ผู้จัดการสุดสัปดาห์ - วันก่อนมีข่าวออกมาจากห้องประชุมคณะรัฐมนตรี (เดิม) ชั้น 2 อาคารสำนักเลขาธิการคณะรัฐมนตรี ทำเนียบรัฐบาล ในการประชุมคณะกรรมการนโยบายการให้เอกชนร่วมลงทุนในกิจการของรัฐ (PPP) ครั้งที่ 1/2560 มีนายสมคิด จาตุศรีพิทักษ์ รองนายกรัฐมนตรี เป็นประธานฯ ได้มีมติเห็นชอบ “โครงการก่อสร้างหอชมเมืองกรุงเทพมหานคร” บนที่ดินราชพัสดุของกรมธนารักษ์ และเป็นโครงการแนวทางที่สอดคล้องกับนโยบายรัฐบาลภายใต้ปรัชญา “ศาสตร์พระราชา” โดยความร่วมมือในรูปแบบแนวทางประชารัฐของรัฐบาล
โครงการดังกล่าว คณะรัฐมนตรีเมื่อวันที่ 13 ธ.ค.2559 ได้อนุมัติให้ดำเนินโครงการก่อสร้างหอชมเมืองกรุงเทพมหานคร บนที่ดินราชพัสดุแปลงหมายเลข กท.3275 เขตคลองสาน กรุงเทพฯ โดยพื้นที่โครงการนี้จะตั้งอยู่ในซอยเจริญนคร 7 ถนนเจริญนคร
ทั้งนี้ โครงการดังกล่าวจะดำเนินการก่อสร้างโดย “มูลนิธิหอชมเมืองกรุงเทพมหานคร” ซึ่งเป็นองค์กรเอกชน มีนายพนัส สิมะเสถียร เป็นประธานฯ ได้ประเมินงบลงทุนไว้ที่ 4,422.96 ล้านบาท เป็นเงินตั้งต้นของมูลนิธิ 5 แสนบาท เงินกู้จากสถาบันการเงิน 2,500 ล้านบาท เงินบริจาคจากบริษัทเอกชนชั้นนำ 2,100 ล้านบาท ซึ่งประมาณการรายได้จากการจำหน่ายบัตรเข้าชม1,054 ล้านบาท/ปี ประมาณการราคาตั๋วที่ 750 บาท/คน คนไทยลด 50% มีค่าใช้จ่ายปีละ 892 ล้านบาท จ่ายดอกเบี้ยปีละ 38 ล้านบาท รายได้หลังหักค่าใช้จ่ายนำไปบริจาคองค์กรสาธารณกุศล
อย่างไรก็ตาม เนื่องจากโครงการนี้มีมูลค่าเกินกว่า1,000 ล้านบาท และเป็นการนำที่ดินของรัฐเข้าไปร่วมดำเนินการโดยตีราคาค่าเช่าระยะ 30 ปีเป็นเงินร่วม ลงทุนกับเอกชนจำเป็นต้องดำเนินการตามพระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) การให้เอกชนร่วมลงทุนในกิจการของรัฐ พ.ศ. 2556 ซึ่งขณะนี้กรมธนารักษ์ในฐานะหน่วยงานดูแลที่ราชพัสดุอยู่ระหว่างดำเนินการศึกษาวิเคราะห์โครงการตาม พ.ร.บ.ร่วมทุนฯ ปี 2560 ดังกล่าว
สำหรับรายละเอียดเบื้องต้นของหอชมเมืองกรุงเทพมหานคร จะมีความสูง 459 เมตร มีวัตถุประสงค์การสร้างและบริหารถาวรวัตถุที่มีเอกลักษณ์ของกรุงเทพฯ เพื่อเป็นแลนด์มาร์คดึงการท่องเที่ยว ในส่วนของชั้นบนสุดของหอชมเมืองฯ จะเป็นโถงเฉลิมพระเกียรติสมเด็จพระบูรพมหากษัตริยาธิราชแห่งมหาจักรีพระบรมราชวงศ์เพื่อประดิษฐานพระบรมรูปของบูรพมหากษัตริยาธิราชแห่งมหาจักรีพระบรมราชวงศ์เพื่อประดิษฐานพระบรมรูปของบูรพมหากษัตริยาธิราช ประดิษฐานรูปหล่อพระคลังมหาสมบัติ พร้อมแสดงพระราชกรณียกิจของสมเด็จพระปรมินทร มหาภูมิพลอดุลยเดช เพื่อเป็นการเผยแพร่ศาสตร์พระราชาทุกๆ ด้าน
