xs
xsm
sm
md
lg

ผู้จัดการสุดสัปดาห์

x

ลอกคราบขบวนการงาบ “การบินไทย” สินบนโรลส์-รอยซ์ 1,300 ล้านบาท “นักการเมือง” คือตัวการใหญ่

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


ผู้จัดการสุดสัปดาห์ - นับเป็นข่าวใหญ่ที่มาถูกจังหวะเวลาในช่วงขณะที่ “ลุงตู่” พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) กำลังขอความร่วมมือร่วมใจทุกภาคส่วนโดยเฉพาะฟากฝั่งนักการเมือง เข้าสู่ถนนสายปรองดอง อย่าตุกติกมากเรื่อง

ไม่เช่นนั้น “สินบนโรลส์-รอยซ์” ที่ถูกปูดขึ้นมาพอดิบพอดี อาจถูกหยิบขึ้นมาเปิดแผลเน่า

เนื่องเพราะสินบนมาราธอนที่จ่ายกันเป็นลอตๆ ถึง 3 ครั้งนี้ เกี่ยวโยงไปถึงหมดทุกพรรค ทุกสำนัก โดยเกิดขึ้นตั้งแต่ช่วงปี 2534-2548

ที่สำคัญคือ คงไม่แต่ผู้ที่นั่งเป็นกรรมการผู้อำนวยการใหญ่ (ดีดี) หรือคณะกรรมการบริหาร (บอร์ด) การบินไทยในขณะนั้นเท่านั้นที่จะสะดุ้งเฮือก แต่ยังสั่นสะเทือนถึงรัฐบาลและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม ที่คุมงานการบริหารการบินไทย ในช่วงที่มีการจ่ายสินบนก้อนโตกันด้วย

สำหรับเรื่องอื้อฉาวของการบินไทยคราวนี้ เกิดขึ้นเมื่อบริษัท โรลส์-รอยซ์ ผู้ผลิตรถยนต์และเครื่องยนต์สำหรับอากาศยานรายใหญ่จากอังกฤษ ออกมายอมรับว่า ได้จ่ายสินบนให้นายหน้าการบินไทย เป็นเงินกว่า 36 ล้านดอลลาร์ หรือประมาณ 1,300 ล้านบาท ให้ช่วยจัดซื้อเครื่องยนต์เครื่องบิน รุ่น “เทรนท์” หรือ T800 ของทางบริษัท ให้กับการบินไทย ถึง 3 ลอต ในช่วงปี 2534-2548

การที่โรลส์-รอยซ์ ออกมายอมรับในเรื่องนี้ เนื่องมาจากศาลสหราชอาณาจักร ได้สั่งปรับ โรลส์-รอยซ์ เป็นเงิน 671 ล้านปอนด์ หรือ ราว 3 หมื่นล้านบาท หลังสำนักงานปราบปรามการทุจริตของประเทศอังกฤษ (Serious Fraud Office หรือ SFO)ของประเทศ พบว่า บริษัทสมรู้ร่วมคิดกับการทุจริต หรือ ละเลยต่อการป้องกันการติดสินบนใน ไทย จีน อินเดีย รัสเซีย อินโดนีเซีย มาเลเซีย และ ไนจีเรีย

คำวินิจฉัยของ เอสเอฟโอ ชี้ว่า โรลส์-รอยซ์ ยอมจ่ายเงินราว 680 ล้านบาท ให้แก่นายหน้าในภูมิภาค โดยเงินบางส่วนจ่ายให้แก่ “ผู้แทนของประเทศไทย และพนักงานของการบินไทย” ซึ่งบุคคลเหล่านี้ “ถูกคาดหวังว่าจะให้ความความช่วยเหลือแก่โรลส์-รอยซ์ ในการจัดซื้อเครื่องเครื่องยนต์ T800 โดยการบินไทย”

โรลส์-รอยซ์ เป็นบริษัทเครื่องยนต์ยักษ์ใหญ่ของโลกสัญชาติอังกฤษ Image copyright ROLLS-ROYCE

