุดให้ได้ที่กระบี่กับสงขลา
นอกจากนี้ ทุกรัฐบาลที่ผ่านๆ มาก็ล้วนดำเนินนโยบายหนุนเกื้อให้เกิดสร้างโรงไฟฟ้าถ่านหิน ซึ่งก็เป็นไปตามแต่สถานการณ์ในเวลานั้นๆ เอื้อให้ผลักดันได้ในระดับไหน เพราะโรงไฟฟ้าถ่านหินแม้จะเป็นที่พิสมัยของกลุ่มทุนทั้งไทยและเทศเป็นอย่างมาก ทว่า บรรดานักการเมืองยังไม่กล้าตัดสินใจ
นี่เองจึงแตกต่างไปจากคณะนายทหารในนาม คสช.ที่ยึดอำนาจก้าวขึ้นมากุมบังเหียนรัฐบาลในห้วงเวลานี้ที่ใช้ทั้งนโยบายและทุกมาตรการหนุนเนื่องให้แจ้งเกิดโรงไฟฟ้าถ่านหินในภาคใต้มาโดยตลอด ซึ่งเวลานี้หากจะกล่าวว่าใช้ทั้งการตั้ง “สปริงบอร์ด” และติด “เทอร์โบ” ให้กับโรงไฟฟ้าถ่านหินก็ไม่น่าจะเกินเลยอะไร
ภาพที่การันตีในเรื่องนี้ได้เป็นอย่างดี ก็คือ ตลอดเวลาเกือบ 3 ปีมานี้ แม้จะมีภาพของปฏิบัติการลับลวงพรางประกาศชะลอโครงการให้เห็นบ่อยครั้ง แต่กระบวนการเดินหน้าผลักดันสร้างโรงไฟฟ้าถ่านหิน ทั้งจากระบบราชการ ครม.และคณะกรรมการอิสระต่างๆ ก็กลับเดินหน้าไปอย่างไม่เคยสะดุดหรือหยุดลงแต่อย่างใด และไม่เพียงเท่านั้น ยังได้อาศัยอำนาจพิเศษ โดยเฉพาะการใช้ ม.44 ตามรัฐธรรมนูญออกคำสั่ง คสช.เปิดทางโล่งให้เดินหน้าได้ในทุกกระบวนการ ไม่ว่าจะเป็นการก้าวข้ามมาตรการในเรื่องของผังเมือง รวมถึงไม่ต้องรอการศึกษาผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อมและสุขภาพทั้ง EHIA และ EIA เป็นต้น
ยิ่งเมื่อฟังคำพูดของบิ๊กตู่ ตลอดช่วงเวลานั่งกุมบังเหียนอำนาจรัฐมาเกือบ 3 ปี โดยตัดเอาความรู้สึกต่างๆ ออกไปให้หมด ไม่ว่าจะเป็นเรื่องของอาการโวยวาย โกรธ โมโห หรือแม้แต่น้ำเสียงตะคอกและข่มขู่ แล้วจับเอาเฉพาะความระหว่างบรรทัด ก็ยิ่งสามารถทำความเข้าใจได้กระจ่างชัดยิ่งว่า โน้มเอียงไปในทางเร่งเครื่องให้โรงไฟฟ้าถ่านหินสามารถลงเสาเข็มให้ได้โดยเร็ว
ทว่า หากเพ่งตามองให้ลึกซึ้งขึ้นหน่อย ใช้สายตาจ้องจับให้เห็นป่าทั้งป่า แล้วทำความเข้าใจต้นไม้แต่ละต้น มองให้เห็นภาพอดีต เชื่อมโยงถึงปัจจุบัน ซึ่งก็จะสามารถคาดการณ์ต่อไปในอนาคตได้ไม่ยากนัก เราก็จะพบข้อเท็จจริงที่ว่า ทำไมนายกฯ ลุงตู่ และ ครม.ออกตัวกันแรงอย่างมากมายในเวลานี้
