xs
xsm
sm
md
lg

ผู้จัดการสุดสัปดาห์

x

สิ้น"สะแปอิง บาซอ"ผู้นำบีอาร์เอ็น แนวรบชายแดนใต้ยังไม่เปลี่ยน?!!

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


ผู้จัดการสุดสัปดาห์ -ในช่วงสัปดาห์ที่ผ่านมา สำหรับผู้คนในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้นั้น นอกเหนือจากข่าวน้ำท่วมใหญ่ สร้างความเดือดร้อน เสียหายเป็นวงกว้างแล้ว ก็คงเป็นข่าวการเสียชีวิตของ "สะแปอิง บาซอ" ประธานขบวนการ "บีอาร์เอ็น" (Barisan Revolusi Nasional-BRN)ซึ่งเป็นขบวนการต่อสู้เพื่อเอกราชของชาวมลายูปาตานี

เรื่องที่มีการวิเคราะห์ วิจารณ์ตามมาก็คือ หลังการเสียชีวิตของเขา จะมีผลต่อกระบวนการเจรจาสันติสุขในจังหวัดชายแดนภาคใต้ ที่กำลังดำเนินอยู่ในขณะนี้ด้วยหรือไม่ สถานการณ์ความรุนแรงในพื้นที่จะรุนแรงขึ้น หรือผ่อนคลายลง เมื่อขบวนการบีอาร์เอ็น ถึงคราผลัดเปลี่ยนผู้นำ

ตามปูมประวัติ สะแปอิง บาซอ เดิมชื่อ นายซาฟีอี บิน อับดุลเราห์มาน หรือ อุสตาสซาฟีอี ภูมิลำเนาเดิมอยู่ที่ บ้านลาฆอสิมีแล ต.เมาะมาวี อ.ยะรัง จ.ปัตตานี จบการศึกษาที่มหาวิทยาลัยมาดีนะห์ ประเทศซาอุดิอาระเบีย เคยเป็นผู้จัดการโรงเรียนธรรมวิทยามูลนิธิ ซึ่งเป็นโรงเรียนสอนศาสนาอิสลาม ที่จ.ยะลา และมีตำแหน่งเป็นคณะกรรมการอิสลามประจำจังหวัดยะลา จึงเป็นที่ยอมรับของผู้นำศาสนาอิสลาม และประชาชนในจังหวัดชายแดนภาคใต้

สะแปอิง บาซอ หายไปจากพื้นที่ หลังเกิดเหตุการณ์ปล้นอาวุธปืนครั้งมโหฬารจำนวน 413 กระบอก จากกองพันพัฒนาที่ 4 ค่ายกรมหลวงนราธิวาสราชนครินทร์ อ.เจาะไอร้อง จ.นราธิวาส เมื่อวันที่ 4 ม.ค. 47 ซึ่งเจ้าหน้าที่ตำรวจ และฝ่ายความมั่นคง เชื่อว่าเขาคือผู้อยู่เบื้องหลังเหตุการณ์ครั้งนั้น เขาถูกตั้งข้อหา อั้งยี่ ซ่องโจร และแบ่งแยกดินแดน พร้อมออกหมายจับ มีการตั้งรางวัลนำจับสูงถึง 10 ล้านบาท โดยเขาถูกออกหมายจับร่วมกับ "มะแซ อุเซ็ง" เจ้าของแผนบันได 7 ขั้น เพื่อแยกดินแดนออกจากประเทศไทย ซึ่งต่อมามีข่าวว่า ได้หลบหนีไปอาศัยอยู่ที่ประเทศมาเลเซีย  
 
เหตุปล้นอาวุธปืนในครั้งนั้น จึงเป็นจุดเริ่มต้นของการก่อความรุนแรงในพื้นที่ 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ รอบใหม่ และเกิดขึ้นต่อเนื่องมาจนถึงวันนี้ เป็นเวลากว่า 13 ปี โดยเป็นการกระทำของบรรดากลุ่มติดอาวุธขบวนการบีอาร์เอ็น ที่มี สะแปอิง บาซอ เป็นหัวขบวน