ผลการสอบสวนโดยเอสเอฟโอและเจ้าหน้าที่ต้านทุจริตของสหรัฐฯ และบราซิลที่ใช้เวลาราว 5 ปี พบการกระทำผิดถึง 12 ครั้งใน 7 ประเทศ ในรอบ 25 ปี เช่น ในอินโดนิเซีย พนักงานระดับสูงของโรลส์-รอยซ์จ่ายสินบนมูลค่าราว 80 ล้านบาท พร้อมรถโรลส์-รอยซ์ รุ่นซิลเวอร์สปิริต 1 คันให้แก่นายหน้าคนหนึ่ง เพื่อตบรางวัลให้ในฐานที่สนับสนุนโรลส์-รอยซ์ในกระบวนการจัดซื้อเครื่องยนต์ Trent 700 เพื่อใช้ในอากาศยานของสายการบินแห่งชาติการูด้า

ใน จีน เจ้าหน้าที่ของโรลส์-รอยซ์ ตกลงจ่ายเงินราว 180 ล้านบาท ให้แก่ ไชน่า อีสเทิร์น แอร์ไลนส์ ของรัฐบาลจีน ขณะเจรจาเครื่องยนต์ T700 ในปี 2013 ในวงเงินนี้ เงินบางส่วนถูกใช้ไปเพื่อการส่งพนักงานของสายการบินไปเรียน หลักสูตรเอ็มบีเอสองสัปดาห์ที่มหาวิทยาลัยโคลัมเบีย และเพลิดเพลินกับ "ที่พัก 4 ดาว พร้อมกิจกรรมนอกหลักสูตรสุดหรู"

ใน อินเดีย โรลส์-รอยซ์ ถูกพบว่าจ้างตัวแทนให้เข้ามาดำเนินการกับสัญญาจัดหาอาวุธของรัฐบาลอินเดีย ในขณะที่กฎหมายของอินเดียในช่วงนั้น ห้ามใช้ตัวแทน แต่บริษัทฯ ก็ใช้ผู้แทนแล้วเลี่ยงจ่ายค่าตอบแทนในรูป "บริการคำปรึกษาทั่วไป" แทนจ่ายค่านายหน้า

ใน ไนจีเรีย โรลส์-รอยซ์ มีความผิดฐาน จ้างนายหน้าในการเข้าประมูลจัดซื้อจัดจ้าง 2 สัญญา และบริษัทฯ ล้มเหลวในการสกัดกั้นการจ่ายสินบนโดยนายหน้า แม้ภายหลัง โรลส์-รอยซ์ ได้ถอนตัวจากการประมูลทั้ง 2 ครั้ง

ใน รัสเซีย โรลส์-รอยซ์ ชนะการประมูลจัดหาอุปกรณ์ให้แก่ ก๊าซพรอม (Gazprom) รัฐวิสาหกิจด้านพลังงานของประเทศ โดยการติดสินบนเจ้าหน้าที่ระดับสูงของรัฐวิสาหกิจนี้

สำหรับกรณีของ ไทย เกิดขึ้นระหว่างปี 2534-2548 ไม่มีการยื่นเรื่องร้องเรียนในเรื่องดังกล่าวและไม่มีรายละเอียดในเรื่องดังกล่าวออกมา

อย่างไรก็ตาม โรลส์-รอยซ์ ยินดีที่จะจ่ายเงินรวมกว่า 800 ล้านดอลลาร์ เพื่อยุติคดีใน 3 ประเทศคือ อังกฤษ สหรัฐ และบราซิล โดยจะจ่ายเงินให้แก่เอสเอฟโอ เป็นเงิน 617 ล้านดอลลาร์ รวมกับดอกเบี้ยตลอดช่วงระหว่าง 5 ปีที่ผ่านมา โรลส์-รอยซ์ ยังตกลงยอมความกับสหรัฐฯ โดยจะจ่ายเงินให้แก่กระทรวงยุติธรรม ของสหรัฐฯ เป็นเงิน 170 ล้านดอลลาร์ ส่วนบราซิล จะเป็นการจ่ายเงินให้แก่สำนักงานคดีอาญาแห่งรัฐ เป็นเงินทั้งสิ้น 25.6 ล้านดอลลาร์

