ผู้จัดการสุดสัปดาห์ - “เมื่อ 2-3 วันมานี้ มีข่าวการทำลายโบราณสถานวัดกัลยาณมิตร ศาสนสถานเก่าแก่ของชาติที่ตั้งเด่นเป็นสง่าอยู่ริมแม่น้ำเจ้าพระยาฝั่งธนบุรี ซึ่งวัดนี้ได้มีการก่อสร้างขึ้นแต่ครั้งรัชกาลที่ 3 มีประวัติศาสตร์ยาวนานผ่านมากว่า 190 ปี และได้มีการขึ้นทะเบียนเป็นโบราณสถานประกาศในราชกิจจานุเบกษาแต่ปี 2492
ใครจะทุบทำลายทำให้เสื่อมค่า หรือแม้แต่ปรับปรุงซ่อมแซมอะไรไม่ได้ ต้องห้ามตามพระราชบัญญัติโบราณสถานมาตรา 10 มีหน้าที่แจ้งให้กรมศิลปากรดำเนินการ ใครฝ่าฝืนมีโทษจำคุกถึงสิบปีตามมาตรา 38
ปัญหาก็คือ การทำลายโบราณสถานในวัดนี้เกิดขึ้นอย่างต่อเนื่องกันมากว่าสิบปีแต่ พ.ศ.2546 ถึงปัจจุบัน หอระฆัง หอไตร และศาลา กุฏิพระโบราณ สิ่งก่อสร้างทางประวัติศาสตร์มรดกของชาติที่มีค่าเป็นอนันต์ คิดเป็นเงินไม่ได้ ถูกเจ้าอาวาสสั่งทุบทำลายไป 22 รายการ เหมือนบ้านเมืองไม่มีกฎหมายคุ้มครองโบราณสถานเช่นเดียวกับนานาอารยประเทศ
ข้อเท็จจริงก็คือ หลังจากกรมศิลปากรทราบจากประชาชนว่า มีการทุบทำลายโบราณสถานในวัด ก็ได้ไปตรวจสอบรวบรวมหลักฐานแจ้งความกล่าวโทษต่อพนักงานสอบสวนที่สถานีตำรวจให้ดำเนินคดีเจ้าอาวาสผู้สั่งการแต่ปี 2553 ต่างกรรมต่างวาระกันถึง 18 คดี และที่เกิดขึ้นใหม่อีก 1 คดี จับคนต่างด้าวไป 2 คน ถือว่าอธิบดีกรมศิลปากรได้ทำหน้าที่ในฐานะเจ้าพนักงานผู้รับผิดชอบตามกฎหมายไปส่วนหนึ่งแล้ว
แต่ไม่น่าเชื่อว่าการสอบสวนการกระทำความผิดดังกล่าวตั้งแต่พนักงานสอบสวนสถานีตำรวจนครบาลบุปผาราม กองบังคับการ ไปจนถึงผู้บัญชาการตำรวจนครบาลได้สรุปการสอบสวนเสนอให้อัยการสั่งไม่ฟ้องไปถึง 14 คดี ด้วยเหตุผลว่าการทุบทำลายโบราณสถานดังกล่าวเป็นการกระทำเพื่อพัฒนาวัดทำนุบำรุงพุทธศาสนา ไม่มีเจตนาทำลายโบราณสถาน! มันมีอยู่ในบทกฎหมายมาตราใดให้อ้างได้เช่นนั้น
ส่วนอัยการเห็นท่าไม่ดี หากใช้เหตุผลนี้สั่งไม่ฟ้องอนาคตอาจลำบาก เลยให้เหตุผลข้างๆ คูๆ ว่าเป็นการบูรณะให้คงสภาพเดิมไม่ใช่การทำลายหรือทำให้เสียหายเสื่อมค่า ทั้งที่ข้อเท็จจริงโบราณสถานหลายรายการ เช่น หอระฆังและหอไตรได้ถูกทุบกลายเป็นเศษอิฐปูนหายไปหมดสิ้น
การสอบสวนและสั่งไม่ฟ้องผู้ต้องหาของอัยการทั้ง 14 คดีดังกล่าวได้ทำให้การแจ้งความดำเนินคดีของกรมศิลปากรไม่มีผลยับยั้งการทำลายโบราณสถานในวัดกัลยาณมิตรเลย โดยได้มีการทุบทำลายอย่างต่อเนื่องในเวลาต่อมา
จนกระทั่งกลุ่มประชาชนปกป้องโบราณสถานได้มีหนังสือถึงผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ อัยการสูงสุดและคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ กล่าวโทษให้ดำเนินคดีอาญาและวินัยกับพนักงานสอบสวนและอัยการที่สั่งคดีมิชอบด้วยกฎหมายทุกระดับทุกคน ผู้รับผิดชอบจึงไม่กล้าสรุปการสอบสวนเสนอให้อัยการสั่งไม่ฟ้องคดีที่เหลือ รอดูท่าทีอยู่กระทั่งปัจจุบัน
