ผู้จัดการสุดสัปดาห์ -กระแสประท้วงทั้งในอเมริกาและหลายเมืองใหญ่ทั่วโลกเมื่อวันที่ 20 ม.ค. ที่ผ่านมาถือเป็นจุดเริ่มต้นที่ไม่สวยงามนักสำหรับรัฐบาลใหม่ภายใต้การนำของมหาเศรษฐี โดนัลด์ ทรัมป์ และนอกจากจะเป็นสัญญาณบ่งบอกถึงอนาคตเต็มไปด้วยอุปสรรคนานัปการสำหรับ ทรัมป์ แล้ว ยังสะท้อนความขัดแย้งทางการเมืองซึ่งสร้างความร้าวฉานในสังคม และกำลังคุกคามความเป็นผู้นำโลกเสรีของอเมริกา
เช้าวันที่ 20 ม.ค. ขณะที่ ทรัมป์ กำลังเข้าพิธีสาบานตนรับตำแหน่งประธานาธิบดีคนที่ 45 ของสหรัฐอเมริกา กลุ่มนักเคลื่อนไหวชุดดำราว 500 คนได้ก่อจลาจลทุบทำลายอาคาร รถยนต์ และทรัพย์สินสาธารณะในกรุงวอชิงตัน ดี.ซี. รวมไปถึงสัญลักษณ์ของระบอบทุนนิยมอเมริกันอย่างธนาคาร แบงก์ ออฟ อเมริกา ร้านแมคโดนัลด์ และร้านกาแฟสตาร์บักส์ จนตำรวจปราบจลาจลต้องใช้สเปรย์พริกไทยและระเบิดเสียงควบคุมฝูงชนที่โกรธแค้น โดยพื้นที่เกิดเหตุนั้นอยู่ห่างจากอาคารรัฐสภาที่ ทรัมป์ สาบานตนเพียงราวๆ ไมล์ครึ่ง
ผู้ประท้วงร้องตะโกนต่อต้านผู้นำคนใหม่ และมีบางคนชูป้าย “Make Racists Afraid Again” ซึ่งเป็นการล้อเลียนสโลแกนหาเสียง “Make America Great Again” ของทรัมป์
“ฉันจะประกาศให้ทุกคนรู้ว่า ทรัมป์ ไม่ใช่ตัวแทนของประเทศนี้ เขาเป็นแค่ตัวแทนผลประโยชน์ของพวกนักธุรกิจเท่านั้น” เจสสิกา เรซนิเซก วัย 35 ปี จากรัฐไอโอวาซึ่งเดินทางมาประท้วง แต่ไม่ได้ร่วมก่อจลาจลด้วย ระบุ
ต่อมาในวันเสาร์ (21) โลกได้เห็นปรากฏการณ์ครั้งประวัติศาสตร์ที่ผู้หญิงนับล้านๆ คนออกมาเดินขบวนเต็มท้องถนนตามเมืองใหญ่ในสหรัฐฯ และเมืองสำคัญอีกหลายแห่งทั่วโลก ซึ่งนับเป็นกระแสต่อต้านที่รุนแรงและกว้างขวางอย่างที่ไม่เคยปรากฏมาก่อน
พวกเธอเหล่านี้โกรธแค้นคำพูดและพฤติกรรมของ ทรัมป์ ในช่วงรณรงค์หาเสียง ซึ่งทั้งก้าวร้าวและดูถูกดูหมิ่นผู้หญิงมากเป็นพิเศษ
