ผู้จัดการสุดสัปดาห์ - ยิ่งสืบเสาะแสวงหาเบื้องลึกข้อมูลยิ่งฉาว กล่าวสำหรับ “การงาบหัวคิว” ประเด็นเก่าเล่าใหม่ที่ถูกเพิกเฉยไม่รับการจัดให้เด็ดขาด เพราะมีเรื่องผลประโยชน์เข้ามาผัวพัน ไม่ว่ายุคไหนรัฐบาลไหนก็ยังโกงกินกันสำราญ แม้จะเป็นงบประมาณก้อนเล็กๆ อย่าง งบประมาณยุทธ์ศาสตร์ขับเคลื่อนภายในจังหวัด ก็เข้ามาข้องเกี่ยวเรื่องคอร์รัปชั่นอย่างเสียมิได้
ประเด็นดังกล่าวปะทุขึ้นอีกครั้ง เมื่อ นิพิฏฐ์ อินทรสมบัติ รองหัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ ออกมาเปิดเผยว่า “งบประมาณยุทธศาสตร์ต่างๆ ทั้งหลาย ทุกวันนี้มีการคิดเปอร์เซ็นต์มากกว่าเดิม” และ “ถ้ากระทรวงมหาดไทย หรือรัฐบาลอยากได้ข้อมูล มาคุยเป็นการส่วนตัวได้ ซึ่งยินดีเปิดเผยให้ทราบ"
ผู้จัดการสุดสัปดาห์ฉบับนี้ ได้ต่อสายตรงไปยัง นิพิฏฐ์ อินทรสมบัติ พูดคุยเบื้องลึกของข้อเท็จจริงที่มีการเปิดเผยออกมา
การจัดสรรงบประมาณยุทศาสตร์มีปัญหาอย่างไร
งบยุทธศาสตร์เป็นงบที่มีปัญหามาตั้งแต่ยังไม่มีรัฐบาล คสช. จัดสรรให้จังหวัดต่างๆ เป็นงบที่รัฐบาลจัดให้จังหวัดนั้นๆ เป็นการเฉพาะ ตามประชากร ตามรายได้ ตามความจำเป็นที่มีเกณฑ์อยู่ ที่เขาเรียกว่า งบผู้ว่าฯ CEO มีมาตั้งแต่สมัย ทักษิณ ชินวัตร งบยุทธศาสตร์นิดเดียวถ้าเทียบกับงบประมาณทั้งระบบ แต่ถึงงบไม่เยอะแต่ก็เป็นปัญหาคอร์รัปชั่นไม่น้อยครับ จัดสรรให้แต่ละจังหวัดไม่กี่ร้อยล้าน งบประมาณทั้งหลายเนี่ยใช้ไม่หมดก็ไม่มีคืนนะครับ จะมีการทำสัญญาผูกพัน หรือทำไม่ได้ก็เปลี่ยนแปลงโครงการได้ เป็นปัญหาซึ่งปัจจุบันไม่มีการตรวจสอบ คืองบตัวนี้อยู่ในอำนาจของผู้ว่าราชการจังหวัดซึ่งเป็นคนใช้งบตัวนี้ และตอนนี้ คสช. กำลังจะเปลี่ยนอำนาจของผู้ว่าฯ ให้เข้มแข็งขึ้นตามที่คุณ สมคิด จาตุศรีพิทักษ์ ได้พูดว่า ผู้ว่าฯ จะแข็งขึ้นระบบราชการจะแข็งขึ้น สิ่งที่จะเกิดขึ้นคือเมื่อระบบราชการแข็งขึ้นมันก็เป็นการไม่กระจายอำนาจ ซึ่งเป็นวิธีคิดของระบบทหาร การที่ ผู้ว่าฯ แข็งขึ้นรัฐบาลก็สามารถสั่งการทำโน้นนี่ได้เยอะขึ้นในส่วนภูมิภาค แต่หากคิดจากผมที่มาจากการเมืองหลักคิดของเราต้องลดบทบาทของผู้ว่าฯ ลง ลดความเข้มแข็งของระบบราชการ แล้วเพิ่มอำนาจของประชาชน เพิ่มอำนาจของท้องถิ่นให้เข้มแข็งขึ้น
ค่าหัวคิดในระบบราชการมีความรุนแรงมากน้อยเพียงใด
