xs
xsm
sm
md
lg

ผู้จัดการสุดสัปดาห์

x

ไขปริศนา “ยึดได้ 10 ปี ได้แค่ไหนก็เอาแค่นั้น” แสงสว่างที่ปลายอุโมงค์ของ “หญิงปู ” คดีจำนำข้าว???

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

นายวิษณุ เครืองาม รองนายกรัฐมนตรี
ผู้จัดการสุดสัปดาห์ - สัญญาณมาเต็มจากปากคำของ นายวิษณุ เครืองาม รองนายกรัฐมนตรี ซึ่งทำหน้าที่ที่ปรึกษาด้านกฎหมายให้กับรัฐบาล พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ที่พูดชัดเจนว่าลุยยึดทรัพย์นายบุญทรง เตริยาภิรมย์ อดีตรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ กับพวกรวม 6 คน กรณีทุจริตระบายข้าวแบบต่อรัฐต่อรัฐ (จีทูจี) มูลค่า 2 หมื่นล้านบาท ได้ทันที ไม่ต้องออกลีลาฟุตเวิร์กรอบเวทีให้เสียเวลาอีก

แต่กระนั้น ก็ยังมีช่องที่เป็นหมายเหตุตัวใหญ่ๆ “เว้นเสียแต่ว่า” นายบุญทรง และพวก จะไปร้องต่อศาลปกครองขอให้ศาลสั่งคุ้มครองชั่วคราว หรือทุเลาการบังคับคดีอีก และหากศาลปกครองมีคำสั่งคุ้มครองฯ ตามที่นายบุญทรง และพวก ร้องขอ กระบวนการยึดทรัพย์ ก็ต้องหยุดชะงักชั่วคราว เช่นกัน

กรณีของนายบุญทรง และพวก สะท้อนมายังกรณีของ “หญิงปู” นางสาวยิ่งลักษณ์ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี ที่เจอคำสั่งชดใช้ค่าเสียหายจำนำข้าว มูลค่า 35,717 ล้านบาท ซึ่งตอนนี้ “หญิงปู”ไปร้องต่อศาลปกครองขอให้ศาลสั่งคุ้มครองชั่วคราว หรือทุเลาบังคับคดีไว้ก่อน แต่ศาลยังไม่มีคำสั่งออกมา

วันเวลาแห่งการรอคอยนี้ คงทำให้ “หญิงปู” กระสับกระส่ายไม่น้อย เพราะงานนี้มีเสียว ผลอาจจะออกมาเหมือนคดีนายบุญทรง ที่ศาลไม่คุ้มครอง หรือศาลอาจจะให้ความคุ้มครอง “หญิงปู” และกองเชียร์ มีแต่ต้องลุ้นกันเหงื่อตก

แต่ไม่ว่าผลจะออกมาทางไหน ก็ไม่เป็นผลดีกับนางสาวยิ่งลักษณ์ ด้วยประการทั้งปวง เพียงแต่ว่าจะช้าหรือเร็ว จะเสียน้อยหรือเสียมาก เท่านั้น

ที่น่าจับตาเป็นอย่างยิ่งก็คือ ความเหมือนที่แตกต่างระหว่างสองคดีนี้ ซึ่งอาจเป็นเงื่อนไขที่ทำให้ “หญิงปู” มีโอกาสลั้นล้าไปอีกระยะ

สำหรับคดีของนายบุญทรง และพวก 6 คน ที่มีพฤติการณ์ทำสัญญาขายข้าวระหว่างรัฐบาลกับรัฐบาล หรือจีทูจีปลอม ทำให้รัฐเสียหายสองหมื่นกว่าล้าน นายบุญทรง และพวก เจอคำสั่งทางปกครองให้ชดใช้ค่าเสียหายดังกล่าว โดย กรมการค้าต่างประเทศ กระทรวงพาณิชย์ เป็นผู้เสียหาย กรมบังคับคดี ทำหน้าที่ยึดทรัพย์

คดีของนางสาวยิ่งลักษณ์ ชินวัตร เจอข้อหาปล่อยปละละเลยไม่ระงับยับยั้งการทุจริตโครงการรับจำนำข้าวทำให้รัฐเสียหาย ต้องชดใช้ 35,717 ล้านบาท มีคำสั่งทางปกครองให้ชดใช้ค่าเสียหายดังกล่าวเช่นกัน โดย กระทรวงการคลัง เป็นผู้เสียหาย กรมบังคับคดี ทำหน้าที่ยึดทรัพย์

