xs
xsm
sm
md
lg

พระอัจฉริยภาพด้านอาวุธยุทโธปกรณ์ในพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่ภูมิพลอดุลยเดช

เผยแพร่:   โดย: ดร.โยธิน มานะบุญ

พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวภูมิพลอดุลยเดช และสมเด็จพระเจ้าลูกยาเธอเจ้าฟ้ามหาวชิราลงกรณ์ (พระราชอิสริยยศในขณะนั้น) ทรงเครื่องแบบชุดฝึกของทหารเรือเหล่านาวิกโยธิน ขณะประทับเรือรบหลวงทอดพระเนตรการฝึกของกองทัพเรือ ทั้งสองพระองค์ทรงถือพระแสงปืน M-16 ด้วยพระองค์เอง
ดร.โยธิน มานะบุญ
นักวิชาการอิสระ


ขอน้อมเกล้าน้อมกระหม่อมรำลึกในพระมหากรุณาธิคุณเป็นล้นพ้น อันหาที่สุดมิได้ ถวายความอาลัยแด่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวภูมิพลอดุลยเดช ด้วยบทความซึ่งจะได้นำเสนอเรื่องราวพระอัจฉริยภาพด้านอาวุธยุทโธปกรณ์ของพระองค์

คนไทยที่เกิดไม่ทันยุคสงครามเย็นน้อยคนนักที่จะทราบว่า หากไม่ด้วย พระบารมี ความกล้าหาญ และการทรงงานอย่างหนักของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวภูมิพลอดุลยเดช สมเด็จพระนางเจ้าพระบรมราชินีนาถ พระราชโอรสและพระราชธิดา ตลอดจนเหล่าพระบรมวงศานุวงศ์ ประเทศไทยก็คงไม่แคล้วต้องกลายเป็นประเทศที่ปกครองด้วยลัทธิคอมมิวนิสต์เช่น เวียดนาม ลาว และกัมพูชา ตามทฤษฏี Domino ที่นักวิชาการและนักการเมืองในโลกตะวันตกคาดการณ์ไว้อย่างแน่นอน
พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวภูมิพลอดุลยเดชทรงเครื่องชุดฝึกกองทัพบก ทรงถือแผนที่และมีกล้องถ่ายรูปติดพระองค์อยู่เสมอ
ในห้วงที่ประเทศไทยเผชิญกับภัยคุกคามของลัทธิคอมมิวนิสต์ทั้งภายในและจากภายนอกประเทศนั้น ภาพคุ้นตาของเหล่าพสกนิกรไทยคือ พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวภูมิพลอดุลยเดชทรงเครื่องแบบทหารเสด็จเยี่ยมอาณาประชาราษฎร์ ทหาร ตำรวจ ข้าราชการพลเรือน อาสาสมัครที่ปฏิบัติหน้าอยู่ในพื้นที่สู้รบ ตลอดจนทรงงานในภูมิภาคต่างๆ ของประเทศอยู่เสมอ
พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวภูมิพลอดุลยเดช เสด็จพร้อมสมเด็จพระนางเจ้าพระบรมราชินีนาถ ทรงเยี่ยมทหาร ตำรวจ ข้าราชการพลเรือน อาสาสมัครที่ได้รับบาดเจ็บจากการสู้รบ
พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวภูมิพลอดุลยเดช ประทับนั่งผ่อนคลายพระอิริยาบถระหว่างการทรงงาน
พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวภูมิพลอดุลยเดช ทรงเยี่ยมทหาร ตำรวจ ข้าราชการพลเรือน อาสาสมัคร ในพื้นที่ที่มีการสู้รบ
พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว, สมเด็จพระบรมราชินีนาถ พร้อมด้วย สมเด็จพระบรมโอรสาธิราชสยามมกุฎราชกุมาร สมเด็จพระเจ้าลูกยาเธอ เจ้าฟ้าสิรินธร เทพรัตนราชสุดา และ สมเด็จพระเจ้าลูกเธอ เจ้าฟ้า จุฬาภรณ์ วลัยลักษณ์ ได้ทรงเสี่ยงอันตราย เสด็จพระราชดำเนิน โดย เฮลิคอปเตอร์พระที่นั่ง ไปทรงเยี่ยม ฐานปฏิบัติการบ้านแพะ อำเภอแม่จริม จังหวัดน่าน
พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว, สมเด็จพระบรมราชินีนาถ พร้อมด้วย สมเด็จพระเจ้าลูกยาเธอ เจ้าฟ้าสิรินธร เทพรัตนราชสุดา และ สมเด็จพระเจ้าลูกเธอ เจ้าฟ้า จุฬาภรณ์ วลัยลักษณ์ ได้ทรงเสี่ยงอันตราย เสด็จพระราชดำเนิน โดย เฮลิคอปเตอร์พระที่นั่ง ไปทรงเยี่ยม พัน.ฉก.นย. ถึง ฐานปฏิบัติการ ณ บ้านป่ายาบ เมื่อ วันที่ 25 มกราคม 2516 ซึ่งขณะนั้น ยังทำการรบกันอยู่ ต้องเสด็จพระราชดำเนิน ผ่านคู สนามเพลาะ ด้วยความยากลำบาก
พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวภูมิพลอดุลยเดช ทรงพระแสงปืน M-16
เป็นที่ทราบกันดีในหมู่ข้าราชการทหารและตำรวจทั้งหลายว่า พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวภูมิพลอดุลยเดชทรงให้ความสนพระราชหฤทัยอย่างลึกซึ้งในกิจการสรรพาวุธ ได้ทรงแสดงพระปรีชาสามารถในการค้น คิด ดัดแปลงอาวุธยุทโธปกรณ์ให้ทันสมัย และใช้ราชการได้ดียิ่งขึ้นเป็นผลสำเร็จหลายรายการด้วยกัน อีกทั้งยังได้ทรงพระราชทานอาวุธ ยุทโธปกรณ์ที่ทรงแก้ไขเหตุติดขัดและข้อบกพร่องต่างๆ เรียบร้อยแล้วให้แก่ทหารและตำรวจอยู่เนืองๆ

