xs
xsm
sm
md
lg

วัฒนธรรม

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ไพรัตน์ แย้มโกสุม

โดย...ไพรัตน์ แย้มโกสุม

คำว่า “ตลาด” หมายถึงแหล่งซื้อขาย โดยปริยายหมายถึงของที่หาซื้อง่ายของพื้นๆ ที่ราคาไม่สูง

ปัจจุบันเรากำลังจะทำของมีค่าราคาสูงๆ ให้กลายเป็นของถูกๆ ของโหลๆ โฆษณามากมายใหญ่โต แต่ด้อยคุณภาพ

อย่างเช่น “โขน” อันเป็นศิลปวัฒนธรรมขั้นเทพ เราก็ลดระดับเอามาทำแบบตลาด เพื่อเพิ่มปริมาณการท่องเที่ยวและเงินตรา

มันอาจจะใช่สำหรับการตลาดในยุคหาเงินใช้หนี้ หาไม่คล่องก็เอาเงินทองอนาคตมาใช้ไปก่อน

มันอาจจะใช่ และดังระเบิดเถิดเทิง แต่มันก็แค่ไฟไหม้ฟาง ดังชั่วพักแล้วก็ดับไป

ในที่สุด สังคมที่เคยมีรากก็กลายเป็นสังคมไร้ราก
ตัวแทนมูลนิธิพัฒนาจังหวัดมหาสารคาม มอบเครื่องปริ้นซ์ให้วัฒนธรรมอำเภอพยัคฆภูมิพิสัย เมื่อวันที่ 26 กันยายน 2559 การช่วยเหลือกันเป็นอีกวัฒนธรรมหนึ่งของสังคมไทย
วัฒนธรรม

วัฒนธรรม คือลักษณะที่แสดงความเจริญงอกงาม ความเป็นระเบียบ ความกลมเกลียวก้าวหน้าของชาติ และศีลธรรมอันดีงามของประชาชน

วัฒนธรรม เป็นส่วนทั้งหมดที่ซับซ้อน ประกอบด้วยความเชื่อ ศิลปะ ศีลธรรม ความหมาย ประเพณี และความสามารถอื่นๆ ที่มนุษย์ได้มาในฐานะเป็นสมาชิกของสังคม

วัฒนธรรม จึงหมายถึงการปลูกฝังสิ่งต่างๆ ทั้งในทางวัตถุ และทางสติปัญญาแก่มนุษย์ในสังคม เมื่อปลูกฝังแล้วก็ได้มีการถ่ายทอดสิ่งที่ปลูกฝังไว้นั้น ระหว่างสังคมหนึ่งกับสังคมยุคต่อไป

นี่คือนิยามของวัฒนธรรม ซึ่งออกจะเป็นวิชาการไปหน่อย แต่ก็เป็นกรอบเป็นหลักอันดีในการยึดถือ เพื่อความอยู่ดีมีสุขในสังคม

วัฒนธรรมไทยเกิดจากปัจจัยหลายอย่างเช่น...

- สภาพแวดล้อมทางภูมิศาสตร์ การที่คนไทยมีประเพณีลอยกระทงในคืนวันเพ็ญเดือน 12 เพื่อขอขมาและขอพรจากแม่คงคา เพราะได้อาศัยน้ำกินน้ำใช้ ก็สืบเนื่องมาจากสภาพภูมิศาสตร์ของสังคมไทย เป็นที่ราบลุ่มและอุดมสมบูรณ์ด้วยแม่น้ำลำคลอง

- อาชีพเกษตรกรรม สังคมไทยเป็นสังคมเกษตรกรรม คนส่วนใหญ่ประกอบอาชีพเกษตรกรรมประมาณ 80% การประกอบอาชีพเกษตรกรรมทำให้เป็นที่มาของวัฒนธรรมไทยหลายประการ เช่น ประเพณีขอฝน ประเพณีลงแขกเกี่ยวข้าว การเต้นกำรำเคียว เป็นต้น

- ค่านิยม เช่น ค่านิยมในทางความรักอิสรภาพ เสรีภาพ ทำให้วิถีชีวิตคนไทยโดยส่วนรวมมีเอกลักษณ์ ซึ่งแสดงออกถึงอิสรภาพ เสรีภาพ