โดยเฉพาะเพิ่งจะมีคำสั่งจากสำนักนายกฯ แจ้งไปยังรองนายกฯ รัฐมนตรีที่เกี่ยวข้อง โดยเฉพาะกับกระทวงมหาดไทย อันนำไปสู่การสั่งการผ่านจังหวัด อำเภอ ลงไปจนถึงกำนันและผู้ใหญ่บ้านให้เกณฑ์คนเข้าร่วมสนับสนุนการก่อสร้างโรงไฟฟ้าถ่านหินที่กระบี่และสงขลาอย่างเอิกเกริกนั้น ทั้งหมดทั้งปวงแล้วล้วนเป็นการปฏิบัติไปตามความต้องการของกลุ่มทุนนั่นเอง
อย่างเมื่อเดือน ธ.ค.2559 ครม.ชุดนี้ก็เพิ่งจะอนุมัติให้บริษัทลูกของ กฟผ.ควักเงินสูงถึง 1.7 หมื่นล้านบาท ไปลงทุนซื้อหุ้นเพื่อเป็นเจ้าของเหมืองถ่านหินที่อินโดนีเซีย ก่อนหน้าก็มีข่าวสะพัดว่า กลุ่มทุนใหญ่ไปมีส่วนร่วมในการลงทุนเหมืองถ่านหินไว้ที่อินโดนีเซียเช่นกัน เช่นเดียวกับนายใหญ่และคนของระบอบทักษิณ ที่เคยมีข่าวในทำนองเดียวกัน
ความจริงแล้วถ้าพิจารณาในภาพรวมก็จะเห็นว่า โรงไฟฟ้าถ่านหินทั้งที่กระบี่และสงขลา ซึ่งถือเป็นโครงการลงทุนขนาดใหญ่เอามากๆ แล้วนั้น ต่างล้วนยังตั้งอยู่ล้อมรอบอยู่บนอภิมหาเมกะโปรเจ็กต์ของภาคใต้ที่เรียกว่า สะพานเศรษฐกิจหรือแลนด์บริดจ์สงขลา-สตูล ซึ่งมีองค์ประกอบสำคัญคือ ท่าเรือน้ำลึก สงขลา 2 ฝั่งอ่าวไทย กับท่าเรือน้ำลึกปากบาราที่ฝั่งอันดามัน แล้วเชื่อมกันด้วยถนนมอเตอร์เวย์ ทางรถไฟสายอุตสาหกรรม พร้อมระบบท่อน้ำมันและท่อก๊าซ
ทั้งนี้ทั้งนั้น โครงสร้างพื้นฐานเหล่านี้จะถูกประกอบขึ้นรองรับการเกิดของ “ศูนย์กลางพลังงานโลก” อันจะทำให้ภาคใต้เป็นฐานผลิต “อุตสาหกรรมปิโตรเคมี” ขนาดใหญ่แห่งใหม่ของโลก แล้วนำมาสู่การขยับขยาย “นิคมอุตสาหกรรมสินค้าอุปโภคบริโภค” กระจายแต่แผ่นดินด้ามขวานนั่นเอง
ภาพความเป็นศูนย์กลางพลังงานโลกของไทยนี้ กลุ่มทุนโลกบาลมองเห็นโอกาสในการลุงทุนบนแผ่นดินภาคใต้ของไทยแล้ว จึงได้เปิดปฏิบัติการเชื่อมโยงกับกลุ่มทุนไทยผลักดันในเรื่องนี้ให้เป็นจริงโดยเร็วมาตลอด เมื่อเป็นศูนย์กลางด้านพลังงานก็ย่อมเกี่ยวข้องกับการนำฟอสซิลมาใช้ขับเคลื่อนโดยตรง แต่น่าสังเกตที่ผ่านมาหลายประเทศทั่วโลกกำลังหันหลังให้กับพลังงานฟอสซิล แต่ไทยกลับสวนทางในเรื่องนี้ ทั้งนี้ก็เป็นเพราะว่า มีแต่ต้องเร่งรีบหาประโยชน์กับพลังงานฟอสซิลยุคสุดท้ายเท่านั้น
จึงไม่ต้องแปลกใจที่ทำไมเวลานี้ กลุ่มทุนต้องจุดไฟลนก้นรัฐบาลทอปบู๊ตที่กุมกลไกอำนาจรัฐ ให้ต้องแสดงอาการออกตัวแรงในการผลักดันโรงไฟฟ้าถ่านหินที่ภาคใต้