ผู้จัดการสุดสัปดาห์ - ย้อนกลับไปเมื่อ พ.ศ.2493 หลังจากพระราชพิธีบรมราชาภิเษก พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช พร้อมด้วย สมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินีนาถ ต้องเสด็จพระราชดำเนินกลับไปทรงศึกษาต่อที่ประเทศสวิตเซอร์แลนด์ จนเมื่อวันที่ 5 เมษายน พ.ศ.2494 ได้มีพระประสูติกาล สมเด็จพระเจ้าลูกเธอ เจ้าฟ้าอุบลรัตน์ราชกัญญาสิริวัฒนาพรรณวดีฯ (ทูลกระหม่อมหญิงอุบลรัตนราชกัญญา สิริวัฒนาพรรณวดี) ณ โรงพยาบาลมองชัวซีส์ เมืองโลซานน์ ประเทศสวิตเซอร์แลนด์ โดยทรงเป็นสมเด็จพระเจ้าลูกเธอพระองค์แรกในรัชกาล
ครั้งนั้น พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช เสด็จฯ ไปเฝ้า และประทับที่โรงพยาบาลมองชัวซีส์ด้วยพระองค์เอง ตั้งแต่ช่วงบ่ายของวันที่ 4 เมษายน เมื่อสมเด็จพระเจ้าลูกเธอฯแข็งแรงดีแล้วก็กลับมาอยู่ที่พระตำหนักวิลล่าวัฒนา
หลังจากพระประสูติกาลไม่นาน ทั้ง 3 พระองค์ก็เสด็จกลับเมืองไทยพร้อมกัน ท่ามกลางความปลื้มปีติยินดีของปวงชนชาวไทย
ท่านผู้หญิงพึงจิตต์ ศุภมิตร คุณข้าหลวงผู้ใหญ่ใน สมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินีนาถ เคยให้สัมภาษณ์ครั้งหนึ่งระบุว่า
“ในหลวงทรงทำของเล่น วาดภาพ แต่งห้องด้วยพระองค์เอง พระองค์ทรงทำของให้พระธิดาเยอะแยะเลย ในห้องทรงการช่างที่อยู่ใต้ดินของบ้าน ท่านจะเสด็จฯลงไปทรงงานตอนกลางคืน ทรงทำเป็นตู้เล็กๆ...ทำของเล่น แล้วผนังในห้องทูลกระหม่อม ท่านก็ทรงติดกระดาษสีฟ้าอ่อน วาดเป็นนางฟ้า ผีเสื้อ ดอกไม้เอง...ทำเหมือนวอลล์เปเปอร์เลยค่ะ”
เมื่อครั้งแรกเกิด ทูลกระหม่อมพ่อและสมเด็จแม่ได้ทรงตั้งพระนามเล่นของทูลกระหม่อมฯว่า “เป้” ซึ่งมาจากคำในภาษาฝรั่งเศสที่ว่า “La poupe”e” หรืออ่านว่า “ลา ปูเป้” แปลว่า “ตุ๊กตา” เสมือนทูลกระหม่อมฯทรงเป็นตุ๊กตาตัวน้อยของทูลกระหม่อมพ่อ และสมเด็จแม่
ส่วนพระนามและราชสกุลจริง ก็มีที่มาพระนาม และนามของพระประยูรญาติหลายพระองค์ ได้แก่ “สิริ” มาจากพระนามาภิไธยของ สมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ ขณะที่ “วัฒนา” มาจากพระนามาภิไธยของ สมเด็จพระศรีสวรินทิราบรมราชเทวี พระพันวัสสาอัยยิกาเจ้า (สว่างวัฒนา) ซึ่งเป็นสมเด็จพระอัยยิกาใน พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช ส่วน “อุบลรัตน์” มาจากนามของ หม่อมหลวงบัว กิติยากร พระอัยกี (ยาย) ของพระองค์
ท่านผู้หญิงพึงจิตต์ เคยกล่าวถึงวิธีการอบรมเลี้ยงดูลูกๆของพระเจ้าอยู่หัวรัชกาลที่ ๙ ว่า ทรงเป็นพ่อที่ใช้วินัยเข้มงวดในการเลี้ยงดู หากสมเด็จเจ้าฟ้าพระองค์ใดกระทำผิด พระองค์จะทรงลงพระอาญา แต่ก่อนจะทรงลงพระอาญาจะพระราชทานพระบรมราโชวาทอธิบายจนพระราชธิดา และพระราชโอรสที่ทรงกระทำผิดเข้าพระทัยทุกครั้ง
ขณะที่ ทูลกระหม่อมหญิงอุบลรัตน์ราชกัญญาฯ ก็เคยพระราชทานสัมภาษณ์ถึงของทูลกระหม่อมพ่อความว่า “…ปกติจะไม่ได้สอนกันตรงๆ แต่จะทรงปฏิบัติพระองค์เป็นแบบอย่างให้ลูกๆ ได้เรียนรู้จากการตามเสด็จฯ…”
