xs
xsm
sm
md
lg

รู้ตื่นเบิกบาน

เผยแพร่:   โดย: ไพรัตน์ แย้มโกสุม

โดย...ไพรัตน์ แย้มโกสุม

ท่านเนห์รู ปราชญ์ผู้ยิ่งใหญ่ของอินเดียและของโลก ได้กล่าวเกี่ยวกับคุณค่า และความสำคัญของประวัติศาสตร์ไว้ว่า...

“ศึกษาอดีต เพื่อรู้ปัจจุบัน
เข้าใจปัจจุบันเพื่อหยั่งการณ์อนาคต”

จากคำกล่าวของท่านเนห์รู จึงเห็นว่า ประวัติศาสตร์มิใช่เป็นเพียงอดีต หากแต่เป็นทั้งอดีต ปัจจุบัน และอนาคต เมื่อหลอมรวมเป็นหนึ่งเดียว นั่นแหละคือประวัติศาสตร์

จำได้ว่าเมื่อ พ.ศ. 2519 มีพระเถระ 2 รูปเป็นพระฝ่ายวิปัสสนากรรมฐานจากทางอีสานเหนือ แวะไปกราบนมัสการหลวงปู่ แล้วสนทนาธรรมเรื่องการปฏิบัติ เป็นที่เกิดศรัทธาปสาทะ และดื่มด่ำในรสพระธรรมอย่างยิ่ง ท่านเหล่านั้นกล่าวย้อนถึงคุณงามความดี ตลอดถึงภูมิธรรมของครูบาอาจารย์ ที่ตนเคยพำนักศึกษาปฏิบัติมาด้วยเป็นเวลานานว่า หลวงปู่องค์โน้นมีวิหารธรรม คืออยู่กับสมาธิตลอดเวลา อาจารย์องค์นี้อยู่กับพรหมวิหารเป็นปกติ คนจึงนับถือท่านมาก หลวงปู่องค์นั้นอยู่กับอัปปมัญญาพรหมวิหาร ลูกศิษย์ของท่านจึงมากมายทั่วสารทิศ ไม่มีประมาณ ดังนี้เป็นต้น ท่านจึงมีแต่ความปลอดภัย ไม่มีอันตรายตลอดมา

หลวงปู่ ว่า...

เออ ท่านองค์ไหน มีภูมิธรรมแค่ไหน ก็อยู่กับภูมิธรรมนั้นเถอะ เราอยู่กับ “รู้”

ครั้นเมื่อพระเถระทั้ง 2 รูปได้ฟังคำพูดของหลวงปู่ว่า หลวงปู่ท่านอยู่กับรู้ ต่างรูปก็นิ่งสงบชั่วระยะหนึ่ง แล้วก็เรียนถามหลวงปู่ต่อไปว่า อาการที่ว่าอยู่กับรู้ มีลักษณะเป็นอย่างไร

หลวงปู่ ตอบอธิบายว่า...

“รู้ (อัญญา) เป็นปกติจิตที่ว่าง สว่าง บริสุทธิ์ หยุดการปรุงแต่ง หยุดการแสวงหา หยุดกิริยาของจิต ไม่มีอะไรเลย ไม่ยึดถืออะไรสักอย่าง”

(อตุโล หลวงปู่ฝากไว้, คำสอนหลวงปู่ดูลย์ อตุโล)

ท่าน Osho กล่าวไว้ (ใน Intuition) ว่า...

“การรู้” คือการนิ่งเงียบ เงียบสนิท จนท่านได้ยินเสียงความเงียบเป็นเสียงเบาๆ จากภายใน

“การรู้” คือการสลัดทิ้งความคิดทั้งหลาย

เมื่อท่านสงบนิ่ง ไม่ไหวติง ไม่มีสิ่งที่กวัดแกว่งอยู่ภายใน ทันใดนั้น ประตูก็จะเปิด

ท่านจะเป็นส่วนหนึ่งของความลึกลับที่บังเกิด

ท่านจะรู้ได้โดยการกลายเป็นส่วนหนึ่งของมัน

ท่านได้มีส่วนร่วมอยู่ในนั้น

และนั่นก็คือ “การรู้”

รู้ตื่นเบิกบาน

“พุทธะ” หรือ “พระพุทธเจ้า” แปลว่า “ผู้รู้ ผู้ตื่น ผู้เบิกบาน”

คำว่า “รู้” เป็นคำธรรมดาที่ไม่ธรรมดา

เพราะมันสื่อความหมายได้ทั้งโลกียะ และโลกุตระ, สังขารและวิสังขาร, สมมติและหลุดพ้น, หลับยืนและตื่นรู้ ฯลฯ

