ผู้จัดการสุดสัปดาห์ -หลังจากมีมติคณะรัฐมนตรี (ครม.) ให้ทางการจีนสำรวจและออกแบบเส้นทางการเดินเรือพาณิชย์ขนาด 500 ตันในแม่น้ำโขง ซึ่งเป็นจุดเริ่มต้นของโครงการระเบิดแก่งในแม่น้ำโขง ระยะที่ 2 และมีท่าทีจากผู้นำประเทศว่า เป็นความร่วมมือของหลายประเทศ พร้อมยืนยันไม่เกี่ยวกับความมั่นคงทางชายแดนประเทศเพื่อนบ้านแน่นอน
ล่าสุดสัปดาห์ที่ผ่านมา มีความเคลื่อนไหวจากภาคประชาชนในพื้นที่แล้ว โดยเฉพาะเครือข่ายพันธมิตรค้านระเบิดแก่งแม่น้ำโขง ได้เตรียมจัดกิจกรรมรณรงค์คัดค้านการระเบิดแก่งครั้งใหญ่ ในวันที่ 5 ก.พ.นี้ ที่ท่าเรือผาถ่าน ซึ่งเป็นพื้นที่ประวัติศาสตร์ที่มีตำนานปู่ละหึ่ง อันเป็นที่เคารพของคน อ.เชียงของ จ.เชียงราย
นอกจากนี้ เมื่อวันที่ 17 ม.ค.ที่ผ่านมา ทางกลุ่มรักษ์เชียงของ กับชาวบ้านกว่า 20 หมู่บ้าน ได้ประชุมวางแผนกิจกรรมร่วมกัน เพื่อคัดค้านการระเบิดแก่ง ด้วยการนับหนึ่งในการร่วมลงชื่อหยุดโครงการระเบิดแก่ง ผ่านทางสื่อออนไลน์ มีการจัดผ้าป่าเพื่อระดมทุนสำหรับการเคลื่อนไหวต่อต้านโครงการอันมีผลกระทบต่อแม่น้ำโขง และชุมชนโดยรอบ
ไฮไลต์ในวันนั้น อยู่ที่ เวทีอาคารส่งเสริมสุขภาพ โรงพยาบาลสมเด็จพระยุพราชเชียงของ อ.เชียงของ จ.เชียงราย เป็นเวทีสะท้อนความคิดเห็นจากหลายภาคส่วน
ขณะที่ นายสมชาย สุมนัสขจรกุล รองอธิบดีกรมเจ้าท่า ในฐานะประธานฝ่ายไทย คณะกรรมการร่วมเพื่อประสานการดำเนินการตามความตกลงว่าด้วยการเดินเรือพาณิชย์ในแม่น้ำล้านช้าง-แม่น้ำโขง ( The joint Committee on Coordination of Commercial Navigation on the Lancang -Mekong River among China , Laos Myanmar and Thailand : JCCCN ) ได้รับเชิญมาฟังความคิดเห็น เช่นเดียวกับวิศวกรตัวแทนของ บริษัท CCCC Second Habor Consultant ซึ่งได้รับสัมปทานจากรัฐบาลจีนให้สำรวจ และระเบิดแก่งในแม่น้ำโขงเข้าร่วมสังเกตการณ์ แต่ปฏิเสธที่จะเสนอข้อมูล ข้อคิดเห็น และการให้สัมภาษณ์สื่อมวลชน โดยให้เหตุผลว่า เป็นเพียงผู้สังเกตการณ์เท่านั้น
สำหรับความเห็นในเวทีที่น่าสนใจเช่น “นายเกษม ปันทะยม”นายกองค์การบริหารส่วนตำบลริมโขง เปิดประเด็นว่า ก่อนที่จะมีการสร้างเขื่อนกั้นแม่น้ำโขงในจีน ชาวบ้านก็ได้รับผลกระทบมากอยู่แล้ว และถ้ามีการระเบิดแก่ง และขุดขยายร่องน้ำให้เรือพาณิชย์ 500 ตันล่องลงมา ผลกระทบย่อมเพิ่มมากขึ้นอย่างแน่นอน
เขาชี้ให้เห็นว่า ปัจจุบันพันธุ์ปลา พืชริมน้ำ สาหร่ายน้ำโขงหรือไก ก็เหลือน้อยจนไม่เพียงพอต่อวิถีการหากินของชาวบ้าน และยังเสี่ยงต่อการสูญเสียดินแดน รวมทั้งปัญหาการกัดเซาะตลิ่งตลอดแนวแม่น้ำโขง