หลังจากบรรลุข้อตกลงยอมความแล้ว นายวอร์เรน อีสต์ หัวหน้าคณะเจ้าหน้าที่บริหาร (ซีอีโอ) ของโรลส์-รอยซ์ ได้ออกแถลงการณ์ ขอโทษเรื่องการติดสินบนของบริษัท ซึ่งเป็นเรื่องที่ถือว่ารับไม่ได้ พร้อมทั้งระบุว่า หลังเกิดเหตุ บริษัทได้ปรับปรุงกฎระเบียบต่างๆ และได้ยกเลิกการใช้ตัวแทนจำหน่ายที่เกี่ยวข้องกับคดี ทั้งนี้ การประนีประนอมยอมความกันได้ทำให้จะไม่มีการฟ้องร้องคดีอาญาต่อโรลส์-รอยซ์ และทำให้บริษัทสามารถดำเนินธุรกิจต่อไปได้

ในส่วนของต่างประเทศนั้น โรลส์-รอยซ์ ยอมจ่ายเพื่อจบคดี ขณะที่ในประเทศไทย การสะสางกำลังเริ่มต้น เพราะทันทีที่มีข่าวเผยแพร่ออกมา นายจรัมพร โชติกเสถียร กรรมการผู้อำนวยการใหญ่ บริษัทการบินไทย จำกัด (มหาชน) ออกมาแถลงหลังการประชุมบอร์ด ทันทีว่า ที่ประชุมมีมติให้ฝ่ายบริหารตั้งกรรมการขึ้นมาตรวจสอบข้อมูลเรื่องดังกล่าวโดยเร็วที่สุด โดยต้องการทราบรายละเอียดว่าเกี่ยวข้องกับบุคลใดบ้าง ทั้งอดีตพนักงาน อดีตผู้บริหาร และคณะกรรมการที่ทำหน้าที่ในช่วงปี 2534-2556 ตามที่โรลส์-รอยซ์ อ้างถึง

นอกจากนี้ ยังจะตรวจสอบข้อมูลการซื้อขายเครื่องยนต์โรลส์-รอยซ์ จากเว็บไซต์ ซึ่งจะทำให้รู้ว่าใครเป็นผู้รับผิดชอบในส่วนใด เพราะมีรายละเอียดช่วงเวลาการซื้อขายที่ชัดเจน หากพบว่าอดีตพนักงาน อดีตผู้บริหารหรืออดีตกรรมการคนใดมีส่วนเกี่ยวข้องแม้ว่าจะเกษียณอายุการทำงานไปแล้วก็สามารถที่จะนำตัวมาลงโทษได้ โดยเบื้องต้นจะใช้เวลาสอบสวน 30 วัน และสามารถขยายได้ถึง 60 วันหรือ 90 วัน และหากพบว่าประเด็นดังกล่าวมีมูล จะเสนอเรื่องต่อคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) เพื่อให้ตรวจสอบต่อไป



“การบินไทยจะพิจารณาหามาตรการที่เหมาะสมในการจัดการเรื่องทุจริตครั้งนี้โดยเร็ว เพื่อดำรงเจตนารมณ์ในด้านความโปร่งใสไว้ตลอดไป”

จะว่าไป ไม่ใช่เรื่องยากที่จะตามเส้นทางสินบนโรลส์-รอยซ์ ที่ระบุเอาไว้ชัด แต่ว่าการให้ฝ่ายบริหารการบินไทย ตั้งกรรมการขึ้นมาตรวจสอบคนกันเองนั้น มันใช่เรื่องที่ถูกต้องหรือไม่ สังคมจะกังขาขึ้นไปอีกว่าจะมีรายการลูบหน้าปะจมูก นั่นลูกพี่นี่ลูกน้อง นายเก่า กันทั้งนั้น หรือไม่

อันที่จริงเรื่องใหญ่ขนาดนี้ คณะกรรมการต่อต้านการทุจริตแห่งชาติ ที่มี พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี นั่งเป็นประธาน สมควรอย่างยิ่งที่จะต้องเข้ามาลงมือจัดการตรวจสอบเอง

เพราะเมื่อสาวลึกลงไปก็เห็นๆ แล้วว่า สินบนโรลส์-รอยซ์ เกี่ยวข้องกับนักการเมืองหลายรัฐบาล หลายก๊ก หลายกลุ่ม ขณะที่ดีดีและประธานบอร์ด ก็ล้วนแต่บิ๊กเบิ้มทั้งนั้น และไม่ใช่แค่เครื่องบนโรลส์-รอยซ์เท่านั้น หากแต่ยังรวมไปทุกชิ้นส่วนประกอบของเครื่องบิน ตั้งแต่ลำตัวเครื่องบิน เก้าอี้ที่อยู่ในเครื่องบิน ระบบเอนเตอร์เทนเมนต์ ตลอดจนการซ่อมบำรุงและรวมถึงการขายเครื่องเบินเก่าออกไปและซื้อเครื่องบินใหม่เข้ามา