หลวงปู่ตื้อ อจลธมฺโม กล่าวว่า... “พุทธะ คือผู้รู้ ก็ตัวเรานี้เอง เปรียบได้กับไข่อยู่ข้างในเปลือก ทำให้เปลือกไข่แตก เราก็ได้ไข่...พิจารณาร่างกายเราให้แตก แล้วเราจะได้ธรรมะ”

ฟังคำสอนของหลวงปู่ตื้อ อจลธมฺโม อีกสักนิด ตั้งจิตให้มั่น เดี๋ยวจะตกใจ ถ้าใจไม่ถึงพอ ท่านว่า

“หญิงชาย จิตวิญญาณเท่ากัน มรรคผลไม่จำกัดเพศหญิงชาย ตั้งอยู่ในธรรมคำสอนของเราแล้ว ศาสนธรรมคำสอนของเราก็เจริญ เต็มไปด้วยพระโสดา ไม่เลือกผู้หญิงผู้ชาย เต็มไปด้วยพระสกิทาคา ไม่เลือกผู้หญิงผู้ชาย เต็มไปด้วยพระอนาคา เต็มไปด้วยพระอรหันต์ จิตวิญญาณเท่ากั้นทั้งนั้น แม้โยมทั้งหลาย ทานบารมีก็ไม่ทำเลย ศีลบารมี ศีล 5 ศีล 8 ก็ไม่เอา ธรรมคำสั่งสอนของเราก็สูญหมด หายหมด ไม่เป็นประโยชน์แก่มนุษย์”

ฟังคำสอนของหลวงปู่ตื้อ อจลธมฺโม (ธรรมที่ไม่หวั่นไหว) แล้วอาจจะใจเสีย

ถ้าเรามีความรู้ระดับญาณบ้าง ใจชื้นเป็นปกติขึ้นมาเป็นกอง

พระพรหมคุณาภรณ์ ป.อ.ปยุตฺโต ท่านกล่าว (ในพจนานุกรมพุทธศาสตร์ ฉบับประมวลธรรม) ว่า...

ญาณ คือความหยั่งรู้ หรือปรีชาหยั่งรู้มี 3 อย่าง

1. อตีตตังสญาณ คือญาณหยั่งรู้ส่วนอดีต รู้อดีต และสาวหาเหตุปัจจัยอันต่อเนื่องมาได้

2. อนาคตังสญาณ คือญาณหยั่งรู้ส่วนอนาคต รู้อนาคต หยั่งผลที่จะเกิดสืบต่อไปได้

3. ปัจจุปปันนังสญาณ คือญาณหยั่งรู้ส่วนปัจจุบัน รู้ปัจจุบัน กำหนดได้ถึงองค์ประกอบและเหตุปัจจัยของเรื่องที่เป็นไปอยู่

ใครมีญาณ 3 อย่างนี้ แม้จะเป็นคนธรรมดา แต่ก็ไม่ธรรมดาอย่างแน่นอน

ลองดูญาณ 3 อย่างสักอีกเวอร์ชัน นั่นคือ...

1. สัจจญาณ (หยั่งรู้สัจจะ) คือหยั่งรู้อริยสัจ 4 แต่ละอย่างตามที่เป็นๆ ว่านี้ทุกข์ นี้สมุทัย นี้นิโรธ นี้มรรค

2. กิจจญาณ (หยั่งรู้กิจ) คือความหยั่งรู้กิจอันจะต้องทำในอริยสัจ 4 แต่ละอย่างว่า ทุกข์ควรกำหนดรู้ สมุทัยควรละ นิโรธควรทำให้แจ้ง มรรคควรเจริญ

3. กตญาณ (หยั่งรู้การอันทำแล้ว) คือความหยั่งรู้ว่า กิจอันจะต้องทำในอริยสัจ 4 แต่ละอย่างนั้น ได้ทำเสร็จแล้ว

ใครมีญาณ 3 อย่างนี้จนครบบริบูรณ์เพิ่มขึ้นอีก นอกจากจะไม่ธรรมดาแล้ว ยังรู้แจ้ง หรือซาโตริอีกด้วย

คนเราทุกวันนี้ส่วนมากยังหลับใหลกันอยู่ แม้จะลืมตาตื่นจากหลับทำงานตามปกติ ก็เหมือนละเมอเพ้อฝันไปวันๆ

ผม (ผู้เขียน) เรียกอาการดังกล่าวว่า “หลับยืน” และเรียกอาการตรงกันข้ามกับหลับยืนว่า “ตื่นรู้”

“หลับยืน-ตื่นรู้” เป็นสองด้านของชีวิต เหมือนสองด้านของเหรียญอันเดียวกัน

“รู้ตื่นเบิกบาน” เป็นอาการหรือมิติของ “ตื่นรู้”

คนเรามี 3 ระดับคือ...

