ผู้จัดการสุดสัปดาห์ - มติของที่ประชุม คณะกรรมการกิจการโทรคมนาคม (กทค.) ภายใต้ คณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กสทช.) เมื่อวันที่ 11 มกราคม 560 ที่ผ่านมา ที่ให้บริษัทมือถือทำโปรวินาทีเพียง 50% แสดงและพิสูจน์ให้เห็นชัดเจนว่าองค์กรอิสระด้านกิจการโทรคมนาคมของชาติแห่งนี้ มีจุดยืนที่เปลี่ยนไป
หรือจะใช้คำว่า “กลับลำ” หรือ “กลืนน้ำลายตัวเอง” ก็คงจะถูกต้อง เพราะเป็นมติที่เปลี่ยนไปจากมติที่เคยมาก่อนหน้านี้
หากยังจำกันได้ ความเคลื่อนไหวของผู้บริโภคได้เรียกร้องให้บริษัทค่ายมือถือทั้งหลายแก้ไขวิธีการคิดค่าโทรศัพท์เสียใหม่ โดยให้ปรับ การคิดค่าบริการเป็นวินาที หรือการใช้จริงแทนที่จะปัดเศษเป็นนาทีเต็มอย่างที่ทำๆ กัน ดำเนินการกันมาอย่างต่อเนื่องหลายปีแล้ว
จนกระทั่ง กทค. มีมติเมื่อวันที่ 17 พฤษภาคม 2559 ให้บริการบนคลื่นความถี่ 1800 MHz และ 900 MHz คิดอัตราค่าบริการตามการใช้งานจริงเป็นวินาทีทุกรายการส่งเสริมการขาย แต่ค่ายมือถือยักษ์ใหญ่ที่ให้บริการก็ร้องอุทธรณ์ให้ กสทช.พิจารณาเรื่องนี้ใหม่ และยืดเยื้อกันมายาวนานร่วมสองปี
ล่าสุด กทค.มีการประชุมเพื่อพิจารณาเรื่องดังกล่าวใหม่อีกครั้ง เมื่อวันที่ 11 มกราคม 2560 ซึ่งมติที่ออกมาเหมือนกับการพบกันครึ่งทางของข้อเรียกร้องระหว่างบริษัทมือถือกับผู้ใช้บริการ ซึ่งถือว่าไม่เป็นธรรมต่อผู้บริโภค เพราะค่ายมือถือยังถือสิทธิ์คิดค่าบริการ “เกิน” การใช้จริงต่อไปได้อีกอย่างน้อยๆ ก็ 6 เดือนนับจากนี้ ก่อนที่จะซื้อเวลา “ทบทวน” กันใหม่อีก
แถม กสทช. ยังโยนความรับผิดชอบในฐานะผู้คุมกฎกติกา ให้ไปขึ้นกับ “กลไกตลาด” ขึ้นอยู่กับว่าผู้บริโภคจะชอบโปรแบบไหน ซึ่งหากจะอ้างเช่นนี้ ก็คงต้องถามกลับว่า แล้วจะมี กสทช. ไว้สำมะหาอันใด
สำหรับรายละเอียดของมติที่ประชุม กทค. นั้น นายฐากร ตัณฑสิทธิ์ เลขาธิการคณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ(กสทช.) ออกมาเปิดเผยว่า ที่ประชุม กทค.มีมติทบทวนวิธีคิดอัตราการคิดค่าบริการโทรศัพท์ใหม่โดยให้เพิ่มการคิดค่าบริการโทรศัพท์มือถือเป็นนาทีเข้าไปจากเดิมที่ กทค. เคยมีมติ ครั้งที่ 10/2559 เมื่อวันที่ 17 พฤษภาคม 2559 ให้มีการคิดอัตราค่าบริการทุกโปรโมชั่นเป็นวินาทีเท่านั้น โดยหลังจากออกเป็นมติบอร์ดแล้วจะมีคำสั่งทางปกครองไปถึงผู้ให้บริการทุกรายต่อไปและต้องปฏิบัติตามทันที
