xs
xsm
sm
md
lg

ผลของการศึกษายุคเด็กไทยใกล้เป็น “เจ้าลอย”

เผยแพร่:   โดย: ไสว บุญมา

ย้อนไปเป็นเวลากว่า 60 ปี ม.ร.ว.คึกฤทธิ์ ปราโมชซึ่งเป็นหนึ่งในนักประพันธ์ชั้นยอดของไทยได้ประพันธ์เรื่องสั้นหลายเรื่องลงพิมพ์ในนิตยสารชื่อดังในสมัยนั้น เมื่อนำมารวมกันพิมพ์เป็นเล่มหลายครั้งหนังสือถูกตั้งชื่อว่า “หลายชีวิต” ชื่อนี้สะท้อนเรื่องราวของบุคคลจากหลากหลายภูมิหลังซึ่งโดยสารมาในเรือยนต์ลำเดียวกัน เมื่อเรือนั้นล่มลงท่ามกลางพายุใหญ่ในคืนวันหนึ่ง ผู้โดยสารจึงเสียชีวิตพร้อมกัน การเสียชีวิตพร้อมกันนั้นสร้างปริศนาหลายอย่าง รวมทั้งเกี่ยวกับกรรมที่พวกเขาทำร่วมกันมาแต่ปางหลังอย่างไรจึงมาจบชีวิตในเรือลำเดียวกัน ในคำนำของการรวมเล่มและจัดพิมพ์โดยสำนักพิมพ์ดอกหญ้า 2000 ผู้ประพันธ์ได้เล่าที่มาที่ไปของการเขียนเรื่องสั้นเหล่านั้นและบอกว่าเรื่องที่ท่านพอใจมากที่สุดได้แก่ “เจ้าลอย” ฉะนั้น ในการรวมเล่ม “เจ้าลอย” จึงเป็นเรื่องแรกของ “หลายชีวิต”

เจ้าลอยจะถือกำเนิดในสภาวะอย่างไรไม่เป็นที่ประจักษ์ นอกจากเมื่อครั้งที่มัน (ใช้คำว่า “มัน” ตามผู้ประพันธ์เรื่อง) ยังเป็นทารกไม่กี่วัน มันถูกจับใส่ในหม้อทะนนและปล่อยให้ลอยมาติดท่าน้ำของยายพริ้ม ซึ่งเป็นแม่ค้าพายเรือขายของตามแม่น้ำลำคลองต่างๆ ยายพริ้มเลี้ยงดูเจ้าลอยเหมือนลูกของตนจนเติบใหญ่โดยมิได้ปิดบังเบื้องหลังจากเจ้าลอยแต่อย่างใด เจ้าลอยโตเป็นหนุ่มใหญ่หน้าตาดีและมีความปราดเปรื่อง แต่มันมิได้ใช้คุณสมบัติเหล่านั้นไปในทางสร้างสรรค์ ตรงข้ามมันใช้ไปในทางก่ออาชญากรรมจำพวกกระทำชำเราและปล้นฆ่า แม้แต่ยายพริ้มเองก็ถูกมันปล้นและฆ่าอย่างเลือดเย็น คืนที่เจ้าลอยตายในเหตุการณ์เรือล่มนั้น มันกำลังโดยสารเรือจากบ้านแพนมุ่งหน้าสู่พระนครเพื่อซื้ออาวุธร้ายมาใช้ในการปล้นสะดม เหตุที่เจ้าลอยก่ออาชญากรรมโหดร้ายได้อย่างเลือดเย็นมองได้ว่าเป็นผลจากการถูกทอดทิ้ง หรือลอยแพมาตั้งแต่ครั้งยังเป็นทารก

ผมอ่าน “หลายชีวิต” หลายต่อหลายครั้งเริ่มตั้งแต่สมัยยังเป็นนักเรียนฝึกหัดครูเพราะ “หลายชีวิต” เป็นหนึ่งในหนังสือแสนโปรด ผมนำมาอ่านอีกครั้งเมื่อไม่กี่วันที่ผ่านมา การอ่านเรื่อง “เจ้าลอย” ทำให้นึกถึงเด็กไทยเนื่องจากตอนนี้มีเรื่องใหญ่ๆ จำนวนมากในภาคการศึกษา เรื่องเหล่านั้นมักนำไปสู่การโต้เถียง และโยนกลองกันว่าใครและอะไรทำให้การศึกษาไทยตกต่ำ ในกระบวนการนี้มีวาทกรรมจำพวกสร้างภาพอย่างแพร่หลาย แต่ไม่มีใครมองว่าเด็กจำนวนมากถูกทอดทิ้ง หรือลอยแพโดยปริยายไม่ต่างกับ “เจ้าลอย” ลองมาพิจารณาคร่าวๆ กันว่าเด็กเล็กจากแรกเกิดไปจนถึงเรียนจบชั้นประถมศึกษาถูกปล่อยให้ลอยไปตามยถากรรมอย่างไร โดยเริ่มมองไปที่วาทกรรมจำพวกการศึกษาต้องมาจาก “บวร”

