อาจารย์ ดร. อานนท์ ศักดิ์วรวิชญ์
สาขาวิชา Business Analytics and Intelligence
สาขาวิชาวิทยาการประกันภัยและการบริหารความเสี่ยง
คณะสถิติประยุกต์ สถาบันบัณฑิตพัฒนบริหารศาสตร์
สาขาวิชา Business Analytics and Intelligence
สาขาวิชาวิทยาการประกันภัยและการบริหารความเสี่ยง
คณะสถิติประยุกต์ สถาบันบัณฑิตพัฒนบริหารศาสตร์
หนังโฆษณาชุด “เที่ยวไทยมีเฮ” ขับร้องโดย เก่ง ธชยะ และ ฟิล์ม บงกช และกำกับโดยบัณฑิต ทองดี ได้นำทศกัณฐ์จากรามเกียรติ์เป็นตัวเดินเรื่องเที่ยวเมืองไทย และทำกิจกรรมต่างๆ มากมายตามสถานที่ท่องเที่ยว เช่น ขี่รถโกคาร์ท ขี่ม้า หยอดขนมครก เป็นต้น ดังนี้
แต่มีผู้ที่ไม่เห็นด้วยและออกมาคัดค้านมากมาย โดยเฉพาะสายอนุรักษ์นิยม ในหน่วยราชการ โดยเฉพาะอย่างยิ่งสถาบันบัณฑิตพัฒนศิลป์และกระทรวงวัฒนธรรม มีการตำหนิและขอให้นำฉาก หยอดขนมครก ขี่รถโกคาร์ท ออกไปจากหนังโฆษณาชุดนี้ ดังที่ บัณฑิต ทองดี ผู้กำกับได้เผยแพร่เวอร์ชั่นที่ถูกตัดต่อหรือเซ็นเซอร์ออกไปตามความเห็นของกระทรวงวัฒนธรรมดังนี้
เวอร์ชั่นแก้ไขแบบทางการ ลงที่นี่ที่แรกนะครับ
Posted by บัณฑิต ทองดี on Friday, September 23, 2016
เรื่องนี้ทำให้เกิดปรากฏการณ์บนโลกออนไลน์อย่างรุนแรง ส่วนใหญ่ชอบหนังโฆษณาชิ้นนี้ และไม่เห็นด้วยกับความคิดเห็นของทางกระทรวงวัฒนธรรมและสถาบันบัณฑิตพัฒนศิลป์ กลายเป็นประเด็นร้อนบนโลกออนไลน์
ส่วนตัวผมเห็นว่านี่คือหนังโฆษณาไม่ใช่การแสดงโขนเพื่ออนุรักษ์วัฒนธรรม แต่เป็นการเปิดโอกาสให้ทศกัณฐ์เป็นผู้เดินเรื่อง ทำให้คนสมัยใหม่ได้เข้าถึง เข้าใจง่าย และโฆษณาก็น่ารัก
โขนนั้นไม่ใช่ของไทย เป็นของอินเดีย เช่นเดียวกันกับรามเกียรติ์ก็มาจากอินเดียเช่นกัน และเป็นมรดกทางวัฒนธรรมร่วมในอุษาคเนย์ ที่ทุกชาติ ไม่ว่าลาว เขมร อินโดนีเซีย พม่า มาเลเซีย ต่างก็มีโขนเช่นกันทั้งสิ้น ยิ่งใครที่เคยอ่านพระราชนิพนธ์รามเกียรติ์ ย่อมทราบดีว่า ทศกัณฐ์เป็นตัวแทนฝ่ายอธรรม และเป็นตัวร้ายและตัวตลกในเวลาเดียวกันด้วย ตามเนื้อหาในวรรณคดีนั้น ถ้าให้ทศกัณฐ์แสดงพฤติกรรมบ้ากาม สำส่อน ชอบออกป่าจนไปได้นางช้าง มีลูก ได้ปลาก็มีลูกกับปลา มีพฤติกรรมโกรธ หลง โมหะ โทสะ ในพระราชนิพนธ์รามเกียรติ์เองมีบางตอนที่จงใจให้ทศกัณฐ์เป็นตัวตลก เช่น หนุมานจะเข้าไปขโมยหินบดยาที่หนุนเศียรทศกัณฐ์ ทศกัณฐ์นอนกอดนางมณโฑอยู่ หนุมานเกิดคิดทะลึ่งเลยแกล้งผูกผมทศกัณฐ์กับนางมณโฑและสาปไว้ว่าหากไม่ยอมให้นางมณโฑเขกกบาลสักสามทีแล้ว ผมที่ผูกกันไว้นี้จะไม่มีทางหลุดจากกัน ดังบทกลอนพระราชนิพนธ์ว่า
“... อันผมซึ่งเราผูกนี้ ใครมีเวทมนต์อย่าแก้ได้
ถึงเอาอาวุธอันเกรียงไกร ของท้าวสหัสนัยน์ลงมา
เชือดฟันเท่าใดอย่าให้ขาด ด้วยอำนาจคำสาปของเราว่า
แล้วจึงจารึกสารา ลงไว้ที่หน้าอสุรี
ว่าถ้าใคร่จะแก้ผม ก้มให้มณโฑมเหสี
ตบหัวมึงลงสามที ผมนี้จึงหลุดออกไป ...”