1. เห็นสรรพสิ่ง เป็นสรรพสิ่ง

2. เห็นสรรพสิ่ง ไม่เป็นสรรพสิ่ง

3. เห็นสรรพสิ่ง เป็นสรรพสิ่ง

ข้อ 3 และข้อ 1 เหมือนกัน แต่ไม่เหมือนกัน เพราะข้อ 1 เห็นแล้วยึดมั่นถือมั่น ส่วนข้อ 3 เห็นแล้วไม่ยึดมั่นถือมั่น ตรงกับตื่นรู้ ส่วนข้อ 2 อยู่ระหว่างเปลี่ยนผ่าน คือเลิกละข้อ 1 และเจริญข้อ 3

กล่าวมาเสียมากมาย ยุ่งยากจัง เอาสั้นๆ ง่ายๆ สไตล์ไพรัตน์ ก็น่าจะลองดู...

“สิ่งทั้งหลายล้วนว่างเปล่า” เพราะ “สิ่งทั้งมวลล้วนสมมติ”

สูตรนี้ถ้าตีแตก หรือตอบโจทย์ได้ รับรองว่า... “รู้ตื่นเบิกบาน” แน่นอน

ขับขานเพลงใส

ใครๆ ก็ปรารถนาให้ชีวิตของตนเจริญงอกงาม พัฒนายิ่งๆ ขึ้นไป

การร้องรำทำเพลง ทำให้ร่าเริงแจ่มใส ทำให้ชีวิตมีความสุขความเจริญ

ท่าน Osho กูรูตื่นรู้ กล่าวว่า...เซนไม่ใช่ปรัชญา หากแต่ว่าเป็นบทกวี ไม่ใช่สิ่งที่เรียกร้อง หากแต่เป็นการเชื้อเชิญ ไม่ใช่การถกเถียง หากแต่เป็นการขับร้องไปตามท่วงทำนอง เป็นความสุนทรีย์ที่เข้าไปถึงแก่นแท้ ไม่ใช่การเป็นผู้ถือสันโดษ ไม่ต้องใช้ความอหังการ หรือความก้าวร้าวเพื่อให้เข้าถึงความจริงแท้ หากแต่เป็นไปตรงกันข้าม คือเชื่อมั่นในความรัก เชื่อว่า ถ้าเราเชื่อและศรัทธาในความรักแล้ว สภาวะแห่งความเจริญแท้จะเผยความลับของมันออกมาให้เราเห็นเอง เซนเป็นการมีส่วนร่วมในการสร้างความรู้ตัวทั่วพร้อม เป็นบทกวีอันบริสุทธิ์ เป็นศาสนาที่มีความบริสุทธิ์อย่างแท้จริง

ปรัชญานั้นมักจะใช้หัวสมองเป็นหลัก ด้วยเหตุนี้บทกวี จึงเป็นสิ่งที่เติมเต็มกว่า บทกวีเป็นสิ่งที่ลื่นไหล บทกวีให้ความสำคัญกับความงดงาม ในความงดงามนั้น ไม่มีความรุนแรง ความงดงามคือความรัก ความรักคือเมตตา ผู้ที่เป็นนักแสวงหาชาวเซนจะมองเห็นความงดงามในความจริงแท้ แม้แต่เสียงเพลงที่ขับขานโดยเหล่านกกา เสียงของต้นไม้ใบหญ้า ภาพการเริงระบำของนกยูง ภาพก้อนเมฆบนท้องฟ้า หรือสายฟ้าแลบ หรือแม้แต่ในท้องทะเล ในทะเลทราย พวกเขาจะเห็นความงดงามในสิ่งทั้งหลาย

(เซน : เส้นทางแห่งความขัดแย้ง, OSHO บรรยาย, วรสิทธิ์ ลีลาบูรณพงศ์ แปล, ดร.ประพนธ์ ผาสุขยืด เรียบเรียง, สนพ.พีเค การพิมพ์)

