xs
xsm
sm
md
lg

ผู้จัดการสุดสัปดาห์

x

ม.44 ต่อชีวิตทีวีดิจิตอล หมากเกมนี้ “ลุงตู่” ไม่ธรรมดา

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


ผู้จัดการสุดสัปดาห์ - เฮลั่นสนั่นวงการสื่อ เมื่อ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ใช้อำนาจตามมาตรา 44 แห่งรัฐธรรมนญฯ (ฉบับชั่วคราว) 2557 ขยายเวลาจ่ายค่าสัมปทานทีวีดิจิทัลออกไป

คำสั่งที่ออกมาเรียกว่า “ซื้อใจ” เรียกคะแนนนิยมจากสื่อกระแสหลักอย่างท่วมท้น เพราะค่ายสื่อยักษ์ใหญ่เวลานี้ล้วนต่างมีธุรกิจสื่อครบวงจรทั้งทีวี วิทยุ สิ่งพิมพ์ ออนไลน์ ที่สำคัญคือถ้ารัฐบาลยังปล่อยให้ คณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กสทช.) บริหารตามยถากรรมแบบเดิม ก็ฟันธงล่วงหน้าได้เลยว่า มีหวังพับฐานอีกหลายค่าย หรือไม่ก็ต้องไปเร่หาหุ้นส่วนเพื่อทำให้ธุรกิจสามารถเดินหน้าต่อไปได้

นายฐากร ตัณฑสิทธิ์ เลขาธิการคณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กสทช.) ขานรับคำสั่ง คสช. ฉบับที่ 76/2559 เรื่อง มาตรการส่งเสริมการประกอบกิจการวิทยุกระจายเสียง วิทยุโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคม เพื่อประโยชน์สาธารณะ โดยอาศัยอำนาจตาม มาตรา 44 เพื่อนำสู่การปฏิบัติทันที

อันดับแรกสุด คือ การให้ความช่วยเหลือแก่ผู้ประกอบกิจการโทรทัศน์ภาคพื้นดินในระบบดิจิทัล ประเภทบริการธุรกิจระดับชาติ (ทีวีดิจิทัล) จำนวน 22 ช่อง ที่ให้ขยายระยะเวลาชำระค่าใบอนุญาตทีวีดิจิทัล จำนวน 6 งวด จากเดิมผู้ประกอบการเสนอการชำระเงินค่าชนะประมูลใบอนุญาตไปแล้ว จำนวน 3 งวด ในงวดที่ 4 ซึ่งจะครบกำหนดในเดือนพฤษภาคม 2560

คำสั่งที่ออกมา ช่วยต่อลมหายใจผู้ประกอบการ ให้สามารถชำระได้หลังจากเดือนพฤษภาคม โดยต้องเสียอัตราดอกเบี้ยตามประกาศอัตรา MLR ของธนาคารแห่งประเทศไทย ซึ่งแนวทางดังกล่าวไม่ได้บังคับผู้ประกอบการทีวีดิจิทัล และกสทช. จะทำหนังสือแจ้งไปยังผู้ประกอบการทีวีดิจิทัลทั้ง 22 ช่อง โดยผู้ประกอบการรายใดมีความประสงค์จะเข้าเงื่อนไขตามประกาศ คสช.ฉบับที่ 76/2559 สามารถยื่นความจำนงได้ใน 30 วัน นับจากคำสั่งประกาศลงราชกิจจานุเบกษาเมื่อวันที่ 20 ธันวาคม 2559

เรื่องที่สอง คือ คำสั่งให้สำนักงาน กสทช.ชำระค่าเช่าโครงข่ายสัญญาณดาวเทียม ที่เป็นการเผยแพร่กิจการโทรทัศน์ที่ให้บริการเป็นการทั่วไป หรือมัสแครีย์ ซึ่งผู้ประกอบการฟรีทีวี 22 ช่อง ออกอากาศอยู่ในปัจจุบัน ให้แก่ผู้ประกอบการโครงข่ายดาวเทียม (บริษัท ไทยคม) เพื่อให้เป็นไปตามประกาศกฎมัสแครีย์ โดยประกาศดังกล่าว กสทช.กำหนดว่า ผู้ประกอบการที่ชนะการประมูลทีวีดิจิทัล จะต้องออกอากาศให้ครบทุกช่องทาง (แพลตฟอร์ม) ที่ออกอากาศได้ เพื่อให้ประชาชนรับชมได้ตามสิทธิขั้นพื้นฐาน เนื่องจากทีวีดิจิทัลทั้ง 22 ช่อง เป็นกลุ่มฟรีทีวี จึงต้องออกอากาศในโครงข่ายดาวเทียม และเคเบิลทีวี

