อาจารย์ ดร. อานนท์ ศักดิ์วรวิชญ์
สาขาวิชา Business Analytics and Intelligence
สาขาวิชาวิทยาการประกันภัยและการบริหารความเสี่ยง
คณะสถิติประยุกต์ สถาบันบัณฑิตพัฒนบริหารศาสตร์
สาขาวิชา Business Analytics and Intelligence
สาขาวิชาวิทยาการประกันภัยและการบริหารความเสี่ยง
คณะสถิติประยุกต์ สถาบันบัณฑิตพัฒนบริหารศาสตร์
Thailand 4.0 นั้นเน้นการพัฒนาประเทศสู่เศรษฐกิจระบบใหม่ เพื่อจากเศรษฐกิจอุตสาหกรรมมาเป็นเศรษฐกิจดิจิตอล (Digital Economy) และมาเป็นเศรษฐกิจที่มีความรู้เป็นฐาน (Knowledge-based economy) ต้องอาศัยรากฐานทางด้านปัญญาและการวิเคราะห์ธุรกิจ (Business Analytics and Intelligence) และวิทยาการข้อมูล (Data Sciences) เป็นอย่างยิ่ง เพื่อที่จะสร้าง Competitive Intelligence องค์ความรู้และนวัตกรรม (Innovation) และนำไปสู่ความได้เปรียบในการแข่งขันของประเทศไทย
ในขณะที่โลกกำลังเข้าสู่ยุค Internet of Things (IoTs) และข้อมูลขนาดใหญ่ (Big Data) ทำให้เกิดข้อมูลมากมายมหาศาล ประเทศไทยเองก็เริ่มมีข้อมูลมากมายมหาศาลเช่นกัน แต่การเปิดเผยข้อมูล (Open access to data) กลับมีน้อยมาก ทั้งในภาครัฐและภาคเอกชน เรื่องการเปิดเผยข้อมูลสู่สาธารณะนั้น สำหรับบริษัทมหาชนจำกัดที่จดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ มีกฎหมายควบคุมให้ต้องเปิดเผยข้อมูลสู่สาธารณะและทางตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทยตลอดจน กลต ก็ควบคุมดูแลให้การเปิดเผยข้อมูลเป็นไปอย่างดีพอสมควร แต่บริษัทจำกัด หรือภาคเอกชนทั่วๆ ไปก็ยังไม่เปิดเผยข้อมูลเท่าไหร่นัก มักถือว่าเป็นความลับทางการค้า ในส่วนของภาคราชการการเปิดเผยข้อมูลเริ่มดีขึ้นหลังจากมี พ.ร.บ.ข้อมูลข่าวสารของทางราชการ 2540 ซึ่งทำให้ประชาชนสามารถเรียกร้องดูข้อมูลได้ แต่ลงท้ายก็กลับจบด้วยคำว่า “เป็นความลับของทางราชการและเป็นข้อมูลที่เกี่ยวข้องกับความมั่นคง” ทางสำนักงานรัฐบาลอิเล็กทรอนิกส์ได้พยายามให้เกิด ข้อมูลเปิด (Open Data) ให้มากขึ้น https://data.go.th/?AspxAutoDetectCookieSupport=1 จนประเทศไทยได้ลำดับที่ 42 ของ Open Data Index ของโลก แต่ปัญหาคือคนไทยก็ยังไม่นำข้อมูลเปิดเหล่านี้ไปใช้มากเท่าที่ควร
