ผู้จัดการสุดสัปดาห์ - มหากาพย์การจัดซื้อ “รถเมล์ NGV” ของ “ขสมก.” มีต่อเนื่องมานานนับทศวรรษ และจนแล้วจนเล่าแม้ในยุคนี้ พ.ศ.นี้ก็ยังหนีไม่พ้นวังวนเดิมๆ คือพัวพันกับเรื่องความไม่โปร่งใสและข้อครหาในเรื่องคอร์รัปชัน
ใครคือผู้ที่ต้องรับผิดชอบ?
นี่คือคำถามใหญ่ซึ่งตอบไม่ยาก เพราะประจักษ์พยานมีให้เห็นชัดเจน
การประมูลการจัดซื้อรถเมล์ NGV เที่ยวล่าสุดเที่ยวนี้มีแต่ปัญหา กระทั่งเกิดข้อสงสัยว่า ตั้งใจกลัดกระดุมผิดตั้งแต่เม็ดแรกหรือไม่
โดยเฉพาะ “องค์การขนส่งมวลชนกรุงเทพหรือขสมก.” ที่มีคำถามที่ต้องตอบสังคมในเรื่องการให้ความเอ็นดู “บริษัท เบสท์ริน กรุ๊ป” ผู้ชนะการประมูลมาอย่างต่อเนื่อง
แล้วยิ่งเมื่อตรวจสอบข้อมูลทางธุรกิจของเบสท์รินฯ ก็จะพบว่า น่าจับตาไม่น้อย และไม่น่าแปลกใจว่า ทำไมกรมศุลกากรถึงจับตามองเป็นพิเศษ แต่ ขสมก.ไม่ได้ให้ความสนใจ
เบสท์รินฯ นั้นมีความเกี่ยวโยงกับบริษัท “ปรินทร์ อิมพอร์ต เอ็กซ์พอร์ต” ด้วยเหตุได้ร่วมลงทุนกันในบริษัท ซันลอง มอเตอร์ (ประเทศไทย) และทั้งสองบริษัทเคยมีข่าวถูกโยงว่า “ฮั้วประมูล” กัน เมื่อคราวมีการจัดซื้อรถโดยสารประจำทางด่วนพิเศษของกรุงเทพมหานคร (กทม.) หรือ บีอาร์ที เพราะเป็นบริษัทที่ลงแข่งขันประมูลรถบีอาร์ทีทั้งคู่
นอกจากนี้ยังเคยถูกกรมศุลกากรทำหนังสือถึงกรมพัฒนาธุรกิจการค้า เพื่อขอให้ระงับการจดทะเบียนเสร็จการชำระบัญชีมากกว่า 10 ครั้ง ในช่วงปี 2554-2559 รวมถึงเมื่อวันที่ 20 กันยายน 2559 ศาลภาษีอากรกลาง ก็มีคำพิพากษา ในคดีที่กรมศุลกากรและกรมสรรพากรร่วมกันฟ้องฐานสำแดงเท็จเพื่อหลีกเลี่ยงภาษีนำเข้ารถยนต์โดยสาร ยี่ห้อ “Golden Dragon” เมื่อช่วงเดือนตุลาคม 2549-กันยายน 2550 ซึ่งบริษัทแพ้คดีต้องจ่ายภาษี พร้อมเบี้ยปรับเงินเพิ่มต่างๆ รวมเป็นเงินกว่า 230 ล้านบาท
ขณะที่ความวุ่นวายเที่ยวนี้ หน่วยงานที่เกี่ยวข้องฟันธงเปรี้ยงลงมาว่า สำแดงข้อมูลอันเป็นเท็จ โดยเฉพาะ “กรมศุลกากร” ที่มี “กุลิศ สมบัติศิริ” นั่งแป้นเป็นอธิบดีที่ประกาศต่อหน้าสาธารณชนว่า เบสท์รินฯ สำแดงเอกสารนำเข้าเป็นเท็จ เพราะแจ้งว่า รถประกอบในมาเลเซียเพื่ออาศัยข้อตกลงทางการค้า AFTA ยกเว้นภาษีนำเข้า 40% แต่เอาเข้าจริงนำเข้าจาก “จีน” จนต้องยอมเสียค่าปรับ แต่ ขสมก.ก็ยังทำท่าจะตรวจรับ ทั้งๆ ที่ผิดเงื่อนไขที่กำหนดไว้ใน TOR
สำนักงานการตรวจเงินแผ่นดิน(สตง.) ของพิศิษฐ์ ลีลาวชิโรภาส ก็มีมุมมองไปในทิศทางเดียวกัน
ใช่หรือไม่ ขสมก.