ทั้งนี้ คำสั่งดังกล่าวให้สำนักงาน กสทช.และกองทุนพัฒนากิจการกระจายเสียง (กทปส.) เป็นผู้ชำระค่าเช่าโครงข่ายดาวเทียมแทนผู้ประกอบการ โดยมีกำหนดระยะเวลา 3 ปี รวมมูลค่า 2,500 ล้านบาท หรือคิดเป็นค่าใช้จ่ายต่อปี ปีละ 800 ล้านบาท ซึ่งจะครอบคลุมการชำระให้แก่ช่องทีวีดิจิทัลทั้งหมด 26 ช่อง แบ่งเป็นทีวีดิจิทัลประเภทธุรกิจ 22 ช่อง และทีวีดิจิทัลประเภทกลุ่มสาธารณะ 4 ช่อง ได้แก่ ช่อง 5, ช่อง NBT, อสมท และช่องไทยพีบีเอส

และที่มากกว่านั้น นี่คือการใช้อำนาจ คสช. ในการคงสภาพความเป็นเจ้าของคลื่นวิทยุเอาไว้เหมือนเดิมโดยที่ไม่มีการเปลี่ยนแปลง จากเดิมตามแผนแม่บทการบริหารคลื่นความถี่ ปี 2555 กสทช. กำหนดให้คลื่นความถี่วิทยุของหน่วยงานด้านความมั่นคงและหน่วยงานรัฐ จะต้องส่งคืน กสทช.ภายในเดือนเมษายน 2560

คำสั่ง คสช. ดังกล่าว ในข้อ 7 ระบุว่า “ให้ กสทช. หรือสำนักงาน กสทช. ดำเนินการเรียกคืนคลื่นความถี่เพื่อนำไป จัดสรรใหม่หรือปรับปรุงการใช้คลื่นความถี่ตามแผนแม่บทการบริหารคลื่นความถี่ (พ.ศ. 2555) เมื่อพ้นกำหนดระยะเวลาห้าปี นับแต่วันครบกำหนดแผนแม่บทการบริหารคลื่นความถี่ดังกล่าว ทั้งนี้ให้ส่วนราชการ รัฐวิสาหกิจ หรือหน่วยงานของรัฐที่ประกอบกิจการกระจายเสียงตามพระราชบัญญัติ การประกอบกิจการกระจายเสียงและกิจการโทรทัศน์ พ.ศ. 2551 และได้รับความเห็นชอบให้ถือครอง คลื่นความถี่ตามพระราชบัญญัติองค์กรจัดสรรคลื่นความถี่และกำกับการประกอบกิจการวิทยุกระจายเสียงวิทยุโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคม พ.ศ.2553 ยังคงมีสิทธิในการประกอบกิจการวิทยุกระจายเสียงและการถือครองคลื่นความถี่ดังกล่าวได้ตามขอบเขตและสิทธิเดิม”

แปลไทยเป็นไทยได้สั้นๆ ง่ายๆ ก็คือว่า หน่วยงานรัฐ สามารถถือครองคลื่นวิทยุต่อไปได้ โดยยังไม่ต้องส่งคืนคลื่นให้ กสทช. นำมาจัดสรรใหม่ตามแผนแม่บทที่กำหนดไว้

น.ส.สุภิญญา กลางณรงค์ กรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กสทช.) ได้โพสต์ทวิตเตอร์แสดงท่าทีต่อคำสั่งดังกล่าว ว่า

“เรื่อง ม.44 ต่ออายุการถือครองคลื่นวิทยุของรัฐไปอีก 5 ปี ดิฉันขอแสดงความไม่เห็นด้วยกับ คสช. อย่างยิ่ง เพราะจะทำให้สังคมกังขาต่อการเอื้อประโยชน์หน่วยงานรัฐที่ครองคลื่นอยู่เยอะ และเอกชนที่ใกล้ชิดรัฐได้ถ้าหน่วยงานรัฐจะถือครองคลื่นวิทยุต่อ จริงๆ ย่อมทำได้ แต่คือต้องปรับตัว เน้นการประกอบกิจการด้วยตนเอง และเพื่อประโยชน์สาธารณะจริงๆ ดิฉันไม่เห็นด้วยกับ คสช.ในการต่ออายุ สิทธิการถือครองคลื่นวิทยุของรัฐทุกรายไปอีก 5 ปี เพราะเป็นการเอื้อเอกชนที่อยู่ภายใต้ระบบเช่าช่วงอุปถัมภ์”