คดีของนายบุญทรง และพวก 5 คน (อีกหนึ่งราย คือ พ.ต.นพ.วีระวุฒิ วัจนะพุกกะ อดีตเลขานุการ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ 1 ใน6 ไม่ได้ร่วมยื่นต่อศาล ขณะนี้หลบคดี) ได้ยื่นฟ้องต่อศาลปกครองกลาง ขอให้คุ้มครองชั่วคราว หรือทุเลาการบังคับคดีไว้ก่อน ต่อมา ศาลมีคำสั่งเมื่อวันที่10 กุมภาพันธ์ 2560 ยกคำขอ โดยให้เหตุผลว่า ยังไม่มีการใช้มาตรการบังคับทางปกครองยึดหรืออายัดทรัพย์สินของนายบุญทรง และพวก ดังนั้น จึงฟังไม่ได้ว่าหากศาลไม่มีคำสั่งทุเลาการบังคับคดีจะทำให้เกิดความเสียหายร้ายแรงจนยากแก่การเยียวยาแก้ไขในภายหลัง

คดีของนางสาวยิ่งลักษณ์ ได้ยื่นฟ้องต่อศาลปกครองกลาง ขอให้คุ้มครองชั่วคราว หรือทุเลาการบังคับคดีไว้ก่อนเช่นกัน และเวลานี้ ศาลยังไม่มีคำสั่งออกมา

ประเด็นความเหมือนที่แตกต่างของคดีระหว่างนายบุญทรงและพวก และนางสาวยิ่งลักษณ์ อยู่ตรงที่ว่า คดีที่นายบุญทรง และพวก ขอให้ศาลคุ้มครองชั่วคราวหรือทุเลาการบังคับคดี เป็นการขอโดยที่กระทรวงพาณิชย์ และกรมบังคับคดี ยังไม่มีการอายัดหรือยึดทรัพย์ ของนายบุญทรง และพวก เอาไว้ก่อนหน้านี้ กระบวนการยึดทรัพย์ กำลังจะเริ่มขึ้นหลังจากที่ศาลปกครอง มีคำสั่งยกคำขอคุ้มครองชั่วคราวออกมา

ขณะที่คดีของนางสาวยิ่งลักษณ์ ซึ่งอยู่ระหว่างการพิจารณาของศาลว่าจะให้การคุ้มครองชั่วคราวหรือไม่นั้น อาจจะมีการลงมือยึดทรัพย์ในเร็ววันนี้ คืออาจมีการยึดทรัพย์ก่อนศาลจะมีคำสั่งคุ้มครองชั่วคราว หรือไม่?

ดังที่ นายวิษณุได้ตอบคำถามผู้สื่อข่าวถึงกรณีของนางสาวยิ่งลักษณ์ที่ยื่นขอทุเลาการบังคับคดีไว้ขณะนี้ก่อนยึดทรัพย์ ต้องรอคำสั่งศาลปกครองก่อนหรือไม่ นายวิษณุว่า “ทราบว่ามีการยื่นเอาไว้เหมือนกัน แต่ศาลยังไม่ได้มีคำสั่ง ระหว่างนี้จึงสามารถดำเนินการยึด หรืออายัดได้ อย่างไรก็ตาม หากกระบวนการยึด หรืออายัดทรัพย์ ได้ดำเนินการไปแล้วบางส่วน ปรากฏว่า ต่อมาศาลมีคำสั่งคุ้มครองชั่วคราว ทรัพย์สินที่ยึดไปแล้ว ไม่จำเป็นต้องคืน เพียงแต่ยึดเพิ่มเติมไม่ได้”

ย้ำอีกครั้งว่า คดีของนางสาวยิ่งลักษณ์ อาจจะมีการอายัด หรือยึดทรัพย์ เอาไว้ก่อนที่ศาลจะมีคำสั่งคุ้มครองชั่วคราวออกมา

ความต่างของสองคดีจะอยู่ตรงนี้ และความต่างนี้จะส่งผลต่อการพิจารณาของศาลปกครอง ว่าจะเข้าเงื่อนไขให้การคุ้มครองชั่วคราวหรือไม่