แล้วก็ซื้อกันทุกยุค ไม่ว่ายุคพลเรือน ยุคทหาร แม้กระทั่งยุคที่ประเทศไทยต้องเผชิญวิกฤต IMF ก็ซื้อ เรียกว่าซื้อกันทุกยุคทุกสมัยจนกล่าวได้ว่า ไม่เคยมีครั้งไหนที่มีการเปลี่ยนแปลงรัฐบาลแล้วไม่มีการซื้อเครื่องบิน

“ใน 7 ปีที่ผ่านมา 2 ยุค ทุกยุคเราซื้อเครื่องบินไป 55 ลำ ภายใน 7 ปี วงเงิน 2 แสนล้านบาท ถ้าตัด 3 เปอร์เซ็นต์ ออกมาก็คือค่าคอมมิชชั่นที่ได้แน่นอน 6 พันล้านบาท” นายสนธิ ลิ้มทองกุล ผู้ก่อตั้งหนังสือพิมพ์ผู้จัดการ ได้เคยพูดถึงปัญหาการบินไทยไว้ในรายการเมืองไทยรายสัปดาห์ ทางสถานีโทรทัศน์ผ่านดาวเทียมเอเอสทีวี เมื่อวันศุกร์ที่ 10 กันยายน 2553

และประเด็นที่น่าสนใจและจำต้องขีดเส้นใต้เอาไว้ก็คือ ผลการสอบสวนของสำนักงานปราบปรามการทุจริตของประเทศอังกฤษ (Serious Fraud Office หรือ SFO) ระบุเอาไว้ชัดว่า ในการจ่ายสินบนครั้งที่ 3 คือระหว่างปี 2547-2548 นั้น โรลส์-รอยซ์จ่ายเงิน เจ้าหน้าที่รัฐและพนักงานการบินไทย 7.2ล้าน เหรียญ เพื่อซื้อเครื่องยนต์ T800 ล็อต 3 โดยได้ไปคุยและกินข้าวกับรัฐมนตรีเพื่อให้คณะรัฐมนตรี (ครม.) อนุมัติสัญญา

ทั้งนี้ ในช่วงปี 2547 -2548 เป็นยุคของรัฐบาลนักโทษชายหนีคดีทักษิณ ชินวัตร แต่ไม่เป็นที่แน่ชัดว่า ใครคือรัฐมนตรีที่ไปกินข้าวกับโรลส์-รอยซ์ เป็นรัฐมนตรีกระทรวงไหน กระทรวงคมนาคม กระทรวงการคลังหรือกระทรวงอื่น เพียงแต่ทราบว่า ในช่วงเวลานั้น มี 2 นักการเมืองดำรงตำแหน่งรัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคมในเวลาคาบเกี่ยวกันคือ นายสุริยะ จึงรุ่งเรืองกิจ หรือ นายพงษ์ศักดิ์ รักตตพงษ์ไพศาล ขณะที่กระทรวงการคลังมีนายทะนง พิทยะ เป็นรัฐมนตรีว่าการ

กล่าวสำหรับสัมพันธ์ธุรกิจระหว่างการบินไทยกับโรลส์-รอยซ์ นั้นต้องบอกว่า แน่นปึ๊กมายาวนาน โดยเมื่อปลายปี 2558 ทั้งสองได้ร่วมกันจัดงานฉลองใหญ่ครึ่งศตรวรรษ “50 Years A Celebration of Partnership into the Future” นับตั้งแต่การบินไทยเริ่มทำการบินด้วยเครื่องบินแบบคาราแวล 3 (Caravelle III) ด้วยเครื่องยนต์แบบเอวอน (Avon) ของบริษัท โรลส์-รอยซ์ เมื่อปี 2507 โดยการบินไทยเลือกใช้เครื่องยนต์เทรนท์ (Trent) ของโรลส์-รอยซ์ ในเครื่องบินประเภทต่างๆ