ท่าน Osho ยังกล่าวต่อไปอีกว่า...การเติบโตทางจิตวิญญาณก็คือ การได้สัมผัสกับท้องฟ้าที่อยู่ภายในตัวท่าน เมื่อท่านได้เข้าถึงท้องฟ้าภายในตัวท่าน มันเท่ากับว่า ท่านได้พบกับบ้านของท่านแล้ว และการเจริญพัฒนาได้เกิดขึ้น ในการกระทำของท่าน ในพฤติกรรมของท่าน สิ่งที่ท่านทำจะมีแต่ความงามสง่า จะออกมาเป็นบทกลอน ท่านจะมีชีวิตอยู่ในโคลงกลอน การเดินทางของท่านกลับกลายเป็นการเต้นรำ ความเงียบของท่านกลายเป็นเสียงดนตรี

การเจริญพัฒนา หมายความว่า ท่านได้มาถึงบ้านแล้ว ท่านไม่ใช่เด็กที่ต้องเติบโตอีกต่อไป ท่านได้เจริญพัฒนาเต็มที่แล้ว ท่านได้ไปถึงจุดสูงของศักยภาพของท่าน มันจะเป็นครั้งแรกที่รู้สึกว่า ท่านไม่ได้อยู่ในความคิด ไม่ได้อยู่ในจินตนาการเก่าๆ ของท่าน หรือในความเข้าใจตัวเองแบบเดิมๆ อีกต่อไป

สิ่งต่างๆ ทั้งหมดนั้น ได้ไหลลงท่อระบายน้ำไปแล้ว ตอนนี้สิ่งใหม่ๆ กำลังเกิดขึ้นภายในตัวท่าน มันใหม่และบริสุทธิ์อย่างแท้จริง มันจะเปลี่ยนแปลงชีวิตของท่านไปสู่ความสุขหรรษา ท่านจะกลายเป็นคนแปลกหน้าในโลกที่ทุกข์ทรมาน ท่านไม่สร้างความทุกข์ยากให้กับตัวท่านหรือกับคนอื่นๆ ท่านจะมีชีวิตอิสระเต็มที่ ไม่มีความกังวลวิตกใดๆ ว่าใครจะพูดอะไรเกี่ยวกับท่าน

(วุฒิภาวะ : ศิลปะของผู้ถึงพร้อม, Osho บรรยาย, ดร.ประพนธ์ ผาสุขยืด แปล, สนพ. Mind Publishing)

ทุกสิ่งเป็นไป

อิทัปปัจจยตา หรือปฏิจจสมุปบาท คือการที่สิ่งทั้งหลายอาศัยกัน จึงเกิดมีขึ้น เช่น...

อวิชฺชาปจฺจยา สงฺขารา เพราะอวิชชาเป็นปัจจัย สังขารจึงมี

สงฺขารปจฺจยา วิญญาณํ เพราะสังขารเป็นปัจจัย วิญญาณจึงมี เป็นต้น

เพราะสิ่งนี้มี สิ่งนี้จึงมี เช่น เพราะมีอวิชชา จึงมีสังขาร

เพราะสิ่งนี้ดับ สิ่งนี้จึงดับ เช่น อวิชชาดับ สังขารจึงดับ

เพราะมีเกิด จึงมีตาย

เพราะไม่มีเกิด จึงไม่มีตาย

ดังนั้น...ถ้าไม่อยากตาย ก็จงอย่าเกิด

อวิชชา คือความไม่รู้ สังขาร คือความคิดปรุงแต่ง

เพราะความไม่รู้ จึงทำให้เกิดความคิดปรุงแต่ง

วิชชา คือความรู้แจ้ง หรือความรู้วิเศษ

ดังนั้น...ที่เราคิดปรุงแต่งกันอยู่เนี่ย มีเหตุมาจากอวิชชา ความไม่รู้ทั้งนั้น

ท่านผู้รู้จึงบอกว่า...หยุดความคิดปรุงแต่ง แล้ววิชชา หรือปัญญาญาณ ก็จะเกิดขึ้น

ดังนั้น...ทุกสิ่งที่เป็นไป จึงเป็นไปได้ทั้งโลกียธรรม (ธรรมอันเป็นวิสัยของโลก) และโลกุตรธรรม (ธรรมอันพ้นจากวิสัยโลก หมดสิ้นกิเลสตัณหาทั้งปวง) ตามใจบัญชา หรือใจสั่งมา

ตามใจบัญชา

มโนปุพฺพงฺคมา ธมฺมา ธรรมทั้งหลาย มีใจนำหน้า

เมื่อใจเศร้าหมองแล้ว ทุคติเป็นอันต้องหวัง และเมื่อจิตไม่เศร้าหมอง สุคติก็เป็นอันหวังได้

