xs
xsm
sm
md
lg

ผู้นำตปท.ถวายสักการะ-อาชีวะปฏิญาณตนสมานฉันท์เพื่อพ่อ

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: MGR Online

ผู้จัดการรายวัน360- ผู้นำและตัวแทนประมุขจากต่างประเทศ ทะยอยเข้าถวายสักการะพระบรมศพ "ประจิน"คาดโปรแกรมลงทะเบียนถวายบังคับพระบรมศพเสร็จช่วง 14-15 พ.ย.นี้ "ดาว์พงษ์" นำ 999,999 นศ.อาชีวะร่วมกิจกรรม"ปฏิญาณตนเพื่อพ่อ อาชีวะสมานฉันท์" ประกาศเลิกใช้ความรุนแรงแก้ไขปัญหา สืบสานพระราชปณิธานสร้างสังคมไทยเป็นสุข พร้อมมอบหมายอาชีวะทั่วประเทศ จัด“จิตอาสา”ออกพื้นที่ ให้บริการชุมชน ถวายเป็นพระราชกุศล "โตโยต้า" มอบข้าว-วีลแชร์-พัด อำนวยความสะดวกให้ประชาชน ที่มาถวายสักการะพระบรมศพ


เมื่อวานนี้ (9พ.ค.) ตลอดทั้งวัน มีผู้นำ และผู้แทนประมุขจากต่างประเทศเดินทางมาวางพวงมาลา ถวายสักการะพระบรมศพพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช ณ พระที่นั่งดุสิตมหาปราสาท ในพระบรมมหาราชวัง และลงนามถวายความอาลัย ณ อาคารสำนักราชเลขาธิการ ตามลำดับ โดย เวลา 10.30 น. นายตินจ่อ ประธานาธิบดีสาธารณรัฐแห่งสหภาพเมียนมา และ เวลา 14.00 น. นายรอดริโก ดูเตอร์เต ประธานาธิบดีแห่งสาธารณรัฐฟิลิปปินส์ ในโอกาสที่ นายรอดริโก ดูเตอร์เต เดินทางมาเยือนประเทศไทย เป็นครั้งแรก

เวลา 14.13 น. สมเด็จพระราชาธิบดีฟิลิป เลโอโปล หลุยส์ มารียา แห่งราชอาณาจักรเบลเยียม ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้นายนิโคลัส นิอง อุปทูต สถานเอกอัครราชทูตราชอาณาจักรเบลเยียมประจำประเทศไทย เป็นผู้แทนพระองค์ เดินทางมาถวายสักการะพระบรมศพ พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช ณ พระที่นั่งดุสิตมหาปราสาท ในพระบรมมหาราชวัง และ ลงนามถวายความอาลัย ณ อาคารสำนักราชเลขาธิการ

ทั้งนี้ สมเด็จพระราชาธิบดีฟิลีป เลโอโปล หลุยส์ มารียา เคยเสด็จพระราชดำเนินเยือนประเทศไทย ขณะทรงดำรงพระราชอิสริยยศมกุฎราชกุมารแห่งราชอาณาจักรเบลเยี่ยม ถึง 3 ครั้ง โดยในปี 2544 เข้าเฝ้าทูลละอองธุลีพระบาทพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช ณ พระตำหนักเปี่ยมสุข วังไกลกังวล ในปี 2549 ทรงเข้าร่วมพระราชพิธีฉลองสิริราชสมบัติพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช ครบ 60 ปี และ ในปี 2556 เข้าเฝ้าทูลละอองธุลีพระบาทพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช ณ โรงพยาบาลศิริราช ในฐานะพระราชอาคันตุกะส่วนพระองค์

เวลา 15.00 น. พระเจ้าหลานเธอ พระองค์เจ้าพัชรกิติยาภา เสด็จยังพระที่นั่งดุสิตมหาปราสาท ในพระบรมมหาราชวัง บำเพ็ญพระกุศลสวดพระอภิธรรมพระบรมศพ พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช โดยมีพระพิธีธรรมจากวัดบวรนิเวศวิหาร และ วัดระฆังโฆสิตารามวรมหาวิหาร สวดพระอภิธรรมพระบรมศพ