ทั้งนี้ เคยมีความพยายามที่จะทลายการผูกขาดของโรลส์-รอยซ์ โดยเปิดโอกาสให้ “แพรต แอนด์ วิทนีย์” จากสหรัฐอเมริกาบ้าง (เครื่องยนต์เครื่องบินชั้นนำระดับโลกมีมาจาก 3 บริษัทคือ โรลส์-รอยซ์ แพรต แอนด์ วิทนีย์และจีอี)โดยเฉพาะในยุครัฐบาลพลเอกชาติชาย ชุณหะวัณ ( ระหว่าง พศ. 2531-2534 ) ซึ่งคณะที่ปรึกษานโยบาย บ้านพิษณุโลก พยายามดำเนินการ แต่ก็ไม่ประสบความสำเร็จ

ล่าสุด การบินไทย ได้เลือกเครื่องยนต์รุ่น เทรนท์ เอ็กซ์ ดับบลิว บี (Trent XWB) ของโรลส์-รอยซ์ เพื่อใช้ในการติดตั้งในเครื่องบินแบบแอร์บัส เอ350 ที่การบินไทยอยู่ระหว่างการรอรับมอบ ซึ่งโรลส์-รอยซ์ เป็นเจ้าเดียวที่ผลิตเครื่องยนต์สำหรับแอร์บัส เอ 350

ปัจจุบัน เครื่องบินของการบินไทย ได้ใช้เครื่องยนต์ของโรลส์-รอยซ์ ทั้งหมด 47ลำประกอบด้วย แอร์บัสเอ 330-300 จำนวน 15ลำ แอร์บัสเอ 380-800 จำนวน 6ลำ โบอิ้ง 777-200 จำนวน 8 ลำ โบอิ้ง 777-200ER จำนวน 6 ลำ โบอิ้ง 777-300 จำนวน 6 ลำ และโบอิ้ง 787-8 จำนวน 6 ลำ

นอกจากนั้น ฝ่ายช่างของการบินไทย ได้พัฒนาศักยภาพจนสามารถซ่อมเครื่องยนต์แบบเทรนท์ 800 และเทรนท์ 700 จนเป็นที่ยอมรับของสายการบินลูกค้าที่ใช้เครื่องยนต์ประเภทเดียวกัน

สัมพันธ์ธุรกิจการบินไทยกับโรลส์-รอยซ์ แน่นแฟ้นเพียงไหน ดูได้จากคำโฆษณาประชาสัมพันธ์ต่อสังคมในโอกาสฉลองครบ 50 ปี ว่า “จากความสัมพันธ์อันดีมาตลอด 50 ปีได้แสดงให้เห็นว่า บริษัทโรลส์-รอยซ์ มีความเข้าใจในธุรกิจการบินและสามารถตอบสนองความต้องการของลูกค้าในการเพิ่มสมรรถนะนวัตกรรมเครื่องยนต์รุ่นใหม่อย่างต่อเนื่อง ส่งผลให้เพิ่มประสิทธิภาพในการปฏิบัติการบินและคุ้มค่าต่อการลงทุนให้แก่การบินไทย”

และแน่นอน เครื่องบินใหม่ที่จะจัดซื้อก็ยังเป็นเจ้าเดิม โดยยุทธศาสตร์องค์กรในปี 2560 การบินไทยจะดำเนินแผนฟื้นฟูระยะที่ 2 ต่อเนื่องอีก 6 เดือน และจะเข้าสู่แผนฟื้นฟูระยะที่ 3 โดยปีนี้มีแผนจะรับเครื่องบินใหม่จำนวน 7 ลำ แบ่งเป็น จัดซื้อเครื่องบินแอร์บัส เอ 350 จำนวน 2 ลำ และเช่าอีก 3 ลำ นอกจากนี้ จะเช่าเครื่องบินโบอิ้ง 787-9 จำนวน 2 ลำ โดยจะทดแทนเครื่องบินเก่า 7 ลำ ที่จะปลดระวางและส่งผลให้ฝูงเครื่องบินของการบินไทยอยู่ที่ 94 ลำ เท่าเดิม

ไม่ใช่เป็นเพียงเสียงลือเสียงเล่าอ้างอีกต่อไปแล้วว่า ซื้อเครื่องบินใหม่แต่ละครั้งมักมีรายการติดปลายนวม แต่เป็นความจริงแท้แน่นอนที่โรลส์-รอยซ์ ออกมายอมรับว่ามีรายการจ่ายสินบนข้ามชาติต่อชาวโลกอย่างชัดแจ้ง



กำลังโหลดความคิดเห็น