- การเผยแพร่วัฒนธรรม วัฒนธรรมของสังคมอื่นที่เคยแพร่เข้ามาในสังคมไทย คือวัฒนธรรมตะวันออกได้แก่ วัฒนธรรมอินเดีย โดยได้เผยแพร่เข้ามาพร้อมกับศาสนาพราหมณ์ และศาสนาพุทธ วัฒนธรรมตะวันตกได้หลั่งไหลเข้ามาในสังคมไทย อันเป็นผลสืบเนื่องมาจากความสะดวกรวดเร็วของการติดต่อสื่อสาร คมนาคม และสื่อมวลชน

นี่คือส่วนหนึ่งของปัจจัยหลักๆ ที่สังคมไทยต้องตระหนักรู้ ว่าจะอยู่กับมันต่อไปหรือจะละทิ้งมันไป

ศีลธรรมเจริญ

ผู้เขียนให้ความหมายของวัฒนธรรมง่ายๆ ว่า...วัฒนธรรมคือธรรมที่เจริญ หรือสิ่งต่างๆ ที่เจริญงอกงาม หรือสิ่งที่คนคิดคนทำ แล้วสันตติ-สืบทอดกันมานั่นเอง
คนเรามักมองธรรมในความหมายแคบๆ ว่า สิ่งดีงาม หรือคำสอนในพุทธศาสนา หรือเป็นสิ่งที่อยู่ตรงกันข้ามกับอธรรม

ใจควรจะเปิดกว้างกว่านั้นว่า...ธรรมคือสิ่งต่างๆ หรือ “สิ่งทั้งมวลล้วนเป็นธรรม” ก็จะไม่ติดกับดักของคำว่า “ธรรม”

กุสะลา ธัมมา-ธรรมที่เป็นกุศลก็มี อะกุสะลา ธัมมา-ธรรมที่เป็นอกุศลก็มี อัพยากะตา ธัมมา-ธรรมไม่เป็นทั้งกุศลและอกุศลก็มี

ธรรมที่เจริญเป็นเช่นไร?

หนังสือ “คู่มือพุทธบริษัทฉบับสมบูรณ์” ของสวนโมกขพลาราม มนต์พิธีแปลข้อ 9 ปราภวสุตตปาฐะ กล่าวไว้ชัดเจนว่า...

ผู้รู้ดีเป็นผู้เจริญ, ผู้รู้ชั่วเป็นผู้เสื่อม, ผู้ใคร่ธรรมเป็นผู้เจริญ, ผู้เกลียดชังธรรมเป็นผู้เสื่อม

ผู้ใดทำความรักในคนพาล ไม่ทำความรักในบัณฑิต เขาชอบใจธรรมของคนพาล ข้อนั้นเป็นทางแห่งความเสื่อม

ผู้ใดเป็นผู้ชอบนอนหลับ ชอบพูดคุย ไม่ขยัน มักเกียจคร้านการงาน และเป็นคนมักโกรธ ข้อนั้นเป็นทางแห่งความเสื่อม

ผู้ใดมีความสามารถอยู่ ไม่เลี้ยงดูบิดามารดา ผู้แก่เฒ่าชราแล้ว ข้อนั้นเป็นทางแห่งความเสื่อม

.....ฯลฯ.....

ผู้เป็นบัณฑิตสมบูรณ์ด้วยความเห็นอันประเสริฐ ได้เห็นเหตุแห่งความเสื่อมทั้งหลายเหล่านั้นชัดแล้ว ท่านย่อมเว้นสิ่งเหล่านี้เสีย เมื่อเป็นเช่นนี้ ท่านจึงพบและเสพแต่โลกซึ่งมีแต่ความเจริญฝ่ายเดียว

อิติด้วยประการฉะนี้แล

พอดีมิเกิน

คำว่า “พอ” หรือ “พอดี” หรือ “พอเพียง” เป็นคำสั้นๆ แต่ทันสมัย เพราะรู้เท่าทันสิ่งทั้งปวง

รากเหง้าของ “พอ” มาจาก “สันโดษ” คือความยินดี หรือความพอใจในของตน ซึ่งได้มาด้วยเรี่ยวแรงความเพียรโดยชอบธรรม ยินดีด้วยปัจจัย 4 ตามมีตามได้ และความรู้จักอิ่มรู้จักพอ