** 9 ชนเผ่า999คนเข้าถวายสักการะ

นอกจากนี้ ยังมีราษฎรบนพื้นที่สูง 9 ชนเผ่า ประกอบด้วย กระเหรี่ยง 249 คน ม้ง 207 คน ลาหู่ 99 คน อาข่า 99 คน เมี่ยน 99 คน ลีซู 99 คน ลัวะ 49 คน ขมุ 49 คน ถิ่น 49 คน รวม 999 คน จาก 20 จังหวัด ได้แก่ กาญจนบุรี กำแพงเพชร เชียงราย เชียงใหม่ ตาก น่าน พะเยา พิษณุโลก สุโขทัย เพชรบูรณ์ เลย เพชรบุรี ประจวบคีรีขันธ์ แพร่ แม่ฮ่องสอน ราชบุรี ลำปาง ลำพูน อุทัยธานี และสุพรรณบุรี ซึ่งในจำนวนนี้ มีจำนวนหนึ่งที่เป็นบุคคลในภาพที่เคยร่วมรับเสด็จพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดชฯ จำนวน 9 เหตุการณ์แห่งความทรงจำ เดินทางเข้ามากราบสักการะพระบรมศพ โดยตั้งขบวนบริเวณหน้าศาลหลักเมือง ก่อนเดินเข้าพระบรมมหาราชวัง เพื่อกราบสักการะพระบรมศพ ณ พระที่นั่งดุสิตมหาปราสาท โดยราษฎรบนพื้นที่สูงทั้งหมด ต่างพร้อมใจกันสวมชุดชนเผ่า เพื่อแสดงความเคารพต่อพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช อย่างหาที่สุดมิได้

**ลงทะเบียนออนไลน์เสร็จ15 พ.ย.นี้

พล.อ.อ.ประจิน จั่นตอง รองนายกรัฐมนตรี กล่าวถึงการลงทะเบียนออนไลน์ สำหรับประชาชนที่ต้องการเข้ากราบถวายบังคมพระบรมศพ พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช ว่า เมื่อวันที่ 8 พ.ย. ที่ผ่านมา ตนได้สอบถามความก้าวหน้าเรื่องนี้ จากนายสมศักดิ์ ห่มม่วง ผู้ตรวจราชการกระทรวงคมนาคม ซึ่งได้คุยกับสำนักงานรัฐบาลอิเล็กทรอนิกส์ (สรอ.) แล้ว โดยตัวโปรแกรมลงทะเบียนออนไลน์ น่าจะเสร็จในวันที่ 14-15 พ.ย. นี้ จากนั้น จะต้องดูการเชื่อมต่อกับจังหวัดต่างๆ ทั้ง 77 จังหวัด ว่าจะเกิดเสถียรภาพหรือไม่ และจะนำมากำหนดจุดปลายทางที่บริเวณใกล้กับพระบรมมหาราชวัง จะมีกองอำนวยการ เจ้าหน้าที่เทคนิคดูแล

ทั้งนี้ เมื่อทำเสร็จสิ้น จะแบ่งเป็น 2 ส่วน คือ 1. ประชาชนที่เดินทางมาตามอัธยาศัยซึ่งประชาชนเป็นชุดใหญ่ 2. ประชาชนที่มาจากการลงทะเบียนออนไลน์ ซึ่งเราต้องดูการบริหารคิวออนไลน์ให้มีความเสถียร ยุติธรรม และต้องจัดบริหารให้ 2 ส่วนได้เข้าไปอย่างยุติธรรม และเหมาะสม