ใช่หรือไม่ “สุระชัย เอี่ยมวชิรกุล” ผอ.ขสมก
โครงการนี้เริ่มต้นในสมัยของรัฐบาลทักษิณ ชินวัตร โดยคณะรัฐมนตรีมีมติเมื่อวันที่ 29 พฤศจิกายน 2548 ให้จัดหารถใหม่และนำรถเดิมบางส่วนมาซ่อม ปรับเป็นรถ ปอ. และใช้ก๊าซธรรมชาติเป็นเชื้อเพลิง (NGV) วงเงิน 23,500 ล้านบาท
จากนั้นก็ผ่านร้อนผ่านหนาวและเต็มไปด้วยสารพัดปัญหา เนื่องจากตรวจพบความผิดปกติในการจัดประมูล รวมถึงคำถามเรื่องความคุ้มไม่คุ้ม ทำให้จนแล้วจดรอดก็ไม่สามารถทำคลอดออกมาได้
แต่ยุคที่ “สุดๆ” เห็นทีจะหนีไปพ้นสมัยที่นายสมชาย วงศ์สวัสดิ์ เป็นนายกรัฐมนตรี และมีนายโสภณ ซารัมย์ จากพรรคภูมิใจไทย คนสนิทของนายเนวิน ชิดชอบ เป็น รมช.คมนาคม เพราะตั้งคำถามเกี่ยวกับความไม่โปร่งใส เช่น การประกวดราคาการเช่ารถด้วยวิธีการทางอิเล็กทรอนิกส์ในโครงการที่สลับซับซ้อนจะเสี่ยงต่อการเปิดช่องทางการรั่วไหลของงบประมาณและเกิดปัญหาคอร์รัปชั่นได้ กระทั่งนายโสภณ ที่ขยับขึ้นมาเป็น รมว.ก็ไม่สามารถผลักดันโครงการเช่ารถเมล์เอ็นจีวีได้สำเร็จ
เฉกเช่นเดียวกับในรัฐบาล น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร ก็เดินหน้าโครงการเช่ารถเมล์เอ็นจีวีอีกครั้ง ก็ยังทำไม่ได้ด้วยปัญหาเดิมๆ กระทั่งเกิดรัฐประหารโดย พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา หัวหน้า คสช.เมื่อวันที่ 22 พฤษภาคม 2557 และในที่สุดเมื่อ 2 ธันวาคม 2557 ครม.รัฐบาล คสช.ก็เห็นชอบให้ดำเนินการจัดซื้อ
จากนั้น ขสมก.ประกาศขายซองประกวดราคา และต้องยกเลิกทุกครั้ง จนครั้งสุดท้ายคือครั้งที่ 4 จึงได้ผู้ชนะคือ บริษัท เบสท์ริน กรุ๊ป จํากัด เนื่องจากเสนอราคาต่ำสุดที่ 3,389.71 ล้านบาท และลงนามสัญญาจัดซื้อเมื่อวันที่ 30 กันยายน 2559 และมีกำหนดส่งมอบภายในวันที่ 29 ธันวาคม 2559
ทว่า ในวันสุดท้าย เบสท์รินฯ ก็ไม่สามารถส่งมอบรถเมล์เอ็นจีวีให้ ขสมก. ได้ เนื่องจากบริษัท ซุปเปอร์ซาร่า จำกัด ซึ่งเป็นผู้นำเข้าของบริษัทเบสท์ริน ยื่นใบขนสินค้าโดยนำใบรับรองถิ่นกำเนิดสินค้า (Form D) ที่ออกโดยจากกระทรวงพาณิชย์มาเลเซีย ระบุว่า รถเมล์เอ็นจีวีลอตแรก 100 คัน เป็นรถเมล์ที่ประกอบในมาเลเซีย จึงมาขอใช้สิทธิยกเว้นภาษีนำเข้า ตามข้อตกลงเขตการค้าเสรีอาเซียน ซึ่งปกติทั่วไปเสียภาษีในอัตรา 40% ของราคานำเข้า โดยระบุในใบรับรองถิ่นกำเนิดสินค้าระบุว่ารถเมล์ลอตนี้ใช้วัตถุดิบ แรงงานในประเทศมาเลเซีย รวม 90.11% แต่กรมศุลกากรได้ตรวจสอบพบว่ามิได้เป็นเช่นนั้น จึงได้ทำการอายัดไว้