ด้าน “นายธันวา เหลี่ยมพันธุ์”ประธานสภาวัฒนธรรมอำเภอเชียงของ เห็นว่า ผลกระทบจะไม่เพียงแต่พื้นถิ่นเชียงของ ที่จะต้องเปลี่ยนแปลง แต่ตลอดลุ่มน้ำจะได้รับผลกระทบ ไม่ใช่แค่จำนวนนักท่องเที่ยวที่เพิ่มขึ้นเหมือนที่เป็นมา แต่อิทธิพลทางเศรษฐกิจ กระแสวัฒนธรรมจีน จะเข้ามามีอิทธิพลครอบคลุมวิถีท้องถิ่น โดยคนไทยเป็นคนที่รับวัฒนธรรมใหม่ง่ายอยู่แล้ว ก็จะทำให้รากเหง้า หรือวิถีท้องถิ่นถูกจีนกลืน
เขายังกังวลว่า หากให้เรือหนัก 500 ตัน ผ่านแม่น้ำโขง เชื่อว่าจะเกิดคลื่นรุนแรงมาก เพราะไม่มีแก่งที่ชะลอคลื่น อย่างเช่นเมื่อปีที่แล้ว เรือสินค้าขนาดแค่ 100 ตัน ยังทำให้เรือของชาวบ้านฝั่งลาวล่ม และตลิ่งพัง แล้วถ้าเรือขนาดใหญ่กว่านี้ ย่อมก่อให้เกิดคลื่นที่รุนแรงกว่าหลายเท่า
“จีนกำลังพยายามเป็นมหาอำนาจของเอเชีย เมื่อยอมให้ระเบิดแก่ง ไทยก็จะเป็นเหมือนสัตว์เศรษฐกิจ เหมือนกับที่เราเคยต่อต้านญี่ปุ่น หรือต่างประเทศที่เข้ามากอบกอบโกยแล้ว คนไทยต่อต้านเมื่อหลายสิบปีก่อน ถ้าตัดต้นไม้ทำถนนเรายังพอปลูกใหม่ได้ แต่ถ้าระเบิดแก่งไปแล้ว มันไม่ได้ เราไม่สามารถเอากลับคืนมาได้”
ดังนั้น หากต้องการพัฒนาเส้นทางการขนส่งและการค้าให้มีประสิทธิภาพ อาจไม่จำเป็นต้องใช้เส้นทางแม่น้ำโขง เพราะมีเส้นทาง R3A อยู่แล้ว เรือสินค้าสามารถจอดที่เชียงแสน แล้วใช้เส้นทางถนนขนส่งต่อไปยังทั่วภูมิภาคได้ หรืออาจจะพัฒนาเส้นทางรถไฟ เพื่อรองรับการการขนส่งที่เพิ่มขึ้น ส่วนกลุ่มนักธุรกิจลาวเท่าที่ได้พูดคุยมานั้น เขาก็ไม่สามารถพูดกับรัฐบาลลาวได้ ก็ได้ฝากมาทางนักธุรกิจเชียงของ ให้ช่วยกระตุ้นรัฐบาลไทย และรัฐบาลลาว ให้มองถึงผลกระทบและแนวทางเลือกอื่นด้วย
ขณะที่ “นายนวพล อุ่ยอุทัย”ตัวแทนชมรมท่องเที่ยวอำเภอเชียงของ ย้ำชัดเจนว่า ไม่เห็นด้วยกับการระเบิดแก่งในแม่น้ำโขง เพราะเป็นการทำลายธรรมชาติ จึงอยากให้รัฐบาลชะลอโครงการ เพื่อให้มีการศึกษาผลกระทบอย่างละเอียด ชัดเจน มีเหตุผลรอบด้าน และรับฟังเสียงของคนในพื้นที่ก่อน เพื่อให้เกิดแนวทางในการแก้ปัญหาแม่น้ำโขงให้ทุกฝ่ายสามารถใช้ประโยชน์และอยู่ร่วมกันอย่างเป็นสุข
“อยากให้รัฐบาลใจเย็นๆ ศึกษา และฟังเสียงของคนในพื้นที่บ้าง เราไม่เห็นด้วย เพราะเป็นบ้านเกิดของเรา เราต้องศึกษาก็อยากให้ผู้ศึกษาทำอย่างละเอียดชัดเจน มีเหตุผลที่ครบถ้วน หรือหาแนวทางแก้ปัญหาน้ำโขงที่จะให้สามารถอยู่ร่วมกันได้อย่างเป็นสุข"
นายสว่าง บุญยัง ผู้ใหญ่บ้านห้วยเอียน แสดงความกังวล ใน“วิถีการหาปลาที่ต้องหายไป”และ“ภาคการเกษตรริมน้ำโขงจะได้รับผลกระทบ”เพราะหากเขื่อนปากแบง สร้างเสร็จ น้ำจะท่วมขึ้นมาถึงบ้านปากอิง บ้านแจมป๋อง และยิ่งระเบิดแก่งอีก เชื่อว่าจะเป็นการทำลายวิถีทั้งหมด
