เราเริ่มต้นเดือนใหม่ของปีใหม่ พ.ศ. 2560 (ค.ศ. 2017) ด้วยการประชุมภาคเอกชนประจำปีชื่อ World Economic Forum (เวทีประชุมเศรษฐกิจโลก) ที่ได้จัดติดต่อกันมาถึง 36 ปีแล้ว เป็นการพบปะแบ่งปันความรู้, ประสบการณ์ และวิสัยทัศน์ รวมทั้งการประเมินและการคาดการณ์ทิศทางของโลก ทั้งด้านเศรษฐกิจ, การเมือง, สังคม, เทคโนโลยี ของบรรดาผู้บริหารระดับสูงของประเทศต่างๆ ไม่ว่าจะเป็นนักการเมือง, ข้าราชการประจำ, นักธุรกิจของบริษัทข้ามชาติที่เป็นทั้งผู้ผูกขาด และที่มีน้ำหนักสามารถชี้นำหรือชี้ทิศทางของโลก ทั้งทางด้านการเงิน, การผลิต, ภาคบริการ, ภาคเทคโนโลยี
การประชุมนี้ เดิมไม่มีเอ็นจีโอ แต่หลังๆ นี้ก็มีสัดส่วนของเอ็นจีโอเข้าไปมีส่วนนำเสนอแนวคิดเพิ่มเติมมากขึ้น เพื่อหยุดยั้งความโลภและการปล้นสะดม หรือครอบครองโลกแบบไม่เป็นธรรมป่าเถื่อน ด้วยอำนาจอิทธิพลที่เหนือรัฐบาล หรือถึงขนาดทำลายล้างโลก (ด้วยการเพิ่มเติมความร้อนของโลกอย่างไม่ปรานีปราศรัย) รวมตลอดถึง Celebs ดังๆ ของโลก ซึ่งหนีไม่พ้นเหล่าดาราฮอลลีวูด ซึ่งส่วนใหญ่ค่อนข้างเป็นฝ่ายเห็นอกเห็นใจประชากรส่วนใหญ่ของของโลกที่ยากจนข้นแค้น
การประชุมครั้งนี้ เกิดจังหวะเดียวกับช่วงเวลาสาบานตนของประธานาธิบดีคนใหม่ของสหรัฐฯ พอดิบพอดี (ซึ่งก็ไม่ค่อยเกิดขึ้นบ่อยนักในรอบ 30 กว่าปีที่ผ่านไป) สำหรับประเทศสหรัฐอเมริกา จึงมีแต่ตัวแทนรัฐบาลเป็นเป็ดง่อย 2 คน (ดูเหมือนกับไปกล่าวอำลาเวทีโลก) และอาจมีฝากฝังการบ้านที่ตนยังทำไม่เสร็จให้โลกได้ผลักดันต่อไป) ได้แก่รองประธานาธิบดี โจ ไบเดน และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศ จอห์น แคร์รี ทั้งคู่ไม่ได้รับความสนใจนัก
สำหรับรัฐบาลใหม่ของโดนัลด์ ทรัมป์ ส่งแค่ที่ปรึกษาประธานาธิบดี ซึ่งก็ยังไม่มีบทบาทอะไรนัก เพราะโดนัลด์ ทรัมป์ยังไม่ได้สาบานตน และยังไม่ได้ประกาศนโยบายรูปธรรมที่ชัดเจนออกมา
ทางฝ่ายจีนก็มาแบบ Grand Entrance ทีเดียว นำโดยประธานาธิบดี สี จิ้นผิง นับเป็นผู้นำสูงสุดของจีนขณะอยู่ในตำแหน่งผู้บริหารสูงสุดมาร่วมประชุมเป็นครั้งแรก ทางจีนอาจคำนวณแล้วว่า ทางรัฐบาลสหรัฐฯ เป็นรัฐบาลเป็ดง่อย ก็เลยตอบตกลงมา โดยนำทีมทั้งรัฐมนตรีและผู้บริหารภาครัฐวิสาหกิจยักษ์ และภาคเอกชน (เช่นนายแจ็ค หม่า) มากันเพียบบอกว่าจะเข้าร่วมประชุมกลุ่มย่อยต่างๆ ทุกกลุ่ม เป็นยาแดงเข้าร่วมในทุกกลุ่ม แต่ที่สำคัญก็คือ จีน มาร่วมประชุมขณะที่กำลังจะมีการเปลี่ยนแปลงนโยบายแบบ 180 องศา ของประเทศสหรัฐอเมริกา โดยประธานาธิบดีคนที่ 45 ซึ่งได้หาเสียงขนาดผู้หลักผู้ใหญ่ของฝ่ายพรรครีพับลิกัน ที่เป็นพรรคของท่านประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์เอง ยังถึงกับสะอึกกับการเสนอนโยบายแบบหักลำโค่นกับนโยบายแนวพรรคของรีพับลิกัน โดยไม่เอาโลกาภิวัตน์ หรือเปิดตลาด, เปิดประเทศแบบเสรี