ย้อนกลับไปดูการวินิจฉัยและคำสั่งของศาลปกครองในคดีของนายบุญทรง และพวก เมื่อวันที่ 10 กุมภาพันธ์ 2560 ศาลว่าเอาไว้ว่า “การที่ศาลจะมีอำนาจออกคำสั่งหรือทุเลาการบังคับตามคำสั่งพิพากษาในระหว่างการพิจารณาคดีได้นั้น ต้องครบเงื่อนไขตามกฎหมายทั้ง 3 ประการ คือ 1. คำสั่งพิพาทน่าจะไม่ชอบด้วยกฎหมาย 2.การให้คำสั่งพิพาทมีผลใช้บังคับต่อไปจะทำให้เกิดความเสียหายอย่างร้ายแรงที่ยากแก่การเยียวยาแก้ไขในภายหลัง และ 3.การทุเลาการบังคับตามคำสั่งพิพาทไม่เป็นอุปสรรคแก่การบริหารงานของรัฐหรือแก่บริการสาธารณะ

ศาลอ่านคำวินิจฉัยว่า “เมื่อพิจารณาข้อเท็จจริงในชั้นไต่สวนคำขอวิธีการชั่วคราวก่อนการพิพากษาแล้ว เห็นว่า ภายหลังจากนายกรัฐมนตรีกับพวกรวม 4 คน ซึ่งเป็นผู้ถูกฟ้องคดีได้ออกคำสั่งเรียกให้ผู้ฟ้องคดีทั้ง 5 คดี ชดใช้ค่าสินไหมทดแทน นายกรัฐมนตรี มีหนังสือแจ้งเตือนให้ผู้ฟ้องคดีทั้ง 5 ชดใช้ค่าสินไหมทดแทนให้เสร็จสิ้นใน 15 วัน นับแต่วันที่ได้รับหนังสือดังกล่าว ซึ่งผู้ฟ้องคดีทั้ง 5 และผู้แทนฝ่ายของนายกรัฐมนตรี ให้ถ้อยคำต่อศาลรับกันว่านอกจากหนังสือแจ้งเตือนดังกล่าวแล้ว ฝ่ายของนายกรัฐมนตรี ผู้ถูกฟ้องคดียังไม่มีการใช้มาตรการบังคับทางปกครอง โดยยึดหรืออายัดทรัพย์สินของผู้ฟ้องคดีทั้ง 5 และขายทอดตลาดเพื่อชำระค่าสินไหมทดแทนแต่อย่างใด ในชั้นนี้จึงยังไม่อาจรับฟังได้ว่า คำสั่งพิพาทน่าจะไม่ชอบด้วยกฎหมาย

“ส่วนที่ผู้ฟ้องคดีทั้ง 5 คดีอ้างว่าคำสั่งพิพาทไม่ชอบด้วยกฎหมายหลายประการนั้นเป็นประเด็นในเนื้อหาของคดีที่ศาลจะต้องแสวงหาข้อเท็จจริงเพื่อพิจารณาพิพากษาต่อไป และเมื่อนายกรัฐมนตรี ผู้ถูกฟ้องคดียังไม่มีการใช้มาตรการบังคับทางปกครอง ในชั้นนี้จึงรับฟังไม่ได้ว่าหากศาลไม่มีคำสั่งทุเลาการบังคับตามคำพิพากษา จะทำให้เกิดความเสียหายอย่างร้ายแรงจากผู้ฟ้องคดีทั้ง 5 คดีที่ยากแก่การเยียวยาแก้ไขในภายหลัง

“ดังนั้น ข้อกล่าวอ้างในการขอให้ศาลมีคำสั่งทุเลาการบังคับตามคำสิ่งพิพาทของผู้ฟ้องคดีทั้ง 5 คดี จึงไม่เป็นไปตามเงื่อนไขที่กฎหมายกำหนด ศาลจึงไม่มีอำนาจสั่งทุเลาการบังคับตามคำสั่งที่เรียกให้ผู้ฟ้องคดีทั้ง 5 คดี ชดใช้ค่าสินไหมทดแทนไว้เป็นการชั่วคราวในระหว่างพิจารณาคดี ศาลจึงมีคำสั่งยกคำขอวิธีการชั่วคราวก่อนการพิพากษาของผู้ฟ้องคดีทั้ง 5 คดี”

