ผู้จัดการสุดสัปดาห์ -กระแสฮิตเวอร์ชั่วข้ามคืนของเพลง "PPAP (พีพีเอพี) หรือ Pen-Pineapple-Apple-Pen (เพน-พายแอปเปิ้ล-แอปเปิ้ล-เพน)" จากประเทศญี่ปุ่น ทำให้นึกถึงเพลงของโอปป้าชาวเกาหลีใต้ "Gangnum (กังนัมสไตล์)" ที่ดังกระหึ่มสร้างปรากฏการณ์ลักษณะเดียวกันในเมืองไทยเมื่อราวๆ 4 ปีก่อน
สำหรับเพลงดังพลุแตกแห่งยุค PPAP ของ ปิโกะ ทาโร หรือ โคสะกะ ไดมาโอ ล้วนแล้วแต่เป็นนามแฝงของ คาซุฮิโก โคสะกะ ดีเจและนักแสดงตลกวัย 43 ปี ผู้สร้างสรรค์งานเพลงตลกอันเป็นเอกลักษณ์ด้วยทำนองจากประสบการณ์ดนตรีโชกโชน และเนื้อหาที่แม้กระทั่งคนญี่ปุ่นยังจับใจความไม่ได้ โดยจำกัดความยาวเพียง 1 - 2 นาทีเท่านั้น ดังเช่นเพลงที่มีเนื้อหาว่าด้วย “ปากกา สับปะรด แอปเปิ้ล” ที่กำลังดังเปรี้ยงปร้าง
“I have a pen. I have a apple. Ummm Apple pen! I have a pen. I have a pineapple. Ummm Pineapple pen! Apple pen! Pineapple pen. Ummm Pen-pineapple-Apple-penpineapple pen!” เนื้อเพลง PPAP / Pen-Pineapple-Apple-Pen
หากแปลเป็นไทยเนื้อเพลง PPAPมีคำร้องอยู่เพียง 2 - 3 คำเท่านั้น ปากกา สัปปะรด แอปเปิ้ล อืมมม! จึงทำเอาใครหลายคนลงมติทำนองเดียวกันว่าเป็นเพลงที่หาสาระไม่ได้ แต่มันกลับกลายเป็นกระแสเพียงข้ามคืน หลังปล่อยคลิปวิดีโอสู่โซเชียลมีเดีย เมื่อวันที่ 25 ก.ย. 2559
Pen-Pineapple-Apple-Pen/PIKO-TARO โพสต์โดยผู้ใช้งานยูทิวบ์ชื่อ 公式ピコ太郎歌唱ビデオチャンネルซึ่งเป็นช่องหลักของเจ้าของผลงานตัวจริง ล่าสุดข้อมูล ณ วันที่ 29 ส.ค. 59 จำนวนยอดผู้ชม 8,925,178 วิว เป็นตัวเลขที่ยังไม่ยังไม่รวบการรีอัพโหลดยื้อแย่งยอดวิวจากชาแนลยูทิวบ์อื่นๆ ซึ่งหานำตัวเลขมารวมกันยอดวิวหลายสิบล้านทีเลยเดียว
PPAP กลายเป็นไวรัลตัวใหม่ติดหูติดตาคนไทย สะกดให้ใครต่อใครที่หลงคลิกเข้าไปรับชมรับฟังต้องตกอยู่ในภวังค์ เนื้อเพลงวนลูปอยู่ในหัว ยากที่จะสลัดออก
จำนวนมากนำเพลงคัฟเวอร์ออกสเตปยียวนเลียนแบบ และจำนวนไม่น้อยได้นำเพลงมาแปลงเนื้อร้องใหม่ทำนองเดิม กลายเป็นปรากฏการณ์ที่ทุกสายตาเพ่งเล็ง กระพือความฮอตฮิตให้ PPAP พุ่งทะยานขึ้นไปอีก
อย่างไรก็ตาม ปรากฏการณ์ของเพลง PPAP หรือPen-Pineapple-Apple-Pen สามารถอธิบายได้ว่าเป็นอาการ Earworm (เอียร์วอร์ม) เป็นสภาวะเพลงวนอยู่ในหัว โดยสถาบันส่งเสริมการสอนวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี (สสวท.) ได้อธิบายผ่าน IPST Thailand ว่าการที่มีเมโลดี้ชุดหนึ่งวนเวียนอยู่ในหัว หรือฮัมเพลงอยู่ในใจนั้น เป็นอาการนี้เรียกว่า Earworm โดยทฤษฎีและการทดลองได้อธิบายปรากฏการณ์นี้ว่า เป็นความพยายามเติมเต็มช่องว่างของสมองส่วนที่เกี่ยวข้องกับการฟัง (Auditory Cortex)