รูปวาดจิตรกรรมฝาผนังในวัดพระศรีรัตนศาสดาราม (วัดพระแก้ว) เขียนภาพละครรามเกียรติ์ตอนนี้ไว้อย่างขบขันเป็นรูปทศกัณฐ์นอนหลับและเอามือกุมนมนางมณโฑไว้ด้วย ในขณะที่หนุมานกำลังง่วนผูกผมทั้งสองคนนี้ไว้ด้วยกัน
ในกลอนบทสุดท้ายของพระราชนิพนธ์รามเกียรติ์ ในพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราชเองก็เขียนไว้ว่า
"อันพระราชนิพนธ์รามเกียรติ์ ทรงเพียรตามเรื่องนิยายไสย
ใช่จะเป็นแก่นสารสิ่งใด ตั้งพระทัยสมโภชบูชา
ใครฟังอย่าได้ไหลหลง จงปลงอนิจจังสังขาร์
ซึ่งอักษรกลอนกล่าวลำดับมา โดยราชปรีดาก็บริบูรณ์"
แสดงให้เห็นว่าพระราชนิพนธ์เรื่องนี้เพื่อให้เข้าใจโลกธรรม ให้ปลง ไม่ใช่ให้หลงยึดติด แต่อย่างใด
พิริยะ กลิ่นฟุ้ง ได้โพสต์รูปที่ตนเองวาดข้างล่างนี้พร้อมข้อความว่า “ไอ้นู่นก็ไม่ได้ ไอ้นี่ก็ไม่ได้ ขนาดหยอด'หนมครกยังไม่ได้เลย....... "...ทศโตแล้วนะ..."
ศิลปะและวัฒนธรรมนั้น ย่อมเคลื่อนคลายและวิวัฒน์ไปตามสังคม นักเรียนก็ต้องนอกทางครูเพื่อสร้างสรรค์สิ่งใหม่ๆ ต้องกล้าที่จะนำสิ่งใหม่และของเก่ามาผสมผสานกัน เพื่อให้ศิลปะนั้นอยู่ได้ต่อไป
“โลกหมุนเวียนเปลี่ยนผันวันวิวัฒน์ ศิลป์ส่องศิลป์บรรจงจัดแผ้วผสาน
แม้นหยุดนิ่งย่อมอยู่ได้ไม่ทนทาน ต้องสืบสานและสร้างสรรค์ด้วยบรรจง
หัวโขนเพียงสวมใส่แล้วให้ถอด ใช่นั่งกอดจนของเก่าเน่าเป็นผง
หนักหัวโขนก็ถอดวางให้ว่างลง และโปรดจงเปิดใจให้ตนเอง
เคารพครูใช่เพียงว่างทำอย่างครู ประดิษฐ์สร้างอย่างเชิดชูใช่ข่มเหง
ในความเก่ามีความใหม่ให้ครื้นเครง อย่ากลัวเกรงเพื่อคิดต่างนอกทางครู
โลกเจริญเดินหน้ามานานยาว เพราะกล้ากร้าวบนทางไกลด้วยใจสู้
ไม่มีถูกไม่มีผิดจงคิดดู อย่างเพียงอยู่อย่างอยากยากเจริญ!
