xs
xsm
sm
md
lg

ผู้จัดการสุดสัปดาห์

x

ชุดดำแยกคอกวัว 7 ปีเพิ่งมีคำพิพากษา(ชั้นต้น)

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

เจ้าหน้าที่นำตัวกลุ่มชายชุดดำที่จับกุมได้ มาแถลงข่าว เมื่อ 11 กันยายน 2557
ใกล้จะครบ 7 ปีเต็มแล้ว สำหรับเหตุการณ์สลายการชุมนุมคนเสื้อแดงเพื่อขับไล่รัฐบาลนายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ ที่บริเวณแยกคอกวัว-อนุสาวรีย์ประชาธิปไตย เมื่อวันที่ 10 เมษายน 2553 ซึ่งนำไปสู่การสูญเสียนายทหารคนสำคัญอย่าง พล.อ.ร่มเกล้า ธุวธรรม พร้อมกำลังเจ้าหน้าที่ และฝ่ายผู้ชุมนุมอีกจำนวนหนึ่ง รวมทั้งมีผู้สื่อข่าวต่างประเทศโดนลูกหลงเสียชีวิตไป 1 คน

เหตุการณ์วันนั้น กลายเป็นจุดเริ่มต้นของการนองเลือดระหว่างการชุมนุมในวันต่อๆ มา จนกระทั่งสิ้นสุดการชุมนุม ในวันที่ 19 พฤษภาคม 2553 ซึ่งลงเอยด้วยเผาบ้านเผาเมืองสร้างความเสียหายนับหมื่นๆ ล้านบาท และมีผู้เสียชีวิตเป็นผู้ร่วมชุมนุม เจ้าหน้าที่ และประชาชนรวมทั้งสิ้น 91 คน

เหตุการณ์วันนั้น แม้มีภาพปรากฏชัดเจนว่ามีกลุ่มคนชุดดำถืออาวุธสงครามอาณุภาพร้ายแรงปะปนอยู่กับกลุ่มคนเสื้อแดง ออกมายิงต่อสู้กับเจ้าหน้าที่ จนมีผู้เสียชีวิตและบาดเจ็บจำนวนมากดังกล่าว แต่ครั้นเมื่อรัฐบาล น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร เข้ามาบริหารประเทศแทนรัฐบาลนายอภิสิทธิ์ การดำเนินคดีกับชายชุดดำหรือฝ่ายผู้ชุมนุมกลับไม่มีความคืบหน้า

กรมสอบสวนคดีพิเศษ(ดีเอสไอ)ในยุคที่นายธาริต เพ็งดิษฐ์ เป็นอธิบดี ได้นำคดีการเสียชีวิตของฝ่ายคนเสื้อแดงขึ้นสู่การไต่สวนของศาลถึง 28 คดี และส่วนใหญ่ศาลมีคำวินิจฉัยว่า เป็นการเสียชีวิตจากการกระทำของเจ้าหน้าที่ และดีเอสไอได้นำไปประกอบสำนวนยื่นฟ้องนายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ อดีตนายกรัฐมนตรี และนายสุเทพ เทือกสุบรรณ อดีตรองนายกฯ และผู้อำนวยการศูนย์อำนวยการแก้ไขสถานการณ์ฉุกเฉิน ในช่วงที่เกิดเหตุการณ์ ด้วยข้อหา “ร่วมกันฆ่าและพยายามฆ่าผู้อื่นโดยเจตนาเล็งเห็นผล”

ขณะที่คดีการตายของ พล.อ.ร่มเกล้า ธุวธรรม กลับถูกแช่แข็งไว้ในลิ้นชัก ไร้ความคืบหน้าใดๆ แม้ว่า นางนิชา หิรัญบูรณะ ธุวธรรม ภรรยาของ พล.อ.ร่มเกล้า ได้ยื่นร้องเรียนสอบถามความคืบหน้าจากรัฐบาลนับจำนวนครั้งไม่ถ้วน