คำสั่งของศาลข้างต้น หากจะสรุปสั้นๆ ง่ายๆ ก็คือ เมื่อยังไม่มีการยึดทรัพย์ ก็ยังไม่มีความเสียหายร้ายแรงที่ศาลจะต้องให้การคุ้มครอง

แต่สำหรับคดีของนางสาวยิ่งลักษณ์ ซึ่งนายวิษณุ เปิดไฟเขียวโร่ให้รีบยึดทรัพย์โดยเร็ว ไม่ต้องรอคำสั่งศาลใดๆ นั่นก็หมายถึงว่า หากนางสาวยิ่งลักษณ์ ถูกอายัด หรือยึดทรัพย์ ก็เข้าเงื่อนไขที่ศาลจะพิจารณาว่า เมื่อมีการยึดทรัพย์แล้ว อาจเกิดเสียหายร้ายแรงจนยากแก่การเยียวยาแก้ไขในภายหลัง นางสาวยิ่งลักษณ์ ก็มีโอกาสลุ้น

ท่าทีของทนาย “หญิงปู”เมื่อวันก่อนที่เผยไต๋ออกมาแล้วว่า คดีของนางสาวยิ่งลักษณ์ อาจจะไม่เหมือนคดีของนายบุญทรง และพวก อาจจะเป็นคำตอบให้ทำนายทายทักกันล่วงหน้า

และเมื่อวันก่อน ทนายของนางสาวยิ่งลักษณ์ ก็ออกมาตอบโต้กรณีที่นายวิษณุ ให้กรมบังคับคดี สามารถยึดทรัพย์ในคดีโครงการรับจำนำข้าวได้ทันทีว่าไม่ยุติธรรมและจะร้องต่อศาลเพราะควรจะต้องรอคำสั่งของศาลปกครองที่ยื่นขอคุ้มครองชั่วคราวเสียก่อน

นายวิษณุ โต้กลับยืนยันตามเดิมว่า ในแง่ของกฎหมายถือว่ากระบวนการนี้ได้แล้วเสร็จเสร็จตามประมวลกฎหมายวิธีปฏิบัติทางปกครอง กฎหมายว่าด้วยการรับผิดทางละเมิดเจ้าหน้าที่ของรัฐ เมื่อออกคำสั่งก็ต้องบังคับใช้

“ผมเข้าใจในความหมายของ น.ส.ยิ่งลักษณ์ ที่มองว่ายังไม่มีการตัดสินในคดีอาญาว่าผิดจริงหรือไม่ และคดียังคาอยู่ในศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง การจะยึดทรัพย์นั้นควรให้คดีอาญาแล้วเสร็จก่อน นั่นคือความหมายของน.ส.ยิ่งลักษณ์ แต่รัฐบาลมองในแง่ว่าเมื่อออกคำสั่งทางปกครองแล้วแจ้งให้เจ้าตัวได้รับทราบก็สามารถยึดทรัพย์ได้ทันที” นายวิษณุ กล่าว

เป็นการอ่านเกมทะลุความต้องการที่แท้จริงของนางสาวยิ่งลักษณ์ ที่มีท่าทีชัดเจนมาตลอดว่า ต้องการให้คดีอาญาสิ้นสุดก่อน จากนั้น จะเรียกค่าเสียหายทางแพ่ง ก็ว่ากันเป็นขั้นตอนต่อไป ซึ่งก็ต้องลากยาว เพราะคดีแพ่งก็ต้องสู้กันถึง 3 ศาล ก่อนคดีจะสิ้นสุดว่าจะต้องชดใช้ค่าเสียหายหรือไม่ มากน้อยเพียงใด

การรีบลงมือยึดทรัพย์ที่นายวิษณุ เร่งรัดนี้ จึงมองได้หลายมุม อาจตั้งข้อสังเกตได้ว่านี่เป็นการสร้างเงื่อนไขเพื่อให้ศาลสั่งคุ้มครองชั่วคราวหรือทุเลาการบังคับคดี หรือไม่

