ผู้จัดการสุดสัปดาห์ -เป็นภาพที่คุ้นตากับการเข้าแถวต่อคิวยาวแบบสุดลูกหูลูกตา เพื่อรอแลกซื้อธนบัตรที่ระลึก อันเนื่องด้วยวาระโอกาสพิเศษต่างๆ โดยเฉพาะชุด ธนบัตรเฉลิมพระเกียรติ พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช ในวาระต่างๆ สะท้อนให้เห็นถึงความซาบซึ้งในพระมหากรุณาธิคุณอย่างหาที่สุดมิได้ของพสกนิกรชาวไทย
จึงไม่แปลกที่เมื่อ ธนาคารออมสิน ได้นำธนบัตรที่ระลึกที่จัดทำขึ้นในโอกาสเฉลิมพระชนมพรรษาครบ 7 รอบ 84 พรรษา เมื่อปี พ.ศ.2554 ออกมาให้ประชาชนแลกในช่วงนี้ จึงได้รับความสนใจจากประชาชนอย่างล้นหลาม บ้างมาปักหลักค้างคืนรอคอย บ้างยอมเข้าคิวต่อแถวตั้งแต่หน้าสำนักงานใหญ่ของธนาคารออมสินยาวไปถึงสี่แยกสะพานควาย ที่สุดธนบัตรที่ระลึกชุด 7 รอบ 84 พรรษา จำนวนมากถึง 93,000 ชุด ก็หมดลงอย่างรวดเร็ว
ธนบัตรที่ระลึกที่จัดทำขึ้นในโอกาสเฉลิมพระชนมพรรษาครบ 7 รอบ 84 พรรษา เมื่อปี พ.ศ.2554 นั้นถือเป็นชุดหลังๆที่จัดทำเพื่อเฉลิมพระเกียรติ พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช โดยในเว็บไซต์ของ ธนาคารแห่งประเทศไทย (แบงก์ชาติ) ได้ระบุถึง การจัดพิมพ์ธนบัตรที่ระลึกที่เกี่ยวข้องกับวโรกาสสำคัญในพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช ดังนี้
ครั้งแรกเมื่อปี 2530 เป็น “บัตรธนาคาร” ที่ออกในนามแบงก์ชาติ ชนิดราคา 60 บาท ในวโรกาสที่ทรงเจริญพระชนมพรรษา 60 พรรษา ตามที่รัฐบาลขณะนั้นมีนโยบายให้หน่วยงานต่างๆ ร่วมถวายความจงรักภักดีในวโรกาสสำคัญนี้
จากนั้นในปี 2539 แบงก์ชาติได้จัดพิมพ์ธนบัตรที่ระลึกเพื่อเฉลิมพระเกียรติในวโรกาสฉลองสิริราชสมบัติครบ 50 ปี ด้วยธนบัตรชนิดราคา 50 บาท และชนิด 500 บาท 2 รุ่น ที่แตกต่างกันด้วยสีของธนบัตร ตราสัญลักษณ์ และเลขรหัสของธนบัตร
จากนั้นในโอกาสพระราชพิธีมหามงคล เฉลิมพระชนมพรรษา 6 รอบ 5 ธันวาคม 2542 แบงก์ชาติได้จัดพิมพ์ธนบัตรที่ระลึกชนิดราคา 1,000 บาท
ปี 2543 จัดพิมพ์ธนบัตรที่ระลึกเนื่องในอภิลักขิตสมัยมหามงคลวันราชาภิเษกสมรส ครบ 50 ปี มี 2 ชนิดราคา คือ 50 บาท และชนิดราคา 500,000 บาท ซึ่งจัดพิมพ์ในแบบประทับพระนามาภิไธยย่อ ภปร.และพระนามาภิไธยย่อ สก. แบบละ 999 ฉบับ รวม 1,998 ฉบับ โดยเปิดให้ผู้สนใจแลกในราคา 500,000 บาทต่อฉบับ หรือ 1,000,000บาทต่อชุด