ในต่างประเทศคนที่มีข้อมูลเปิดเป็นเจ้าของข้อมูลเปิด ซึ่งส่วนใหญ่จะเป็นหน่วยงานราชการ องค์การเอกชน องค์การระหว่างประเทศ และองค์การมหาชน จะพยายามเชื้อเชิญให้นักวิชาการ นักวิจัย นำข้อมูลของตนไปใช้ทำวิจัยให้ได้มากที่สุด สร้างนวัตกรรมให้ได้มากที่สุด มีการจัดสัมมนาเพื่อเชื้อเชิญนักวิจัย นักวิชาการ เข้ามาช่วยวิเคราะห์ นำข้อมูลเปิดเหล่านี้ไปใช้ในการสร้างงานวิจัย สร้างนวัตกรรม นักศึกษาระดับบัณฑิตศึกษาโดยเฉพาะนักศึกษาปริญญาเอกในต่างประเทศจำนวนมากจบปริญญาได้ด้วยข้อมูลเปิดเหล่านี้ หน่วยงานเจ้าของข้อมูลเปิดก็ได้งานวิจัยหรือนวัตกรรมชั้นดี
ข้อมูลเปิดเหล่านี้ยังนำไปสู่นวัตกรรมชั้นดี มีคนพัฒนา application และนวัตกรรมต่างๆ จากข้อมูลและงานวิจัยเหล่านี้มากมาย
การเปิดให้มีการวิเคราะห์ (Open Analytics) ทำให้เกิดองค์ความรู้ใหม่ โลกในปัจจุบันก็มี Open source และ freeware จำนวนมากมายสำหรับการวิเคราะห์ข้อมูล ยกตัวอย่างเช่น
Hadoop สำหรับการจัดการข้อมูลขนาดใหญ่ก็เป็น freeware เข้าไปดูได้ที่ http://hadoop.apache.org/
PSPP ใช้สำหรับการวิเคราะห์ข้อมูลสถิติ หน้าตาใกล้เคียงกับ SPSS และใช้ได้ง่ายเพียงแต่คลิกในลักษณะของ Graphic User Interface: GUI ดูได้ที่ https://www.gnu.org/software/pspp/
OCTAVE ใช้สำหรับการคำนวณทางวิศวกรรมและทางวิทยาศาสตร์ เช่นพวก Numerical analysis ภาษาใกล้เคียงกับ MATLAB แต่เป็น freeware สามารถเข้าไปดาวน์โหลดได้ที่ https://www.gnu.org/software/octave/ เช่นเดียวกันกับ scilab ซึ่งดาวน์โหลดได้ที่ http://www.scilab.org/download/latest
Microsoft R Open และ R Programming ซึ่งใช้ในการวิเคราะห์และการคำนวณทางสถิติ ทำเหมืองข้อมูล วิเคราะห์ข้อมูลทั้งทางสังคมศาสตร์ วิทยาศาสตร์ เศรษฐศาสตร์ มี package ให้ใช้งานฟรีกว่า 8,000 package ทำกราฟฟิคได้ดีเยี่ยม แต่ต้องเขียนโปรแกรมเป็น ดูรายละเอียดได้ที่ https://cran.r-project.org/web/views/ และไปดาวน์โหลดได้ที่ https://mran.revolutionanalytics.com/open/ ส่วนคนที่เขียนโปรแกรมอื่นๆ สามารถพัฒนาโปรแกรมด้วยภาษาเดิมเช่น Visual Studio กับภาษา R ได้ควบคู่กันได้ใน R tools for visual studio ไปดาวน์โหลดได้ที่ https://beta.visualstudio.com/vs/rtvs/ ซึ่ง Open Analytics เช่นนี้ และเป็น freeware จะช่วยให้การพัฒนา Application และนวัตกรรมต่างๆ ทำได้ง่ายและสะดวกมาก ในขณะนี้ R เป็นโปรแกรมทางสถิติที่มีผู้ใช้งานเป็นลำดับต้นๆ ของโลก และมีผู้ร่วมพัฒนา (Co-creation) มากมายอย่างต่อเนื่อง
R commander เป็นโปรแกรมสำเร็จรูปทางสถิติที่ใช้ Graphic User Interface ของ R ฟรีและใช้งานได้ง่ายมาก http://www.rcommander.com/
Weka เป็น freeware สำหรับ Data Mining และ Machine Learning เข้าไปทดลองใช้ได้ที่ http://www.cs.waikato.ac.nz/ml/weka/ แต่ต้องเขียน Java ได้