วันที่ 16 กรกฎาคม 2553 นายธาริต เพ็งดิษฐ์ ซึ่งได้ฉายา “จิ้งจกเปลี่ยนสี” จากสื่อมวลชนในเวลาต่อมา เคยแถลงข่าวการจับกุมผู้ต้องหาซึ่งใช้อาวุธสงครามร้ายแรงก่อเหตุถึง 8 คดี เป็นเหตุให้มีผู้บาดเจ็บและเสียชีวิต รวมถึงการยิงระเบิดในวันที่ 10 เมษายน ซึ่งเป็นเหตุให้ พล.อ.ร่มเกล้าและทหาร เสียชีวิต นอกจากนี้ยังใช้อาวุธสงครามยิงระเบิดเอ็ม 79 ใส่รถไฟฟ้าบีทีเอส ที่แยกศาลาแดง ทำให้ประชาชนเสียชีวิต 1 ราย บาดเจ็บ 75 ราย ยิงจรวดอาร์พีจีใส่โรงแรมดุสิตธานี ยิงเอ็ม 79 ใส่แฟลตตำรวจลุมพินี ยิงปืนเอ็ม16 ใส่ตำรวจที่ตั้งด่านหน้าธนาคารกรุงไทยจนตำรวจเสียชีวิต และยิงเอ็ม 79 ใส่ด่านตรวจอาคารอื้อจือเหลียงเป็นเหตุให้ตำรวจบาดเจ็บและเสียชีวิต ในการแถลงวันนั้น ดีเอสไอยืนยันว่า ได้ร่วมกับหน่วยอรินทราช ใช้เทคโนโลยีพิเศษดำเนินการจับกุมผู้ต้องหา ไม่จับแพะแน่นอน

ต่อมา เมื่อวันที่ 20 มกราคม 2554 ซึ่งยังอยู่ในสมัยรัฐบาลนายอภิสิทธิ์ นายธาริต เพ็งดิษฐ์ ในฐานะหัวหน้าพนักงานสอบสวนคดีการเสียชีวิตของเจ้าหน้าที่ทหารตำรวจและประชาชนจากการชุมนุมปี 2553 ได้แถลงความคืบหน้าของคดีว่า โดยสรุปมีกลุ่มผู้เสียชีวิตและบาดเจ็บ 3 กลุ่ม คือ

กลุ่มที่ 1 มีพยานหลักฐานน่าเชื่อว่าเกิดจากการกระทำของ นปช.โดยผู้กระทำความผิดฐานก่อการร้ายและกลุ่มที่เกี่ยวพันกัน 8 คดี รวมผู้เสียชีวิต 12 ราย เช่น การเสียชีวิตของ พ.อ.ร่มเกล้า ธุวธรรม ทหาร ตำรวจและผู้เสียชีวิตจากเหตุการณ์เพลิงไหม้ห้างเซ็นทรัลเวิลด์

กลุ่มที่ 2 มีพยานหลักฐานน่าเชื่อว่าความตายอาจเกิดโดยเจ้าหน้าที่ 8 คดี ผู้เสียชีวิต 13 ราย เช่น คดีผู้เสียชีวิต 3 รายในวัดปทุมวนาราม ผู้เสียชีวิตในสวนสัตว์ดุสิต การเสียชีวิตของพลทหารณรงค์ฤทธิ์ สาละ บริเวณอนุสรณ์สถานดอนเมือง และการเสียชีวิตของนักข่าวญี่ปุ่น และ

กลุ่มที่ 3 ยังไม่ปรากฏตัวผู้กระทำความผิดจำนวน 18 คดี ผู้เสียชีวิต 64 ราย เช่น การตายของ พล.ต.ขัตติยะ สวัสดิผล หรือ เสธ.แดง น.ส.กมลเกด อัคฮาด นายฟาบิโอ โปเลนชี นักข่าวชาวอิตาลี เป็นต้น

แต่ภายหลังจาก น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร น้องสาวของนายทักษิณได้เป็นนายกรัฐมนตรี ปรากกฏว่าคดีที่มีความคืบหน้ากลับมีแต่เพียงกลุ่มที่ 2 เท่านั้น และบางคดีในกลุ่มที่ 3 ก็เปลี่ยนไปอยู่ในกลุ่มที่ 2 เช่น คดี น.ส.กมลเกด และนักข่าวอิตาลี เพื่อเพิ่มน้ำหนักให้กับการดำเนินคดีนายอภิสิทธิ์ และนายสุเทพ ส่วนคดีที่เจ้าหน้าที่และประชาชนเสียชีวิตจากฝ่าย นปช.นั้น ไม่มีความคืบหน้าใดๆ