ต่อมาปี 2549 แบงก์ชาติได้จัดพิมพ์ธนบัตรที่ระลึกเพื่อเฉลิมพระเกียรติในวโรกาสฉลองสิริราชสมบัติครบ 60 ปี ชนิดราคา 60 บาท โดยจ่ายแลกในราคาฉบับละ 100 บาท จัดพิมพ์จำนวน 9,999,999 ฉบับ แต่ก็หมดลงอย่างรวดเร็วในเวลาเพียง 2 วัน จนต้องมีการจัดพิมพ์เพิ่มเติม
ปีถัดมา 2550 แบงก์ชาติก็ได้จัดพิมพ์ธนบัตรที่ระลึก ในวโรกาสที่ทรงเจริญพระชนมพรรษา 80 พรรษา 5 ธันวาคม 2550 ธนบัตรชุดนี้มีรูปแบบย้อนยุค และมีความพิเศษต่างจากธนบัตรทั่วไป คือจัดพิมพ์เป็นธนบัตรชุด 3 ชนิด ราคา 1 บาท 5 บาท และ 10 บาท ไม่ตัดเป็นรายฉบับ
ข้อมูลเกี่ยวกับธนบัตรที่ระลึก ”ในหลวงรัชกาลที่ 9” โดยสังเขป
1. ปี 2530 เนื่องในวโรกาสเฉลิมพระชนมายุ 60 พรรษา ธนบัตรชนิดราคา 60 บาท นำออกใช้ 5 ธ.ค. 2530 จำนวนจำหน่าย 10 ล้านฉบับ ราคาจำหน่าย100 บาท
2. ปี 2539 เนื่องในวโรกาสฉลองสิริราชสมบัติครบ 50 ปี จัดพิมพ์ 3 ชุด ได้แก่
- ธนบัตรชนิดราคา 500 บาท (สีเหลือง) มีเลข 9 นำหน้าและ 9 ปิดท้าย นำออกใช้ 10 ม.ค.2539 จำนวนจำหน่าย 10 ล้านฉบับ ราคาจำหน่าย 1,300 บาท
- ธนบัตรชนิดราคา 500 บาท (สีม่วง) “รุ่นเลข 9 นำหน้า“ นำออกใช้ 3 เม.ย. 2539 จำนวนจำหน่าย 10 ล้านฉบับ ราคาจำหน่าย1,100 บาท
- ธนบัตรชนิดราคา 50 บาท นำออกใช้ 3 ธ.ค. 2539 จำนวนจำหน่าย 100 ล้านฉบับ ราคาจำหน่าย 50 บาท
3. ปี 2542 เนื่องในวโรกาสเฉลิมพระชนมพรรษา 6 รอบ ธนบัตรชนิดราคา 1,000 บาท นำออกใช้ 1 พ.ย. 2542 จำนวนจำหน่าย 10 ล้านฉบับ ราคาจำหน่าย 1,000 บาท
4. ปี 2543 เนื่องในวโรกาสอภิลักขิตสมัยมหามงคลวันราชาภิเษกสมรส และวันบรมราชาภิเษก ครบ 50 ปี จัดพิมพ์ 2 ชุด ได้แก่
- ธนบัตรชนิดราคา 50 บาท นำออกใช้ 8พ.ค.2543 จำนวนจำหน่าย 100,000 ฉบับ ราคาจำหน่าย 50 บาท
- ธนบัตรชนิดราคา 500,000 บาท นำออกใช้ 8พ.ค.2543 จำนวนจำหน่าย 1,998 ฉบับ ราคาจำหน่าย 500,000 บาท
5. ปี 2549 เนื่องในวโรกาสฉลองสิริราชสมบัติครบ 60 ปี ธนบัตรชนิดราคา 60 บาท นำออกใช้ 9 มิ.ย. 2549 จำนวนจำหน่ายล็อตแรก 10 ล้านฉบับ ล็อตที่ 2 อีก 2 แสนฉบับ ราคาจำหน่าย100 บาท
6. ปี 2550 เนื่องในวโรกาสเฉลิมพระชนมายุ 80 พรรษา ธนบัตร 3 ชนิด 1 บาท 5 บาท และ 10 บาท ขายเป็นชุดไม่ตัดเป็นรายฉบับ นำออกใช้ 14 ส.ค.2550 จำนวนจำหน่าย 15 ล้านชุด ราคาจำหน่ายชุดละ 300 และ 100 บาท