ผู้จัดการประท้วงคาดว่ากิจกรรมคราวนี้มีผู้คนเข้าร่วมเกือบ 5 ล้านคน มากมายกว่าที่คาดหมายกันเอาไว้ ซึ่งเน้นย้ำให้เห็นถึงความไม่พอใจอย่างแรงกล้าที่ประชาชนมีต่อการแสดงความคิดเห็นและนโยบายของ ทรัมป์ ซึ่งมีลักษณะดูถูกเหยียดหยามคนหลายกลุ่ม ไม่ว่าจะเป็นผู้อพยพจากเม็กซิโก ชาวมุสลิม คนพิการ หรือนักอนุรักษ์สิ่งแวดล้อม
“เราต้องการผู้นำที่แท้จริง ไม่ใช่พวกนักเลงทวิตเตอร์ที่น่าขยะแขยง” เป็นหนึ่งในหลายๆ คำขวัญที่ผู้คนป่าวร้อง คนจำนวนมากสวมหมวกถักสีชมพูที่เรียกกันว่า “พุซซี่ แฮต” (pussy hat) หรือ “หมวกโสเภณี” เพื่อท้าทายคำพูดของมหาเศรษฐีปากเปราะในคลิปวิดีโอเมื่อปี 2005 ซึ่งถูกเผยแพร่ต่อสาธารณชนแค่ไม่กี่สัปดาห์ก่อนวันเลือกตั้ง โดย ทรัมป์ นั้นคุยโวว่าการที่เขาเป็นคนดังทำให้นึกจะจับของสงวนของผู้หญิงคนไหนก็ได้
ศูนย์กลางของการประท้วงคราวนี้คือการเดินขบวนในกรุงวอชิงตัน ดี.ซี. ที่ใช้ชื่อว่า “วีเมนส์ มาร์ช ออน วอชิงตัน” (Women's March on Washington) ซึ่งดูเหมือนจะมีประชาชนออกมาร่วมแสดงพลังมากกว่าผู้คนที่ไปเป็นสักขีพยานการสาบานตนขึ้นเป็นประธานาธิบดีของ ทรัมป์ เมื่อ 1 วันก่อนหน้าเสียอีก
นักร้องดีวาตัวแม่อย่าง “มาดอนนา” สร้างเซอร์ไพรส์ด้วยการขึ้นกล่าวปราศรัยต่อกลุ่มผู้ชุมนุมในกรุงวอชิงตัน ดี.ซี. เมื่อวันเสาร์ (21) และยังมีบุคคลดังอีกหลายคนที่มาร่วมชุมนุมต่อต้านผู้นำสหรัฐฯ เช่น สการ์เลตต์ โจแฮนสัน, แอชลีย์ จัดด์, เอ็มมา วัตสัน, อเมริกา เฟอร์เรรา, ผู้กำกับสารคดีชื่อดัง ไมเคิล มัวร์ และนักเคลื่อนไหวเพื่อสิทธิสตรี กลอเรีย สไตเนม เป็นต้น
ผู้หญิงอีกหลายแสนคนได้ไปรวมตัวกันที่นครนิวยอร์ก ลอสแองเจลิส ชิคาโก เดนเวอร์ และบอสตัน ซึ่งทำให้จำนวนมวลชนที่ออกมาต่อต้าน ทรัมป์ แซงหน้าการเดินขบวนประท้วงครั้งอื่นๆ ในประวัติศาสตร์การเมืองสมัยใหม่ของสหรัฐฯ