ในห้วงเวลาที่สถานการณ์การก่อการร้ายในประเทศอยู่ในภาวะวิกฤตนั้น ได้ทรงใช้เวลาว่างจากพระราชภารกิจเสด็จพระราชดำเนินไปงานภายนอกในตอนบ่าย ทรงงานแก้ไขอาวุธยุทโธปกรณ์ที่บกพร่อง ซึ่งทรงได้มาจากทหาร ตำรวจ ผู้ได้ใช้อาวุธนั้นทำการสู้รบจนสิ้นชีวิต ทั้งนี้โดยได้ทรงตรวจสอบสมรรถภาพของอาวุธนั้นๆ ด้วยพระองค์เองซึ่งในบางโอกาสก็ทรงมีพระราชกระแสรับสั่งให้ เจ้าหน้าที่ของกรมสรรพาวุธทหารบกได้เข้าเฝ้าถวายคำแนะนำ ทั้งในพระตำหนักจิตรลดารโหฐาน และพระราชวังไกลกังวลอย่างใกล้ชิด เพื่อการนี้เป็นที่แน่ชัดว่าใครได้ใช้ปืนที่ทรงแก้ไขนั้น ย่อมจะสำนึกในพระมหากรุณาธิคุณเป็นล้นพ้น

นายทหารของศูนย์การทหารราบค่ายธนะรัชต์ ปราณบุรีผู้หนึ่ง ซึ่งได้เคยถวายการรับใช้เมื่อทรงพระแสงปืน M-16 ที่สนามยิงปืนของศูนย์การทหารราบเล่าว่า พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงมีความเชี่ยวชาญในเรื่อง พระแสงปืน M-16 อย่างมาก ปืนนี้มีข้อบกพร่องบางอย่างที่ไม่รู้กัน แต่ทรงรู้มาจากการที่ได้ทรงศึกษาจนสามารถพระราชทานคำแนะนำแก่ทหารได้
พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวภูมิพลอดุลยเดช ทรงพระแสงปืน M-16 ติดกล้องเล็งและท่อระงับเสียง (ท่อเก็บเสียง)
เรื่องปืน M-16 นี้ ในบทความ “พระเจ้าอยู่หัวกับตำรวจ” เขียนโดย พล.ต.อ. วสิษฐ เดชกุญชร ตีพิมพ์ในนิตยสารโล่เงิน เดือนธันวาคม 2524 ก็ได้บันทึกไว้เช่นกันว่า พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงศึกษาสมรรถนะของปืน M-16 จนทรงมีความรู้อย่างละเอียดลึกซึ้ง งานอดิเรกที่ทรงโปรดในครั้งกระนั้นคือ การซ่อมปืน M-16 ที่ชำรุด เมื่อใช้งานได้แล้วก็พระราชทานให้นายทหารราชองครักษ์และนายตำรวจสำนัก นำไปแลกกับปืนที่ชำรุดตามหน่วยต่าง ๆ ในสนามเพื่อเอามาถวายให้ทรงซ่อมต่อไปอีก --- ข้อมูลจาก นิตยสารหลักไท ฉบับวันที่ 11 ธันวาคม 2528

โดยพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงสนพระราชหฤทัยในส่วนประกอบและการทำงานของปืน M-16 ถึงกับได้ทรงผ่าปืนชนิดนี้ออก เพื่อทรงศึกษากลไกและส่วนประกอบของปืน ต่อมาในไม่ช้าก็ทรงสามารถประกอบอาวุธปืนชนิดนั้นได้ด้วยพระองค์เอง เวลาเสด็จฯ ไปทรงเยี่ยมหน่วยทหารหน่วยตำรวจ และมีผู้ถวายรายงานว่า ปืนชนิดนั้นชำรุด และไม่สามารถซ่อมแซมได้ เพราะขาดเครื่องอะไหล่ และขาดช่าง ก็ทรงพระกรุณารับปืนเหล่านั้นไป และทรงซ่อมด้วยพระหัตถ์ โดยทรงใช้ส่วนที่ยังใช้การได้ดีอยู่ของปืนกระบอกหนึ่ง ด้วยวิธีนี้ ปืนที่เสียหลายกระบอกจึงกลายเป็นปืนที่กลับดีขึ้นมาอีก

เกี่ยวกับอาวุธปืนนี้ ทั้งพระเจ้าอยู่หัวและสมเด็จฯ ทรงสนพระราชหฤทัย เสด็จเยี่ยมหน่วยทหารตำรวจ (โดยเฉพาะศูนย์การทหารราบและค่านเรศวร) คราวใด คราวนั้นก็มักจะเสด็จฯ ทอดพระเนตรการฝึกซ้อมยิงปืน และบางครั้งก็ทรงยิงปืนในสนามด้วย ในโอกาสเดียวกันนั้น ก็ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้ทูลกระหม่อมชาย และทูลกระหม่อมหญิง ฝึกซ้อมยิงปืนชนิดต่างๆ ด้วย พระเจ้าอยู่หัวและสมเด็จฯ นั้น ทรงปืนได้แม่นยำทั้งสองพระองค์