ทั้งนี้ ผู้ให้บริการโทรศัพท์มือถือจะต้องกำหนดแพกเกจโปรโมชั่นที่คิดค่าโทร.ตามจริงเป็นวินาทีไม่น้อยกว่า50%และมีโปรโมชั่นคิดค่าโทร.ตามจริงเป็นนาที 50 % ของโปรโมชั่นทั้งหมดที่มีอยู่ในตลาดในสัดส่วนเท่ากัน โดยกำหนดเวลาประเมินผลการใช้แนวทางดังกล่าวประมาณ6 เดือน จากนั้นจะนำความเห็นของประชาชนมาปรับปรุงการคิดค่าบริการในอนาคต
“.... ต้องขออภัยว่าเราไม่สามารถจะเดินไปทางใดทางหนึ่งได้ ขอให้ประชาชนเลือกตามที่ตนเองได้ประโยชน์ จึงต้องเดินตามทางสายกลาง ซึ่งมีผลรับรองเป็นมติที่ประชุมทันที และอีก 2 - 3 วัน คำสั่งทางปกครองจะส่งไปถึงค่ายมือถือ จากนี้ทุกคนจะต้องเริ่มไปปรับโปรโมชั่นของตัวเองให้สอดคล้องกับมติ เพราะเมื่อมีมติออกไปชัดเจนว่า หากไม่ปฏิบัติตามจะต้องมีคำสั่งเตือน และสั่งปรับต่อไป” นายฐากรให้เหตุผล
ปัจจุบัน กสทช. กำหนดอัตราขั้นสูงไว้ว่าต้องไม่เกินกว่า 0.68 บาทต่อนาที ซึ่งจากที่สำรวจพบว่าโปรโมชั่นปัจจุบันเฉลี่ยที่ 0.40 บาท
ทันทีที่มติที่ประชุม กทค. ออกมา นางสาวสารี อ๋องสมหวัง เลขาธิการมูลนิธิเพื่อผู้บริโภค ส่งอีเมล์ถึงสื่อมวลชน โดยมีเนื้อหาว่า “ผู้บริโภคมีมติฟ้องเอาเงินคืนด้วยการฟ้องคดีแบบกลุ่มโดยเร็วที่สุด และประกาศไม่ยอมรับการแก้มติ กสทช. เนื่องจาก กสทช.ถอยกรูดให้บริษัททำโปรวินาทีเพียง 50% ทั้งที่เดิมมีมติเมื่อวันที่ 17 พฤษภาคม2559 กำหนดไว้ ให้คิดอัตราค่าบริการตามการใช้งานจริงเป็นวินาทีทุกรายการส่งเสริมการขาย และจะขยายจากเพิ่มเติม เป็นการเปลี่ยนผ่านไปสู่การคิดค่าบริการตามการใช้งานจริงในย่านความถี่อื่นต่อไป ซึ่งมติ กทค. เป็นเหตุให้เกิดความเสียหายต่อผู้บริโภคมากกว่า 18,032.70 ล้านบาท ในระยะเวลา 7 เดือน”
นอกจากจะฟ้องร้องเรียกค่าเสียหายคืนแล้ว มูลนิธิเพื่อผู้บริโภค ยังเดินหน้าเอาผิดอาญากับคณะกรรมการ กสทช. และ กทค. ซึ่งเข้าข่ายกระทำความผิดต่อตำแหน่งหน้าที่ราชการตามประมวลกฎหมายอาญา หรือปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบ อีกด้วย
โดยก่อนหน้านี้ เมื่อวันที่ 28 ธันวาคม 2559 ตัวแทนของมูลนิธิผู้บริโภค ได้เข้ายื่นหนังสือถึงประธานคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ(ป.ป.ช.) ขอให้ตรวจสอบเลขาธิการ กสทช. จากกรณีไม่บังคับให้ผู้รับใบอนุญาตสองราย คือ บริษัท แอดวานซ์ ไวร์เลส เน็ทเวอร์ค จำกัด (AWN) และ บริษัท ทรูมูฟ เอช ยูนิเวอร์แซล คอมมิวนิเคชั่น จำกัด (TUC) คิดอัตราค่าบริการตามการใช้งานจริงเป็นวินาทีทุกรายการส่งเสริมการขาย ตามที่ได้มีมติ กทค. เมื่อวันที่ 17 พฤษภาคม 2559 ซึ่งเลขาธิการ กสทช.ไม่สามารถอ้างเหตุการอุทธรณ์คำสั่งของบริษัท เพราะมติ กสทช .ถือเป็นที่สุด หากบริษัทไม่พอใจต้องดำเนินการฟ้องร้องต่อศาลปกครอง และไม่ปรากฏว่ามีการดำเนินการฟ้องคดีหลังมีคำสั่งมากกว่า6เดือน