อย่างไรก็ตาม ขณะนี้ยังไม่กำหนดจำนวนบุคคลที่จะลงทะเบียนออนไลน์ ว่าต้องมีจำนวนเท่าใด ซึ่งไม่ได้หมายความว่า ใครจองก่อนได้ก่อน แต่คนที่มาเองตามอัธยาศัยต้องได้สิทธิเช่นเดียวกัน เพราะมาตั้งแต่ตี 4 ตี 5 ไม่ได้ให้แต่คนออนไลน์ได้ก่อนเพียงระบบเดียว ต้องได้ร่วมกัน ส่วนน้ำหนักแบ่งเกณฑ์ จะเป็นอย่างไรต้องคุยกันอีกครั้ง ส่วนประชาชนที่ไม่มีอินเทอร์เน็ต อาจจะใช้ช่องทางของศูนย์ดำรงธรรม หรือใช้ช่องทางจากจังหวัดและอำเภอเพราะส่วนนี้ศูนย์บัญชาการติดตามสถานการณ์ (ศตส.) จะมอบให้จังหวัดไปคุยกัน จากนั้นรัฐบาลจะนำมาประชุมปรึกษาเพื่อหารือกันอีกครั้ง

** อาชีวะสมานฉันท์ ทำดีเพื่อพ่อ

เมื่อเวลา 09.09 น. วานนี้ (9พ.ย.) ที่วิทยาลัยเทคนิคปทุมธานี พล.อ.ดาว์พงษ์ รัตนสุวรรณ รมว.ศึกษาธิการ เป็นประธานจัดกิจกรรม “999,999คน ปฏิญาณตนเพื่อพ่อ อาชีวะสมานฉันท์" โดยสำนักงานคณะกรรมการการอาชีวศึกษา (สอศ.) ได้นำผู้แทนนักศึกษาอาชีวะ ทั้งภาครัฐและเอกชน ในพื้นที่กรุงเทพมหานคร (กทม.)และปริมณฑล ปฏิญญาณตนทำความดีเพื่อถวายเป็นพระราชกุศล แด่พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช ในขณะเดียวกัน สถานศึกษาอาชีวศึกษา จำนวน 914 แห่ง จำนวน 999,999 คน ทั่วประเทศ ได้ร่วมปฏิญญาณตน ในเวลาเดียวกันด้วย

พล.อ.ดาว์พงษ์ กล่าวในระหว่างการเปิดกิจกรรมช่วงหนึ่ง ว่า กิจกรรมการปฏิญาณตน อาชีวะสมานฉันท์ครั้งนี้ มีจุดประสงค์เพื่อน้อมรำลึกในพระมหากรุณาธิคุณ และแสดงความอาลัยพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช จึงเชิญชวนเด็กอาชีวะร่วมใจทำความดีถวายในหลวงรัชกาลที่ ๙ โดยร่วมกันปฏิญาณตนว่า ต่อไปจะไม่ใช้ความรุนแรงในการแก้ปัญหา เนื่องจากเด็กอาชีวะทุกคน เป็นคนไทยที่รักในหลวง และอยากทำความดีถวายพระองค์ท่าน ซึ่งนอกจากจะปฏิญญาณ ตนแล้ว จะร่วมกันสร้างสังคมไทยให้มีความสุข มีความรักใคร่ ปรองดอง สมานฉันท์ เป็นการสร้างประวัติศาสตร์หน้าใหม่ และสร้างภาพลักษณ์เชิงบวกให้ชาวอาชีวศึกษาด้วย โดยได้มอบหมายให้สถานศึกษาอาชีวศึกษาทุกแห่ง ดำเนินการจัดกิจกรรมบำเพ็ญประโยชน์ ถวายเป็นพระราชกุศลแด่พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช โดยนำความรู้ ความสามารถเชิงช่าง และสาขาวิชาชีพของนักศึกษาในแต่ละสาขาออกปฏิบัติงานจริงในรูปแบบกิจกรรมจิตอาสาเพื่อสังคม ออกพื้นที่ให้บริการชุมชนในรูปแบบ Fix it center หรือศูนย์ซ่อมสร้างเพื่อชุมชน ซ่อมแซมเครื่องใช้ไฟฟ้าในครัวเรือน ซ่อมแซมรถจักรยานยนต์ เครื่องจักรกลทางการเกษตร ให้บริการย้อมผ้า ทำริบบิ้น และเครื่องทองน้อยแจก ให้บริการตัดผมฟรี เดินสายไฟฟ้า ทาสีให้วัด หรือสถานที่ๆ เป็นจุดศูนย์รวมต่างๆ ดูแลด้านการเกษตร แจกกล้าไม้ ทำอีเอ็ม และปุ๋ยอินทรีย์ให้เกษตรกร

