xs
xsm
sm
md
lg

ผู้จัดการสุดสัปดาห์

x

ปตท.ปลดล็อกแยกธุรกิจน้ำมันและค้าปลีก แปรรูปแปลงร่างเป็น “เอกชน” เต็มร้อย

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: MGR Online


ผู้จัดการสุดสัปดาห์ -ข่าวใหญ่ในวงการพลังงานในช่วงนี้ไม่มีเรื่องไหนใหญ่เกินเรื่องที่ประชุมบอร์ด ปตท. มีมติเห็นชอบการปรับโครงสร้างธุรกิจ ปตท.โดยการโอนกิจการของหน่วยธุรกิจน้ำมันและค้าปลีกออกไปจาก บมจ.ปตท. และค่อยๆ แปลงร่างไปเป็นเอกชนเต็มตัวในที่สุด

ไม่ใช่เพียงแต่สหภาพรัฐวิสาหกิจ ปตท.เท่านั้น ที่ใจเต้นตุ๊มๆ ต่อมๆ ว่าจะมีผลกระทบกับสิทธิประโยชน์ของพนักงานซึ่งอยู่ในข่ายจะถูกโอนย้ายไปด้วยหรือไม่

แต่หลักใหญ่ใจความยังอยู่ที่ว่า บมจ.ปตท. ซึ่งมีสภาพเป็นรัฐวิสาหกิจตามกฎหมาย จะตอบคำถามไม่ให้สังคมคลางแคลงใจได้อย่างไรว่า ปตท.ไม่ได้เอาสมบัติชาติไปให้บริษัทเอกชนที่แปรรูปแปลงร่างออกไป เพราะอย่าลืมว่า รัฐวิสาหกิจ ปตท. ก่อร่างสร้างธุรกิจและสยายปีกใหญ่โตขึ้นมาภายใต้ร่มเงาของรัฐ ที่มีธุรกิจหลักคือน้ำมันและก๊าซฯ

การแยกธุรกิจน้ำมัน (และค้าปลีกที่เพิ่มขึ้นมาในภายหลัง)เท่ากับผ่าเฉือนองค์กร ปตท.ออกไปครึ่งหนึ่ง ซึ่งในช่วงแรกๆ บมจ.ปตท.ยังถือหุ้นในบริษัทลูกที่ตั้งขึ้นมาใหม่เต็มร้อยเปอร์เซ็นต์ สังคมอาจจะรับได้ไม่เป็นปัญหา

แต่หลังจากลดหุ้นลงจนกลายสภาพเป็นบริษัทเอกชนเต็มตัว คำถามคงเกิดตามมา เพราะธุรกิจน้ำมัน ที่ ปตท.ดำเนินธุรกิจและอยู่ในสภาพกึ่งผูกขาดมาได้จนบัดนี้ เนื่องจากมีฐานะเป็นรัฐวิสาหกิจที่อาศัยอำนาจรัฐเอื้ออำนวยในการทำธุรกิจ และส่งเงินรายได้เข้าแผ่นดินให้รัฐบาลนำมาพัฒนาประเทศ แต่เมื่อแปรสภาพเป็นเอกชนเต็มตัว รายได้และกำไรจะตกแก่ผู้ถือหุ้นแทน และเสียภาษีรายได้ให้รัฐเหมือนบริษัทเอกชนทั่วไปแทน

นี่ยังไม่นับเรื่องรายละเอียดการแยกทรัพย์สินที่จะถ่ายโอนให้บริษัทลูก อันไหนที่เป็นทรัพย์สินของรัฐที่มีมาก่อนการแปรรูป ปตท. และทรัพย์สินรายการไหนที่ บมจ.ปตท. สร้างขึ้นมาทีหลัง ความอีรุงตุงนังนี้เห็นได้ชัดจากการส่งคืนสาธารณสมบัติของแผ่นดินกรณี ท่อปิโตรเลียมที่ใช้ขนส่งน้ำมันและ ก๊าซฯ ตามคำสั่งศาลปกครองสูงสุด ที่ยังมีปัญหาคาราคาซังอยู่จนถึงทุกวันนี้

และที่สำคัญ จะมีหน่วยงานไหนที่เข้ามาตรวจสอบการถ่ายโอนทรัพย์สิน เพื่อจะได้ไม่มีปัญหาดังที่เคยเกิดขึ้น สำนักงานตรวจเงินแผ่นดิน (สตง.) และองค์กรตรวจสอบอิสระอื่นๆ จะเข้ามามีส่วนร่วมหรือไม่ ล้วนเป็นเรื่องที่รัฐบาล พล.อ.ประยุทธ์ ต้องขบคิด เพื่อว่าจะได้ไม่ถูกคนรุ่นลูกรุ่นหลานต่อว่า เหมือนกับที่รัฐบาลทักษิณ มีตราบาปที่สลัดไม่หลุดเรื่องแปรรูป ปตท.