แต่ไม่ใช่ว่าทุกเพลงจะมีคุณสมบัติเป็น Earworm กล่าวคือ คุณลักษณะสำคัญของเพลงจะต้อง จดจำง่าย เป็นทำนองซ้ำๆ (Repetitive) เมื่อเราจำท่อนฮุกนั้นได้ กลไกสมองจะหาทางออกจากท่อนฮุกนั้น แต่เกิดติดหล่มหาทางออกไม่เจอ จึงทำให้เพลงดังกล่าว ท่อนเดิมๆ ทำนองเดิมๆ วนเวียนอยู่ในหัว
PPAP เป็นงานดนตรีที่มีคาแร็กเตอร์แม้ไม่บ่งบอกความหมายของเนื้อหา แต่พิสูจน์ให้เห็นว่า Earworm ส่งผลต่อจิตใจ โดยเฉพาะลักษณะของเพลงอย่างการผลิตเนื้อร้องและทำนองง่ายๆ วนไปวนมา นั้นทำให้ติดหูอย่างไม่น่าเชื่อ
ส่วนทางออกจากสภาวะติดหล่มท่อนฮุกนั้น มีผู้เสนอว่าวิธีที่ดีที่สุดคือการฟังเพลงและร้องเพลงนั้นให้จบ เพื่อเป็นการปลดล็อกสมองจากภาวะติดหล่มนั่นเอง สำหรับคุณลักษณะของEarworm มักถูกนำไปใช่ในการผลิตสื่อผลิตโฆษณา สร้างเพลงโฆษณาฮิตติดหู รวมทั้งเพลงฮิตติดชาร์ต
PPAP กลายเป็นไวรัลฮิตในประเทศไทย พิสูจน์สภาวะEarworm ที่กำลังเกิดกับผู้คนจำนวนมาก ตกอยู่ในสภาวะ #ฟังวนไป
อย่างไรก็ตาม บทความเรื่อง "Exclusive! เผยโฉมเบื้องหลังเพลงฮิตญี่ปุ่นดังทั่วโลก Pen Pineapple Apple Pen" เปิดเผยว่า "ปิโกะ ทาโร" เจ้าของเพลงฮิตเพลงนี้ เป็นตัวละครสมมติของ คาซุฮิโก โคสะกะ แนวคิดเป็นตัวการ์ตูนที่มีชีวิตจริงๆ ส่วนการแต่งตัวได้รับแรงบันดาลใจมาจากการ์ตูนเรื่องวันพีช มีบุคลิกมีท่าเต้นยียวนกวนประสาท ซึ่งสร้างสรรค์ขึ้นมาเพื่อร่วมแสดงในรายการเดี่ยวไมโครโฟนของเขา โดยตระเวนเปิดการแสดงไปทั่วประเทศญี่ปุ่น
คาซุฮิโก โคสะกะ เริ่มเผยแพร่ผลงานเพลงของ ปิโกะ ทาโร ตั้งแต่เดือน ส.ค. ที่ผ่านมา และได้รับความนิยมในประเทศญี่ปุ่นตามด้วยประเทศไต้หวัน กระทั่ง กลายเป็นกระแสไปทั่วโลกขนาดที่ตัวเขาเองยังแปลกใจ รวมทั้ง ได้รับการสนับสนุนจากค่ายเพลงต้นสังกัด AVEX Entertainment
ที่แน่ๆ อย่ารีบด่วนสรุปดูแคลนว่าปรากฎการณ์ “ปากกา สับปะรด แอปเปิ้ล” หาสาระไม่ได้ อย่างน้อยๆ คนไทยทั้งประเทศก็ได้รู้จักอาการ “Earworm”
ระหว่างรอเพลงใหม่มาสร้างปรากฏการณ์ฮิตดังสายฟ้าฟาด Earworm เพลงถัดไปจะเป็นเพลงใดนั้น ตอนนี้คงต้องคลิกPlayฟังวนไป... “ไอ เฮฟ อะ เพน ไอ เฮฟ อะ แอปเปิ้ล อืมมม แอปเปิ้ล เพน”