**โตโยต้ามอบ"ข้าว-วีลแชร์-พัด"

วานนี้ ที่ทำเนียบรัฐบาล ม.ล.ปนัดดา ดิศกุล รัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี ให้การต้อนรับนายเคียวอิจิ ทานาดะ เจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท โตโยต้า มอเตอร์ คอร์ปอเรชั่น และ กรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท โตโยต้า มอเตอร์ ประเทศไทย จำกัด และ คณะผู้บริหาร ที่มีความประสงค์ให้การสนับสนุน ข้าวเปลือกจากโรงสีข้าวรัชมงคล รถเข็นนั่ง ( Wheelchair ) พัด และเจ้าหน้าที่จิตอาสา เพื่อรับรอง และอำนวยความสะดวกให้กับประชาชนที่มาถวายสักการะพระบรมศพพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช

ทั้งนี้ สิ่งที่ทางบริษัทโตโยต้า นำมาสนับสนุนประกอบด้วย ข้าวเปลือกจากโรงสีข้าวรัชมงคลเ พื่อบรรจุเป็นข้าว"พอเพียง" และเป็นข้าวขวัญถุงที่ระลึกจำนวน 27 ตัน และมอบข้าวสารจากโรงสีข้าวรัชมงคล เพื่อหุงแจกจ่ายให้กับประชาชนจำนวน 140 ตัน โดยมอบให้กระทรวงกลาโหม เพื่อบริการประชาชน 65 ตัน และออกบูธ ร่วมกับผู้แทนจำหน่ายเพื่อจัดทำอาหาร 75 ตัน

นอกจากนี้ ได้สนับสนุนรถเข็นนั่งสำหรับผู้พิการ และคนชรา 200 คัน พัดพลาสติก 365,000 อัน และได้จัดพนักงานโตโยต้า รวมถึงพนักงานผู้แทนจำหน่ายเขต กทม. จิตอาสา 150 คน ต่อวัน และสนับสนุนรถยนต์ เพื่อใช้ในราชการสำนักปลัดฯ พร้อมเจ้าหน้าที่ขับรถ รถกระบะไฮลักซ์ รีโว่ 20 คัน รถตู้คอมมิวเตอร์ 5 คัน มอบแก่สำนักงานปลัดสำนักนายกรัฐมนตรี เพื่อใช้ขนสิ่งของที่ได้รับการสนับสนุนจากประชาชน ไปอำนวยความสะดวกให้ผู้ที่มาสักการะพระบรมศพอย่างต่อเนื่องด้วย

ทางบริษัท โตโยต้า และชมรมผู้แทนจำหน่ายโตโยต้าทั่วประเทศ ยังจะจัดเตรียมรถสำหรับเดินทางมาที่กรุงเทพฯ เพื่ออำนวยความสะดวกให้กับประชาชนแต่ละจังหวัด ที่เดินทางมาถวายสักการะพระบรมศพฯ รวมทั้งได้จัดเต้นท์ทำอาหาร โดยใช้ข้าวจากโรงสีข้าวรัชมงคลให้แก่ประชาชนที่เดินทางมาถวายสักการะ พระบรมศพ ไปจนกว่าจะเสร็จสิ้นภารกิจด้วย
กำลังโหลดความคิดเห็น