ริมฝั่งเจ้าพระยา
โดย...สุนันท์ ศรีจันทรา
คอลัมน์ “สะบัดปากกา กล้าได้กล้าเสีย” จากคอลัมนิสต์อาวุโส “สายล่อฟ้า” ในหนังสือพิมพ์ไทยรัฐ ซึ่งวิพากษ์วิจารณ์การสอนของ โรงเรียนนายร้อยตำรวจ(นรต.)สามพราน กลายเป็นเชื้อปะทุที่นำไปสู่ การปลุกระดมให้นายตำรวจที่จบสถาบันแห่งนี้ ลุกขึ้นมาประท้วงอย่างเผ็ดร้อน
ข้อความแทงใจดำที่ “สายล่อฟ้า” เขียนไว้ในคอลัมน์คือ โรงเรียนนายร้อยสร้าง “ค่านิยม” ที่ไม่ถูกทาง กลายเป็นว่า ตำรวจไทยนั้นรู้ทุกอย่าง แต่ไม่รู้จักหน้าที่และภารกิจ จึงไม่น่าแปลกที่มีการผลิตตำรวจที่ทำให้ตำรวจไทยกลายเป็นตำรวจโจรมากขึ้นทุกที เพราะเรียนรู้เรื่องชั่วๆ มากกว่าเรื่องดีๆ
ตำรวจที่ออกมาแสดงความรักศักดิ์ศรีจนเลือดขึ้นหน้า และโพสต์ข้อความที่ดุเดือดตอบโต้ทันควันคือ พล.ต.อ.สมยศ พุ่มพันธุ์ม่วง อดีตผบ.ตร.คนล่าสุด
ก่อนที่จะด่ากราดใส่ “สายล่อฟ้า” พล.ต.อ.สมยศได้อวดสรรพคุณการทำงานเพื่อชาติ และอ้างว่า ไม่เคยมีประวัติด่างพร้อยแล้ว หลังจากนั้นจึงบรรเลงภาษาพ่อขุนใส่คอลัมนิสต์ “ไทยรัฐ” แถมยังตั้งคำถามลามไปถึงบุพการี และด่าฝากทิ้งท้าย ระบุว่า สื่อมวลชนก็มีเหี้ยไม่น้อยเหมือนกัน
พล.ต.อ.สมยศถือว่า เด็กกว่า “สายล่อฟ้า” วัฒนธรรมไทยปลูกฝังกันมานาน เด็กควรให้เกียรติผู้ใหญ่ แต่ถ้าโกรธจัดจนหมดความเกรงใจ ด่าทอเฉพาะบุคคลคงพอรับกันได้ แต่ลามปามไปถึงพ่อแม่ สังคมคงยอมรับไม่ได้ เพราะเป็นการแสดงพฤติกรรมก้าวร้าวเหมือนเด็กข้างถนน
และภาษาที่นำมาด่ากราด ซึ่งเป็นคำที่หยาบคาย ไม่ควรจะหลุดจากคนที่เคยเป็นถึง ผบ.ตร. เพราะเป็นแบบอย่างที่ไม่ดีต่อเยาวชน
ข้อความตอบโต้ที่ พล.ต.อ.สมยศโพสต์ ถูกแพร่กระจายต่อเป็นทอดๆ จุดชนวนกระแสต่อต้านคอลัมน์ของ “สายล่อฟ้า” ภายในพริบตา โดยเฉพาะตำรวจที่จบจากโรงเรียนนายร้อยตำรวจสามพราน ซึ่งนัดแนะให้ลุกฮือขึ้นต่อต้าน โดยนำนักเรียนนายร้อยตำรวจประท้วงหนังสือพิมพ์ไทยรัฐ
คำว่า “ศักดิ์ศรี” เคยเป็นข้ออ้างของนายตำรวจบางคน ในการปลุกระดมและเกณฑ์ตำรวจผู้ใต้บังคับบัญชาออกมาชุมนุมประท้วงแล้วหลายครั้ง โดยเฉพาะในยุครัฐบาลนางสาวยิ่งลักษณ์ ชินวัตร