หรืออาจมองได้ว่า ต้องรีบลงมือยึดทรัพย์เลยทันทีที่กระบวนการของคำสั่งทางปกครองเสร็จสิ้น เพื่อไม่ให้มีการยักย้ายถ่ายเททรัพย์สินออกไป ซึ่งจริงๆ แล้ว เวลานี้อาจจะไม่มีทรัพย์เหลือไว้ให้ยึดแล้วก็เป็นได้ ส่วนจะตามไปยึดได้มากน้อยแค่ไหน ก็อย่างที่นายวิษณุ บอกในคดีของนายบุญทรง และพวก ที่ว่า ยึดเอาเท่าที่มี ได้แค่ไหนก็แค่นั้น
ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร
บุญทรง เตริยาภิรมย์
ทั้งหมดทั้งหลายทั้งปวงนี่อยู่ในเกมปรองดองหรือไม่ คงต้องถามนายวิษณุ เครืองาม รองนายกรัฐมนตรี ที่ปรึกษาด้านกฎหมายของรัฐบาลพล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา และคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.)

ไม่ใช่แต่คดีของนางสาวยิ่งลักษณ์ ที่มีโอกาสลุ้นศาลให้ความคุ้มครองชั่วคราว หรือไม่ คดีของนายบุญทรง และพวก ก็มีโอกาสเช่นกัน แม้ว่ายกแรกนี้ ศาลจะยกคำขอ แต่เมื่อใดที่มีการลงมืออายัดหรือยึดทรัพย์ นายบุญทรง และพวก ก็สามารถยื่นฟ้องต่อศาลปกครอง ได้อีกเช่นกัน ดังที่นายวิษณุ แจกแจงเอาไว้หลังการหารือร่วมกับกรมบังคับคดี และกระทรวงพาณิชย์ เพื่อดำเนินการยึดทรัพย์นายบุญทรง และพวก รวม 6 คน กรณีทุจริตระบายข้าวแบบต่อรัฐต่อรัฐ (จีทูจี) มูลค่า 2 หมื่นล้านบาท ความว่า

“แม้เรื่องนี้จะเป็นคดีทางปกครอง แต่ขอนำประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่งมาใช้โดยอนุโลม ทำให้อายุความในการบังคับคดีมีกำหนด 10 ปี นับแต่วันที่มีคำสั่งทางปกครอง ซึ่งระหว่างนี้ หากพบว่ามีทรัพย์สินที่ใดสามารถตามยึดหรืออายัดได้ เว้นแต่จะมีการร้องขอให้ศาลสั่งคุ้มครองชั่วคราว หรือทุเลาการบังคับคดีอีก และอยู่ที่ศาลด้วยว่าจะรับไว้พิจารณาหรือไม่ โดยวิธีการยึดทรัพย์นั้น กรมการค้าต่างประเทศ จะเป็นผู้ตั้งเรื่อง ส่วนจะเริ่มบังคับคดีเมื่อไรนั้น ยังไม่สามารถตอบได้”

ขีดเส้นใต้ไว้สองสามเส้นเลย “...เว้นแต่จะมีการร้องขอให้ศาลสั่งคุ้มครองชั่วคราว หรือทุเลาการบังคับคดีอีก และอยู่ที่ศาลด้วยว่าจะรับไว้พิจารณาหรือไม่...”

ดูๆ ไป จะคล้ายๆ กับการ์ตูนดิสนีย์ “ทอม แอนด์ เจอร์รี่” แมวไล่จับ “หนูปู”หรือไม่ เพราะมีช่อง “เว้นเสียแต่ว่า” นายบุญทรง และพวก กับ นางสาวยิ่งลักษณ์ อาจจะไปยื่นขอคุ้มครองชั่วคราวอีก ซึ่งทั้งหมดทั้งหลายทั้งปวง ขึ้นอยู่กับ “ศาล” สถานเดียว

อย่างไรก็ตาม ก่อนจะไปดูว่าคดี “หญิงปู”จะมีเทคนิคสุดล้ำในการยื้อจนเธอสามารถอยู่อย่างสบายๆ ต่อไปหรือไม่ มาดูรายละเอียดคดีของนายบุญทรง และพวก กันอีกที ซึ่งต้องบอกว่า คดีเจี๊ยะทูเจี๊ย หรือการขายข้าวแบบรัฐต่อรัฐ หรือจีทูจี นั้น นายบุญทรงและพวก เดินทางไหนก็พ่ายหมดรูป เพราะหากว่ากันตามพยานหลักฐานก็เห็นชัดว่ามัดแน่นดิ้นหลุดยาก