มิหนำซ้ำ นายธาริต ยังให้สัมภาษณ์ในเวลาต่อมาว่า ยังไม่มีพยานหลักฐานชี้ชัดถึงผู้กระทำความผิดในคดีสังหาร พล.อ.ร่มเกล้า และบอกอีกว่าไม่ได้เกิดจากการกระทำของฝ่ายผู้ชุมนุม เหมือนที่เคยบอกแต่แรก

ภายหลังการรัฐประหารวันที่ 22 พฤษภาคม 2557 คดีสลายการชุมนุมคนเสื้อแดงมาถึงจุดเปลี่ยนอีกครั้ง เมื่อมีการตั้งพนักงานสอบสวนขึ้นมาใหม่ เนื่องจากเจ้าหน้าที่ดีเอสไอบางส่วนเกษียณอายุราชการ และมีนายทหารเข้ามาร่วมอีก 7 นาย

การเปลี่ยนพนักงานสอบสวนและมีทหารเข้ามาร่วม ได้นำความสมดุลของคดีสลายการชุมนุมปี 2553 กลับคืนมา

วันที่ 11 กันยายน 2557 เจ้าหน้าที่สามารถจับกุมผู้ต้องหากลุ่มคนชุดดำได้ 5 คน ประกอบด้วย นายกิตติศักดิ์ หรืออ้วน สุ่มศรี อายุ 47 ปี ชาวกรุงเทพมหานคร, นายปรีชา หรือไก่เตี้ย อยู่เย็น อายุ 27 ปี ชาวจังหวัดเชียงใหม่, นายรณฤทธิ์ หรือนะ สุริชา อายุ 36 ปี ชาวจังหวัดอุบลราชธานี, นายชำนาญ หรือเล็ก ภาคีฉาย อายุ 48 ปี ชาวกรุงเทพมหานคร และนางปุนิกา หรือ อร ชูศรี อายุ 42 ปี ชาวกรุงเทพมหานคร ซึ่งต่อมาถูกฟ้องเป็นจำเลยที่ 1-5 ตามลำดับ ในความผิดฐานร่วมกันมีอาวุธ เครื่องกระสุนปืน และวัตถุระเบิดที่นายทะเบียนไม่สามารถออกใบอนุญาตได้ตาม พ.ร.บ.อาวุธปืนฯ พ.ศ. 2490 มาตรา 4, 8 ทวิ 55, 72 และ 78 และข้อหาพาอาวุธปืนไปในเมือง ที่ชุมชนหรือทางสาธารณะโดยไม่ได้รับอนุญาต

ตามฟ้องระบุพฤติการณ์สรุปว่า เมื่อวันที่ 10 เมษายน 2553 จำเลยทั้ง 5 กับพวกที่ยังหลบหนี และพวกที่ถึงแก่ความตายไปแล้ว ได้บังอาจร่วมกันกระทำความผิดหลายกรรมต่างกัน โดยร่วมกันพาอาวุธ เครื่องกระสุน และวัตถุระเบิด ที่สามารถใช้ยิงทำอันตรายแก่ชีวิต ร่างกาย หรือทรัพย์สินให้เกิดความเสียหายได้ อาทิ เครื่องยิงลูกระเบิด เอ็ม 79 ปืนเอ็ม 16 ปืนเอเค 33 หรือปืนอาก้า ซึ่งนายทะเบียนจะออกใบอนุญาตให้ไม่ได้ไปตามบริเวณแยกคอกวัว ถนนตะนาว ถนนประชาธิปไตย แขวงบวรนิเวศน์ เขตพระนคร กทม. ซึ่งเป็นเมือง หมู่บ้าน หรือทางสาธารณะโดยไม่มีเหตุจำเป็นเร่งด่วนตามสมควรแก่พฤติการณ์ ทั้งในเวลาเกิดเหตุมีการชุมนุมกันของประชาชนจำนวนมาก ซึ่งวันและเวลาเกิดเหตุ เจ้าพนักงานยึดได้อาวุธสงครามของกลาง กระทั่งวันที่ 11 กันยายน 2557 เจ้าพนักงานติดตามจับกุมพวกจำเลยทั้ง 5 ส่งพนักงานสอบสวนกรมสอบสวนคดีพิเศษดำเนินคดี