“พระอภิชาติ รติโก” เจ้าอาวาสวัดสบกก ต.บ้านแซว อ.เชียงแสน จ.เชียงราย เล่าว่า ตอนนี้ที่บ้านสบกก เหลือเรือหาปลาเพียง 10 ลำ เพราะนับตั้งแต่มีการสร้างเขื่อน ปลาที่สบกก ลดจำนวนอย่างรวดเร็ว ส่วนการเดินเรือขนาดใหญ่ที่เชียงแสน ก็ส่งผลกระทบอย่างมาก เพราะแล่นด้วยความเร็วเต็มที่ จนเกิดคลื่นใหญ่ซัดตลิ่งพัง ชาวบ้านต้องคอยตะโกนเตือนให้ลดความเร็ว แต่ก็ยังไม่ยอมลดความเร็ว และยังมีคราบน้ำมันเครื่องที่ถูกปล่อยจากเรือ มีซากถุงดำใส่น้ำมันมาติดที่ตลิ่ง มีการทิ้งซากสัตว์ที่ตายระหว่างขนส่ง ลงในแม่น้ำ แม้ทางผู้นำชุมชนได้เข้าไปที่ท่าเรือเพื่อร้องถึงปัญหาเหล่านี้ แต่ทางท่าเรือก็แจ้งว่า ไม่สามารถไปห้ามเรือที่จอดอยู่กลางน้ำได้
อีกด้าน “นายจักร กินีสี” มัคคุเทศก์ท่องเที่ยวดูนกเชียงของ แสดงความเห็นว่า คนทั่วไปอาจคิดว่าแม่น้ำโขงมีแต่ปลา แต่จริงๆ แล้วยังมีนกมีแมลงหาอยากหลายชนิด นกที่ตนสำรวจพบบนแก่งแม่น้ำโขงเป็นนกชายฝั่งถึง 76 ชนิด และพบนกกระแตหาด ซึ่งถูกขึ้นทะเบียนใกล้สูญพันธุ์ อีกทั้งฤดูแล้งมีนกอพยพ นกประจำถิ่นใช้เกาะแก่งบนแม่น้ำโขงเป็นแหล่งหากินและวางไข่ อย่างเช่น นกแอ่นทุ่ง ที่ได้รับผลกระทบจากกระแสน้ำขึ้นลงผิดปกติ เพราะนกต้องใช้เวลาวางไข่ถึง 21 วัน และล่าสุดมีการพบเห็น “นกแม่โขงปี้ปิ๊ด” ที่ปกติจะพบเฉพาะพื้นที่ลุ่มน้ำรอยต่อลาวกับกัมพูชาเท่านั้น
“พระมหาอภิวรรณ อภิวณฺโณ จำปาวรรณ”ผู้ช่วยเจ้าอาวาสวัดท่าข้ามศรีดอนชัย อ.เชียงของ เห็นว่า แม่น้ำโขงเป็นแม่น้ำประวัติศาสตร์ และมีการกล่าวถึงในสมัยพระพุทธกาล ดังนั้นในการพัฒนาแม่น้ำโขง ต้องคำนึงถึงผลประโยชน์ส่วนรวมให้มาก อย่ามองแค่ประโยชน์ของจีนเท่านั้น
“อาตมาเป็นพระรูปหนึ่งที่เดินทางบ่อย และหากทางวัดมีแขกมาเยือน หรือมีพระจากต่างวัดมาเยือน อาตมาจะติดต่อเรือชาวบ้านเพื่อพาล่องแม่น้ำโขง พระบางรูปจะธุดงค์ในบริเวณดอนแถวๆ แก่ง อยากให้อนุรักษ์พื้นที่ตรงนี้ไว้”
ในเวทีดังกล่าว ชาวบ้านที่มีวิถีชีวิตบริเวณเกาะแก่งต่าง ๆ เช่น บ้านห้วยลึก ผาได อ.เวียงแก่น จ.เชียงราย ซึ่งเป็นแก่งขนาดใหญ่กลางลำน้ำโขง และเป็นแหล่งหาปลาที่สำคัญของชาวบ้าน ต่างไม่เห็นด้วย เพราะเท่ากับเป็นการทำลายวิถิชีวิตของพวกเขา
ท้ายสุด “นายนิวัฒน์ ร้อยแก้ว”ประธานกลุ่มรักษ์เชียงของ แสดงความเห็นว่า หากกรมเจ้าท่า เปิดแผนการศึกษาอย่างละเอียด ระบุพื้นที่การศึกษาว่า จะมีจุดใดบ้างที่จะมีการดำเนินการ รวมถึงประเมินผลกระทบของการระเบิดแก่งน้ำโขง และเส้นทางเดินเรือระยะแรกที่ดำเนินไปแล้วก่อน แล้วค่อยตัดสินใจสำรวจข้อมูลทำระยะ 2 ดังนั้นในการรณรงค์ครั้งใหญ่ วันที่ 5 ก.พ.นี้ อยากเชิญชวนผู้สนใจและคนรักษ์น้ำโขงเข้าร่วมให้มากที่สุด เพราะทางคนเชียงของจะมีพิธีกรรมไหว้สิ่งศักดิ์สิทธิ์บริเวณผาถ่าน ดินแดนอันเป็นตำนานของเชียงของ และมีกิจกรรมลงชื่อคัดค้านด้วย
