xs
xsm
sm
md
lg

ผู้จัดการสุดสัปดาห์

x

ดีลลับปรองดอง ภาค 4 ปฏิลูบ-ปฏิรวบ หนทางสู่ประเทศไทยในฝัน (ของใคร?)

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


ผู้จัดการสุดสัปดาห์ - เดือดร้อนกันเป็นแถว เมื่อโดนสะกิดเรื่อง “ดีลลับปรองดอง” ลากไปจนถึง “รัฐบาลแห่งชาติ” ทำเอาเบอร์ 1 เบอร์ 2 ของ คณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ต้องออกมาประสานเสียงปฏิเสธกันตามสคริปต์ว่า ไม่รู้...ไม่เห็น ไม่เค๊ย...ไม่เคย มีดีลลึก ดีลลับ หรือไปแอบจี๋จ๋ากับนักการเมืองหลังไมค์อย่างที่ถูกล้วงลับออกมา

พี่ใหญ่บูรพาพยัคฆ์ “บิ๊กป้อม” พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรี เสียงแข็งถึงขนาดว่า “มโน-เพ้อเจ้อ” กันไปไกล พร้อมท้าทายว่า ถ้ามีใครเห็นว่าตัวเองไปคุยหรือไปเจอกับใครด้วย ให้ออกมาพูดได้เลย เหมือนลืมไปว่า เรื่องพรรค์นี้ถ้าเอามาพูดกันหน้าฉาก มันก็คงไม่ใช่ “ดีลลับ” กระมัง

เมื่อถอดรหัสคำพูดของ “พี่ป้อม” จนถึง “บิ๊กตู่” พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และหัวหน้า คสช.ที่ดูหัวเสียจากเรื่องเดียวกัน “นายกฯ ตู่” บอกว่า “ผมไม่ได้ดีลกับใครทั้งสิ้น อะไรก็ตามที่พูดกันไปมาในสื่อ ใครพูดก็แล้วแต่ ถ้าผมไม่ได้พูดเรื่องนั้นจากปากของผมจะไม่เกิดขึ้นทั้งสิ้น เพราะผมเป็นคนตัดสินใจ” เป็นคีย์เดียวกับ “บิ๊กป้อม” ที่ว่า “..ผมไม่เคยไปเจอใครสักคน แล้วก็ไม่เคยให้ใครไปคุย หรือไปเจอกับใครด้วย บอกเลยคนไหนที่ไปเจอ ให้ออกมาพูดเลยว่าใครที่เอาชื่อผมไปอ้าง หรือบอกว่า ที่ผมสั่งมา บอกมาเลย..”

ทั้งคู่ต่างพูดถึง “คนแอบอ้าง” ซึ่งก็เพิ่มน้ำหนักกระแสข่าวที่ว่า มีฝ่ายการเมืองบางคนนำวาระปรองดองของ คสช.ไปพูดคุยกัน โดยเฉพาะรายของ “คนโตแห่งอีสานใต้” ที่แบก “ตราตั้ง คสช.” ไปเจรจากับ “นายใหญ่แห่งขั้วอำนาจเก่า” วางแผนปูทางเดินให้กับฝ่ายการเมืองภายหลังการเลือกตั้ง

ส่วนตื้นลึกหนาบางเป็นยังไง ป่านนี้ “บิ๊ก คสช.” คงรู้ดีที่สุด

และที่ทำให้ “บิ๊ก คสช.” เดือดร้อนเป็นพิเศษ ก็เพราะ “ดีลลับปรองดอง” ทั้ง 3 ภาค สาธยายกลเกมปรองดองครั้งนี้ว่า เป็นเรื่องของ “ชนชั้นอำนาจ” ที่จะเกี๊ยะเซียะปรองดองกันเอง โดยที่ประชาชนได้แต่มองตาปริบๆ