ทั้งนี้ ตามรายงานข่าว สะแปอิง บาซอ เสียชีวิตในในวัย 81 ปี ที่หมู่บ้านแห่งหนึ่งในกรุงกัวลาลัมเปอร์ ประเทศมาเลเซีย เมื่อวันที่ 10 ม.ค. ที่ผ่านมา ด้วยโรคประจำตัว ทั้งเบาหวาน โรคหัวใจ และติดเชื้อในปอด มีพิธีฝังศพ (กูโบร์) ที่กรุงกัวลาลัมเปอร์ ประเทศมาเลเซีย

และเมื่อวันที่ 16 ม.ค.ที่ผ่านมา ที่บริเวณลานกีฬาโรงเรียนธรรมวิทยามูลนิธิ เขตเทศบาลนครยะลา นายอิสมาแอ ฮารี ประธานกรรมการอิสลามประจำจังหวัดยะลา ได้เป็นผู้นำละหมาดฆออิบ หรือ พิธีละหมาดศพ โดยไม่มีศพอยู่ตรงหน้าให้แก่ สะแปอิง บาซอ โดยมีศิษย์เก่า บุคลากร อุซตาสทั้งชาย และหญิง บรรดาญาติสนิท และประชาชนมาร่วมในพิธีเป็นจำนวนมาก

สำหรับประเด็นที่หลายฝ่ายให้ความสนใจก็คือ การเสียชีวิตของ สะแปอิง บาซอ จะกระทบกับองค์กรบีอาร์เอ็น หรือไม่ และจะมีผลอย่างไรบ้างกับสถานการณ์ในจังหวัดชายแดนภาคใต้ และกระบวนการพูดคุยเพื่อสันติสุขจังหวัดชายแดนภาคใต้ ซึ่งรัฐบาลไทยเปิดโต๊ะพูดคุยกับกลุ่มผู้เห็นต่างจากรัฐนาม "มารา ปาตานี" ซึ่งมีตัวแทนของบีอาร์เอ็นอยู่ด้วยนั้น จะเป็นไปในทิศทางใด

อย่างไรก็ตาม เป็นที่ทราบกันในวงในกลุ่มบีอาร์เอ็น และฝ่ายความมั่นคงของไทยว่า ทั้ง "สะแปอิง บาซอ" และ "มะแซ อูเซ็ง" ซึ่งถือว่าเป็นบุคคลสำคัญของขบวนการ ที่ปฏิเสธแนวทางแก้ปัญหาความไม่สงบในจังหวัดชายแดนภาคใต้ด้วยวิธีพูดคุย "บนโต๊ะเจรจา" เพื่อนำไปสู่สันติภาพ มาตั้งแต่สมัยของรัฐบาลเลือกตั้งยุค น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร มาจนถึงรัฐบาล พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ที่มี พล.อ.อักษรา เกิดผล เป็นผู้รับหน้าเสื่อ "พูดคุยสันติสุข" โดยมีรัฐบาลมาเลเซียเป็นเจ้าภาพ คนกลาง และว่ากันว่า ผู้กุมอำนาจในบีอาร์เอ็น ณ วันนี้ คือ "อับดุลเลาะ" หรือ "ดูลเลาะ แวมะนอ" เจ้าของปอเนาะญิฮาด ที่ อ.ยะหริ่ง จ.ปัตตานี ซึ่งเป็นผู้กุมอำนาจในฝ่ายปฏิบัติการของบีอาร์เอ็น และเขาก็ไม่เห็นด้วยกับแนวทางการพูดคุยสันติสุข เช่นกัน หนำซ้ำยังออกไปทางนิยมวิธีการใช้ความรุนแรง เพื่อแสดงศักยภาพ และสร้างความเชื่อมั่นให้เกิดขึ้นกับคนในกลุ่มเสียมากกว่า