พระพุทธเจ้าทรงสอนเรื่องสันโดษ ในขณะเดียวกันพระองค์ก็สอนอุปัญญาตธรรม คือธรรมที่พระพุทธเจ้าได้ทรงปฏิบัติ เห็นคุณประจักษ์กับพระองค์ คือพระองค์ได้ทรงอาศัยธรรม 2 อย่างนี้ ดำเนินอริยมรรคาจนบรรลุจุดหมายสูงสุด คือสัมโพธิญาณ

ธรรม 2 อย่างนั้นได้แก่...

1. อสนฺตุฏฺฐิตา กุสเลสุ ธมฺเมสุ-ความไม่สันโดษในกุศลธรรม, ความไม่รู้อิ่มไม่รู้พอในการสร้างความดี และสิ่งที่ดี

2. อปฺปฏิวาณิตา ปธานสุมํ-ความไม่ระย่อในการพากเพียร, การเพียรพยายามก้าวหน้าเรื่อยไป ไม่ยอมถอยหลัง

...(พระพรหมคุณาภรณ์-ป.อ.ปยุตฺโต, พจนนานุกรมพุทธศาสตร์ ฉบับประมวลธรรม)

พระพุทธเจ้าทรงสอนสันโดษ แต่อย่าสันโดษ ช่างลึกซึ้งแลงดงามยิ่งนัก
บรรดา ส.ว.ทั้งหลายที่ขึ้นต้นด้วยเลข 6 เลข 7 เลข 8 แม้เกษียณอายุราชการ แต่ชีวิตจริงไม่ยอมเกษียณ ไม่เลิกทำในสิ่งที่เคยทำ ยังทำหน้าที่บางสิ่งบางอย่างอยู่

อย่างนี้ไม่เกินไปหรือ?

ไม่เกินไปหรอกจ้า

เพียงแต่เป็น “พอดีมิเกิน” เช่นนั้นเอง 555.....

มิเมินรากเหง้า

ผู้เขียนมีเพื่อนเฟซเพื่อนไลน์หลายคน เพื่อนๆ มักชวนนั่งรถเล่นดูวัดวาอาราม ดูถนนหนทาง ดูไร่ดูนาในหมู่บ้านต่างๆ ทุกวันนี้ไปมาสะดวก ถนนลาดยาง เทคอนกรีตทุกซอกมุม นับว่าบ้านเมืองของเรามีความเจริญด้านวัตถุมากๆ ซึ่งเป็นความงอกงามแห่งวัฒนธรรมอย่างหนึ่ง

วันหนึ่งแล่นตามถนนยางสีสุราช-นาโพธิ์ เจอถนนโรยหินดินแดงไปหมู่บ้านแห่งหนึ่ง อเมซิ่งมากมาย ถนนโบราณอย่างนี้เขาอนุรักษ์ไว้ หรือเขามองไม่เห็น อยากรู้ต้องพิสูจน์
ถนนไปบ้านศาลาโรยหินดินแดง หน้าแล้งเป็นถนนลาดฝุ่น หน้าฝนเป็นถนนลาดโคลน (วัฒนธรรมเก่า) อยากได้ถนนลาดยาง (วัฒนธรรมใหม่) อย่างบ้านอื่นบ้าง วอนผู้มีอำนาจเมตตา
มีป้ายบอกว่า ไปบ้านศาลาไปได้ประมาณ 1 กม. รถติดหล่มกว่าจะขึ้นได้ก็สุดวิบาก โชคดีชาวบ้านมาช่วย ขอบคุณครับ พอถึงหมู่บ้านสอบถามชาวบ้านได้ความว่า...