วันที่ 18 กันยายน2555 ตำรวจหลายร้อยคนถูกระดมมาชุมนุมหน้าพรรคประชาธิปัตย์ หลังจาก พล.ต.ท.คำรณวิทย์ ธูปกระจ่าง อดีต ผบช.น. เจ้าของฉายา “ตำแหน่งนี้พี่ให้” ประกาศจะเดินทางมาพบนายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ หัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ เพราะไม่พอใจที่พรรคประชาธิปัตย์ยื่นหนังสือให้สอบสวน พล.ต.ท.คำรณวิทย์ที่เดินทางไปพบนายทักษิณที่ฮ่องกง และก้มหัวให้นายทักษิณประดับยศ
แต่เมื่อเผชิญหน้ากับมวลชนพรรคประชาธิปัตย์ โดยตำรวจที่ถูกเกณฑ์มาถูกโห่ไล่ พล.ต.ท.คำรณวิทย์จึงสั่งตำรวจถอยกลับ และล้มเลิกการแสดง “ความกร่าง” ไม่เดินทางไปพบกับนายอภิสิทธิ์ตามที่ประกาศไว้
วันที่ 30 ธันวาคม2556 ตำรวจนับพันนายจาก สน.ในเขตนครบาล ถูกระดมมาชุมนุมแสดงพลังที่บริเวณลานพระรูปทรงมา อ้างว่าเพื่อปกป้องศักดิ์ศรีตำรวจที่ถูกย่ำยี หลังตำรวจใช้ความรุนแรงสลายการชุมนุมของกลุ่มก ปปส.ที่บริเวณสนามกีฬาไทย-ญี่ปุ่นดินแดง ทำให้ผู้ชุมนุมบาดเจ็บและเสียชีวิต
การใช้ความรุนแรงสลายการชุมนุมของกลุ่ม กปปส. ทำให้เกิดกระแสโจมตีตำรวจที่มีพฤติกรรมรับใช้นางสาวยิ่งลักษณ์อย่างรุนแรง โดยเฉพาะพล.ต.ท.คำรณวิทย์ มีการเรียกร้องให้สอบสวนผู้ที่สั่งการ
แต่ตำรวจแทบทุกสถานีในพื้นที่นครบาลกลับต้องรับเคราะห์ เพราะถูกเกณฑ์มาชุมนุม ก่อม็อบแสดงพลังเหมือนท้าชนกลุ่ม กปปส. แต่อ้างว่าเพื่อปกป้องศักดิ์ศรีตำรวจที่ถูกย่ำยี
การสร้างกระแสต่อต้านคอลัมนิสต์ “สายล่อฟ้า” ไม่แตกต่างจากการปลุกระดมตำรวจให้ออกมาชุมนุมในอดีต เพราะอ้างเรื่อง “ศักดิ์ศรี” เหมือนกัน
แต่ตำรวจไม่ได้เห็นด้วยกับท่าทีของ พล.ต.อ.สมยศทั้งหมด โดยเฉพาะตำรวจที่ไม่ได้จบจากโรงเรียนนายร้อยสามพราน ซึ่งไม่มีอารมณ์ร่วมที่จะ “รบ”กับไทยรัฐด้วย
เพียงแต่ตำรวจที่มีหลักการดี มีสติ ยอมรับในเสียงวิพากษ์วิจารณ์ ยอมรับในภาพลักษณ์ที่ตกต่ำสุดขีดของตำรวจ และสนับสนุนข้อเขียนในคอลัมน์ของ “สายล่อฟ้า” ไม่อยู่ในฐานะที่จะออกมาแสดงตัวเท่านั้น
ส่วนอาจารย์โรงเรียนนายร้อยตำรวจสามพรานที่แสดงตัว ยืนข้าง “สายล้อฟ้า” ก็ถูกรุมสกรัมอ่วมไปแล้ว