นั่นคือเหตุผลสำคัญที่เป็นคำตอบว่า เหตุใดพระราชบัญญัติโบราณสถานประเทศไทยจึงไม่สามารถคุ้มครองสิ่งก่อสร้างที่มีคุณค่าทางประวัติของชาติเอาไว้ได้ ถูกทุบทำลายกันไปต่อหน้าต่อตาประชาชนและเจ้าพนักงานผู้รับผิดชอบมากมายเหมือนบ้านป่าเมืองเถื่อน ทั้งนี้ ก็เพราะการสอบสวนคดีอาญาประเทศเรามีปัญหาอย่างร้ายแรงนั่นเอง โดยเฉพาะอย่างยิ่งการรวมศูนย์อำนาจผูกขาดการสอบสวนไว้ที่สำนักงานตำรวจแห่งชาติทั้งหมด ผู้บังคับบัญชาตำรวจจะสั่งให้พนักงานสอบสวนสรุปสำนวนเสนออัยการสั่งฟ้องหรือไม่ฟ้องโดยอ้างเหตุผลพิลึกพิเรนทร์กันอย่างไรก็ได้ ส่วนใหญ่ต้องจำใจทำตาม และอัยการก็ไม่เข้มแข็งเพียงพอที่จะสั่งคดีไปตามข้อเท็จจริงและพยานหลักฐานที่ปรากฏ
เพราะหากไม่มีการทำลายโบราณสถานเช่นที่อัยการวินิจฉัยจริง นั่นเท่ากับว่าทั้งหมดนั้นอธิบดีกรมศิลปากรปฏิบัติราชการมั่ว ไปแจ้งความเท็จต่อพนักงานสอบสวนหรืออย่างไร? และสื่อก็ตั้งประเด็นถกเถียงงงกันอยู่ได้ว่า สิ่งก่อสร้างที่ถูกทุบทำลายไปนั้นเป็นโบราณสถานหรือไม่?
ก็อธิบดีกรมศิลปากรนายทะเบียนตามกฎหมายยืนยันว่าสิ่งก่อสร้างนั้นเป็นโบราณสถานของชาติ ขึ้นทะเบียนไว้ตามกฎหมาย แล้วใครจะมีสิทธิ์โต้แย้งบอกว่าไม่เป็นได้เล่า เรื่องนี้อัยการสูงสุดมีหน้าที่ต้องตรวจสอบหลักฐานการสอบสวน และการสั่งคดีของพนักงานอัยการผู้ใต้บังคับบัญชาทั้ง 14 คดีว่าเป็นการสอบสวนและสั่งคดีที่สอดคล้องกับพยานหลักฐานชอบด้วยกฎหมายหรือไม่ นำมาสั่งการใหม่ให้ถูกต้อง ฟ้องผู้กระทำผิดต่อศาลให้พิจารณาโทษตามกฎหมาย รวมทั้งดำเนินคดีอาญาวินัยร้ายแรงอัยการผู้รับผิดชอบทุกระดับ
ส่วนผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติก็ต้องสั่งการให้มีการดำเนินคดีตามกฎหมายทั้งอาญาและวินัย มีคำตอบเป็นหนังสือตามที่เครือข่ายประชาชนกล่าวโทษพนักงานสอบสวนผู้รับผิดชอบทุกคนทุกระดับตั้งแต่สถานีตำรวจไปจนถึงกองบัญชาการตำรวจนครบาล เพื่อมิให้เป็นเยี่ยงอย่างต่อผู้อื่นต่อไปด้วยเช่นกัน
ในการปฏิรูปประเทศครั้งนี้ องค์กรที่ต้องมีการปฏิรูปใหญ่ นอกจากตำรวจแห่งชาติที่ต้องแยกงานสอบสวนคดีอาญาออกเป็นอิสระ ปฏิบัติงานภายใต้การตรวจสอบอย่างเข้มงวดของคณะกรรมการสอบสวนคดีอาญาแห่งชาติ สร้างหลักประกันความสุจริตและประสิทธิภาพในการสอบสวนคดีอาญาของประเทศแล้ว ระบบงานอัยการก็ต้องมีการปฏิรูปด้วย ที่สำคัญคือ ต้องกำหนดมาตรการตรวจสอบจากภายนอกในการใช้ดุลยพินิจสั่งคดีให้มีหลักประกันว่าผู้รับผิดชอบได้กระทำอย่างถูกต้องสอดคล้องกับพยานหลักฐานที่วิญญูชนสามารถรับฟังได้ โดยคดีที่ไม่รู้ตัวผู้กระทำผิดสั่งงดสอบสวนหรือสั่งไม่ฟ้อง ผู้เสียหายและผู้กล่าวโทษต้องมีสิทธิ์ขอเอกสารการสอบสวนและหลักฐานการสั่งคดีของผู้รับผิดชอบทุกระดับมาตรวจสอบได้เช่นเดียวกับคำพิพากษาของศาล
