บุรีรัมย์ - ชาวบ้าน บ.เสลา อ.นางรอง จ.บุรีรัมย์ เกือบทั้งหมู่บ้านกว่า 50 หลังคาเรือน สืบทอดภูมิปัญญาจากปู่ย่าตายาย ใช้เคียวเกี่ยว “หญ้าคา” ตามหัวไร่ปลายนาที่หลายคนมองเป็นวัชพืชไร้ค่า มาสานหรือไพเป็นวัสดุมุงหลังคา ขายทั้งปลีกและส่ง สร้างรายได้เสริมช่วงว่างเว้นทำนาเฉลี่ยครัวเรือนละ 2-3 หมื่นบาท
วันนี้ (30 ส.ค.) ชาวบ้านเสลา ม.7 ต.ชุมแสง อ.นางรอง จ.บุรีรัมย์ เกือบทั้งหมู่บ้านกว่า 50 หลังคาเรือน ได้สืบทอดภูมิปัญญาจากปู่ย่าตายาย โดยการใช้เคียวเกี่ยวข้าวออกหาเกี่ยวหญ้าคาตามป่า หัวไร่ปลายนา ที่หลายคนมองว่าเป็นวัชพืชไร้ค่าและพยายามกำจัดทิ้ง มาสานหรือไพเป็นตับใช้สำหรับมุงหลังคาขายทั้งปลีกและส่ง เพื่อสร้างรายได้เสริมในช่วงว่างเว้นจากการทำนา
วัสดุอุปกรณ์ที่ใช้หลักๆ คือหญ้าคา ซึ่งชาวบ้านจะใช้เคียวเกี่ยวข้าวไปเกี่ยวตามป่า หรือหัวไร่ปลายนา แต่จะไม่ใช้เครื่องตัดหญ้าในการตัดเพราะจะทำให้บริเวณโคนแตก จากนั้นนำหญ้าคามาตากแดดไว้ 3-4 แดดจนแห้งสนิท ก่อนนำไปสางให้ดอกหญ้าหรือเศษต่างๆ ที่ติดมากับหญ้าคา แล้วนำไปมัดเป็นกำเก็บไว้
สำหรับไม้ที่ใช้ในการสานหรือไพหญ้าคาให้เป็นตับใช้เพียงเศษไม้ยูคาฯ ขนาดความยาว 150 เซนติเมตร ที่หาได้จากท้องถิ่น แล้วใช้เชือกฟางมัดหญ้าคาที่สานหรือไพให้แน่น แต่ละวันจะทำได้ 20-25 ตับ ขายปลีกราคาตับละ 15 บาท ขายส่งราคาตับละ 14 บาท
ลูกค้าที่มาซื้อส่วนใหญ่เป็นกลุ่มพ่อค้าแม่ค้าที่นิยมนำไปมุงเป็นหลังคาหรือซุ้มร้านอาหาร ทำโรงเรือนเพาะเห็ด บางช่วงมีออเดอร์สั่งถึง 1,500 ตับ ส่งผลให้ชาวบ้านมีรายได้เสริมจากการไพหญ้าคาขายทั้งปลีกและส่ง ช่วงว่างเว้นจากการทำนา 3-4 เดือนเฉลี่ยครัวเรือนละ 2-3 หมื่นบาท
จากที่ผ่านมาหลังฤดูเก็บเกี่ยวชาวบ้านพากันอพยพไปหาทำงานรับจ้างต่างจังหวัด แต่หลังจากหันมายึดการไพหญ้าคาเป็นอาชีพเสริมไม่ต้องอพยพไปขายแรงงานต่างถิ่นอีก
นางสุทธี โกฏผักแว่น อายุ 52 ปี ชาวบ้านบ้านเสลารายหนึ่ง บอกว่า ปกติครอบครัวมีอาชีพทำนาเป็นหลัก เดิมเสร็จจากทำนาจะว่างงาน จึงได้นำเอาภูมิปัญญาที่เคยเห็นปู่ย่าตายายทำมาตั้งแต่เด็กมาทำเป็นอาชีพเสริม โดยให้สามีนำเคียวที่ใช้เกี่ยวข้าวไปตระเวนหาเกี่ยวหญ้าคาตามป่าหรือหัวไร่ปลายนา แล้วนำไปตากมัดเป็นกำๆ ไว้ ช่วงว่างจะนำมาสานหรือไพวางขายหน้าบ้าน จะมีคนผ่านไปมาแวะซื้อ บางช่วงมีออเดอร์สั่งทำตั้งแต่ครั้งละ 1,200-1,500 ตับ ซึ่งวัสดุหาได้ง่ายจากท้องถิ่นที่หลายคนอาจมองว่าไร้ค่า แต่ปัจจุบันสามารถนำมาสร้างรายได้เสริมให้ชาวบ้านได้
เช่นเดียวกับ นางค่อม งอกระโทก ชาวบ้านเสลา บอกว่า เมื่อก่อนหลังสิ้นฤดูทำนาจะพากันไปทำงานรับจ้างยังต่างจังหวัด แต่หลังจากหันมาทำอาชีพไพหญ้าคาขาย ซึ่งเป็นภูมิปัญญามาตั้งแต่รุ่นพ่อแม่ ทำให้มีรายได้เลี้ยงครอบครัวได้โดยไม่ขัดสน ทั้งไม่ต้องอพยพไปขายแรงงานยังนอกพื้นที่เหมือนเมื่อก่อน ที่สำคัญวัสดุอุปกรณ์ที่นำมาทำก็หาได้จากท้องถิ่นซึ่งมีต้นทุนต่ำ และก็จะยึดอาชีพนี้ต่อไป