“บ” ได้แก่บ้านซึ่งมองกันว่าประกอบด้วยที่อยู่อาศัยพร้อมกับพ่อแม่ และคนรอบข้างที่มีบทบาทใกล้ชิดชีวิตของเด็ก มองได้ว่าเด็กจำนวนมากถูกลอยแพมาตั้งแต่เกิดเพราะพ่อแม่ไม่อยู่ในสภาวะที่จะเลี้ยงดูลูกได้อย่างดี เนื่องจากไม่มีความรู้ความเข้าใจในการเลี้ยงทารกอย่างแท้จริง นอกจากนั้น พวกเขายังขาดฐานทางด้านเศรษฐกิจอันแข็งแกร่งและมั่นคงอีกด้วย ความไม่แข็งแกร่งและมั่นคงนั้น นำไปสู่การออกไปทำมาหากินในถิ่นห่างไกลโดยทิ้งลูกไว้ให้อยู่ในการดูแลของปู่ย่าตายาย หรือไม่ก็อาจอยู่แต่ลำพังหลังโรงเรียนเลิก ปู่ย่าตายายมักไม่พร้อมที่จะดูแลเด็กอย่างดีเนื่องจากไม่มีปัจจัยเพียงพอ ซ้ำร้ายจำนวนมากยังใช้เวลาหมดไปกับความบันเทิงจำพวกละครน้ำเน่าอีกด้วย ยิ่งกว่านั้น ยังมีบางส่วนที่เล่นการพนันและใช้เวลาหมดไปกับอบายต่างๆ ส่งผลให้ครอบครัวตกอยู่ในภาวะขัดแย้งและบ้านแตกสาแหรกขาด ซึ่งล้วนส่งผลให้เด็กถูกปล่อยให้ลอยไปตามยถากรรมทั้งสิ้น

“ว” ได้แก่วัดซึ่งครั้งหนึ่งมีบทบาทสูงในการให้การศึกษา ไม่ว่าจะเป็นตอนก่อนมีพระราชบัญญัติการประถมศึกษา หรือหลังจากนั้น โรงเรียนชั้นประถมศึกษาจำนวนมากเริ่มจากในวัดเพราะมีศาลาวัดเป็นอาคารเรียน พระมีบทบาทในการช่วยสอนและอบรมด้านพฤติกรรม ในยุคนี้พระและวัดไม่มีบทบาทในด้านการศึกษาของเด็กชั้นประถมอีกต่อไป ซึ่งเท่ากับวัดปล่อยให้เด็กลอยไปไม่ต่างกับ “เจ้าลอย” โดยสมบูรณ์ เท่านั้นยังไม่พอ พระและวัดจำนวนไม่น้อยยังมีพฤติกรรมและตีความหมายคำสอนไปในทางชั่วร้าย หรือใช้หลอกลวงผู้ศรัทธาในศาสนาอีกด้วย

“ร” ได้แก่โรงเรียนซึ่งหมายถึงระบบการให้การศึกษาในกรอบสถาบัน เมื่อพูดถึงการศึกษา สายตาส่วนใหญ่มักเพ่งไปที่โรงเรียนซึ่งเป็นการเริ่มต้นที่ผิดถนัด เนื่องจากการศึกษาเกิดขึ้นได้ตลอดเวลาและในทุกสถานที่ การมองผิดเช่นนั้นตามด้วยการดำเนินงานในกรอบสถาบันที่มีปัญหาสารพัด ผู้มีส่วนเกี่ยวข้องมักท่องจนคล่องปากว่าการจัดการศึกษาต้องให้ “เด็กเป็นศูนย์กลาง” แต่เมื่อพินิจดูให้ดีๆ จะเป็นที่ประจักษ์ว่าเด็กมักเป็นศูนย์กลางในแนวของลูกตะกร้อที่ผู้ใหญ่ล้อมวงกันเตะโด่งไปโด่งมาเพื่อแสวงหาประโยชน์ของตนเท่านั้น กระทรวงศึกษาธิการจึงเป็นองค์กรที่แสนอ้วนและอุ้ยอ้ายเพราะผู้ใหญ่ใช้เป็นแหล่งทำมาหากิน การ “ปฏิรูป” แต่ละครั้งเป็นการเพิ่มและยกตำแหน่งให้สูงขึ้นเพื่อผู้ใหญ่จะได้ประโยชน์มากขึ้นจากหัวโขนที่ตนสวมและจากงบประมาณที่ตนแทะเล็มได้ งบประมาณจำนวนมากหมดไปกับการจัดพิธีกรรมที่ไม่มีประโยชน์คุ้มค่า ไม่ว่าจะเป็นป้ายชื่อโรงเรียนขนาดยักษ์ หรือการจัดพิธีมอบประกาศนียบัตรอันเอิกเกริก การใช้งบประมาณเพื่องานจำพวกผักชีโรยหน้ามิใช่เป็นการให้การศึกษา หากเป็นการสอนให้เด็กรู้ว่าจะโกงอย่างไรตั้งแต่วัยยังเยาว์