การปรับโครงสร้างธุรกิจครั้งนี้ ประเด็นสำคัญจึงขึ้นอยู่กับว่า ปตท.จะสามารถทำให้สังคมเข้าใจอย่างที่ ปตท.ต้องการสื่อสารถึงความเปลี่ยนแปลงที่จะเกิดขึ้นต่อสาธารณะได้หรือไม่ สังคมจะเชื่อในสิ่งที่ ปตท.กำลังจะแปรรูปยกสองว่าจะเกิดประโยชน์ต่อประเทศชาติโดยรวมหรือไม่

และคณะผู้บริหารประเทศคือ รัฐบาลพล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา และคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.)จะเปิดไฟเขียวให้ บมจ.ปตท. ดำเนินการตามแผนการโดยลุล่วงหรือไม่

แต่ไม่ว่าจะอย่างไรก็ตาม นี่เป็นแผนของ บมจ.ปตท.ที่มีความชัดเจนแน่นอนแล้วว่าจะต้องก้าวต่อไป และการปรับโครงสร้างธุรกิจครั้งนี้หากไม่มีอะไรสะดุดหยุดลงก็เท่ากับว่า ปตท.สามารถปลดล็อกธุรกิจน้ำมันและค้าปลีก ให้ติดปีกทะยาน มีความคล่องตัวในการแข่งขันทั้งในระดับประเทศและระดับโลก มาติดตามแผนการปรับโครงสร้างธุรกิจในครั้งนี้ของ บมจ.ปตท.กันว่ามีรายละเอียดอย่างไรบ้าง

นายเทวินทร์ วงศ์วานิช ประธานเจ้าหน้าที่บริหารและกรรมการผู้จัดการใหญ่ บมจ.ปตท. (PTT) เปิดเผยว่า ที่ประชุมคณะกรรมการบริษัทฯ เมื่อวันที่ 18 พฤศจิกายน 2559ได้มีมติเห็นชอบการปรับโครงสร้างธุรกิจ ปตท. โดยการโอนกิจการของหน่วยธุรกิจน้ำมัน รวมถึงสินทรัพย์และหนี้สินของหน่วยธุรกิจดังกล่าว ตลอดจนหุ้นของบริษัทที่เกี่ยวข้องให้แก่ บริษัท ปตท.ธุรกิจค้าปลีก จำกัด และการเปลี่ยนชื่อเป็น บริษัท ปตท.น้ำมันและการค้าปลีก จำกัด (PTT Oil and Retail Business Company Limited : PTTOR) และการให้ PTTOR เป็นบริษัทแกนของกลุ่ม ปตท.ในการดำเนินธุรกิจน้ำมันและค้าปลีก

สำหรับธุรกิจที่ถูกโอนย้ายเข้ามาอยู่ภายใต้ PTTOR ประกอบด้วย การค้าปลีกน้ำมันผ่านสถานีบริการทั้งในและต่างประเทศ, การค้าเชิงพาณิชย์น้ำมัน และ ก๊าซแอลพีจี และเชื้อเพลิงอื่นๆ อาทิ จำหน่ายเชื้อเพลิงอากาศยาน, จำหน่ายแอลพีจีในครัวเรือนและสถานีบริการ,คลังแอลพีจี ระยะที่ 1 ที่เขาบ่อยา, การจำหน่ายเชื้อเพลิงหล่อลื่นทั้งในและต่างประเทศ และบริหารโครงสร้างพื้นฐานของธุรกิจน้ำมัน อาทิ ด้านขนส่งหรือจัดเก็บ เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพและโอกาส ทางธุรกิจที่ตอบสนองต่อลักษณะการเติบโตของตลาดทั้งในและต่างประเทศ

นอกจากนี้ ยังจะโอนธุรกิจค้าปลีกด้านอื่นๆ และบริการด้านบำรุงรักษายานยนต์ อาทิ คาเฟ่อเมซอน,ฟิตออโต้ และธุรกิจใหม่ที่จะริเริ่มเพิ่มขึ้น เช่น ธุรกิจร้านอาหาร เครื่องดื่ม แฟรนไชส์ และโรงแรม ส่วนธุรกิจนํ้ามันที่ ปตท.ขายให้หน่วยงานของภาครัฐนั้นไม่ได้ถูกโอนไปด้วย เพราะเป็นไปตามมติคณะรัฐมนตรี(ครม.) ที่ให้ดำเนินการ

บอร์ด ปตท.ยังอนุมัติแผนการเสนอขายหุ้นสามัญเบื้องต้นของ PTTOR ต่อประชาชนทั่วไปเป็นครั้งแรก และการนำ PTTOR เข้าจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย และเห็นชอบให้ ปตท.นำเสนอการปรับโครงสร้างธุรกิจ ปตท.ดังกล่าว ต่อหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เช่น กระทรวงพลังงาน, คณะกรรมการนโยบายรัฐวิสาหกิจ (คนร.), คณะรัฐมนตรี และที่ประชุมผู้ถือหุ้นของ ปตท. เพื่อพิจารณาอนุมัติตามกฎเกณฑ์ที่เกี่ยวข้องต่อไป

ซีอีโอและบอร์ด บมจ.ปตท. มุ่งหวังว่า การปรับโครงสร้างธุรกิจ ปตท.ในครั้งนี้จะก่อให้เกิดประโยชน์หลายประการ คือ จะช่วยสร้างความชัดเจนในโครงสร้างของบริษัท ช่วยเพิ่มความชัดเจน โปร่งใสในการดำเนินธุรกิจของกลุ่ม ปตท.ในสายตาสาธารณชน อีกทั้งยังช่วยให้หน่วยธุรกิจน้ำมันมีความคล่องตัวในการดำเนินงาน และสามารถปรับตัวกับสถานการณ์การแข่งขันที่สูงขึ้นได้ทันท่วงที โดยเฉพาะการลดภาพการเป็นรัฐวิสาหกิจ ที่มักจะถูกมองว่า ปตท.ใช้อำนาจรัฐเข้าไปแสวงหาผลประโยชน์ในการดำเนินงาน สร้างผลกำไรมหาศาลบนความเดือดร้อนของผู้บริโภคจากการจำหน่ายน้ำมันในราคาสูง

นอกจากนี้ การนำ PTTOR เข้าจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ฯ จะช่วยเสริมสร้างความโปร่งใส (Transparency) ในสายตาของสาธารณชนต่อการดำเนินธุรกิจ เนื่องจากจะมีการเปิดเผยข้อมูล รวมถึงผลการดำเนินงานและสถานะทางการเงินของ PTTORที่มากขึ้น

สำหรับรายละเอียดเบื้องต้นเกี่ยวกับการเสนอขายหุ้นสามัญของPTTOR นั้น เมื่อบริษัทฯ กำหนดสัดส่วนจำนวนหุ้น IPOได้เป็นที่เรียบร้อยแล้ว บริษัทจะนำเรื่องดังกล่าวเสนอต่อที่ประชุมคณะกรรมการบริษัท และ/หรือที่ประชุมผู้ถือหุ้น (แล้วแต่กรณี) เพื่อพิจารณาอนุมัติต่อไป

“ภายหลังจากบอร์ดมีมติอนุมัติการปรับโครงสร้างธุรกิจ ขั้นตอนต่อไปจะเสนอเรื่องไปยังกระทรวงพลังงาน เพื่อนำเรื่องเสนอเข้าสู่การพิจารณาของคณะรัฐมนตรี ให้ทันก่อนที่จะมีการประชุมผู้ถือหุ้นในเดือนเมษายน 2560 เพื่อขอมติการดำเนินงาน”ซีอีโอ ปตท. แจกแจง

ในเบื้องต้นบริษัทจะยังคงเป็นผู้ถือหุ้นรายใหญ่ของ PTTOR โดย ปตท.และหน่วยงานของรัฐมีนโยบายจะถือหุ้นใน PTTORต่ำกว่าร้อยละ 50 ของทุนจดทะเบียนชำระแล้ว และหลังจากที่มีการเสนอขายหุ้นของ PTTOR และจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ฯ บริษัทจะกำหนดสัดส่วนการถือหุ้นขั้นต่ำในPTTOR ที่อย่างน้อยร้อยละ 45 ของทุนจดทะเบียนชำระแล้ว ซึ่งจะทำให้ PTTOR มีสถานะเป็นบริษัทเอกชน

ซีอีโอ บมจ.ปตท.อธิบายว่า เนื่องจากการโอนกิจการในครั้งนี้ถือเป็นการปรับโครงสร้างของกลุ่มกิจการภายใต้การควบคุมเดียวกันของบริษัท ดังนั้น จึงไม่มีผลกระทบที่เป็นสาระสำคัญต่อภาพรวมของงบการเงินรวมของบริษัท ทั้งงบแสดงฐานะทางการเงินรวม และงบกำไรขาดทุนรวม ยกเว้นค่าใช้จ่ายในการทำรายการและภาษีที่เกี่ยวข้องที่จะถือเป็นรายจ่ายในงบการเงินของบริษัทฯ
สถานีบริการน้ำมันและคาเฟ่อเมซอน ที่จะถูกแยกออกไปอยู่ในกลุ่มธุรกิจน้ำมัน และค้าปลีก ใน ชื่อ บริษัท ปตท.น้ำมันและการค้าปลีก จำกัด หรือ  PTTOR
สำหรับข้อมูลเบื้องต้น ณ 30 กันยายน2559 สินทรัพย์และหนี้สินที่เกี่ยวกับหน่วยธุรกิจที่บริษัทฯ จะโอนให้ PTTORได้แก่ สินทรัพย์รวม 67,776 ล้านบาท หนี้สินรวม 38,545 ล้านบาท สินทรัพย์สุทธิ 29,231 ล้านบาท ภายหลังการรับโอนกิจการ ณ 30 กันยายน 2559จะมีสินทรัพย์รวม 86,405 ล้านบาท หนี้สินรวม 45,952 ส่วนของผู้ถือหุ้น 40,453ล้านบาท จากสิ้นปี 2558มีสินทรัพย์รวม 83,679 ล้านบาท หนี้สินรวม 43,321 ส่วนของผู้ถือหุ้น 40,358ล้านบาท

ส่วนงบกำไรขาดทุน หลังโอนกิจการ งวด 9เดือนปี 2559มีรายได้ขายและบริการ 353,613 ล้านบาท กำไรสุทธิ 13,577 ล้านบาท เทียบกับปี 2558 ที่มีรายได้ขายและบริการ510,747 ล้านบาท กำไรสุทธิ 10,229 ล้านบาท

ซีอีโอของ บมจ.ปตท.ยังคาดว่าแผนดำเนินงานดังกล่าวจะช่วยส่งเสริมและกระตุ้นตลาดทุนไทย อีกทั้งจะช่วยเพิ่มความคล่องตัวในการบริหารจัดการ ดึงดูดบุคลากรที่มีประสบการณ์ และความรู้ความสามารถ และแสวงหาพันธมิตรในการขยายธุรกิจใหม่ๆ ซึ่งจะส่งผลให้เกิดการขับเคลื่อนธุรกิจน้ำมันและค้าปลีกของบริษัทฯ อย่างมีประสิทธิภาพตามกลไกลการตลาด อันจะเป็นการเพิ่มรายได้ให้กับรัฐและประเทศในรูปของภาษีเงินได้

นอกจากนี้ ศักยภาพในการดำเนินงานและขยายกิจการจะเพิ่มขึ้นเนื่องจาก PTTOR จะมีความคล่องตัวที่เพิ่มมากขึ้นภายหลังการปรับโครงสร้างธุรกิจ ปตท.ซึ่งจะช่วยสนับสนุนการสร้างงานสร้างอาชีพ เช่น เปิดโอกาสให้กับผู้ประกอบการท้องถิ่นเข้ามามีส่วนร่วมในการประกอบธุรกิจผ่านการให้สิทธิแฟรนไชส์ และสร้างโอกาสในการขยายธุรกิจและนำพาผลิตภัณฑ์ภายใต้เครื่องหมายการค้าของไทยให้เป็นที่รู้จักในระดับสากล เช่น การขยายสถานีบริการน้ำมัน ปตท. และสาขาธุรกิจค้าปลีกในประเทศเพื่อนบ้าน การขยายตลาดผลิตภัณฑ์หล่อลื่นสู่ตลาดโลก เป็นต้น