ศาลพิเคราะห์พยานหลักฐานแล้วพิพากษาว่า นายกิตติศักดิ์ จำเลยที่ 1 และนายปรีชา จำเลยที่ 2 มีความผิดฐานร่วมกันมีอาวุธ เครื่องกระสุนปืน และวัตถุระเบิดที่นายทะเบียนไม่สามารถออกใบอนุญาตได้ตาม พ.ร.บ.อาวุธปืนฯ พ.ศ. 2490 มาตรา 4, 8 ทวิ 55, 72,78 ให้จำคุกคนละ 8 ปี และฐานพาอาวุธปืนไปในเมือง ที่ชุมชน หรือทางสาธารณะโดยไม่ได้รับอนุญาต จำคุกคนละ 2 ปี รวมจำคุกคนละ 10 ปี ส่วนจำเลยที่ 3-5 นั้น พิพากษายกฟ้อง เนื่องจากพยานหลักฐานยังไม่ชัดเจน แต่ให้ขังไว้ระหว่างอุทธรณ์

หลังจากศาลมีคำพิพากษา พล.ท.สรรเสริญ แก้วกำเนิด โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี ให้ความเห็นว่า คำพิพากษาดังกล่าวเป็นสิ่งที่ยืนยันแน่ชัดว่าชายชุดดำที่ถูกพูดถึงมาโดยตลอดนั้น ได้กระทำความผิดจริงตามข้อเท็จจริงและหลักฐานที่ปรากฏ สามารถหักล้างการกล่าวอ้างของกลุ่มการเมืองที่ว่าทหารยิงกันเองจนเป็นเหตุให้มีผู้เสียชีวิตและบาดเจ็บหลายราย

ดังนั้น การที่กลุ่มการเมืองระบุว่าการชุมนุมในช่วงวันที่ 10 เม.ย.2553 เป็นการชุมนุมที่สงบปราศจากอาวุธนั้นจึงสวนทางกับความเป็นจริง หรือต้องการบิดเบือนการกระทำของตน เพราะศาลได้พิเคราะห์แล้วพบอาวุธปืนหลายประเภท และเครื่องยิงระเบิด หมายถึงการมีเจตนาประสงค์ร้ายต่อชีวิตของผู้อื่น โดยเฉพาะการใช้ยิงเจ้าหน้าที่ทหารที่ขอคืนพื้นที่การชุมนุมบริเวณอนุสาวรีย์ประชาธิปไตย และบริเวณใกล้เคียง ทำให้สังคมได้ประจักษ์ชัดขึ้นในเรื่องนี้

ขณะที่ พ.อ.ปิยพงศ์ กลิ่นพันธุ์ ทีมโฆษกคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) บอกว่า คดีชายชุดดำที่ศาลตัดสินในข้อหาร่วมกันมีและใช้อาวุธสงครามเมื่อวานนี้นั้นเป็นเพียงส่วนหนึ่งของสำนวนการกระทำคดีทั้งหมด และถือว่าเป็นจุดเริ่มต้นในการพิสูจน์ความจริงที่ว่ามีการกระทำความผิดทางอาญาในพื้นที่การชุมนุมจริง นั่นคือ การมีและการใช้อาวุธสงครามในพื้นที่การชุมนุมเมื่อวันที่ 10 เมษายน 2553

ขณะนี้ทางกองทัพยังคงรอคอยการพิสูจน์ความจริงที่ว่า มีบุคคลในพื้นที่การชุมนุมที่เป็นคนร้ายใช้อาวุธปืนสงครามดังกล่าวทำร้ายเจ้าหน้าที่ทหารและกลุ่มผู้ชุมนุมหรือไม่ คงต้องฝากความหวังไว้ที่หน่วยงานกระบวนการยุติธรรม ทั้งศาล และอัยการ ที่จะต้องเร่งรัดดำเนินคดีเหล่านี้ให้มีผลปรากฏโดยเร็ว
กำลังโหลดความคิดเห็น