และไม่ว่าจะทรงงานหนักเพียงใด พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช ทรงไม่ละเลยเรื่องการสร้างความสัมพันธ์ระหว่าง “พ่อ - ลูก” กับเจ้าฟ้าทุกพระองค์ผ่านกิจกรรมต่างๆ อาทิ ถามตอบปัญหา ทรงกีฬา หรือทรงดนตรี ร่วมกับเจ้าฟ้าทุกพระองค์ เป็นต้น
สำหรับกิจกรรมด้านกีฬานั้น พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช ทรงร่วมการแข่งขันกีฬาประเภทเรือใบร่วมกับ สมเด็จพระเจ้าลูกเธอเจ้าฟ้าอุบลรัตนราชกัญญาฯ (พระนามในขณะนั้น) เมื่อครั้งที่ประเทศไทยเป็นเจ้าภาพจัดการแข่งขันกีฬาแหลมทองครั้งที่ 4 ปี พ.ศ.2510 ในฐานะทีมชาติไทย และทรงชนะเลิศได้รับรางวัลเหรียญทองร่วมกัน
การที่ทูลกระหม่อมพ่อ ทรงมีกิจกรรมด้านกีฬาร่วมกับทูลกระหม่อมหญิงอุบลรัตน์ราชกัญญาฯนี้เอง เป็นปัจจัยที่สำคัญในการจัดตั้งมูลนิธิ และกิจกรรมในโครงการทูบีนัมเบอร์วัน (To Be Number One) ซึ่งเป็นโครงการรณรงค์ป้องกันและแก้ไขปัญหายาเสพติด ใน ทูลกระหม่อมหญิงอุบลรัตน์ราชกัญญาฯ ที่ทรงเป็นองค์ประธานอำนวยการโครงการฯ โดยใช้การแข่งขันกีฬาและการออกกำลังกายเป็นตัวขับเคลื่อนที่สำคัญของโครงการฯ
ความสัมพันธ์ระหว่าง “พ่อ - ลูก” อันแสนประทับใจ ของพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดชที่มีต่อทูลกระหม่อมหญิงอุบลรัตน์ฯ ในระหว่างเกิดการสูญเสียครั้งใหญ่ เมื่อวันที่ 26 ธันวาคม 2547 ที่ทูลกระหม่อมหญิงอุบลรัตน์ฯ ได้สูญเสีย คุณพุ่ม เจนเซน พระโอรสเพียงพระองค์เดียวไปอย่างไม่มีวันกลับ ทรงทุกข์โทมนัสที่สุดในชีวิต
เมื่อถึงคราวพระราชทานเพลิงศพ พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช และสมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินีนาถได้เสด็จฯไปพระราชทานเพลิงศพ คุณพุ่ม เจนเซน ที่วัดเทพศิรินทราวาส ด้วย
ในช่วงเวลาที่ทั้งทูลกระหม่อมพ่อและสมเด็จแม่ประทับพระราชอาสน์ หลังพระราชทานเพลิงศพแล้ว ได้ทรงมีพระราชปฏิสันถารปลอบโยน ทรงจับพระอังสา (ไหล่) ประคองพระพักตร์ ทูลกระหม่อมหญิงอุบลรัตนราชกัญญาฯที่ทรงกันแสงต่อหน้าพระพักตร์ โดยทูลกระหม่อมพ่อและสมเด็จแม่ยังทรงทอดพระเนตรพระธิดาด้วยสายพระเนตรแห่งความห่วงใย
สะท้อนให้เห็นว่า ความรักและความห่วงใยที่ทรงพระราชทานให้แก่พระราชธิดาองค์โต ที่ยังทรงเห็น เป็นตุ๊กตาองค์น้อยเช่นเดียวกับเมื่อครั้งประสูติกาล แม้จะเนิ่นนานมาหลายสิบปีแล้วก็ตาม
ในขณะที่ ทูลกระหม่อมหญิงอุบลรัตนราชกัญญาฯได้ทรงสะท้อนภาพความเป็นกษัตริย์ผู้ทรงงานหนักที่สุดในโลกของทูลกระหม่อมพ่อไว้ว่า
“...ท่านทำงานหนักมาก ทรงเสียสละมาก เป็นตัวอย่างที่ดีของลูกๆ ท่านไม่เคยคิดถึงความสุขของตัวเอง ท่านไม่เสด็จฯ ออกนอกประเทศนานแล้ว เพราะทรงห่วงประเทศมาก ท่านจะทรงคิดถึงแต่ประชาชนของท่าน และจะทรงสอนลูกๆ เสมอว่า ให้นึกถึงคนอื่นก่อนตัวเอง ก่อนจะไปสอนคนอื่นได้ เราต้องทำตัวให้เป็นที่น่าเชื่อถือ...”