ขณะที่นายสมชาย สุมนัสขจรกุล รองอธิบดีกรมเจ้าท่า ยอมรับว่า การประชุมคณะกรรมการเดินเรือพาณิชย์ในแม่น้ำล้านช้าง-แม่น้ำโขง ครั้งล่าสุดที่ประเทศพม่า เมื่อวันที่ 9-12 ม.ค. ที่ผ่านมานั้น ทางฝ่ายไทยได้เสนอให้รับทราบว่ากรณี บริษัท CCCC Second Habor Consultant ของจีน ที่เป็นบริษัทได้รับสัมปทานโครงการปรับปรุงร่องน้ำเพื่อการเดินเรือพาณิชย์ฯ ที่ทำงานร่วมกับฝ่ายวิชาการของไทยเพิ่มเติม เนื่องจากไทยเป็นประเทศเดียวที่ยังไม่มีการสำรวจร่องน้ำที่ชัดเจน
โดยเบื้องต้นเสนอรายชื่อหน่วยงานแก่บริษัทของจีนแล้ว อาจจะเป็น สำนักงานนโยบายและแผนทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม (สผ.) สถาบันการศึกษาในพื้นที่อย่างมหาวิทยาลัยราชภัฎเชียงราย (มรภ.เชียงราย) หรือ มหาวิทยาลัยแม่ฟ้าหลวง ได้ศึกษาเพิ่มเติม ทั้งรายงานการประเมินผลกระทบทางสังคม (Social Impact Assessment : SIA ),รายงานการวิเคราะห์ผลกระทบสิ่งแวดล้อม ( Environmental Impact Assessment : EIA)
ซึ่งขณะนี้รอการตอบรับจากบริษัทของจีน ว่าควรศึกษาโดยใคร และมีส่วนร่วมอย่างไรบ้าง นายสมชาย กล่าวต่อว่า ในการศึกษาของคณะกรรมการร่วมบางอย่างอาจจะต้องเริ่มจากศูนย์ แต่บางอย่างอาจจะนำผลการศึกษา วิจัยของท้องถิ่นเข้ามาต่อยอด โดยระยะเวลาการดำเนินการ EIA และ SIA อยู่ระหว่างม.ค.-พ.ย.60 และคาดว่า ช่วงเดือนเม.ย.60 อาจจะเริ่มเก็บข้อมูลภาคสนามแล้วเสร็จ จากนั้นค่อยหากำหนดการเพื่อเสนอเข้า ครม.อีกครั้ง **
ยืนยันว่า“โครงการดังกล่าวต้องไม่กระทบกับเส้นเขตแดน และความมั่นคงของไทย-ลาว”ซึ่งเขียนในข้อตกลงปี 2543 ชัดเจนแล้ว ถ้ากระทบต่อเรื่องนี้ก็จะทำโครงการต่อไม่ได้ ซึ่งหากผลการศึกษาชี้ชัดว่า กระทบความมั่นคงทางพรมแดน ทางกรมยินดีจะเสนอข้อมูลเข้า ครม.และคิดว่า ครม.คงไม่ผ่าน หลายหน่วยงานก็มีความกังวลเรื่องสิ่งแวดล้อม กับเรื่องเส้นเขตแดน มันเป็นหน้าที่ของกรมเจ้าท่าต้องทำการศึกษาเพิ่มเติมอยู่แล้ว ดีใจมากที่ได้มาฟังเสียงสะท้อนภาคประชาชน และยืนยันว่า ฝ่ายจีนตกลงด้วยแล้วว่า ยินดีให้คณะกรรมการร่วมจากฝ่ายไทยร่วมศึกษาข้อมูลด้วยกัน" นายสมชาย กล่าว
ทั้งหมดเป็นความเห็นล่าสุดของ เครือข่าวชาวบ้านที่คัดค้าน และหน่วยงานภาครัฐของไทย ต่อโครงการระเบิดแก่งในแม่น้ำโขง ระยะที่ 2 ที่รัฐบาลไทย เพิ่งไฟเขียวให้เอกชนจีนดำเนินการ .