ในล็อตแรก ศุลกากรตรวจสอบพบว่า หมายเลขตู้คอนเทนเนอร์ที่นำรถเมล์ดังกล่าวเข้ามานั้น เป็นหมายเลขตู้เดียวกันกับที่ออกจากประเทศจีน โดยสำแดงเป็นรถเอ็นจีวีสำเร็จรูป ยี่ห้อ โมเดล ตรงกันอย่างชัดเจน และส่งออกจากจีนเมื่อวันที่ 28 ต.ค. เข้ามาเลเซีย วันที่ 9 พ.ย. และออกวันที่ 23 พ.ย. โดยถึงไทยวันที่ 30 พ.ย. 2559 เป็นช่วงเวลาที่ไล่เลี่ยต่อเนื่องกัน
ส่วนรอบที่ 2 สำแดงนำเข้า 99 คันในลักษณะเดียวกัน โดยขนส่งผ่านทางเรือ ออกจากจีนวันที่ 13 พ.ย. เข้ามาเลเซียวันที่ 19 พ.ย. ออกวันที่ 26 พ.ย. และเข้าไทยวันที่ 1 ธ.ค.2559
จากนั้นกรมศุลกากรทำหนังสือแจ้งว่าบริษัทซุปเปอร์ซาร่ามีความผิดตามมาตรา 99 และ 27 แห่ง พ.ร.บ.ศุลกากร พ.ศ. 2469 ฐานสำแดงแหล่งกำเนิดสินค้าเป็นเท็จ หากประสงค์จะนำรถออกจากด่านศุลกากรแหลมฉบัง ต้องนำเงินมาจ่ายค่าภาษีและค่าปรับรวม 370 ล้านบาท หรือนำหนังสือค้ำประกันจากธนาคารพาณิชย์มาวางเป็นประกันเทียบเท่าจำนวนค่า ภาษีหรือค่าปรับ
ที่ตลกร้ายที่สุดคือ ก่อนหน้าที่ซุปเปอร์ซ่าร่าจะยอม เสียค่าปรับ 3.7 ล้านบาทเพื่อนำรถออกจากท่าเรือ 1 คัน นายคณิสสร์ ศรีวชิระประภา ประธาน บริษัท เบสท์ริน กรุ๊ป ออกมาให้สัมภาษณ์หน้าตาเฉยว่า เตรียมยื่นหนังสือถึง ขสมก. นำเสนอไปยังกระทรวงคมนาคมและกระทรวงการคลัง เพื่อขอใช้เงินจำนวน 3,300 ล้านบาท ที่รัฐบาลต้องจ่ายให้บริษัทในฐานะผู้ชนะการประมูล เป็นเงินค่าปรับให้กับกรมศุลกากรที่เรียกเก็บ 40% เพื่อให้ประชาชนได้ใช้บริการรถเมล์โดยเร็วหากตรวจสอบแล้วไม่พบความผิด กระทรวงค่อยจ่ายเงินจำนวน 3,300 ล้านบาท ให้กับบริษัทในฐานะผู้ชนะการประมูล
ก่อนที่จะโดนตอกหน้าหงายจาก นายอภิศักดิ์ ตันติวรวงศ์ รมว.การคลัง บอกว่า เป็นไปไม่ได้
ประเด็นสำคัญถัดมาคือ แม้ว่าจะมีปัญหา แม้ว่าเบสท์รินฯ จะทำผิดกฎหมาย แต่ ขสมก.