คำว่า “ดีลลับปรองดอง” หรือ “รัฐบาลแห่งชาติ” ที่ถูกถ่ายทอดผ่านสื่อไปจึงกลายเป็นคำแสลงหูของ “บิ๊ก คสช.” ไปโดยปริยาย นั่นก็เพราะเป็นการประจานว่า “วาระการปฏิรูป” มันไม่มีอยู่จริง มีเพียงปฏิบัติการ “ปฏิลูบ - ปฏิรวบ” เป็นโรดแมปใหม่ของ คสช.เท่านั้น

เป็นโรดแมปใหม่ ที่ คสช.กลับมาตั้งตั้งท่าเอาจริงเอาจังกับการปฏิรูป พ่วงด้วยการสร้างความปรองดอง ผ่าน คณะกรรมการบริหารราชการแผ่นดินตามกรอบการปฏิรูปประเทศ ยุทธศาสตร์ชาติ และการสร้างความสามัคคีปรองดอง หรือที่รู้จักกันในนาม “ป.ย.ป.” ซึ่งเป็นเรื่องเร่งด่วน ถึงขนาดหัวหน้า คสช.ต้องใช้อำนาจตามมาตรา 44 ของรัฐธรรมนูญชั่วคราวตั้งขึ้นมาหลังเปิดศักราชใหม่มาไม่นาน

เป็นการกลับมาให้ความสำคัญกับ “วาระปฏิรูป” อีกครั้ง จากที่เหมือนว่า คสช.จะทำเป็นลืมๆไป ทั้งที่เรื่องปฏิรูปประเทศเป็นเหตุผลสำคัญข้อหนึ่งของการรัฐประหาร 22 พฤษภาคม 2557 และเป็นความคาดหวังของประชาชนทั้งประเทศที่เชียร์ คสช.

แต่ 2 ปีกว่าที่ผ่านมากลับเป็นเพียงการ “ปฏิลูบ” คือ ลูบไปลูบมา ยังไม่มีเรื่องใดออกมาเป็นรูปธรรม ทั้งที่ คสช.เคยทำท่าให้ความสำคัญถึงขนาดสรรหาบุคคลตั้งเป็นสภาเพื่อทำงานเรื่องปฏิรูปถึง 2 ครั้ง ครั้งแรกกับ สภาปฏิรูปแห่งชาติ (สปช.) ที่ต้องจำใจจากไปหลังปฏิบัติการคว่ำร่างรัฐ ธรรมนูญฉบับ คณะกรรมาธิการยกร่างรัฐธรรมนูญ ของ บวรศักดิ์ อุวรรณโณ และเป็นที่มาของ สภาขับเคลื่อนการปฏิรูปแห่งชาติ (สปท.) ในตอนนี้

และเมื่อวันที่ 1 กุมภาพันธ์ 2560 ที่ผ่านมา ก็ได้มีการจัด “อีเวนท์ใหญ่” ของ ป.ย.ป.ขึ้นที่ทำเนียบรัฐบาล โดยที่ “นายกฯตู่” ในฐานะประธาน ป.ย.ป.เข้าร่วมด้วย ซึ่งก็เห็นว่าเป็นการประชุมเชิงปฏิบัติการหรือที่คนในรัฐบาลเรียกว่า “เวิร์กชอป” เพื่อวางแนวทางการทำงานของ ป.ย.ป. ก่อนจะมีผลสรุปเป็น “27 วาระปฏิรูปเร่งด่วน” ออกมา

27 วาระปฏิรูป ของ ป.ย.ป.ที่ปล่อยออกมานั้น ถ้าจะว่าใหม่ก็คงใหม่เฉพาะจำนวนตัวเลขเท่านั้น เพราะหัวเรื่องต่างๆก็วนเวียนอยู่กับประเด็นเก่าๆ ภายใต้ 11 วาระปฏิรูปที่ คสช.เคยประกาศ และนำไปยัดใส่ไว้ในรัฐธรรมนูญชั่วคราว 2557 ก่อนจะมาเป็นวาระปฏิรูป 37 วาระ และ วาระพัฒนา 6 วาระ ที่ สปช.เสนอไว้ก่อนถูกยุบไป หรือจะเป็น 12 วาระปฏิรูปที่ สปท. เสนอให้บรรจุไว้ในร่างรัฐธรรมนูญฉบับล่าสุด