คงไม่ลืมกันว่า ก่อนหน้านี้ คณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ(ป.ป.ช.) ได้ชี้มูลความผิดของนายบุญทรง และพวก รวม 21 คน กระทำความผิดโดยเอื้อประโยชน์ให้เอกชน และมีพฤติการณ์ทุจริตปลอมสัญญาให้ดูเสมือนมีการซื้อขายข้าวแบบรัฐต่อรัฐ (จีทูจี) จริง ก่อให้เกิดความเสียหายแก่กรมการค้าต่างประเทศ และประเทศชาติ มูลค่ากว่า 20,000 ล้านบาท

คดีเจี๊ยะทูเจี๊ยะ นอกจากนายบุญทรง และพวก ซึ่งเป็นนักการเมืองและข้าราชการ จะเจอฟ้องอาญา และคำสั่งทางปกครองยึดทรัพย์แล้ว ในส่วนของเอกชนที่สมคบคิดกระทำผิดร่วมกัน ก็ถูกยึดทรัพย์ไปก่อนหน้านี้แล้วเช่นกัน กล่าวคือเมื่อวันที่ 9 กันยายน 2559 พล.ต.อ.ชัยยะ ศิริอำพันธ์กุล เลขาธิการคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการฟอกเงิน (ปปง.)ได้แถลงยึดทรัพย์กลุ่มบริษัท สยามอินดิก้า และบริษัท สิราลัย เปลี่ยนชื่อเป็นบริษัทกีธา และบุคคลที่เกี่ยวข้องกับนายอภิชาติ จันทร์สกุลพร หรือ “เสี่ยเปี๋ยง”รวมทั้งสิ้น 662 รายการ มูลค่าประมาณ 7,000 ล้านบาท

ส่วนนักการเมืองและข้าราชการ 6 คน คือ นายบุญทรง เตริยาภิรมย์ อดีต รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์, นายภูมิ สาระผล อดีต รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงพาณิชย์, พ.ต.นพ.วีระวุฒิ วัจนะพุกกะ อดีตเลขานุการ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์, นายมนัส สร้อยพลอย อดีตอธิบดีกรมการค้าต่างประเทศ, นายทิฆัมพร นาทวรทัต อดีตรองอธิบดีกรมการค้าต่างประเทศ, นายอัครพงศ์ ทีปวัชระ อดีตผู้อำนวยการสำนักการค้าข้าวต่างประเทศ เจอคำสั่งทางปกครองให้ชดใช้ค่าเสียหายจากการขายข้าวจีทูจี มูลค่า 2 หมื่นล้านบาท ซึ่งนายบุญทรง และพวก 5 คน ได้ไปยื่นต่อศาลปกครอง ขอให้ศาลมีคำสั่งคุ้มครองชั่วคราว แต่เมื่อวันที่ 10 กุมภาพันธ์ 2560 ที่ผ่านมา ศาลปกครอง ได้มีคำสั่งยกคำขอคุ้มครองชั่วคราวดังที่ได้กล่าวมาแล้วข้างต้น

และเวลานี้ คดีของนายบุญทรง และพวก ก็เข้าสู่โหมดเตรียมยึดทรัพย์ โดยทางกระทรวงพาณิชย์ และกรมบังคับคดี กำลังประสานงานกันอย่างขะมักเขม้น แต่ด้วยความที่กระทรวงพาณิชย์ เป็น “มือใหม่หัดยึด” จึงทำให้ล่าช้าไปบ้างเพราะมีรายละเอียดมาก แต่ก็ต้องถือว่า เวลานี้ทุกหน่วยงานมีความชัดเจนว่าจะต้องดำเนินการกันอย่างไร

สำหรับวิธีการยึดทรัพย์ กรณีของนายบุญทรง และพวก นายวิษณุ อธิบายว่า กรมบังคับคดี จะเป็นผู้ยึด หรืออายัด แต่กระทรวงพาณิชย์ จะเป็นนำสืบทรัพย์ เพราะตรงนี้เป็นเรื่องของเจ้าหนี้ ที่จะต้องไปหาว่า ทรัพย์อยู่ที่ใด และบอกให้กรมบังคับคดี ยึดให้ สืบได้แค่ไหนก็นำยึดแค่นั้น แต่ภายในอายุความ 10 ปี นับตั้งแต่วันที่กระทรวงพาณิชย์ มีคำสั่งทางปกครอง หากพบมีทรัพย์สินอีกก็สามารถไปนำยึดได้อีก และหากมีการยักย้ายถ่ายเททรัพย์สิน ตามกฎหมายก็มีช่องดำเนินการ ทั้งนี้ ถ้ามีทรัพย์ไม่พอก็ยึดเท่าที่มี