คณะผู้จัดการประท้วงที่ใช้ชื่อว่า “ซิสเตอร์ มาร์ช” (Sister March) ประเมินว่าน่ามีผู้เข้าร่วมราว 750,000 คนเต็มท้องถนนสายต่างๆ ในนครลอสแองเจลิส ขณะที่ตำรวจระบุว่า การชุมนุมคราวนี้ใหญ่พอๆ กันหรืออาจใหญ่กว่าการเดินขบวนสนับสนุนผู้อพยพเมื่อปี 2006 ซึ่งเรียกผู้คนเข้าร่วมได้ 500,000 คน
ที่นครนิวยอร์กมีคนออกมาชุมนุมต่อต้านประธานาธิบดีราว 400,000 คน ตามตัวเลขที่นายกเทศมนตรี บิลล์ เดอ บลาซิโอ ประกาศ แต่คณะผู้จัดให้ตัวเลขว่าน่าจะถึง 600,000 คน ส่วนที่ชิคาโกมีผู้คนหลั่งไหลเข้าร่วมมากเสียจนคณะผู้จัดต้องยกเลิกแผนเดินขบวนไปทั่วเมือง และเปลี่ยนเป็นการชุมนุมอยู่กับที่เท่านั้น
ตำรวจให้ตัวเลขผู้ชุมนุมที่ชิคาโกไว้ราวๆ 125,000 คน ขณะที่กลุ่มสนับสนุนประมาณว่ามีถึง 200,000 คน ซึ่งอยู่ในระดับเดียวกับการชุมนุมที่บอสตันและเดนเวอร์
นอกจากนี้ ยังมีกิจกรรมการประท้วงระดับเล็กลงมาในเมืองอื่นๆ เช่น ซีแอตเทิล รัฐวอชิงตัน, พอร์ตแลนด์ รัฐออริกอน, เมดิสัน รัฐวิสคอนซิน, และ บิสมาร์ค รัฐนอร์ทดาโคตา ซึ่งส่วนใหญ่ดำเนินไปอย่างสงบสันติ
ปรากฏการณ์เหล่านี้สะท้อนถึงความแตกแยกร้าวลึกในสหรัฐอเมริกา หลังจากที่ ทรัมป์ สร้างความตกตะลึงแก่ชาวโลกด้วยการเอาชนะอดีตรัฐมนตรีหญิง ฮิลลารี คลินตัน ผู้สมัครของพรรคเดโมแครตไปแบบหักปากกาเซียน และแม้เวลานี้พรรครีพับลิกันจะครองเสียงข้างมากในสภาคองเกรส แต่กระแสต้านที่รุนแรงก็เป็นสัญญาณเตือนว่า ทรัมป์ จะต้องเผชิญการคัดค้านอย่างหนักจากภาคส่วนต่างๆ ในสังคม ผิดกับประธานาธิบดีในอดีตซึ่งมักจะมีช่วง “ฮันนีมูน” ที่ประชาชนให้ความสนับสนุนสูงในระยะแรกๆ
ผลสำรวจของเอบีซีนิวส์/วอชิงตันโพสต์ พบว่า ทรัมป์ มีคะแนนนิยมขณะเข้ารับตำแหน่งเพียง 37% ซึ่งนับว่าต่ำที่สุดเมื่อเทียบกับประธานาธิบดีสหรัฐฯ คนก่อนๆ ตั้งแต่ทศวรรษ 1970 เป็นต้นมาที่จะมีคะแนนนิยมแรกเข้าไม่ต่ำกว่า 50%