คือระบบงบประมาณทุกระบบนะครับ ไม่ว่าจะเป็นงบประมาณจากทางไหนก็แล้วแต่ ยุทธศาสตร์จัดซื้อ งบฟังก์ชั่นซึ่งเป็นงบปกติของระบบราชการก็ตาม ถ้ามันไม่มีการตรวจสอบที่ดีก็จะมีการทุจริตมีการรั่วไหลไม่มีประสิทธิภาพเท่าที่ควรครับ ขณะที่เรามีการตรวจสอบกันอย่างเข้มแข็งมีรัฐบาลที่มาจากการเลือกตั้งมีฝ่ายค้านอยู่แล้วเราก็ยังป้องกันการทุจริตไม่ค่อยได้เลย เพราะฉะนั้นเมื่อเราไม่มีรัฐบาลที่มาจากการเลือกตั้งไม่มีฝ่ายค้าน แล้วระบบราชการที่ถูกสร้างขึ้นมาที่ถูกทำให้แข็งแรงมาก มันจะก่อให้เกิดการทุจริตได้มาก อีกส่วนการที่ดูเหมือนว่าบ้านเมืองสงบ บ้านเมืองเรียบร้อย จริงๆ แล้วเป็นเพราะว่ามันไม่มีการตรวจสอบเท่านั้นเอง ถ้ามีการตรวจสอบก็จะเห็นการทุจริต
คุณนิพิฏฐ์รู้สึกไม่เชื่อมั่นการใช้งบประมาณภายใต้ดุลพินิจ คสช. เพราะไม่มีหน่วยงานใดตรวจสอบได้
หลักการต้องเชื่ออย่างนั้นครับ ระบบที่ไม่ได้มาจากการเลือกตั้งมันหนักกว่าระบบที่มาจากการเลือกตั้ง ระบบมันเป็นอย่างนี้ เมื่อไม่มีตัวแทนจากการเลือกตั้ง ไม่มีฝ่ายค้าน มันต้องยอมรับการรั่วไหล ถึงได้บอกว่าระบบที่ไม่มีการตรวจสอบอย่างนี้จะอยู่นานไม่ได้เพราะบ้านเมืองมันจะเสียหาย แต่ว่าเมื่อบ้านเมืองเกิดความขัดแย้ง การชุมนุม การก่อการร้าย รบราฆ่าฟันกัน มันไม่มีการปฏิเสธว่าต้องยุติสิ่งเหล่านั้น เรายุติสิ่งเหล่านั้นแล้วต้องรีบกลับคืนสู่ภาวะปกติให้เร็วที่สุด
ผมไม่เชื่อว่าเงินงบประมาณจะถูกจัดสรรไปใช้อย่างคุ้มค่า ยิ่งอยู่ต่างจังหวัดยิ่งรู้เลย ยิ่งระบบที่มีการรวมศูนย์อำนาจในขณะนี้ มันเป็นระบบที่ทำให้ระบบราชการมีความเข้มแข็งมาก ปกติแล้วเราต้องลดอำนาจของราชการ แล้วไปเพิ่มอำนาจแก่ประชาชน แต่ตอนนี้กลายเป็นว่าเราไปเพิ่มอำนาจของราชการ ตามหลักการต้องเป็นอย่างนั้น ในระบบราชการที่เข้มแข็งแบบนี้เราต้องได้คนที่ดีเข้ามาบริหาร ในขณะเดียวกัน ประชาชนก็ต้องดีมากๆ ถึงจะไปรอด แต่มันไม่มีหลักประกันใดเลยว่าคนอย่างไหนถึงดีที่สุด ตรงนี้เองจึงต้องมีการตรวจสอบการเปลี่ยนแปลง การเลือกตั้งและเปลี่ยนแปลง เพื่อเอาคนไม่ดีออกไป เป็นระบบที่หมุนเป็นวัฏจักร
มองว่าช่องโหว่เอื้อประโยชน์เรื่องหัวคิวในระบบราชการคืออะไร
คือความไม่เข้มแข็งของระบบและคนด้วย ระบบมันเปิดช่องให้กระทำสิ่งเหล่านี้ได้ง่าย มันไม่โปร่งใส ผมขอยกตัวอย่างเรื่องที่ผมเคยพูดมาโดยตลอด เรื่ององค์การสงเคราะห์ทหารผ่านศึก ไปทำสัญญารับเหมาทำสัญญาขุดลอกแหล่งน้ำทั่ว ประเทศ งบประมาณ 4,000 กว่าล้าน สัญญาเดียว 4,000 กว่าล้านบาท อย่างนี้เชื่อเหรอครับว่าสุจริต? ผมไม่เคยเห็นองค์การสงเคราะห์ทหารผ่านศึกมีรถแบกโฮสักคันเดียว หน้าที่ที่แท้จริงของเขาคือจัด รปภ. ให้หน่วยราชการนำทหารที่ปลดประจำการมาทำได้ แต่การที่มาทำสัญญาขุดลอกแหล่งน้ำงบตั้งหลายพันล้านเป็นไปได้อย่างไร? ทำไมเราไม่เห็นว่าตรงนั้นมีการทุจริต ต้องมีการตรวจสอบ