ความเห็นของ กรรมการ กสทช. ที่ไม่เห็นด้วยเพราะที่ผ่านมาก็ให้เวลาปรับตัวมาล่วงหน้าแล้ว ไม่มีเหตุผลใดที่จะต้องมายืดเวลาออกไปอีก และคำสั่งของ คสช. ดังกล่าวก็ไม่ได้อธิบายเหตุผลใดๆ ว่าทำไมจึงต้องเลื่อนออกไป ขณะที่การเลื่อนเวลาการจ่ายค่าสัมปทานทีวีดิจิตอลนั้น มีเหตุผลอธิบายชัดเจนว่าออกคำสั่งมาเพื่อช่วยเหลือผู้ประกอบการที่ประสบปัญหาหารายได้ไม่เข้าเป้า ถ้าหากปล่อยให้ล้มหายตายจากไปจะเป็นอุปสรรคปัญหาต่อการขับเคลื่อนเศรษฐกิจของประเทศ

ปัจจุบัน ข้อมูลการถือครองคลื่นวิทยุระบบ FM จำนวน 313 สถานี และคลื่น AM จำนวน 193 สถานี ที่สมาคมนักข่าววิทยุและโทรทัศน์ไทย รวบรวมไว้ณ วันที่ 15 ธันวาคม 2559 นั้น รายงานเอาไว้ว่า 10 อันดับแรกของหน่วยงานภาครัฐและรัฐวิสาหกิจที่ถือครองคลื่นวิทยุ มีดังนี้

1.กรมประชาสัมพันธ์ ถือครองคลื่นวิทยุระบบ FM จำนวน 88 สถานี ถือครองคลื่นวิทยุระบบ AM จำนวน57 สถานี 2.บมจ.อสมท ถือครองคลื่น FM จำนวน 60 สถานี ถือครองคลื่น AM จำนวน 2 สถานี 3.กองทัพบก ถือครองคลื่น FM จำนวน49 สถานี ถือครองคลื่นวิทยุระบบ AM จำนวน 78 สถานี 4.สำนักงานตำรวจแห่งชาติ ถือครองคลื่นFM จำนวน 37 สถานี ถือครองคลื่น AM จำนวน 7 สถานี 5.กองทัพอากาศ ถือครองคลื่น FM 18 สถานี และคลื่น AM จำนวน 18 สถานี

6.สำนักงานเลขาธิการสภาผู้แทนฯ ถือครองคลื่น FM จำนวน 15 สถานี คลื่น AM จำนวน1 สถานี 7.กองทัพเรือ ถือครองคลื่น FM จำนวน 14 สถานี คลื่น AM จำนวน7 สถานี 8.กองบัญชาการกองทัพไทย ถือครองคลื่น FM จำนวน 7 สถานี และคลื่นAM จำนวน 7 สถานี 9. สำนักงาน กสทช. ถือครองคลื่น FM จำนวน 5 สถานี และคลื่นAM จำนวน 3 สถานี 10.กรมอุตุนิยมวิทยา ถือครองคลื่น FM จำนวน 5 สถานี และคลื่น AM 1 สถานี

ขณะที่ นายฐากร ออกมาอธิบายแทนว่า ตามประกาศ คสช. เกี่ยวกับมติ กสท.เรื่องการเรียกคืนคลื่นความถี่การประกอบกิจการวิทยุกระจายเสียง ที่เป็นคลื่นความถี่ที่ไม่ได้กำหนดระยะเวลาสิ้นสุดของส่วนราชการ รัฐวิสาหกิจ และหน่วยงานอื่นของรัฐ จำนวน 21 หน่วยงาน จำนวน 537 คลื่น ให้มีกำหนดระยะเวลาการคืนคลื่นสูงสุดไว้ 5 ปีนั้น ให้ กสทช. ชะลอแผนเรียกคืนคลื่นดังกล่าวออกไป 5 ปี เนื่องจากรอดูสถานการณ์การประกอบกิจการของทีวีดิทัลว่าจะเป็นอย่างไรบ้าง

นั่นหมายถึง กสทช. เห็นสัญญาณอาการไปไม่รอดของทีวีดิจิทัลแล้ว หากเปิดประมูลคลื่นวิทยุดิจิตอล ก็คงมีชะตาอนาคตมืดมนไม่แตกต่างกัน อีกอย่างคือ คาดว่าคงจะรอ กสทช. ชุดใหม่เข้ามาดำเนินการเนื่องจาก กสทช.ชุดปัจจุบัน จะหมดวาระในปีหน้า เดือนตุลาคม 2560


กำลังโหลดความคิดเห็น