ที่น่าจับตานับจากนี้ไป คือการประชุมใหญ่ของแกนนำบีอาร์เอ็น เพื่อหารือ ตั้งผู้นำคนใหม่ หากแกนนำสาย ดูลเลาะ ขึ้นมามีบทบาทแทน ก็น่าจะคาดการณ์ได้ว่า สถานการณ์ในพื้นที่จะตึงเครียดต่อไป 
 
ดังนั้น การเสียชีวิตของ สะแปอิง บาซอ จึงไม่น่าจะนำมาซึ่งการเปลี่ยนแปลงยุทธศาสตร์ และยุทธวิธีของ บีอาร์เอ็น แต่อย่างใด

ขณะที่มุมมองของ พล.ท.นันทเดช เมฆสวัสดิ์ อดีตผู้อำนวยการศูนย์ปฏิบัติการพิเศษภาคใต้ ศูนย์รักษาความปลอดภัย ซึ่งเคยเขียนหนังสือ ที่ชื่อ "ปฏิบัติการลับดับไฟใต้" เห็นว่า การเสียชีวิตของ สะแปอิง ไม่ได้มีผลต่อบีอาร์เอ็น และสถานการณ์ในพื้นที่ชายแดนใต้อย่างแน่นอน เพราะ สะแปอิง เพียงแค่ถูกอุปโลกน์ขึ้นเป็นแกนนำบีอาร์เอ็น เท่านั้น และปัญหาที่แท้จริงของสถานการณ์ความไม่สงบ ก็ไม่ได้มาจากบีอาร์เอ็น ด้วย

ส่วน พล.อ.อักษรา เกิดผล หัวหน้าคณะพูดคุยสันติสุขจังหวัดชายแดนภาคใต้ ยังคงเชื่อว่า การเสียชีวิตของ สะแปอิง จะไม่ส่งผลเชิงลบต่อการพูดคุยสันติสุข เพราะคณะพูดคุยได้พูดคุยกับ กลุ่มมาราปาตานี แต่อาจจะมีผลให้กลุ่มบีอาร์เอ็น เข้าร่วมกระบวนการการพูดคุยมากขึ้น เพราะใน บีอาร์เอ็น ก็มีกลุ่มที่อยากให้เกิดสันติสุข อย่าง "อาแว ยาบะ" เลขาธิการกลุ่มบีอาร์เอ็น ซึ่งมีแนวคิดสันติสุข การที่ผู้นำจิตวิญญาณลดน้อยลงตามกาลเวลา ก็ถือเป็นผลที่จะทำให้การพูดคุยสันติสุข ได้ง่ายขึ้น

อย่างไรก็ตาม ยังมีอีกปัจจัยหนึ่งที่เปรียบเสมือน "ตัวแปร" ไม่ควรมองข้ามคือ "รัฐบาลมาเลเซีย" ในฐานะเจ้าภาพจัดโต๊ะพูดคุยสันติสุข และในฐานะเจ้าของประเทศ ที่บรรดาแกนนำกลุ่มขบวนการเหล่านี้ ใช้เป็นที่หลบภัยจากการตามล่าของฝ่ายไทย

หากรัฐบาลมาเลเซีย ร่วมมือในการกดดันอย่างจริงจัง จริงใจ ย่อมสร้างความระส่ะระสายให้กับขบวนการเหล่านี้ และน่าจะส่งผลต่อความสงบสุขในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ได้เร็วขึ้น 

ดังนั้นโต๊ะ "พูดคุยสันติสุข" ที่ได้ผล จึงน่าจะอยู่ที่ "รัฐบาลไทย" กับ "รัฐบาลมาเลเซีย" มากกว่า ที่จะเป็น "คณะของพล.อ.อักษรา" กับ "กลุ่มมาราปาตานี"


กำลังโหลดความคิดเห็น