7. ปี 2553 เนื่องในวโรกาสอภิลักขิตสมัยมหามงคลวันราชาภิเษกสมรส และวันบรมราชาภิเษก ครบ 60 ปี ธนบัตรชนิดราคา 100 บาท นำออกใช้ 5 เม.ย.2553 จำนวนจำหน่าย 9,999,999 ฉบับ ราคาจำหน่าย100 บาท
8. ปี 2554 เนื่องในวโรกาสเฉลิมพระชนมพรรษา 7 รอบ ธนบัตรชนิดราคา 100 บาท นำออกใช้ 21 พ.ย. 2554 จำนวนจำหน่าย 9,999,999 ฉบับ ราคาจำหน่ายชุดละ 200 และ 500 บาท
9. ปี 2559 เนื่องในวโรกาสฉลองสิริราชสมบัติครบ 70 ปี ธนบัตรชนิดราคา 70 บาท นำออกใช้ 12 พ.ค. 2559 จำนวนจำหน่าย 10 ล้านฉบับ ราคาจำหน่ายฉบับละ 100 บาท
นอกจากนี้ ยังมีธนบัตรที่ระลึกอีกหลายชุดที่ได้อัญเชิญพระบรมฉายาสาทิสลักษณ์ พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช มาประทับพร้อมกับพระบรมวงศานุวงศ์องค์อื่นๆ อาทิ ธนบัตรที่ระลึกเนื่องในโอกาสครบรอบ 100 ปี ธนบัตรไทย (ปี 2545) ธนบัตรที่ระลึกเฉลิมพระเกียรติ สมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ เนื่องในวโรกาสพระราชพิธีมหามงคลเฉลิมพระชนมพรรษา 80 พรรษา 12 สิงหาคม 2555 เป็นต้น
อย่างไรก็ตาม นอกจากธนบัตรเฉลิมพระเกียรติแล้ว ธนาคารแห่งประเทศไทยยังได้จัดสร้างธนบัตรในรูปแบบปกติเพื่อให้ประชาชนได้ใช้สอยในชีวิตประจำวัน โดยได้อัญเชิญพระบรมฉายาสาทิสลักษณ์ พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช มาประทับบนธนบัตรตั้งแต่แบบที่ 9 เป็นต้นมา ประกอบด้วย
ธนบัตรแบบที่ 9 มีรูปแบบเหมือนกับธนบัตรแบบที่ 4 แต่เปลี่ยนพระบรมฉายาสาทิสลักษณ์เป็น พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช มี 6 ชนิดราคา ได้แก่ 50 สตางค์ 1 บาท 5 บาท 10 บาท 20 บาท และ 100 บาท พิมพ์ที่ บริษัท โทมัส เดอ ลา รู จำกัด เริ่มทยอยออกใช้เมื่อ พ.ศ.2491
ด้วยเหตุที่ธนบัตรแบบที่ 9 มีระยะเวลาการนำออกใช้นานกว่า 20 ปี ประชาชนจึงคุ้นเคยกับสีของธนบัตรแต่ละชนิดราคาจนยากที่จะเปลี่ยนแปลงได้ จึงอาจกล่าวได้ว่า สีของธนบัตรแบบที่ 9 เป็นต้นแบบของการกำหนดสีของธนบัตรในปัจจุบัน
ธนบัตรแบบที่ 10 ด้วยเหตุที่ธนบัตรแบบที่ 9 ชนิดราคา 100 บาท ออกใช้ติดต่อกันนานกว่า 20 ปี และพิมพ์ด้วยการพิมพ์เส้นนูนสีแดงเพียงสีเดียว จึงมีการปลอมแปลงมาก รัฐบาลจึงได้เปลี่ยนแบบธนบัตรชนิดราคา 100 บาทใหม่ โดยด้านหน้าเชิญพระบรมฉายาสาทิสลักษณ์ พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช เป็นภาพประธาน ส่วนด้านหลังเป็นภาพเรือสุพรรณหงส์ และกำหนดให้พิมพ์สอดสีหลายสีและพิมพ์เส้นนูนสีน้ำเงินเพิ่มขึ้นอีกหนึ่งสี ธนบัตรแบบสิบมีเพียงชนิดราคาเดียว พิมพ์ที่ บริษัท โทมัส เดอ ลา รู จำกัด เริ่มออกใช้เมื่อ พ.ศ.2511