ต่างกรรมต่างวาระ มีเพียงจำนวน และหัวข้อเรื่องที่ผิดแผกแตกต่างกันไปบ้าง แต่ก็พอสรุปได้ว่า ไม่ว่าจะจำนวนเท่าไรก็ยังไม่มีเรื่องใดเป็นรูปธรรมจริงๆ ซึ่ง “นายกฯตู่” ก็มาสารภาพซ้ำว่า ทั้งหมดที่ผ่านมาเป็นการวางโครงสร้างการปฏิรูปไว้ให้รัฐบาลชุดต่อไป
ตั้งท่าแต่ยังไม่เอาจริง กระทั่งการใช้มาตรา 44 ออกคำสั่งในเรื่องปฏิรูปตำรวจ ก็ยังเป็นการแก้ไขปัญหาเฉพาะการแต่งตั้งโยกย้าย ซึ่งก็เป็นเรื่องภายในองค์กร แก้ปมปัญหาให้แก่ผู้ที่มีอำนาจในการแต่งตั้งโยกย้ายตำรวจเท่านั้น ซึ่งดูไม่ออกว่าประชาชนจะได้ประโยชน์ตรงไหน ปฏิรูป

ดังนั้นก็ควรไม่ควรคาดหวังอะไรกับ คณะกรรมการป้ายแดงอย่าง ป.ย.ป. ที่สังคมสงสัยว่าคงถนัด “ปฏิลูบ” ลูบๆ คลำๆ ไปมาเท่านั้น

ในโครงสร้างของ ป.ย.ป.ได้กำหนดคณะกรรมการย่อย 4 ชุด อันประกอบด้วย คณะกรรมการบริหารราชการแผ่นดินเชิงยุทธศาสตร์, คณะกรรมการเตรียมการปฏิรูปประเทศ, คณะกรรมการและคณะกรรมการเตรียมการสร้างความสามัคคีปรองดอง

โดยความสนใจของสังคมพุ่งเป้าไปที่ คณะกรรมการเตรียมการสร้างความสามัคคีปรองดอง เป็นพิเศษ เพราะถือเป็นเหตุผลหลักของการที่ คสช.เข้ามาเช่นกัน ในการหยุดความขัดแย้งแตกแยกในสังคมไทย แต่ตลอดระยะเวลาที่ผ่านมา “ดูเหมือน” ว่าสถานการณ์ในประเทศจะสงบเรียบร้อยด้วย “หมัดเหล็ก” ของ คสช. แต่ตรงกันข้ามกับความปรองดองที่ยังไม่มีวี่แววว่า แต่ละฝ่ายจะหันหน้าเข้าหากันได้ คล้ายกับว่าเป็นเพียงการพักยกชั่วคราวเท่านั้น

ที่จุดที่น่าสนใจก็คือผู้รับผิดชอบหลักเรื่องการสร้างความปรองดอง ปรากฏชื่อ “บิ๊กป้อม” พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ พี่ใหญ่แห่งรัฐบาล คสช. ที่โดดมารับบท “มิสสะเตอร์ปรองดอง” อย่างเต็มตัว พร้อมประกาศอย่างมั่นใจว่า ไม่เกิน 3 เดือนจะเห็นหน้าเห็นหลังอย่างแน่นอน

ว่ากันว่าการโดดเข้ามารับผิดชอบงานหินที่หลายคนต่างขยาดนี้ “บิ๊กป้อม” เป็นผู้เสนอขอลุยด้วยตัวเอง เพื่อหวังสร้างผลงาน ปูทางให้ตัวเองมีทางเดินต่อ ภายหลัง คสช.ผละมือจากอำนาจ หลังจากที่มีกระแสข่าวเรื่องการปรับคณะรัฐมนตรี