การรุกของ ปตท.จะเป็นการสร้างความเข้มแข็งให้แก่แบรนด์ไทย และเป็นช่องทาง สำหรับผู้ประกอบการไทยในการขยายสู่ตลาด AEC โดยอาศัยการเปิดตลาดควบคู่ไปกับแบรนด์ ปตท.ซึ่งเป็นแบรนด์สถานีบริการน้ำมันไทยที่เริ่มได้รับความนิยมในตลาด AEC

การปรับโครงสร้างธุกิจของ บมจ.ปตท.ครั้งนี้ จะทำให้ทิศทางธุรกิจน้ำมัน ของ PTTOR ในอนาคตลดสัดส่วนลงจากปัจจุบันอยู่ที่ร้อยละ70-80% และจะหันไปเพิ่มสัดส่วนธุรกิจที่ไม่ใช่น้ำมัน หรือ Non-oil จากปัจจุบันอยู่ที่ร้อยละ 10 ของธุรกิจน้ำมัน และจะเพิ่มสัดส่วนธุรกิจน้ำมันในต่างประเทศ จากปัจจุบันอยู่ที่ร้อยละ 20 เพราะแนวโน้มการจำหน่ายน้ำมันในตลาดจะไม่เติบโต มากนัก ขณะที่ธุรกิจ Non-oil มีโอกาสเติบโตสูงขึ้น

ปัจจุบัน ปตท. มีสถานีบริการน้ำมัน อยู่ที่ 1,400 แห่งทั่วประเทศ เป็นของตัวแทนจำหน่าย หรือดีลเลอร์ 1,200 แห่ง ส่วนธุรกิจเครื่องดื่มอเมซอน มีทั้งหมด 1,500 แห่ง เป็นของดีลเลอร์ 1,000 แห่ง ส่วนคลังปิโตรเลียมมี 6 แห่ง คลังน้ำมัน 13 แห่ง และคลังก๊าซหุงต้ม 13 แห่ง มีสถานีบริการน้ำมันอยู่ 1,604 แห่ง และมีการขยายสถานีบริการน้ำมันในต่างประเทศ จะเพิ่มอีก51 แห่ง จากปัจจุบันอยู่ที่ 151 แห่งหรือ เพิ่มเป็น 202 แห่งภายในสิ้นปีนี้ ซึ่งส่วนใหญ่จะเน้นไปที่ สปป.ลาว จากปัจจุบันอยู่ที่ 25 แห่ง เพิ่มเป็น 40 แห่ง กัมพูชา จาก 26 แห่ง เพิ่มเป็น 42 แห่ง

ส่วนที่ฟิลิปปินส์ จาก 96 แห่ง เพิ่มเป็น 101 แห่ง และเมียนมา จากปัจจุบัน 4 แห่ง เพิ่มเป็น 10 แห่ง ภายในปีนี้ โดยใช้เงินลงทุนเฉลี่ย 20-25 ล้านบาทต่อแห่ง หรือประมาณ 1.27 พันล้านบาท โดยปตท.ตั้งเป้าขยายจำนวนสถานีบริการน้ำมัน ปตท.ในต่างประเทศเพิ่มขึ้นเป็น 500แห่งภายในปี 2563 ในปีนี้ ปตท.จะใช้เงินสำหรับการขยายสถานีบริการน้ำมันราว 5พันล้านบาท

นางสาวรสนา โตสิตระกูล แกนนำเครือข่ายประชาชนปฏิรูปพลังานไทย (คปพ.) ให้ความเห็นสั้นๆ ผ่านเฟซบุ๊กส่วนตัวต่อข่าวใหญ่ของ บมจ.ปตท.ครั้งนี้ว่า “การแปรรูปครั้งที่1แปรรูปจากกิจการที่เคยเป็นของรัฐ (คือของประชาชน )ให้กลายเป็นรัฐครึ่งเอกชนครึ่ง แปรรูปครั้งที่ 2 กิจการทั้งหมดกลายเป็นของเอกชน ต่อไปจะเหลืออะไรที่เป็นของประชาชน เนื้อๆ(กำไร)เอกชนเลือกเอาไป เหลือแต่กระดูก(ค่าใช้จ่าย) ไว้ให้เจ้าของ!!??”

เรื่องนี้....จะเป็นไปอย่างที่นางสาวรสนาตั้งคำถามเอาไว้หรือไม่ ต้องติดตามกันต่อไป


กำลังโหลดความคิดเห็น