“ในการสืบทรัพย์หากทำได้แค่ไหนก็แค่นั้น อีกหนึ่งปีสืบทรัพย์พบก็นำยึดใหม่ อีกห้าปีพบอีกก็นำยึดอีก กระบวนการเหล่านี้ทำได้ตลอด 10 ปี โดยระหว่างนี้ไม่สามารถยักย้ายถ่ายเททรัพย์สินได้ เพราะอาจเข้าข่ายความผิดทางอาญา ฐานโกงเจ้าหนี้ หรือ หากมีการนำทรัพย์ไปขายต่อ ก็มีความผิดฐานฉ้อฉลต่อเจ้าหนี้ ที่สามารถร้องขอศาลให้การขายต่อนั้นเป็นโมฆะได้ ซึ่งกรมบังคับคดียืนยันว่า ได้เคยดำเนินการในลักษณะนี้มาแล้วกว่า 50 ปี” นายวิษณุ กล่าว

กรณีทรัพย์สินผู้ถูกกล่าวหามีเท่ากับจำนวนทรัพย์ที่ต้องยึดหรืออายัด กรมบังคับคดีก็จะไล่ยึดและอายัดทรัพย์จนครบ 10 ปี ได้เท่าไหนก็เท่านั้น ส่วนบุคคลที่ยังหลบหนีคดีอยู่ก็เป็นหน้าที่ของตำรวจในการเร่งรัดติดตามจับกุม ขณะเดียวกันกรมบังคับคดีก็ดำเนินการยึดทรัพย์ได้ทันที ส่วนกรณีล้มละลายก็เป็นอีกขั้นตอนหนึ่งที่ยังไม่มีใครคิดในส่วนนั้น

ส่วนกรณีของ น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี ผู้นำสืบทรัพย์ จะเป็นกระทรวงการคลัง และกรมบังคับคดี จะเป็นผู้ยึดหรืออายัดทรัพย์ อย่างไรก็ตาม การยึดดังกล่าว ไม่จำเป็นต้องรายงานให้คณะรัฐมนตรี (ครม.) หรือ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงยุติธรรม รับทราบ

เวลานี้ ทรัพย์ของนายบุญทรง มีอยู่ที่เท่าไหร่ “ผู้จัดการ360 องศา” รวบรวมทรัพย์สินของนายบุญทรง ที่ยื่นบัญชีทรัพย์สินและหนี้สินต่อ ป.ป.ช.ครั้งล่าสุด พบว่า นายบุญทรง และภรรยา แจ้งล่าสุดมีทรัพย์สินมากกว่าหนี้16 ล้านบาทเศษ ส่วนนายภูมิ และคู่สมรส แจ้งล่าสุด มีทรัพย์สินมากกว่าหนี้สิน 43ล้านเศษ

ส่วนกรุสมบัติของนางสาวยิ่งลักษณ์ ที่ยื่นบัญชีแสดงรายการทรัพย์สินและหนี้สิน หลังพ้นจากตำแหน่งนายกรัฐมนตรี ครบ 1 ปี ต่อ ป.ป.ช. พบว่า มีทรัพย์สินรวม 612,379,231.93บาท (เฉพาะในส่วนของผู้ยื่นและบุตร ไม่รวมของคู่สมรส) รวมหนี้สิน 33,070,803บาท รวมมีทรัพย์สินมากกว่าหนี้สิน 579,308,428.93บาท (ไม่รวมทรัพย์สินและหนี้สินของคู่สมรส)

มหากาพย์จำนำข้าวและระบายข้าว ยังอีกยาวไกล ถือเป็นไม้เด็ดที่ คสช. เอาไว้นวดพี่น้องชินวัตร และพลพรรคเพื่อไทย ให้อ่อนแรงลง

เมื่อเป็นดังเช่นนี้แล้ว ก็ต้องเฝ้าติดตามดูว่าคดีใหญ่สั่นสะเทือนเกมปรองดองยกนี้ จะมีจุดลงเอยเช่นใด


กำลังโหลดความคิดเห็น