ความมั่นใจของ “พี่ป้อม” พวยพุ่งอย่างผิดสังเกตว่า งานปรองดองเวอร์ชั่นใหม่ภายใต้ ป.ย.ป.จะสำเร็จอย่างแน่นอน ทั้งที่เพิ่งเริ่มตั้งไข่ การตั้งคณะกรรมการยังไม่เสร็จดีด้วยซ้ำ และยิ่งแปลกใจไปกันใหญ่เมื่อ “ฝ่ายการเมือง” ต่างขานรับ “ป้อม ณ ปรองดอง” ราวกับเตี้ยมกันไว้ บางส่วนถึงกับประกาศพร้อมลงนามในลงสัตยาบันร่วมกัน หรือ “เอ็มโอยูปรองดอง” ไปล่วงหน้าแล้ว โดยที่ไม่รู้ว่าที่สุดแล้วเนื้อหาจะออกมาเป็นอย่างไรด้วยซ้ำ

การที่ทุกฝ่ายเห็นดีเห็นงามกันอย่างผิดสังเกตนี้เองที่นำไปสู่เบาะแสเรื่อง “ดีลลับปรองดอง” ว่ามันมีอยู่จริง และเมื่อยิ่งสาวไปตามเบาะแสก็เห็นเค้าว่าเป็น ดีลที่ลงคุยกันไว้อย่างลงตัวในกลุ่มชนชั้นอำนาจที่พร้อมจะจูบปากกัน กอดคอเดินไปเคียงคู่กันภายหลังการเลือกตั้งที่รอการกดปุ่มสตาร์ทอยู่

ประติดประต่อจนกลายเป็น “รัฐบาลแห่งชาติ” ที่ล็อกเก้าอี้ “นายกรัฐมนตรี” กับ “รัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม” ไว้หลวมๆ ส่วนตำแหน่งอื่นก็รอเกลี่ยกันให้ทุกฝ่ายแฮปปี้ที่สุด

หรือชนชั้นอำนาจพร้อมจะร่วมมือกัน “ปฏิรวบประเทศ” แล้วนั่นเอง

เมื่อ “สื่อ” จับได้ไล่ทัน และพยายามไขความจริงให้ประชาชนหูตาสว่างกับ “กลเกมปรองดอง-ปฏิรูป” ที่กำลังจะเกิดขึ้น จึงทำให้ “สื่อ” กลายเป็นเป้าที่ “ผู้มีอำนาจ” ต้องชักธงรบให้องคาพยพหาทางปิดหูปิดตาสื่ออีกครั้ง เพื่อไม่ให้มีใครไปคุ้ยแคะแกะเกาในเรื่องลับๆ หรือเรื่องทุจริตฉาวโฉ่ของวงศวานผู้มีอำนาจ

เป็นจังหวะเดียวกับที่ คณะกรรมาธิการขับเคลื่อนการปฏิรูปประเทศด้านสื่อสารมวลชน ใน สปท. ปล่อย ร่าง พ.ร.บ.คุ้มครองสิทธิเสรีภาพส่งเสริมจริยธรรมและมาตรฐานวิชาชีพสื่อมวลชน พ.ศ. ... ออกมาพอดิบพอดี แต่ร่างที่ออกมานั้น กลับถูก “ยัดไส้” ในชั้น สปท. จนสื่อรับไม่ได้ โดยเฉพาะการให้โควตา “ข้าราชการ” มานั่งเป็นกรรมการคุมสื่อจำนวนหลายคน โดยต่างก็อ้างว่า เพื่อเปิดทางให้มีการยกมาตรฐานวิชาชีพให้สื่อมวลชนให้ทัดเทียมกับวิชาชีพอื่นๆ

ซึ่งเท่ากับเป็นการเปิดทางให้ใครก็ตามแต่ที่มีอำนาจ สามารถคุมสื่อได้ผ่านข้าราชการอย่างน้อยๆ ก็ปลัดกระทรวง 4 กระทรวงที่เป็นกรรมการคุมสื่อโดยตำแหน่ง