ทางแยกถนนลาดยางมาถึงบ้านศาลาประมาณ 2 กม. และจากบ้านศาลาไปบ้านดู่ประมาณ 3 กม. จากบ้านดู่ลาดยางไปถึงอ.นาโพธิ์

บ้านศาลามีประมาณ 100 ครัวเรือน อาชีพหลักเกษตรกรรม มีไร่นาสวนผสมประเภท “โคกหนองนาไท” ที่ลือชื่อ มีผู้คนมาเที่ยวชมมากมาย ไม่เว้นท่านผู้ว่าฯ นายก อบจ. และบุคคลสำคัญอื่นๆ

แต่ก็แปลก ท่านมองไม่เห็นถนนวิบากคลุกหินดินแดง เป็นหลุมเป็นบ่อสายนั้น

บ้านศาลาสังกัด อบต.นาภู อ.ยางสีสุราช จ.มหาสารคาม ถามว่า ทำไม อบต.ไม่จัดการแก้ปัญหาทำถนนลาดยางเสียที อบต.ตอบว่า ถนนสายนี้อยู่ในความรับผิดชอบของหน่วยงานอื่น

ผู้เขียนมีโอกาสพูดคุยกับผู้ใหญ่ท่านหนึ่ง เคยมีอำนาจในระดับสูงๆ ท่านบอกว่า ที่ผู้ว่าฯ หรือหน่วยงานที่รับผิดชอบไม่ทำ เพราะชาวบ้านไม่ขอ ต้องขอก่อนจึงจะทำประมาณนั้น

ชาวบ้านบอกว่า ขอมาจนเบื่อที่จะขอแล้ว หรือขอนั้นไม่ถึงผู้ใหญ่ที่รับผิดชอบก็เป็นได้

ผู้เขียนถือโอกาสนี้ขอเลย บอกเลย ถึงท่านผู้ว่าฯ มหาสารคาม ถึงท่านรัฐมนตรี ถึงท่านนายกรัฐมนตรี พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ช่วยทำถนนลาดยางยาว 2 กม.ให้ชาวบ้านศาลา ต.นาภู อ.ยางสีสุราช จ.มหาสารคาม หน่อยเถอะ

เพราะยังไงๆ พวกเขาก็คือ รากเหง้าเหล่ากอของเราอยู่ดี

เขาคือเกษตรกรชาวไร่ชาวนา ซึ่งเป็นกระดูกสันหลังของชาติ เขาคือแหล่งวัฒนธรรม ทำให้เขาเจริญงอกงามไปมาสะดวกเหมือนหมู่บ้านอื่นๆ บ้างเถอะ

การทำถนนลาดโคลนให้เป็นถนนลาดยาง ไม่เป็นความเสื่อมอย่างแน่นอน หากแต่เป็นความเจริญที่มีดอกไม้มอบให้และเสียงปรบมือกึกก้องจากประชาชน

ผู้นำทั้งหลายอย่าบ่นเลย อะไรๆ ก็มาถึงฉัน ฉันต้องสั่งทุกเรื่อง งานจึงจะเวิร์ก ทำไมไม่คิดทำเองบ้าง

ข้าราชการทั้งหลาย ถ้านายไม่สั่ง ลูกน้องที่ไหนจะกล้าทำ!

นี่ก็คือวัฒนธรรมเก่าแก่อันหนึ่ง ที่ยากจะแก้ไข เพราะมันฝังรากลึกเสียแล้ว

ปฏิรูปก็แก้ไขได้บ้าง แต่ไม่จบ นอกจากจะปฏิวัติ จบแน่ แต่เราก็ไม่ชอบมิใช่หรือ? เราชอบอยู่อย่างไทยๆ เพราะมันเป็นวัฒนธรรมแบบไทยๆ อะไรๆ ก็สไตล์ไทย?!

“วัฒนธรรม
คือธรรมเจริญ
พอดีมิเกิน
มิเมินรากเหง้า”

ท่านผู้รู้กล่าวเนืองๆ ว่าจงตระหนักรู้ความจริง และอยู่กับความจริง ความจริงของสังคมไทยคือเกษตรกรรม มาแต่ก่อนร่อนชะไร เกษตรกรรมก็คือรากเหง้าเหล่ากอของเรา คือวัฒนธรรมของเรา

การพัฒนาใดๆ ในทุกวันนี้มักนิยมทำลายรากเหง้า หรือเมินเฉยรากเหง้า ถ้าเราไม่เปลี่ยนความคิด ชีวิตเราก็จะเป็นคนหรือสังคมไร้ราก ทำไป อยู่ไป โฆษณาไป ก็ไลฟ์บอย
กำลังโหลดความคิดเห็น