ดังนั้น ผู้มีปัญญาทั้งหลาย จึงนิยมรักษาจิต ดูจิตเสมอว่า เศร้าหมอง หรือผ่องใสว่ะ อย่างนี้เรียกว่ารู้ทันจิต ดูมันเฉยๆ เดี๋ยวมันก็หายไปเอง

จิตเศร้าหมองเหมือนขโมย เมื่อเจ้าของบ้านเห็น มันก็หลบหายไป มันคงอายมั้ง

จิตเศร้าหมองเหมือนเมฆหมอก บดบังรัศมีแห่งตะวัน ไม่นานมันก็เคลื่อนย้ายหายไป

ตะวันไม่เคยหมดแสง ฉายฉานตลอดเวลา เหมือนใจส่วนลึกของคนเรา ประภัสสร ส่องแสงอยู่อย่างนั้น ไม่เคยดับสูญ เพียงแต่มีอวิชชามาบดบังให้อ่อนแสงเท่านั้นเอง

เมื่อใจเป็นใหญ่ ใจเป็นผู้นำ จึงสั่งหรือบัญชาให้เราทำไปต่างๆ นานา ตามที่ใจคิด

ใจคิด ใจสั่ง แบบโลกียะ เราก็ทำแบบโลกียะ

ใจคิด ใจสั่ง แบบโลกุตระ เราก็ทำแบบโลกุตระ

ใจคิดใจสั่งแบบโลกุตระนั้น หมดปัญหาแล้ว รู้แจ้งแทงตลอดแล้ว ยกไว้เป็นเลิศทรัพย์เฉพาะตน

ส่วนใจคิดใจสั่งแบบโลกียะ นี่คือปัญหาที่เราจะต้องแก้ปัญหา ให้มันลดน้อยลง ด้วยการทำประพฤติปฏิบัติ...

เลิกละบาปหรือความชั่วทั้งปวง กฎหมายต้องเป็นกฎหมาย ใครทำผิดต้องถูกลงโทษ ไม่มีข้อยกเว้นใดๆ กับใครๆ คนชั่วจะได้กลัวและหลาบจำ

ส่งเสริมให้คนทำความดียิ่งๆ ขึ้นไป และเอาคนดีจริงมาบริหารบ้านเมือง ให้คนดีมีอำนาจคอยควบคุมคนไม่ดี ไม่ให้สร้างความเดือดร้อนวุ่นวายได้

เพียงแค่นี้ สังคมบ้านเมืองก็จะอยู่ได้ เดินไปได้อย่างมีความสุขและศานติ

ใจคิดดี เราก็ทำดี ใจคิดชั่ว เราก็ทำชั่ว ตามใจบัญชา หรือใจสั่งมานั่นเอง จึงไม่ใช่เรื่องยากที่จะดูใจคน ก็ดูจากผล-การกระทำของเรานั่นแล

“รู้ตื่นเบิกบาน
ขับขานเพลงใส
ทุกสิ่งเป็นไป
ตามใจบัญชา”

“รู้ตื่น” หรือ “ตื่นรู้” เป็นเหตุ... “เบิกบาน” เป็นผล

คำว่า “ตื่นรู้” ทุกวันนี้ใช้กันมากทุกระดับ ตั้งแต่ต่ำ-กลาง-สูง ก็ไม่ผิดอะไร เพราะทุกสิ่งทุกอย่างล้วนเป็น “ดั่งกันและกัน” หรือเป็น “หนึ่งเดียวกัน” นั่นคือสัจจะแท้

เชาวน์ปัญญาที่มาจากใจ ทำให้เกิดบทกวีในชีวิตของเรา มันสร้างท่วงทำนองของการเต้นรำในทุกย่างก้าวของเรา มันทำให้ชีวิตของเราเบิกบาน มันเป็นการเฉลิมฉลอง เป็นงานรื่นเริงที่มีแต่เสียงหัวเราะ มันทำให้เรามีอารมณ์ขัน มันทำให้เราพร้อมที่จะรักและแบ่งปัน นั่นคือชีวิตที่แท้จริง

เสียงบทเพลง บทกวี ดนตรีกาล
ที่ขับขาน จากภายใน ใจส่วนลึก
ชีวิตจริง ขณะนี้ คือรู้สึก
ไร้คิดนึก จิตว่าง สว่างพลัน

ดินน้ำฟ้า คือรากเหง้า ของเราเอง
มาบรรเลง เพลงรัก ให้สุขสันต์
ปัจจุบัน ขณะนี้ เบิกบานกัน
ร่วมสร้างสรรค์ ความเป็นหนึ่ง ให้ถึงใจ
กำลังโหลดความคิดเห็น