ตำรวจที่มีปัญหากับ “ไทยรัฐ” จึงขีดวงเฉพาะตำรวจที่จบจากโรงเรียนนายร้อยตำรวจเท่านั้น ส่วนตำรวจที่ไม่ได้มาจากโรงเรียนนายร้อย ไม่รู้สึกเป็นทุกข์เป็นร้อนอะไรกับคอลัมน์ “สายล่อฟ้า” และไม่อยากเข้าไปเกี่ยวข้องด้วย
ส่วนศิษย์เก่า นรต. ถ้ารู้สึกว่า “สายล่อฟ้า” และหนังสือพิมพ์ไทยรัฐ ทำให้เสียศักดิ์ศรี ทำให้ภาพพจน์เสียหาย สามารถใช้สิทธิ์ตามกฎหมาย ฟ้องร้องดำเนินคดีได้
จะตั้งศาลเตี้ยเหมือนที่ตำรวจบางนิยมใช้ไม่ได้
จะเกณฑ์หรือขนเด็กนักเรียนนายร้อยออกมาประท้วง เมื่อคณะรักษาความสงบแห่งชาติ(คสช.)ไม่เห็นว่า จะเป็นแบบอย่างของการก่อม็อบ และไม่ตำหนิติติงพฤติการณ์ของตำรวจ ก็คงไม่มีใครเอาเรื่องเอาราวกับตำรวจที่สั่งขนนักเรียกนายร้อยตำรวจสวนสนามหน้าหนังสือพิมพ์ไทยรัฐได้
แม้การปลุกระดมตำรวจมาบุกประท้วง จะหมิ่นเหม่ต่อการคุกคามสื่อมวลชนก็ตาม
“ไทยรัฐ”เป็นสื่อที่คลุกคลีตีโมงกับตำรวจมาไม่รู้กี่รุ่นต่อกี่รุน แต่การถูกปลุกระดมให้เกิดการลุกฮือต่อต้านครั้งนี้ เป็นบทเรียนที่สอนให้ “ไทยรัฐ” รู้ว่า จะต้องเลือกคบตำรวจอย่างไร ตำรวจคนไหนคบได้หรือไม่ เพราะงานนี้ทำให้“ไทยรัฐ” รู้จักตัวตนของนายตำรวจหลายคน
การลุกฮือขึ้นมาต่อต้าน “ไทยรัฐ” อย่างดุเดือดเลือดพล่านของตำรวจที่จบ นรต.ครั้งนี้ มองมุมกลับ น่าจะเป็นเรื่องที่ดีเพราะเป็นการแสดงให้เห็นว่า ตำรวจที่จบจาก นรต. รักศักดิ์ศรีเพียงใด เทิดทูนสถาบันที่จบมาถึงเพียงไหน
เมื่อคำนึงถึงศักดิ์ศรีจนใครแตะต้องไม่ได้ เมื่อทนไม่ได้ที่สถาบันถูกย่ำยี ตำรวจที่จบจากโรงเรียนนายร้อยตำรวจทุกนาย จึงต้องมีสำนึกว่า จะเป็นตำรวจที่ดี ไม่ประพฤติชั่ว ไม่ทำให้เสื่อมเสียถึงสถาบัน
การลุกฮือปกป้องศักดิ์ศรีอย่างเอาเป็นเอาตาย จะถือเป็นคำมั่นต่อประชาคมได้หรือไม่ว่า ตำรวจที่จบ นรต. ต้องไม่เลวนะ
ส่วนใครเลว ใครข่มเหงประชาชน ใครเบ่งกินฟรี ใครรีดไถ ใครตบทรัพย์ ใครรับส่วย ใครเดินกุมกระเป๋าเดินตามก้นนักการเมือง ใครก้มหัวเป็นขี้ข้ารับใช้นักการเมือง ต้องถาม พล.ต.อ.สมยศกลับแล้วละ
จะด่าตำรวจที่ประพฤติตัวเป็นโจรในเครื่องแบบว่ากะไรดี ตอบให้ “สายล่อฟ้า” ของหนังสือพิมพ์ไทยรัฐชื่นใจสักหน่อยดีไหม