การชุมนุม “ซิสเตอร์ มาร์ช” ยังเกิดขึ้นในอีก 670 จุดทั่วโลก รวมถึงที่ซิดนีย์, ลอนดอน, โตเกียว และอีกหลายเมืองในทวีปยุโรปและเอเชีย โดยทางกลุ่มประมาณการจากตัวเลขผู้ลงทะเบียนออนไลน์ว่าน่าจะมีผู้ชุมนุมรวมกันมากกว่า 4.6 ล้านคน ทว่าตัวเลขเหล่านี้ยังไม่สามารถยืนยันได้
ด้านกลุ่มที่สนับสนุน ทรัมป์ ก็ตั้งคำถามเรื่องความเหมาะสมในการชุมนุมต่อต้านประธานาธิบดีตั้งแต่วันแรกที่เข้ารับตำแหน่ง ทั้งที่ ทรัมป์ ยังไม่ได้มีโอกาสนำนโยบายต่างๆ ที่หาเสียงไว้มาปฏิบัติจริง
“พวกเขาไม่ให้เวลา ทรัมป์ ทำงานก็ด่วนสรุปกันไปแล้วว่า เขาจะเป็นประธานาธิบดีที่แย่” คิมเบอร์ลีย์ มอร์แกนวัย 54 ปี จากรัฐแอละแบมา กล่าว
ทรัมป์ ออกอาการฉุนเฉียวต่อรายงานของสื่อต่างๆ ซึ่งได้แพร่ทั้งภาพและคลิปวิดีโอเปรียบเทียบให้เห็นชัดเจนว่า ฝูงชนที่เข้าร่วมพิธีสาบานตนของเขาในวันศุกร์ (20) นั้นมีจำนวนน้อยกว่ามาก เมื่อเทียบกับพิธีสาบานตนของ บารัค โอบามา ในปี 2009 และ 2013
“ผมเป็นคนกล่าวปราศรัย ผมมองออกไป เห็นคนยืนกันเต็มสนาม น่าจะมีสัก 1 ล้านคน หรือ 1 ล้านครึ่ง” ทรัมป์ กล่าวระหว่างไปตรวจเยี่ยมสำนักงานใหญ่ของสำงานข่าวกรองกลางสหรัฐฯ (ซีไอเอ) เมื่อวันเสาร์ (21) พร้อมกับโจมตีสื่อมวลชนว่า “ไปถ่ายภาพสนามตรงจุดที่ในทางปฏิบัติไม่มีใครไปยืนตรงนั้นอยู่แล้ว”
ด้านโฆษกทำเนียบขาว ฌอน สไปเซอร์ ก็ออกมาช่วยถลุงสื่อมวลชนอีกแรง โดยระบุว่านักข่าว “จงใจบิดเบือน” จำนวนคนที่เข้าร่วมพิธีสาบานตนของ ทรัมป์
“นี่คือกลุ่มผู้ฟังที่ใหญ่ที่สุดในพิธีสาบานตนของประธานาธิบดีสหรัฐฯ จบนะครับ!” สไปเซอร์ กล่าว
“การพยายามลดทอนความกระตือรือร้นที่ประชาชนมีต่อพิธีสาบานตนครั้งนี้ ถือเป็นสิ่งที่น่าอับอายและไม่ถูกต้องเลย”
เช้าวันอาทิตย์ (22) ทรัมป์ ได้โพสต์ข้อความทางทวิตเตอร์เสียดสีกลุ่มผู้ชุมนุมซึ่งมีดารานักแสดงหลายคนรวมอยู่ด้วยว่า “เห็นการชุมนุมประท้วงเมื่อวานนี้ แต่ผมรู้สึกว่าเราเพิ่งจะมีการเลือกตั้งกันไปหมาดๆ นะ! ทำไมคนพวกนี้ถึงไม่ออกไปโหวตล่ะ?”