ธนบัตรแบบที่ 11 เป็นธนบัตรแบบที่มีเอกลักษณ์ความเป็นไทยมากขึ้น ด้วยการนำลายไทย สถาปัตยกรรมไทย ซึ่งมีลักษณะโดดเด่นเป็นศิลปะประจำชาติมาเป็นองค์ประกอบสำคัญของธนบัตร นอกจากนี้ ยังมีลักษณะสำคัญคือ ภาพประกอบด้านหน้ามีความสัมพันธ์กับภาพประธานด้านหลัง ธนบัตรแบบที่ 11 มี 5 ชนิดราคา ได้แก่ 5 บาท 10 บาท 20 บาท 100 บาท และ 500 บาท ทยอยออกใช้ตั้งแต่วันที่ 18 มิ.ย.2512
ธนบัตรแบบที่ 12 เป็นธนบัตรที่มีจุดมุ่งหมายเพื่อเผยแผ่พระเกียรติคุณของสมเด็จพระบูรพมหากษัตริยาธิราชเจ้าที่ได้รับการถวายพระราชสมัญญาภิไธย "มหาราช" จึงได้เชิญพระบรมราชานุสาวรีย์ของพระมหากษัตริย์ที่ได้รับการเทิดพระเกียรติดังกล่าว มาเป็นภาพประธานด้านหลังของธนบัตร มี 3 ชนิดราคา ได้แก่ 10 บาท 20 บาท และ 100 บาท ทยอยออกใช้ตั้งแต่วันที่ 28 มี.ค.2521
ธนบัตรแบบที่ 13 มีจุดมุ่งหมายเพื่อร่วมเฉลิมฉลองงานสมโภชกรุงรัตนโกสินทร์ 200 ปี จึงนำภาพเหตุการณ์หรือเรื่องราวที่สำคัญ ๆ นับแต่แรกสถาปนากรุงเทพมหานครเป็นเมืองหลวง และการเปลี่ยนแปลงการปกครองเป็นระบอบประชาธิปไตยมาเป็นภาพประธานด้านหลัง มี 2 ชนิดราคา ได้แก่ 50 บาท และ 500 บาท ทยอยออกใช้ตั้งแต่วันที่ 30 ส.ค.2528
ธนบัตรแบบที่ 14 มีจุดมุ่งหมายเพื่อเผยแพร่พระราชกรณียกิจของพระมหากษัตริย์แห่งพระราชวงศ์จักรี ที่ทรงพัฒนาประเทศในด้านต่าง ๆ มี 3 ชนิดราคา ได้แก่ 100 บาท 500 บาท และ 1,000 บาท ทยอยออกใช้ตั้งแต่วันที่ 30 มิ.ย.2535
ธนบัตรแบบที่ 15 ธนบัตรแบบนี้ยังคงมีจุดมุ่งหมายเพื่อเผยแพร่พระราชกรณียกิจของพระมหากษัตริย์แห่งพระราชวงศ์จักรีที่ทรงพัฒนาประเทศในด้านต่างๆ และเป็นแบบที่เริ่มปรับขนาดความกว้างของธนบัตรให้เท่ากันทุกชนิดราคา เพื่อความสะดวกในการพกพา มี 5 ชนิดราคา ได้แก่ 20 บาท 50 บาท 100 บาท 500 บาท และ 1,000 บาท ทยอยออกใช้ตั้งแต่วันที่ 12 ก.พ.2546
ธนบัตรแบบที่ 16 ธนบัตรแบบนี้ มีจุดมุ่งหมายเพื่อเฉลิมพระเกียรติพระมหากษัตริย์ไทย ตั้งแต่สมัยสุโขทัย อยุธยา ธนบุรี และรัตนโกสินทร์ ที่ทรงบำเพ็ญพระราชกรณียกิจอันเป็นคุณูปการแก่ประเทศชาติ มี 5 ชนิดราคา คือ 20 บาท 50 บาท 100 บาท 500 บาท และ 1,000 บาท ทยอยออกใช้ตั้งแต่วันที่ 2 พ.ย.2555.