“สำนักงาน กสทช. นอกจากจะไม่สามารถบังคับให้ผู้ให้บริการปฏิบัติตามมติ กทค. ได้ กลับเสนอให้ที่ประชุม กทค. พิจารณาทบทวนมติ เป็นเหตุให้เกิดความเสียหายต่อผู้บริโภคมากกว่า 18,032 ล้านบาท ใน 7 เดือนนับจากที่ กทค.มีมติอาจจะเข้าข่ายความผิดต่อตำแหน่งหน้าที่ราชการตามประมวลกฎหมายอาญา เข้าข่ายการละเว้นการปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบ”
“ส่วน กทค. เสียงข้างมาก นอกจากจะไม่กำกับสำนักงานเร่งรัดผู้รับใบอนุญาตให้คิดค่าบริการตามการใช้งานจริงตามมติของตนเอง ยังมีการปฏิบัติที่ล่าช้าเกินควร ทั้งที่ได้รับข้อเสนอจากสภาปฏิรูปแห่งชาติ เป็นเวลาสองปี สภานิติบัญญัติแห่งชาติ สภาขับเคลื่อนการปฏิรูปประเทศ แต่ยังไม่มีผลในทางปฏิบัติจนถึงปัจจุบัน รวมทั้งไม่คุ้มครองผู้ร้องเรียนในการคิดค่าบริการตามจริงจากกรณีของนายวัชรภัทร์ ไวทยกุล โดยมีมติให้บริษัทสามารถเก็บค่าบริการเพิ่ม และมีความพยายามทบทวนมติกทค.ในเรื่องนี้ ซึ่งอาจจะเข้าข่ายเอื้อประโยชน์ต่อบริษัท โดยใช้แง่มุมกฎหมายว่า เป็นการพิจารณามติใหม่ ไม่ใช่การทบทวนมติของกทค.”
ปัจจุบัน บริษัททั้งสองเป็นผู้ให้บริการโทรศัพท์เคลื่อนที่รายใหญ่ในประเทศไทย จากข้อมูลของสำนักงาน กสทช. ในไตรมาสที่ 4 ของปี 2557ผู้ให้บริการทั้งสองรายมีผู้ใช้บริการทั้งประเทศรวมแล้วประมาณ 64,402,500 เลขหมาย ดังนั้น การละเว้นการปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบของผู้ถูกกล่าวหา จึงทำให้ผู้บริโภคเสียหายจากการถูกเรียกเก็บค่าบริการเกินความเป็นจริง มีมูลค่า2,576.1 ล้านบาท ต่อเดือน เป็นความเสียหายของผู้บริโภคจากสองบริษัทใน 7เดือนที่ผ่านมาไม่น้อยกว่า 18,032.70 ล้านบาท หรือดังที่มีผู้ร้องเรียนบางรายต้องจ่ายเงินเพิ่มถึง197.50 บาทต่อเดือน ทั้งๆที่ใช้แพ็คเกจราคาสูง 899 บาท คิดเป็นมูลค่ามากกว่าร้อยละ 21.97ของจำนวนเงินที่จ่ายในแต่ละเดือน
เมื่อ กสทช.ไม่คุ้มครองผลประโยชน์ของผู้บริโภค ก็ต้องมาเจอกันที่ ป.ป.ช. เพื่อพิสูจน์ว่า หน่วยงานที่ต้องทำหน้าหน้าที่บังคับใช้กฎหมายเพื่อคุ้มครองผลประโยชน์สาธารณะแต่กลับไม่ทำหน้าที่ และกระบวนการยุติธรรม ซึ่งเริ่มต้นที่ ป.ป.ช. จะเป็นที่พึ่งให้ประชาชนได้หรือไม่