กระทรวงการคลัง ย้ำว่า โครงการนี้ไม่เกี่ยวกับ โครงการก่อสร้าง Bangkok Eye มีลักษณะเหมือนกระเช้าลอยฟ้างบหลายหมื่นล้าน ซึ่งจะจัดสร้างในลักษณะหอชมเมืองคล้ายกับ London Eye ในประเทศอังกฤษของกทม. ยุคคุณชายสุขุมพันธ์ บริพัตร ตามแนวคิดเมื่อปี 2553 ที่อยากจะให้เอกชนมาลงทุน 100 เปอร์เซ็นต์ โดย กทม.เป็นเพียงผู้อำนวยความสะดวกในเรื่องกฎหมายเท่านั้น
ตอนนั้น ผู้บริหารกทม.ให้ข่าวว่า รูปแบบการดำเนินการจะให้เอกชนเข้ามาร่วมลงทุน โดย กทม.จะจัดหาสถานที่ คาดหมายว่า จะใช้งบประมาณราว 30,000 ล้านบาท ซึ่งพื้นที่ที่เล็งไว้ คือ ริมแม่น้ำเจ้าพระยา สอดคล้องกับแนวคิดที่จะสร้างสะพานคนเดินข้ามแม่น้ำเจ้าพระยา
แต่ต่อมาติดข้อกฎหมายหากจะก่อสร้างริมแม่น้ำเจ้าพระยาในพื้นที่ เกาะรัตนโกสินทร์ที่ห้ามก่อสร้างอาคารสูง โครงการจึงล้มไป
ต่อมาปี 2555 สภากรุงเทพมหานคร สมัยนายสุทธิชัย วีรกุลสุนทร เป็น ประธานสภาฯ พร้อมคณะสมาชิกสภากรุงเทพมหานครเดินทางไปเยือนเมืองหังโจว สาธารณรัฐประชาชนจีน มีการเยี่ยมชมหอไข่มุก ที่เมืองซูโจว ซึ่งเป็นหอส่งโทรทัศน์ที่สูงที่สุดในเอเชียและเป็นอันดับ 3 ของโลก ถือเป็นหอชมเมืองที่เป็นสัญลักษณ์ส่งเสริมการท่องเที่ยวของจีน ซึ่งสภากรุงเทพมหานคร ได้ตั้งคณะกรรมการวิสามัญขึ้นเพื่อศึกษาความเป็นไปได้และติดตามทั้งเรื่องการผลักดันงบประมาณให้เกิดขึ้นให้ได้ ต่อมาเรื่องนี้ก็เงียบไป
จนปี 2557 มีการจดทะเบียนมูลนิธิหอชมเมืองกรุงเทพมหานคร มี นายวิสิษฐ์ มาลัยศิริรัตน์ เป็นประธาน มีนายสุทธิลักษณ์ วินทุพราหมณกุล และนางสาวอารยา จิตตโรภาส นายชลชาติ เมฆสุภะ เป็นกรรมการ จดทะเบียนเมื่อปี 2557 ต่อมาเปลี่ยน นายพนัส สิมะเสถียร มาเป็นประธานฯ
ปี 2559 โครงการหอชมเมืองกรุงเทพมหานคร ผ่านรายงานการวิเคราะห์ผลกระทบสิ่งแวดล้อม(อีไอเอ) และรายงานมาตรการและข้อมูลการติดตามตรวจสอบ การปฏิบัติตามมาตรการที่กำหนดไว้ในรายงานฯ ของสำนักงานนโยบายและแผนทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม แล้ว เมื่อวันที่ 15 มิถุนายน 2559 และวันที่ 16 ก.ย.2559 มีการเปลี่ยนแปลงรายละเอียดโครงการ
อ่านรายละเอียดโครงการ “หอชมเมืองกรุงเทพมหานคร”http://eiadoc.onep.go.th/eialibrary/4housing/59/A59_6884.pdf
อ่านผลการพิจารณาเปลี่ยนแปล โครงการหอชมเมืองกรุงเทพมหานครhttp://eiadoc.onep.go.th/eialibrary/4housing/59/A59_10942.pdf
โดยผ่านความเห็นชอบ ตามลำดับโครงการที่ 10267 ชื่อโครงการหอชมเมืองกรุงเทพมหานคร เลขที่หนังสือเห็นชอบ ที่ ทส 1009.5/6884 วันที่ออกหนังสือเห็นชอบ 15 มิ.ย. 2559 โดยระบุ ประเภทโครงการบริการชุมชนและที่พักอาศัยที่ตั้งโครงการตำบลคลองต้นไทร อำเภอคลองสาน จังหวัดกรุงเทพมหานคร มีนิติบุคคลผู้ทำรายงาน คือ บริษัท คอนซัลแทนท์ ออฟ เทคโนโลยี จำกัด เจ้าของโครงการ คือ มูลนิธิหอชมเมืองกรุงเทพมหานคร