การที่กระทรวงวัฒนธรรมออกมาคัดค้านการผสมผสานและความคิดสร้างสรรค์แสดงให้เห็นว่ามีจิตใจคับแคบไม่เปิดรับความแปลกใหม่ เล่ากันว่า หลวงประดิษฐ์ไพเราะเอง เมื่อนอกทางครู ตีระนาดเอกทางไหวร่อน ไม่ได้ตีทางกรอแบบครู ก็มีครูจำนวนหนึ่งยอมรับไม่ได้ในทางระนาดทางใหม่ของหลวงประดิษฐ์ไพเราะเช่นกัน แต่สุดท้ายทางระนาดของหลวงประดิษฐ์ไพเราะก็ได้รับความนิยมชมชอบแพร่หลายมากที่สุดเพราะกล้าที่จะนอกทางครูมีความคิดสร้างสรรค์สูง
มีหลายคนก็ติติงมาว่าการที่กระทรวงวัฒนธรรมออกมาห้ามหรือบังคับให้เปลี่ยนแปลงตัดบางฉาก เช่น ฉากหยอดขนมครก ฉากทศกัณฐ์ขี่โกคาร์ท ออกจะเป็นเรื่องที่ล้าสมัย และแสดงอำนาจนิยม เพลงแสนคำนึงของหลวงประดิษฐ์ไพเราะ ที่แต่งขึ้นมาในสมัยมาลานำไทยให้เจริญ ซึ่งกระทรวงวัฒนธรรมสมัยจอมพล แปลก พิบูลสงครามเป็นนายกรัฐมนตรี ได้เข้ามากำกับควบคุมการแสดงดนตรีไทยแท้และดนตรีพื้นบ้าน เช่น ต้องได้รับใบอนุญาตก่อนแสดง ต้องให้ตรวจบทละครบทร้อง ต้องนั่งเก้าอี้แสดงดนตรี ห้ามนั่งพื้นแสดงดนตรี ทำให้ดนตรีไทยแท้ กลายเป็นดนตรีไทยเดิม และทำให้ดนตรีไทย เสื่อมความนิยมไป เพราะการเข้ามากำกับดูแลของกระทรวงวัฒนธรรม
ยิ่งปัจจุบันนี้ นโยบาย Thailand 4.0 ต้องการสร้างชาติด้วย creative economy ต้องทำให้วัฒนธรรมนำสมัยเข้าถึงใจชนทุกชั้นและสากล ลองนึกถึงแดจังกึมของเกาหลี หรือแม้กระทั่งจีนที่พยายามตั้งสถาบันขงจื๊อเพื่อสอนภาษาจีนและวัฒนธรรมจีนไปทั่วโลก เพราะวัฒนธรรมสามารถช่วยชาติ นำรายได้ให้กับประเทศชาติได้มหาศาล ญี่ปุ่นเองก็เป็นอีกชาติหนึ่งที่ creative economy นำรายได้เข้าประเทศได้มากมาย การ์ตูนญี่ปุ่น กระทั่งเกมส์ virtual reality โปเกม่อนที่นิยมกันอย่างแพร่หลายนั้นเป็นการผนวก creative economy+ digital economy เข้าไว้ด้วยกัน
อันที่จริงในช่วงปี พศ 2517-2518 ไทยเราไม่มีกระทรวงวัฒนธรรม ก็มีผลงานดีๆ อย่าง หนุมานกับเจ็ดยอดมนุษย์ ยักษ์วัดแจ้งกับจัมโบ้เอ หนุมานพบไอ้มดแดง เป็นต้น ทำให้เด็กและคนอื่นๆ ในโลก ได้รู้จักกับหนุมาน และยักษ์วัดแจ้ง เป็นเรื่องที่ทันสมัยกว่ากระทรวงวัฒนธรรมไปเยอะ หากมีการสืบต่อสร้างสรรค์ต่อก็จะเป็นการต่อยอด creative economy แต่น่าเสียดายอย่างยิ่งที่หน่วยงานราชการที่รับผิดชอบเรื่องวัฒนธรรมเองกลับไม่มีความเข้าใจนโยบายรัฐบาลเรื่อง creative economy เอาเสียเลย
เรื่องนี้ทูลกระหม่อมหญิงอุบลรัตนราชกัญญา สิริวัฒนาพรรณวดี ทรงโพสต์แสดงความคิดเห็นในอินสตาแกรมของสื่อหนึ่งเกี่ยวกับเรื่องดังกล่าว ระบุว่า “ผู้ใหญ่คนไทยควรเปิดใจให้กว้างแล้วนะคะ เดี๋ยวนี้ทำไมทศกัณฐ์จะแคะขนมครกไม่ได้ เสียเกียรติตรงไหนที่ทำอะไรเป็นไทยๆ (ลืมไปว่าทศกัณฐ์ไม่ใช่คนไทย!)”