เพราะการสอบสวนและการสั่งคดีของอัยการคือตัวชี้ขาดกระบวนการยุติธรรมทางอาญาของประเทศและการปกครองระบอบประชาธิปไตยที่แท้จริง”
....บทความที่ผ่านสายตาไปนั้นผู้เขียนได้คัดลอกมาจากหนังสือโรดแมป ปฏิรูปตำรวจโดย พ.ต.อ.วิรุตม์ ศิริสวัสดิบุตร จะเห็นได้ว่าอำนาจของงานสอบสวนมีความสำคัญครอบคลุมไปทุกบริบทของสังคมไทย ไม่เว้นกระทั่งวัดวาโบราณสถาน
ผลการปฏิบัติหน้าที่ในตอนนั้นกลายเป็นข่าวใหญ่โตขนาดกลุ่มชาวบ้านโดย นายเชียรช่วง กัลยาณมิตร ทายาทผู้สร้างวัดกัลยาณมิตรยื่นเรื่องต่อ ปปช.ให้ดำเนินการต่อคณะพนักงานสอบสวน และพนักอัยการฐานปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบ ประกอบด้วยอดีต ผบก.น. 8 ในตอนนั้น พนักงานสอบสวน สน.บุปผาราม ผู้รับผิดชอบทุกคดี พล.ต.ท.อำนวย นิ่มมะโน ขณะดำรงตำแหน่งรอง ผบช.น. พนักงานอัยการผู้รับผิดชอบทุกคดีกรณีมีความเห็นสั่งไม่ฟ้อง พระธรรมเจดีย์ เจ้าอาวาสวัดกัลยาณมิตร ผู้สั่งการทุบทำลายโบราณสถานให้สูญหาย และเสียหาย
ล่าสุดนายเชียรช่วง ออกมาเคลื่อนไหวอีกครั้งโดยขอทราบความคืบหน้าจาก พล.ต.อ.วัชรพล ประสารราชกิจ ประธานคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) แต่ยังไม่มีความคืบหน้าที่ชัดเจน
อย่างไรก็ตามแม้เรื่องดังกล่าวยังค้างอยู่ที่ ปปช.นานถึง 5-6 ปีแล้วแต่เชื่อว่าพยาน-หลักฐานจากเอกสารต่างๆที่พนักงานสอบสวน และเจ้าพนักงานอัยการมีความเห็นว่า...ที่สั่งไม่ฟ้องเพราะเป็นการกระทำเพื่อพัฒนาวัด ทำนุบำรุงพุทธศาสนา นั้นหมายความว่าอย่างไร เป็นการขัดกับบทบัญญัติของกฎหมายว่าด้วยโบราณสถานของชาติหรือไม่
และการสั่งไม่ฟ้องพระธรรมเจดีย์ ของเจ้าพนักงานดังกล่าวจึงมีพฤติการณ์เป็นการปฏิบัติหน้าที่มิชอบตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 157 เพื่อช่วยเหลือผู้กระทำความผิดหรือเปล่า
เฉพาะ พล.ต.ท.อำนวย นิ่มมะโน ซึ่งปัจจุบันมีตำแหน่งสำคัญเป็นสมาชิกสภาขับเคลื่อนการปฏิรูปประเทศไทย เป็นรองผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร และมีบทบาทต่างๆมากมายในสังคม
การ “ดองเรื่อง” ให้อยู่ในขั้นตอนแสวงหาข้อเท็จจริงโดยไม่มีการชี้มูลฯน่าเป็นห่วงว่าภาพพจน์ของคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ภาพลักษณ์ของรัฐบาลภายใต้การนำของ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ซึ่งให้ความสำคัญกับเรื่องทุจริตคอรัปชัน หรือการใช้อำนาจหน้าที่ไม่ถูกต้องนั้นจะเกิดคำถามจากประชาชนในลักษณะค่อยๆดังขึ้นๆๆ หรือไม่
หลายเรื่องที่ยังกอง (ดอง)อยู่ที่ ปปช.จนองค์กรน่าเชื่อถือแห่งนี้ทำท่าจะกลายเป็นแผงขาย “ห่อหมก” พล.ต.อ.วัชรพล ประสารราชกิจ อาจถูกยกให้เป็น “เจ้าชายห่อหมก” เพราะมีแต่เรื่อง “หมักหมม”หมกเอาไว้.