ท่านประธานาธิบดีสี จิ้นผิง ได้พูดถึงการเชื่อมโลก, การดำเนินนโยบายแบบเปิดประตูเพื่อขับเคลื่อนการเติบโตทางเศรษฐกิจ และความมั่นคงของโลก ผ่านการค้าการลงทุนทั้งโลก ท่านได้เตือนผลเสียจากนโยบายแบบปิดประตูต่อต้านโลกาภิวัตน์ว่าเสมือนทำงานอยู่ในห้องที่ปิดประตูหน้าต่าง ไม่เปิดให้แสงแดดและลมพัดผ่านเข้ามา ทำให้เกิดความมืดมิด ไม่เกิดผลดีต่อการทำงาน อาจเกิดเชื้อโรคด้วย
ท่านไม่ได้พูดถึงนโยบายของทรัมป์โดยตรง แต่เป็นการเปรียบเปรยและเตือนแบบอ้อมๆ ว่าทางออกของโลกคือการเปิดประตูหน้าต่างรับแสงแดด ซึ่งก็สอดคล้องกับนโยบายทางสายไหมสายใหม่ (ฟื้นฟูจากเส้นทางเดิมสมัยโบราณ) ทั้งทางบกและทางทะเล มีตัวย่อว่า OBOR ย่อมาจาก One Belt, One Road โดยจะมีธนาคารที่เพิ่งตั้งขึ้นใหม่ชื่อ AIIB (ย่อมาจาก Asian International Infrastructure Bank) ซึ่งมองยังไงก็เห็นชัดเจนว่ากำลังมาแข่งในการปล่อยเงินกู้ให้แก่โครงการก่อสร้างสาธารณูปโภคของประเทศต่างๆ ในเอเชียที่กำลังพัฒนาทั้งหมด นั่นคือแข่งกับธนาคารโลก (เดิม) และธนาคารเพื่อการพัฒนาเอเชีย คือ เอเชียน ดีเวลอปเมนท์ แบงก์
และขณะนี้ ทั้งโลกก็ยังเหลือแค่สหรัฐฯ และญี่ปุ่นที่ยังไม่ยอมเข้าเป็นสมาชิกผู้ถือหุ้นลงขันใน AIIB สำหรับประเทศสมาชิกล่าสุดที่เคยเก็บตัวสงวนตัวไม่เข้า AIIB แต่ในที่สุดก็ต้องเปลี่ยนใจ ก็คือประเทศแคนาดา ซึ่งมีชายแดนอยู่ติดกับสหรัฐฯ, ทั้งอยู่ในกลุ่มประเทศจี 7 กับสหรัฐฯ และอยู่ในเขตการค้าเสรีอเมริกาเหนือ หรือนาฟตาด้วย
สำหรับจีน การเชื่อมต่อเส้นทางสายไหมทั้งทางบกและทางทะเลจะเดินหน้าต่อไปอย่างรวดเร็วและหนักแน่น ล่าสุด กับการลงทุนมหาศาลถึง 50,000 ล้านดอลลาร์ (หรือประมาณ 2 ล้านล้านบาท เท่ากับงบประมาณประจำปีของไทย) ที่ปากีสถาน เพื่อเชื่อมต่อสาธารณูปโภคพื้นฐานกับเส้นทางสายไหม นอกจากนี้ ยังมีข่าวใหญ่ประเดิมต้นปีนี้ คือรถไฟขนส่งสินค้าจากจีน เดินทางเที่ยวปฐมฤกษ์ผ่าน 10 กว่าประเทศ ตั้งแต่รัสเซีย, คาซัคสถาน, เรื่อยไปถึงเยอรมนี, ฝรั่งเศสมาจบปลายทางที่อังกฤษ
นี่ขนาดเป็นรถไฟขนส่งสินค้าแบบธรรมดาๆ ไม่ใช่รถไฟด่วนแบบหัวกระสุนนะ
เมื่อจีนมีนโยบายเชื่อมต่อจากจีนถึงยุโรปขนาดนี้ เห็นเป็นรูปธรรมตั้งแต่ต้นปี 2560 ก็เป็นคำตอบของคำถามที่ว่าทำไมจีนจึงมีผู้บริหารสูงสุดไปกล่าวปาฐกถา แสดงวิสัยทัศน์ที่เวทีประชุมเศรษฐกิจโลกเป็นครั้งแรก ก็เพื่อประกาศศักดา หรือการเล่นบทบาทเป็นพี่ใหญ่ของโลกที่จะค้ำจุนอุ้มชูโลก, ขับเคลื่อนการเติบโตของโลกทั้งใบ (ในยามที่เศรษฐกิจโลกมีความซบเซา)
ขณะที่ประเทศเศรษฐกิจใหญ่อันดับ 1 ของโลก และเป็นมหาอำนาจเดี่ยวด้านแสนยานุภาพ (ที่ยังไม่มีประเทศอื่นมาทัดเทียม) เช่นสหรัฐฯ กำลังประกาศปิดประเทศหันมาฟื้นฟูดูแลแต่ในประเทศของตนกับนโยบาย “อเมริกาต้องมาก่อน”
หลายคนมีสิทธิตั้งคำถามเหมือนกันว่าในยามที่เศรษฐกิจในประเทศกำลังมีปัญหา หรือกำลังก่อสร้างชาติ (Nation Building) ทำไมไม่ปิดประเทศก่อน? เพราะจีนก็เคยผ่านช่วงนั้นมาแล้วหลังเปลี่ยนแปลงการปกครอง
ในการประชุมเวทีเศรษฐกิจโลกปีนี้ ยังมีความสั่นสะเทือนเลื่อนลั่น จากรายงานของอ็อกแฟม องค์กรเอ็นจีโอ ที่สะท้อนว่าคนมั่งคั่งร่ำรวยสุดของโลก 8 คน มีทรัพย์สินเท่ากับประชากรถึงครึ่งโลกทีเดียว
จะนำเสนอต่อไปในครั้งหน้าค่ะ.