อนึ่ง ในช่วงนี้มีการพูดถึงการปิดโรงเรียนขนาดเล็กกันอย่างกว้างขวางอีกครั้ง ข้อมูลบ่งว่าการปิดโรงเรียนจำนวนมากส่งผลให้เด็กต้องนั่งรถไปเรียนไกลๆ ในขณะที่ผู้ใหญ่ได้เงินค่ารถ ส่วนเด็กจะเป็นอย่างไรผู้ใหญ่ไม่กังวลเด็กจำนวนมากต้องเสี่ยงตายโหนรถกระบะที่ดัดแปลงเป็นรถโรงเรียนไปเรียนยังโรงเรียนในถิ่นห่างไกล ภาพจำพวกนี้หาดูได้ทั่วประเทศ

ในการโต้เถียงและโยนกลองกันเรื่องการศึกษาของเด็ก สิ่งที่หายไปได้แก่บทบาทของชุมชน จริงอยู่ตามทฤษฎีโรงเรียนมักมีกรรมการโรงเรียนและสมาคมครูผู้ปกครอง แต่นั่นเป็นเพียงการแสดงให้เป็นปัญหามาตั้งแต่เริ่มต้น ในเบื้องแรก การแต่งตั้งกรรมการโรงเรียนและสมาคมครูผู้ปกครองส่วนใหญ่ทำกันขึ้นมาเสมือนวางตุ๊กตาไว้ในตู้ ครูและผู้บริหารโรงเรียนจะว่าอย่างไรก็ว่าไปตามกัน ประเด็นสำคัญยิ่งกว่านั้นได้แก่การมองตัว “ชุมชน” และบทบาทของชุมชนแคบเกินไปโดยมิได้มองว่าเด็กใช้เวลาอยู่นอกโรงเรียนมากกว่าในโรงเรียน และการเรียนรู้ที่สำคัญที่สุดได้แก่การลอกเลียนแบบ

เด็กมักเลียนแบบพฤติกรรมของผู้ใหญ่ ในสมัยที่การสื่อสารและการคมนาคมยังไม่สะดวก เด็กมีโอกาสสัมผัสเพียงสิ่งที่เกิดขึ้นรอบตัวเขาเท่านั้น “ชุมชน” จึงมีขนาดเล็กทำให้เด็กได้เห็นพฤติกรรมของผู้ใหญ่ไม่หลายหลายนัก ในสมัยปัจจุบัน เด็กสามารถรับข่าวสารข้อมูลต่างๆ ได้อย่างแทบไม่จำกัด รวมทั้งพฤติกรรมจำพวกขัดศีลธรรมจรรยาและขนบประเพณีที่เป็นหลักยึดของสังคม นอกจากจะต้องไม่ทำพฤติกรรมจำพวกมักง่าย หรือเลวทรามให้เด็กเลียนแบบแล้ว ผู้ใหญ่รอบตัวเด็กยังจะต้องกรองสิ่งที่มาจากท้องถิ่นห่างไกลเพื่อมิให้เด็กเลียนแบบสิ่งที่ขัดกับแนวปฏิบัติอันเป็นรากเหง้าของสังคมอีกด้วย แต่ผู้ใหญ่โดยทั่วไปแทบไม่ทำ

เมื่อบ้าน วัด โรงเรียน และชุมชนซึ่งบริหารจัดการโดยผู้ใหญ่ต่างมีพฤติกรรมจำพวกมักง่ายเสมือนจับเด็กใส่หม้อทะนนแล้วปล่อยให้ลอยไปตามน้ำ โดยคิดว่าผู้อื่นจะนำไปเลี้ยงแบบ “เจ้าลอย” การหวังว่าหลังจากพวกเขาเติบใหญ่แล้วจะให้พวกเขามีพฤติกรรมจำพวกสร้างสรรค์ย่อมเป็นความฝันแบบลมๆ แล้งๆ หากเด็กบางคนมีพฤติกรรมจำพวกปล้นสะดมสังคมของตน หรือฆ่าคนเมื่อเป็นผู้ใหญ่จะโทษพวกเขาไม่ได้ ต้องโทษผู้ใหญ่ในวันนี้ในฐานะที่สร้าง “เจ้าลอย” ขึ้นมา
กำลังโหลดความคิดเห็น