เมื่อทรงเริ่มสนพระราชหฤทัยในการยิงปืนนั้น สนามยิงปืนของค่ายนเรศวรยังไม่คุ้นเคยกับฝ่าละอองธุลีพระบาท เพราะฉะนั้น เจ้าหน้าที่ผู้ถวายความสะดวกในการทรงปืนจึงได้แก่เจ้าหน้าที่ผู้ถวายความปลอดภัยจากราชสำนักเป็นส่วนใหญ่ ผมเองเป็นผู้หนึ่งที่ได้มีโอกาสทำหน้าที่ถวายด้วย ค่ำวันหนึ่งเมื่อเสด็จฯ ไปถึงสนามยิงปืนของค่ายนเรศวร เจ้าหน้าที่เตรียมการถวายเรียบร้อยแล้ว พระเจ้าอยู่หัวก็ทรงปืน พระแสงปืนที่ทรงในวันนั้นเป็นแบบปืนเล็กกลแบบ M-16 พอทรงยิงไปได้หนึ่งชุด ผมซึ่งทำหน้าที่เป็นผู้ชี้เป้าถวายก็ออกวิ่งไปดูที่เป้าที่เพิ่งจะทรงยิง และเห็นด้วยความไม่ประหลาดใจอะไร (เพราะรู้อยู่แล้วว่าทรงปืนแม่น) ว่าไม่มีกระสุนนัดใดออกจากวงดำของเป้าไปเลยแม้แต่นัดเดียว ผมวิ่งกลับไปที่แนวยิง ถวายความเคารพ แล้วกราบบังคมทูลอย่างฉาดฉานว่า “ถูกหมดทุกนัด พระพุทธเจ้าข้า” มีพระราชดำรัสถามว่า ถูกกี่นัด? ผมไม่ได้นับจำนวนกระสุนที่ถูกเป้า แต่รู้ว่าแม็กซีนหรือซองกระสุนที่ใช้บรรจุกระสุนปืนสำหรับปืน M-16 รุ่นนั้นในสมัยนั้นบรรจุได้เต็ม 20 นัด จึงกราบบังคมทูลอย่างฉับพลันว่า “20 นัด พระพุทธเจ้าข้า” พระเจ้าอยู่หัวทรงก้มพระพักตร์ลงทอดพระเนตรพระแสงปืนในพระหัตถ์ ทรงพลิกพระแสงไปมา 2-3 ตลบ แล้วเงยพระพักตร์ขึ้นแย้มพระสรวล ก่อนที่จะตรัสว่า “ปืนกระบอกนี้วิเศษมาก บรรจุ 18 นัด แต่ยิงได้ถึง 20 นัด” --- จากหนังสือ รอยพระยุคลบาท หน้าที่ 35 โดย พล.ต.อ. วสิษฐ เดชกุญชร
พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวภูมิพลอดุลยเดช และสมเด็จพระนางเจ้าพระบรมราชินีนาถ ทรงพระแสงปืน M-16


๒๗ ธันวาคม ๒๕๑๑ พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว เสด็จพระราชดำเนินมาทรงพระแสงปืน ณ อุโมงค์ยิงปืนของกรมสรรพาวุธทหารบกเป็นครั้งแรก ในโอกาสนั้น พลโท ทวิช เสนีวงศ์ ณ อยุธยา เจ้ากรมสรรพาวุธทหารบกในขณะนั้นได้ทูลเกล้าถวายพระแสงปืน และในคราวเสด็จพระราชดำเนินครั้งนั้น ทรงจารึกพระปรมาภิไธยลงบนแผ่นศิลาอ่อน โปรดเกล้าฯ พระราชทานให้ประดิษฐานไว้ ณ อุโมงค์ยิงปืน เพื่อเป็นมิ่งขวัญและสิริมงคลแก่ ข้าราชการ และลูกจ้าง กรมสรรพาวุธทหารบกทั้งปวงสืบมาจนบัดนี้

พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ทรงพระแสงปืน GALIL

“ทรงทราบฝ่าละอองธุลีพระบาทว่า เฮลิคอปเตอร์ของกรมตำรวจที่ใช้ปฏิบัติหน้าที่สนามนั้น ไม่มีอาวุธติดกับเครื่องบิน เพราะเป็นเฮลิคอปเตอร์ธรรมดาสำหรับใช้ขนส่งทั่วไป… เมื่อทรงทราบเช่นนั้นก็ทรงพระกรุณาพระราชทานความคิดให้ ม.ร.ว.เทพฤทธิ์ เทวกุล ซึ่งเป็นวิศวกร ไปประดิษฐ์ฐานสำหรับติดตั้งปืนกลติดกับตัว
ภาพโดย คุณ POOKLOOK จาก OK Nation ถ่าย ณ พิพิธภัณฑ์ตารวจ
พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวและสมเด็จพระบรมโอรสาธิราชสยามมงกุฏราชกุมารทรงพระแสงปืน M-16 ณ สนามทรงพระแสงปืน  ค่ายธนะรัชต์