Open-source และ Freeware เมื่อรวมกับ Open Data จะทำให้เกิด Open Analytics ในขณะที่โลกก้าวไปข้างหน้าอย่างรวดเร็ว ประเทศไทยยังต้องเร่งให้เกิดทั้ง Open Data และ Open Analytics ให้มากขึ้น และต้องเหนี่ยวนำให้เกิด Open Innovation
นวัตกรรมเปิด หรือ Open Innovation คือการที่นวัตกรรมเกิดจากการร่วมพัฒนา (Co-creation) ของหลายๆ คน นำเอาความคิดทั้งนอกและในองค์การมาร่วมกันพัฒนา
สมมุติว่าราชบัณฑิตสภา เปิดข้อมูล พจนานุกรมทุกเล่มของราชบัณฑิตยสภาในรูปแบบของฐานข้อมูลที่ให้ผู้อื่นเข้าไปวิเคราะห์หรือร่วมพัฒนาได้ เราจะเห็นการพัฒนาพจนานุกรมอีเล็กทรอนิคส์ของไทยที่ดีกว่านี้อีกมาก หาได้ง่ายและน่าจะทำให้เกิดนวัตกรรมอีกมากมาย โดยมีคนภายนอก นิสิต นักศึกษา นักวิชาการ นักวิจัยเข้าไปร่วมพัฒนา
ทำอย่างไรให้เกิด Open Data, Open Analytics, และ Open Innovation ผมคิดว่าต้องมีการให้ความรู้แก่สังคม ต้องมีแหล่งนัดพบของคนทุกกลุ่มที่เกี่ยวข้อง คือ หน่วยงานเจ้าของข้อมูลผู้เป็นเจ้าของข้อมูล นักวิชาการ นักวิจัย นิสิตนักศึกษาระดับบัณฑิตศึกษา ที่น่าจะมีศักยภาพในการใช้ Open Analytics Tools มากที่สุด ถ้าใช้ไม่เป็นก็ต้องสอน ก็ต้องสร้าง Business Analysts และ Data Scientists ให้มีมากๆ ให้ทำงานได้จริง ในขณะเดียวกันก็ต้องมีภาคเอกชน มีนักวิจัย นักพัฒนา นักพัฒนาซอฟท์แวร์ มาเก็บเกี่ยวไอเดีย เข้าใจกระบวนการสร้างร่วมกัน (Co-creation) การพัฒนานวัตกรรมเปิด (Open Innovation) และมี Incubator โดยมีทีมให้ความช่วยเหลือทั้งด้าน Open Analytics และ Open innovation ซึ่งรวมถึงการทำให้เป็นเชิงพาณิชย์ (Commercialization) การสร้างแบรนด์ การจดทะเบียนทรัพย์สินทางปัญญา
ทั้งหมดนี้อาจจะจัด Trio Conference ดึงหน่วยงานที่เกี่ยวข้องอันได้แก่
ภาครัฐผู้เป็นเจ้าของ Open Data เช่น สำนักงานสถิติแห่งชาติ ตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย กรมอุตุนิยมวิทยา GISTDA กรมอุทกศาสตร์ กองทัพเรือ กระทรวงสาธารณสุข กระทรวงการคลัง กระทรวงศึกษาธิการ สำนักทดสอบทางการศึกษาแห่งชาติ มาเผยแพร่และอธิบายข้อมูลของตนเองที่เป็นข้อมูลเปิด เพื่อเชิญชวนนักวิชาการ นักวิจัย มาทำ Open Analytics
ภาควิชาการ เช่น มหาวิทยาลัยต่างๆ วช. สกว. สวทน. สวทช. มาสอนเรื่อง Open Analytics เชิญชวนนิสิต นักศึกษา ระดับบัณฑิตศึกษาเข้ามาฟังภาครัฐผู้เป็นเจ้าของ Open Data และมาเรียนรู้ Open Analytics Tools ต่างๆ เมื่อได้มาเห็นข้อมูล ได้มาเรียนรู้วิธีวิเคราะห์ข้อมูล ก็นำไอเดียไปพัