ผู้จัดการสุดสัปดาห์ - ณ วันที่ 4 กรกฎาคม พ.ศ.2500 หลังเสร็จพิธีพระราชทานปริญญาบัตรแก่บัณฑิตผู้สำเร็จการศึกษาจากจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยแล้ว พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช รีบเสด็จพระราชดำเนินกลับไปยังพระที่นั่งอัมพรสถาน ด้วยในวันเดียวกันนั้น สมเด็จพระนางเจ้าฯพระบรมราชินีนาถ ทรงมีพระประสูติกาล สมเด็จพระเจ้าลูกเธอเจ้าฟ้าจุฬาภรณ์วลัยลักษณ์ อัครราชกุมารี พระราชธิดาพระองค์เล็กในพระเจ้าอยู่หัวรัชกาลที่ ๙ อันเป็นที่มาของพระนามเล่นว่า “ทูลกระหม่อมเล็ก”
ก่อนที่ สมเด็จพระเจ้าลูกเธอเจ้าฟ้าจุฬาภรณ์ฯ จะมาเป็น “เจ้าฟ้านักวิทยาศาสตร์” ผู้มีผลงานดีเด่นในสาขาสารเคมีก่อมะเร็ง และพิษวิทยาสิ่งแวดล้อม ซึ่งได้รับความยอมรับจากนานาชาตินั้น เมื่อทรงพระเยาว์ทรงเริ่มการศึกษาตั้งแต่ชั้นอนุบาล ณ โรงเรียนจิตรลดา เช่นเดียวกับสมเด็จพระบรมโอรสาธิราชฯ สยามมกุฎราชกุมาร และสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี
เมื่อทรงสำเร็จการศึกษาชั้นมัธยมศึกษาตอนปลาย แผนกวิทยาศาสตร์ แล้ว สมเด็จพระเจ้าลูกเธอเจ้าฟ้าจุฬาภรณ์ฯ หรือที่พสกนิกรไทยพร้อมใจกันเรียกพระนาม “ฟ้าหญิงจุฬาภรณ์” ทรงเข้าศึกษาต่อในคณะวิทยาศาสตร์และอักษรศาสตร์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ ในปี 2518 โดยทรงเลือกเคมีเป็นวิชาเอก เน้นหนักทางอินทรีย์เคมี ทั้งนี้ เนื่องจากทรงตั้งพระปณิธานว่า จะทรงนำความรู้ในทางนี้มาใช้ในงานทดลองของโครงการต่างๆ ที่ดำเนินตามพระราชดำริของทูลกระหม่อมพ่อและสมเด็จแม่ และทรงได้รับพระราชทาน ปริญญาวิทยาศาสตร์บัณฑิตทางเคมี เกียรตินิยมอันดับหนึ่ง เมื่อ พ.ศ. 2521
ศ.ดร.วรภัทร โตธนะเกษม ได้เล่าไว้ในบทความเรื่อง “วันนั้น...ทรงเรียกพระองค์เองว่า พ่อ” โดยกล่าวว่า “ความทรงจำของผมก็คือวันนั้น พระองค์ทรงดนตรีให้พวกเราซึ่งเป็นนักศึกษาธรรมดาๆเป็นพสกนิกรธรรมดาๆของพระองค์ได้รับฟังอย่างเป็นกันเอง และสนทนากับพวกเราด้วยภาษาธรรมดาที่สุด และแทรกด้วยพระอารมณ์ขันเป็นระยะๆ บางครั้งยังทรงหยอกล้อสมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินีนาถ และพระราชโอรส พระราชธิดาด้วย”
“ในเวลานั้น สมเด็จพระเจ้าลูกเธอเจ้าฟ้าจุฬาภรณวลัยลักษณ์ฯอัครราชกุมารียังทรงพระเยาว์มากทรงโอบกอดสมเด็จพระราชินีเป็นครั้งคราว แต่ช่วงหนึ่งของการแสดง พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวฯ ได้ทรงตรัสให้ออกไปเล่นเปียโนให้นักศึกษาฟัง ทูลกระหม่อมฟ้าหญิงจุฬาภรณฯ ทรงขวยเขิน และมีท่าทีลังเลที่จะเสด็จไปกลางเวที ในที่สุดพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวฯก็ทรงตรัสด้วยความเอ็นดูว่า “นี่พ่อสั่งนะ...” เรียงเสียงหัวเราะของพวกเราได้ทั้งหอประชุม”
พระสุรเสียงที่ พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช ทรงเรียกแทนพระองค์เองว่า “พ่อ” นั้น คือ “พ่อของครอบครัวมหิดล” ของพระองค์เองจริงๆ ความอบอุ่นยังคงอยู่ในใจของผู้ที่อยู่ในสถานที่นั้นอย่างไม่เสื่อมคลาย
เป็นที่ทราบกันดีถึงพระปรีชาสามารถใน สมเด็จพระเจ้าลูกเธอเจ้าฟ้าจุฬาภรณ์ฯ ในด้านงานวิทยาศาสตร์ ซึ่งสืบผ่านทางสายพระโลหิตแห่งองค์พระมหากษัตริย์อันเป็นที่รักยิ่งของปวงชนชาวไทย ประกอบกับการเสด็จพระราชดำเนินตามรอยเบื้องพระยุคลบาททูลกระหม่อมพ่อ ปฏิบัติพระราชภารกิจต่างๆตั้งแต่ทรงพระเยาว์ อันเป็นแรงบันดาลใจในการปฏิบัติพระราชกรณียกิจตามพระราชดำริของทูลกระหม่อมพ่อในการบำบัดทุกข์บำรุงสุขให้แก่อาณาประชาราษฎร์ แม้จะอยู่ในวัยศึกษาเล่าเรียน ก็ทรงมีหน้าที่ต้องปฏิบัติเพื่อบ้านเมือง ในขณะที่พระสหายอื่นๆ มีหน้าที่เรียนเพียงอย่างเดียว
“...ปกติแล้ว ทูลกระหม่อมพ่อทรงให้คำแนะนำทางด้านเทคนิคเสียส่วนใหญ่ งานของพระองค์ท่านกับงานของฉันนั้นก็โยงกันบ้าง ไม่โยงกันบ้าง ... อย่างกรณีฝนหลวง ท่านก็ทรงมีรับสั่งถามมาว่า ใช้สารเคมีอย่างนี้แล้วดีหรือยัง หรือสารเคมีอย่างนี้ ถ้าจะหามากๆ หาได้ที่ไหน..” สมเด็จพระเจ้าลูกเธอ เจ้าฟ้าจุฬาภรณ์ฯ เคยมีรับสั่งเล่าถึงทูลกระหม่อมพ่อไว้
มีเรื่องเล่าว่า สมเด็จพระเจ้าลูกเธอเจ้าฟ้าจุฬาภรณ์ฯ ไม่ทรงเสวยผักมาตั้งแต่ทรงพระเยาว์ เมื่อหลายปีก่อนขณะทรงเสด็จฯขึ้นเฝ้าพระอาการของทูลกระหม่อมพ่อ ณ โรงพยาบาลศิริราช โดยในครั้งนั้น ได้พระราชทานสัมภาษณ์ว่า “ตัวข้าพเจ้านี่เองขึ้นไปเฝ้าพระอาการ บางครั้งขึ้นไปเฝ้าตอนเสวยข้าว ท่านก็ทรงท้า บอก “มาดวลกันไหม” ท่านรู้ว่าข้าพเจ้าตั้งแต่เล็กมาแล้ว กินผักไม่เป็น ไม่กินผัก แล้วท่านก็บอกว่า “วันนี้มีซุปผักโขม มาดวลกันไหม” ก็เลยทูลท่านบอกว่า “ดวลก็ดวล คือว่ารับประทานถวายพ่อองค์เดียวนะ เพราะกับคนอื่น แหม จะให้กล้ำกลืนทานซุปผักนี้ก็คงแย่เหมือนกัน แต่วันนั้นก็ได้ทานซุปผักถวายท่านไป 1 ชาม ท่านก็เสวยซุปผักเหมือนกัน 1 ชาม”
ถือเป็นกุสโลบายแห่งองค์ พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช ที่แฝงด้วยจิตวิทยาของความเป็นพ่อ ในการส่งเสริมให้ลูกกินผัก เพื่อสุขภาพของตัวเอง
และเมื่อปี 2556 ประชาชนชาวไทยได้มีโอกาสรับรู้เรื่องราวความอบอุ่นในของ “ครอบครัวมหิดล” ในบางแง่มุมที่ไม่เคยรู้มาก่อน ผ่านบทสัมภาษณ์ สมเด็จพระเจ้าลูกเธอเจ้าฟ้าจุฬาภรณ์ฯ ที่ทรงมีพระมหากรุณาธิคุณประทานสัมภาษณ์รายการ “วู้ดดี้ เกิดมาคุย” ความตอนหนึ่งเล่าถึงพระอาการประชวรของพระองค์เอง รวมถึงทูลกระหม่อมพ่อและสมเด็จแม่ ที่เสด็จมาเยี่ยมพระอาการที่โรงพยาบาล แม้ในขณะนั้นทั้ง 2 พระองค์ยังประทับบนรถเข็นก็ตาม
โดยความตอนหนึ่ง “วู้ดดี้” วุฒิธร มิลินทจินดา ผู้ดำเนินรายการทูลถามว่า เวลาสมเด็จพระเจ้าลูกเธอเจ้าฟ้าจุฬาภรณ์ฯทรงประชวร ทูลกระหม่อมพ่อและสมเด็จแม่ ทรงให้กำลังพระทัยอย่างไรบ้าง
สมเด็จพระเจ้าลูกเธอ เจ้าฟ้าจุฬาภรณ์ฯ ได้ตรัสตอบว่า “การให้กำลังใจของท่านคือ อย่างสมเด็จฯ (สมเด็จพระนางเจ้าฯพระบรมราชินีนาถ) นี่พระสุขภาพพลานามัยดีมาก ท่านก็จะมาเยี่ยมบ่อย ตอนที่ผ่าไทรอยด์ จำได้ว่าท่านมาเยี่ยมบ่อยมาก ตอนที่กระดูกหักนี่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวไม่เคยนึกเลยว่าท่านจะมาทั้งๆ ที่ท่านต้องนั่งรถเข็นแต่ท่านก็เสด็จฯมา พอเห็นเขาก็น้ำตาคลอแล้วว่า พ่อแม่ห่วงถึงขนาดนี้ เพราะฉะนั้นเราต้องตั้งใจที่หาย ตั้งใจพยายามทำอย่างดีที่สุดที่จะทำให้หาย ก็บอกกับพระเจ้าอยู่หัวกับสมเด็จฯ เหมือนกันว่า มีกำลังใจและตั้งใจที่จะหายเพื่อที่จะมาถวายงานต่อไป”
ถือเป็นบทประทานสัมภาษณ์ทั้ง 2 วาระของ สมเด็จพระเจ้าลูกเธอ เจ้าฟ้าจุฬาภรณ์ฯ สะท้อนให้เห็นถึงความสายใยรักใน “ครอบครัวมหิดล” มีเปี่ยมไปด้วยความอบอุ่นและห่วงหาอาทร เปรียบเสมือนต้นไม้ที่แผ่กิ่งก้านสาขาให้ร่มเงาแก่ลูก และคอยอุ้มชูค้ำจุนลูกๆจนเติบใหญ่ ยังผลมาถึงพระอัจฉริยภาพอันเป็นที่ประจักษ์แห่งพระราชโอรส และพระราชธิดา ทั้ง 4 พระองค์ ผู้เป็นที่รักยิ่งของคนไทยทั้งประเทศ
เฉกเช่นเดียวกับความรักและความอาลัยของปวงพสกนิกรชาวไทยที่มีแด่ “ทูลกระหม่อมพ่อ” ของ “เจ้าฟ้าทั้งสี่”