พระบรมฉายาลักษณ์ขณะทรงพระแสงปืนเล็กยาว M-16 ต่อเป้าหมายอันแม่นยำ ณ สนามทรงพระแสงปืน ค่ายธนะรัชต์ แสดงถึงพระลักษณะของความเป็น “ทหารชั้นเลิศ” แม้พระองค์ทรงอยู่ในฐานะจอมทัพ ก็หาได้ถือพระองค์ไม่ หากแต่ได้เสด็จพระราชดำเนินทรงพระแสงปืนหลายครั้งด้วยความตั้งพระราชหฤทัย

นอกจากจากพระอัจฉริยภาพในเรื่องพระแสงปืนดังที่กล่าวมาแล้ว พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวภูมิพลอดุลยเดชยังทรงพระปรีชาญาณเกือบทุกอย่าง แม้กระทั่งการต่อเรือรบโดยพระองค์ทรงนำประสบการณ์การต่อเรือใบและการแล่นใบ พระราชทานให้กองทัพเรือโดยกรมอู่ทหารเรือได้ทำการต่อเรือรบเพื่อใช้ในราชการรวมสองครั้ง ครั้งแรกคือ เรือตรวจการณ์ใกล้ฝั่งชุด เรือ ต.91 – ต.99 ซึ่งเป็นโครงการในพระราชดำริของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวภูมิพลอดุลยเดช เมื่อ ปี พ.ศ. 2511 และครั้งที่สองคือ โครงการจัดสร้างเรือตรวจเรือใกล้ฝั่งเฉลิมพระเกียรติ 80 พรรษา เป็นโครงการของกองทัพเรือไทย ที่ต่อยอดมาจากโครงการก่อสร้างเรือตรวจการณ์ใกล้ฝั่งชุด เรือ ต.91 – ต.99 (ครั้งแรก) โดยมีจุดเริ่มต้นจากพระราชกระแสรับสั่งแก่ผู้บังคับหมู่เรือรักษาการณ์วังไกลกังวล และผู้เข้าเฝ้า ฯ ณ วังไกลกังวล เกี่ยวกับการใช้เรือของกองทัพเรือ ในวันที่ 15 เมษายน พ.ศ. 2545 ความว่า “เรือรบขนาดใหญ่มีราคาแพงและมีค่าใช้จ่ายในการปฏิบัติงานสูง กองทัพเรือจึงควรใช้เรือที่มีขนาดเหมาะสม และสร้างได้เอง ซึ่งเมื่อสร้างเรือตรวจการณ์ใกล้ฝั่งชุดเรือ ต.91 ได้แล้ว ควรขยายแบบเรือให้ใหญ่ขึ้นและสร้างเพิ่มเติม” กับทั้งได้มีพระราชดำรัสในโอกาสวันเฉลิมพระชนมพรรษา 5 ธันวาคม พ.ศ. 2546 เกี่ยวกับเศรษฐกิจพอเพียงโดยได้ทรงยกตัวอย่างจากการพึ่งพาตนเองในโครงการต่อเรือตรวจการณ์ใกล้ฝั่งชุดเรือ ต.91 ในอดีตของกองทัพเรือ กอปรกับในช่วงเวลานั้น กองทัพเรือได้มีแผนปลดประจำการเรือตรวจการณ์ใกล้ฝั่งชุดเรือ ต.11 ที่ได้รับความช่วยเหลือจากสหรัฐอเมริกา เนื่องจากใช้งานมานานประมาณ 40 ปีแล้ว กองทัพเรือจึงได้นำพระราชดำริฯ มาดำเนินการพัฒนาแบบเรือตรวจการณ์ใกล้ฝั่งชุดใหม่ ให้มีคุณสมบัติครบถ้วน และสอดคล้องกับแนวพระราชดำรัสดังกล่าว โดยขยายแบบเรือจากชุดเรือ ต.91 – ต.99 ให้ใหญ่ขึ้น
เรือตรวจการณ์ใกล้ฝั่งชุด เรือ ต.91 – ต.99 ขอบคุณภาพจาก http://topicstock.pantip.com/wahkor/topicstock/2012/02/X11693118/X11693118.html
กองทัพเรือได้กราบบังคมทูลเชิญพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ทรงประกอบพิธีวางกระดูกงูเรือตรวจการณ์ใกล้ฝั่งเฉลิมพระเกียรติ 80 พรรษา เรือ ต.991 เมื่อวันที่ 9 กันยายน พ.ศ. 2548 ที่อู่ทหารเรือธนบุรี เพื่อความเป็นสิริมงคลแก่เรือ
กองทัพเรือได้รับอนุมัติจากกระทรวงกลาโหม ให้ดำเนินโครงการจัดหาเรือตรวจการณ์ใกล้ฝั่งชุดใหม่เมื่อวันที่ 31 มีนาคม พ.ศ. 2546 เพื่อทดแทนเรือตรวจการณ์ใกล้ฝั่งชุดเรือ ต.11 และรัฐบาลโดยคณะรัฐมนตรีได้อนุมัติให้กองทัพเรือดำเนินโครงการสร้างเรือตรวจการณ์ใกล้ฝั่งพร้อมกัน 3 ลำ ในวงเงินรวมประมาณ 1,912 ล้านบาท ระยะเวลาดำเนินการรวม 3 ปี ตั้งแต่ปี พ.ศ. 2548 – 2550 เพื่อน้อมเกล้าน้อมกระหม่อมถวายพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว เนื่องในวโรกาสทรงเจริญพระชนมายุ 80 พรรษา ในปี พ.ศ. 2550