หน่วยงานอิสระด้านตรวจสอบการทุจริตคอร์รัปชันมีบทบาทต่อประเด็นนี้อย่างไร
กล่าวในระบบปัจจุบันนะครับ ไม่มีใครกล้าตรวจสอบหรอก เว้นแต่ว่าผู้มีอำนาจเว้นช่องให้ตรวจอย่างเต็มที่ เมื่ออำนาจทุกอำนาจอยู่ในมือของคนๆ เดียว มันเป็นเรื่องยากครับ ผมถึงบอกว่าเมื่อมีอำนาจสูงสุดมันต้องรีบปฏิรูประบบทุกระบบ อย่าไปทำเหมือนรัฐบาลปกติ คสช. บอกว่าสร้างผลงานได้มากกว่ารัฐบาลปกติ ใช่สิครับ! เพราะไม่มีฝ่ายค้าน ทีนี้ การมาโชว์เรื่องผลงานรัฐบาลนี้ยึดอำนาจมีผลงานเยอะแยะ มันไม่ใช่ผลงานซึ่งผลงานจริงๆ ต้องปฏิรูประบบราชการ ระบบคิด วิธีคิดของคน ต้องปฏิรูปหมด วันนี้ถามว่าเราเห็นเรื่องการปฏิรูปอะไรบ้าง ผมว่ามันยังคลุมเครืออยู่ คนซึ่งเป็นเครื่องมือของการปฏิรูป ถามว่าคนเปลี่ยนความคิดหรือยัง? ถ้าคนยังไม่เปลี่ยนความคิดยังไงการปฏิรูปก็ไม่สำเร็จ
องค์กรหรือหน่วยงานใดที่มีการเรื่องการทุจริตเรื่องหัวคิวอย่างหนัก
หน่วยงานที่เกี่ยวข้องกับการก่อสร้าง กลุ่มนี้จะพบการทุจริตเยอะ เช่น การสร้างอาคาร สร้างถนน โครงสร้างใหญ่ๆ การซื้อเครื่องไม้เครื่องไม้เครื่องมือวัสดุอุปกรณ์ทีละเยอะๆ มันล็อคสเปกกันได้ มันฮั้วกันได้ มันสมยอมกันได้ มันเป็นปัญหาเรื่องผลประโยชน์ รู้กันอยู่แล้วแต่ได้ประโยชน์กันหมด มันก็ต้องทำให้ประชาชนปฏิเสธเรื่องนี้ แต่ไม่ว่าจะวิจัยกี่ครั้งปรากฏว่าประชาชนก็ไม่ปฏิเสธถ้าตัวเองได้ประโยชน์ด้วย ซึ่งตรงข้ามกับประเทศมาเลเซียที่คนปฏิเสธเรื่องการทุจริตแม้ตัวเองจะได้ประโยชน์ด้วย การปฏิรูปตามมันต้องปฏิรูปความคิดของคนให้ได้เสียก่อน
มองเห็นทางออกของปัญหาอย่างไร
เรื่องระบบคุ้มครองพยาน ซึ่งต้องปรับใหม่หมดครับ ประการที่หนึ่ง ต้องมีระบบคุ้มครองเขา ประการที่สอง ผู้ร่วมกระทำความผิดด้วยกันทั้งผู้ให้ผู้รับ ต้องมีกฎหมายซึ่งผมได้คุยกับท่านผู้พิพากษาแต่ว่ายังไม่สมบูรณ์ คือรูปแบบแฉก่อนได้รับความคุ้มครองก่อน ใครแฉก่อนได้รับความคุ้มครองก่อน สมมติว่ามีการทุจริตขึ้นมาแล้วเราไปแฉก่อนไม่ว่าเราจะเป็นผู้ให้หรือผู้รับก็ตาม ใครเป็นคนแฉก่อน รับสารภาพก่อน กันไว้เป็นพยานเลยอย่างนี้ถึงจะกลัวกัน