ทำให้ปัจจุบัน ประเทศไทย จะมีหอชมเมือง ที่สร้างเสร็จแล้วและกำลังสร้างเมื่อรวมกับของจังหวัดต่างๆ จำนวน 10 แห่ง ประกอบด้วย
1. หอแก้วมุกดาหาร จ.มุกดาหาร ความสูง 65.50 เมตร ใช้งบประมาณจำนวน 50 ล้านบาท (พ.ศ.2539)
2. หอชมเมืองนครสวรรค์ จ.นครสวรรค์ ความสูง 32 เมตร (ตั้งอยู่บนเขา) เปิดใช้เมื่อเดือน ตุลาคม 2551 ตัวหอสูง 32 เมตร มีจำนวน 10 ชั้น ใช้งบประมาณจำนวน 35 ล้านบาท
3. หอคอยเฉลิมพระเกียรติ จ.ศรีษะเกษ ความสูง 84 เมตรใช้งบประมาณ 65 ล้านบาท ตั้งอยู่ภายในสวนเฉลิมพระเกียรติพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว เฉลิมพระชนมพรรษา 80 พรรษา (เกาะกลางน้ำห้วยน้ำคำ) อ.เมือง จ.ศรีสะเกษ
4. หอชมเมืองสมุทรปราการ จ.สมุทรปราการ ความสูง 179.5 เมตร ในพื้นที่ 13,584.70 ตารางเมตร
โครงการ“อุทยานการเรียนรู้และหอชมเมืองสมุทรปราการ” อยู่บนพื้นที่เรือนจำเดิม 13 ไร่ 2 งาน 8 ตารางวา ใช้งบลงทุนการก่อสร้างจาก อบจ.สมุทรปราการ รวม 593 ล้านบาท และเทศบาลนครสมุทรปราการ 54 ล้านบาท มีพิธีลงเสาเอกเมื่อวันที่ 27 ก.ย.2555
5. หอบรรหารแจ่มใส จ.สุพรรณบุรี ความสูง 123 เมตร ภายสวนเฉลิมภัทรราชินี เกิดขึ้นจากความร่วมแรงร่วมใจของพี่น้องประชาชนชาว จังหวัดสุพรรณบุรีร่วมกันบริจาคเงินก่อสร้างโดยไม่ได้ใช้งบประมาณ ของทางราชการ เริ่มลงเมื่อก่อสร้างหอคอยและสวนเมื่อเดือน มิถุนายน 2553 กว่าจะแล้วเสร็จเรียบร้อยในเดือนตุลาคม พ.ศ. 2537 ใช้งบการก่อสร้างรวมทั้งหมด 250 ล้านบาท
6. หอชมเมืองร้อยเอ็ด จ.ร้อยเอ็ด หอชมเมืองรูปโหวด อาคารสูง 101 เมตร ฐานล่างกว้าง 30 เมตร ยอดโหวดกว้าง 20 เมตร ใช้งบประมาณจังหวัด ประมาณการ 200 ล้านบาท(อยู่ในช่วงดำเนินการ)
7.ยังมีหอชมเมืองในมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีสุรนารี (มทส.) ชื่อหอคอยสุรนภา ของ จ.นครราชสีมา หรือ หอดอกบัว แต่นักศึกษามักเรียก หอแห้ว
ขณะที่ของภาคเอกชน มี 8.หอคอยโรงแรมพัทยาปาร์ค ทาวเวอร์ ที่สูง 240 เมตร รวมถึง 9.หอชมเมืองของเอกชนที่ห้างสรรพสินค้าเทอร์มินอล 21 โคราช ซึ่งมีความสูงจากระดับพื้นดิน 110 เมตร หรือหากเทียบกับตึกก็จะสูงประมาณตึก 34-35 ชั้น โดย สูงเป็นอันดับดับ 3 ของประเทศไทย อันดับหนึ่งของภาคอีสาน โดยการออกแบบได้รับแรงบันดาลใจมาจากหอบังคับการบิน ที่เพิ่งเปิดใหม่ไปเมื่อเร็วๆนี้ใน จ.นครราชสีมา เช่นกัน
และหอชมเมืองแห่งที่ 10 “โครงการก่อสร้างหอชมเมืองกรุงเทพมหานคร”มูลค่า 4,000 ล้านบาท