ทำว่าจะตรวจรับรถเสียอย่างนั้น ทั้งๆ ที่ใน TOR ข้อ 5.1 ตามข้อเสนอด้านเทคนิคกำหนดให้ผู้ประมูลงานต้องแจ้ง “คุณสมบัติและรายละเอียดด้านเทคนิคของรถเมล์ทั้งคัน และชิ้นส่วนต่างๆ เป็นผลิตภัณฑ์ของประเทศใด” ขณะที่ในสัญญาซื้อขายและจ้างซ่อมบำรุงรถเมล์เอ็นจีวีที่ทำกันไว้เมื่อวันที่ 30 กันยายน 2559 ระหว่าง ขสมก. กับกลุ่มของบริษัทเบสท์ริน ทำข้อตกลงกันไว้ว่า “จะนำรถเมล์เอ็นจีวี ขนาด 12 เมตร ยี่ห้อ Sunlong รุ่น SLK 6129 CNG ผลิตในประเทศจีน ประกอบ ณ โรงงาน R&A Commercial Vihicles SDN BHD ประเทศมาเลเซีย” มาส่งมอบให้ ขสมก. ทั้งหมด 489 คัน แต่ข้อเท็จจริงที่กรมศุลกากรตรวจสอบพบคือเป็นรถเมล์ที่ผลิตในจีน ไม่ได้ประกอบที่โรงงานในมาเลเซีย
จนนายพิศิษฐ์ ผู้ว่าฯ สตง.ต้องออกมาตอบชัดๆว่า “ต้องถือเป็นสาระสำคัญ มิฉะนั้นจะระบุไว้ในสัญญาซื้อ-ขายทำไม ตามหลักการแล้ว ขสมก. ตรวจรับไม่ได้ เพราะจะต้องตรวจรับรถเมล์ตามเงื่อนไขของสัญญาที่ตกลงกันไว้ หากคณะกรรมการตรวจรับรถของ ขสมก. ทั้งๆ ที่รับรู้ว่ารถเมล์ลอตนี้มีปัญหาสำแดงถิ่นกำเนิดสินค้าเป็นเท็จต่อกรมศุลกากร กรณีนี้อาจเข้าข่ายเอื้อประโยชน์ได้ เพราะเจ้าหน้าที่ของรัฐมีหน้าที่รักษาผลประโยชน์ให้กับทางราชการ” ก่อนที่จะทำประหนึ่งชี้โพรงให้กระรอกว่า “ถามว่ารถเมล์ 100 คัน เมื่อนำเข้ามาแล้วตรวจรับไม่ได้ทำอย่างไร ผมคิดว่าไหนๆ ก็นำเข้ามาแล้ว ผู้ประมูลงานก็อาจจะยกรถเมล์ลอตนี้ให้กับ ขสมก. โดยไม่เรียกเก็บเงิน ถ้าเป็นกรณีนี้อาจไปปรับลดจำนวนรถที่ต้องส่งมอบให้ ขสมก. ตามสัญญาได้ ถือว่าทางราชการได้ประโยชน์ แต่ถ้าเรียกเก็บเงินกับ ขสมก. กระบวนการในการตรวจรับรถก็ต้องเป็นไปตามเงื่อนไขที่ระบุในสัญญา”
ใครผิด?
เบสท์รินท์ฯ ผิดใช่หรือไม่
ใช่ ร้อยเปอร์เซ็นต์เพราะจำนนด้วยหลักฐานโดยไม่อาจหาคำอธิบายใดๆ มาแก้ตัวได้
คำถามตามมาคือ ถ้ากรมศุลกากรไม่ท้วงติง ขสมก.จะรับมอบหรือไม่
คำตอบคือไม่รู้ แต่หลายสิ่งหลายอย่างชวนให้น่าสงสัยบางประการ เพราะมีปัญหามากมายขนาดนี้ ขสมก.ก็ยังไม่ประกาศยกเลิกสัญญา ทั้งๆ ที่ผิดกฎหมายชัดเจน
และสิ่งที่เกิดขึ้นครั้งนี้ สังคมอยากเห็นมาตรการที่เด็ดขาดในการจัดการกับเบสท์รินท์ฯ เพราะเห็นได้ชัดว่า มิได้ดำเนินธุรกิจอย่างตรงไปตรงมา และสุดท้ายถ้าไม่มีอะไรเปลี่ยนแปลง ก็สมควรที่จะขึ้น “บัญชีดำ” ห้ามประกอบกิจการใดๆ ในลักษณะดังกล่าว จะตลอดไปหรือในช่วงเวลาใดเวลาหนึ่งก็ได้ แต่มิใช่ไม่ทำอะไรเลย และทำทุกอย่างเหมือนกับเป็นเรื่องปกติ
ขณะที่ ขสมก.เองก็สมควรจะต้องมีผู้รับผิดชอบจากสิ่งที่เกิดขึ้นในครั้งนี้เช่นกัน ไม่ใช่ทุกคนยังคงอยู่ปกติสุขเหมือนเช่นเดิม
นี่คือการปฏิรูปประเทศไทยที่คนไทยอยากเห็น