เดิมทีคนในรัฐบาลต่างพากันบอกว่า เป็นเรื่องที่ สปช.เสนอทิ้งไว้ แล้ว สปท.นำมาศึกษาต่อ โดยที่รัฐบาล หรือ คสช.ไม่รู้เห็นเป็นใจแต่ประการใด แต่เมื่อถอดรหัสคำพูดของ “นายกฯตู่” พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ที่ว่า “...เพราะในองค์กรของท่านเองก็ควบคุมไม่ได้มากนัก เราไม่ได้ออกมาควบคุมเพื่อปิดกั้น เป็นการควบคุมเพื่อให้มีจรรยาบรรณ...” จนอดคิดไม่ได้ว่า รัฐบาลเป็นผู้อยู่เบื้องหลังการผลักดัน พ.ร.บ.ฉบับนี้ ทั้งที่ก่อนหน้านี้ยืนยันว่า ไม่เคยรู้เห็นเป็นใจด้วย

แม้ล่าสุด สปท.จะตัดสินใจถอยโดยให้กรรมาธิการทบทวนก่อนเสนอเข้ามาอีกครั้ง ซึ่งก็เป็นการถอยเพื่อตั้งหลัก รอจังหวะดันกลับเข้ามาเหมือนเดิม หรืออาจจะแรงกว่าเดิมด้วยซ้ำ ดีไม่ดีหากดื้อดึงมาก ก็มีดาบอาญาสิทธิ์มาตรา 44 พร้อมจะดันพรวดเดียวให้รู้เช่นเห็นชาติกันไป ซึ่งก็เคยทำมาแล้วเมื่อครั้งออกคำสั่ง คสช.ที่ 97/2557 หรือคำสั่ง 103/2557 ซึ่งถูกโจมตีว่า จำกัดเสรีภาพของสื่อมวลชนมาแล้ว

และหาก “การปฏิรวบ” หรือโรดแมป คสช.เวอร์ชั่นพิเศษนี้เดินไปได้สุด ก็เท่ากับปูทางให้ประเทศไทยเป็นเป็นเมืองในฝัน แต่ไม่ใช่ในฝันของประชาชนทั่วไป หากแต่เป็น “ชนชั้นอำนาจ” เท่านั้น เมื่อเข้าอิหรอบนี้ ก็เชื่อว่าการปรองดองเกิดขึ้นแน่ แต่ก็เป็นการปรองดองเฉพาะคนที่อยู่ในวังวนอำนาจ ที่สมประโยชน์กันในทางการเมืองเท่านั้น

และยิ่งหากวางค่ายกล “กดสื่อ” ไว้ได้ ก็ยิ่งหวานคอแร้ง ไม่มีใครมาขัดคอหอย-ลูกกระเดือก ที่ตั้งโต๊ะคุยดีลกันลงตัวกันไปหมดแล้ว

แม้แต่คดีใหญ่ๆอย่าง “คดีจำนำข้าว” ก็พร้อมที่จะทอดยาวออกไป หลังมีสัญญาณแปร่งๆ ที่ชี้ทิศทางของคดีให้ผิดไปจากลู่เดิม ทั้งที่ คสช.เองก็เคยประกาศด้วยซ้ำว่า เป็นเรื่องสำคัญที่จะจบภายในสิ้นปี 2559 ที่ผ่านพ้นไป แต่ขึ้นปีใหม่แล้วก็ยังไม่เห็นหน้าเห็นหลังอย่างที่เคยคุยเอาไว้

ดังนั้น ประชาชนจึงจำต้องฝากความหวังสุดท้ายเอาไว้กับ “พล.อ.ประยุทธ์” ในการตัดสินใจปฏิรูปตามที่ประชาชนต้องการอย่างเด็ดขาดเสียที เพื่อให้แผ่นดินที่งดงามกลับมาเป็นสมบัติของประชาชน ไม่ใช่สมบัติผลัดกันชมของนักปกครองและผู้มีอำนาจ


กำลังโหลดความคิดเห็น