ถัดมาอีกเพียง 1 ชั่วโมง ผู้นำสหรัฐฯ ก็ได้ทวีตข้อความที่เป็นทางการและฟังดูประนีประนอมมากขึ้น โดยยืนยันว่าตนเคารพสิทธิของประชาชนที่จะแสดงออกทางการเมือง
“การประท้วงอย่างสันติคือหนึ่งสัญลักษณ์ของประชาธิปไตย แม้ว่าตัวผมเองจะไม่เห็นด้วยเสมอไป แต่ผมก็เคารพในสิทธิของผู้คนที่จะแสดงความคิดเห็น”
พิธีสาบานตนครั้งแรกของประธานาธิบดี โอบามา ในปี 2009 ดึงดูดฝูงชนให้เดินทางไปร่วมเป็นสักขีพยานที่ เนชันแนล มอลล์ ได้มากถึง 1.8 ล้านคน ตามข้อมูลจากหน่วยงานภาครัฐและท้องถิ่นในเวลานั้น ในขณะที่ทางการสหรัฐฯ คาดว่า พิธีสาบานตนของ ทรัมป์ น่าจะมีผู้เข้าร่วมไม่เกิน 800,000-900,000 คน หรือครึ่งหนึ่งของเมื่อปี 2009
ล่าสุด ทรัมป์ ยังพยายามอ้างเหตุผลที่เขาแพ้ “ป๊อปปูลาร์โหวต” ให้แก่ ฮิลลารี คลินตัน ว่าเป็นเพราะมีผู้อพยพที่ไม่ได้ขึ้นทะเบียน 3-5 ล้านคนแอบมาลงคะแนนเมื่อวันที่ 8 พ.ย. ปีที่แล้ว พร้อมอ้าง “ผลศึกษาและหลักฐาน” ที่ไม่ได้นำมาเปิดเผยตามเคย จนกระทั่งสมาชิกระดับสูงในพรรครีพับลิกันเองยังอดรนทนไม่ได้ ต้องออกมาขอร้องให้ประธานาธิบดีเลิกพูดเรื่องนี้
สถาบันวิจัยพิวได้เผยแพร่ผลสำรวจเมื่อวันพฤหัสบดีที่ 19 ม.ค. โดยพบว่ามีชาวอเมริกันถึงร้อยละ 86 ที่รู้สึกว่าสหรัฐฯ กำลังเผชิญความแตกแยกทางการเมืองมากกว่าในอดีต ซึ่งเป็นตัวเลขที่เพิ่มขึ้นถึงเท่าตัวจากผลสำรวจเมื่อ 8 ปีก่อนที่มีคนรู้สึกเช่นนี้เพียงร้อยละ 46
ฐานเสียงเดโมแครตและรีพับลิกันก็มีมุมมองเกี่ยวกับความแตกแยกทางการเมืองมากพอๆ กันในเวลานี้ ซึ่งแตกต่างจากเมื่อปี 2009 ที่พวกรีพับลิกันรู้สึกเช่นนี้เกินครึ่ง ในขณะที่เดโมแครตเห็นด้วยเพียง 4 ใน 10 คน
“การบริหารประเทศจะเป็นเครื่องตัดสินในที่สุด” นิวต์ กิงกริช อดีตประธานสภาผู้แทนราษฎรสหรัฐฯ ซึ่งผันตัวมาเป็นที่ปรึกษาให้ ทรัมป์ กล่าว “มีภารกิจ 2 ประการที่ประธานาธิบดีจะต้องทำระหว่างนี้จนถึงปี 2020 นั่นคือ ปกป้องอเมริกาให้ปลอดภัย และเพิ่มการจ้างงาน นี่คือสิ่งที่เขาได้ให้สัญญาไว้ และถ้าเขาทำสองสิ่งนี้สำเร็จ ที่เหลือมันก็แค่เสียงนกเสียงกา”
“ชาวอเมริกันโดยเฉลี่ยไม่ได้ใส่ใจกับเสียงวิจารณ์... พวกเขาจะถามตัวเองในช่วงปลายปี 2019 ถึงต้นปี 2020 ว่า ชีวิตความเป็นอยู่ดีขึ้นหรือไม่ ถ้าคำตอบคือใช่ พวกเขาก็จะพูดว่า “จ๋งดีนี่... ขออีกสักหน่อยสิ”
จากปรากฏการณ์ดังกล่าวจะเห็นได้ว่า การดำรงตำแหน่งประธานาธิบดีของทรัมป์ไม่ใช่เรื่องที่ง่ายเหมือนกับปลอกกล้วยเข้าปาก และมีการคาดการณ์ว่า ทรัมป์อาจจะอยู่ไม่ครบ 4 ปี แต่จะด้วยเหตุอะไรนั้น คงต้องติดตามกันต่อไป เพราะผู้มีอำนาจที่แท้จริงในสหรัฐอเมริกานั้น อาจไม่ใช่ประธานาธิบดี ผู้ซึ่งมีอำนาจตามกฎหมายก็ได้