ผู้บัญชาการกองทัพเรือ นำคณะนายทหาร เข้าถวายรายงานต่อพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ในการดำเนินการต่อเรือ ต.991 ตามพระราชดำริ เพื่อมีพระราชวินิจฉัย โดย พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวภูมิพลอดุลยเดชทรงมีพระบรมราชวินิจฉัย ในวันดังกล่าวคือ
• TRIM เรือมีผลกระทบอย่างมากต่อความเร็วเรือ
• รูปทรงส่วนท้ายเป็น Planing ควรให้โค้งมน ต้องมีความทนทะเล คลื่นลมในอ่าวไทยมีลักษณะสับสน
• ความเร็วเรือที่เสนอน่าจะเหมาะสม
• ปริมาณน้ำมันเชื้อเพลิง กำลังขับเคลื่อน ระยะปฏิบัติการ
• อุปกรณ์ช่วยการทรงตัว (Stabilizer)
• ความแข็งแรงของตัวเรือและความทนทาน ให้ใช้งานได้นาน
• ควรให้มีการติดตั้ง Spray Rail สำหรับการกระจายคลื่น
• การทำแบบจำลองเรือโดยใช้เทียนไข
• นำเรือเก่าที่จะไม่ใช้มาทดลองปรับปรุง

นับเป็นพระอัจฉริยภาพในพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวภูมิพลอดุลยเดช ทรงมีพระบรมราชวินิจฉัยเรื่องการออกแบบอย่างแม่นยำและตรงประเด็น เพราะทรงรู้จักลักษณะคลื่นลมทะเลจากการทรงเรือใบ จึงให้คำนึงถึงน้ำหนัก และลักษณะท้องเรือเป็นพิเศษ

กล่าวได้ว่าพระองค์ทรงเป็นอัจฉริยบุรุษ สมดั่งพระบารมีของพระองค์ท่าน ปกเกล้าปกกระหม่อมให้พระสกนิกรชาวไทยได้อยู่ร่มเย็นเป็นสุข ให้ประเทศไทยคลาดแคล้วจากภัยพิบัติทั้งปวงมาตลอดระยะเวลา ๗๐ ปี

ขอน้อมเกล้าน้อมกระหม่อมรำลึกในพระมหากรุณาธิคุณเป็นล้นพ้นอันหาที่สุดมิได้
ข้าพระพุทธเจ้า
ดร.โยธิน มานะบุญ
นักวิชาการอิสระ

กำลังโหลดความคิดเห็น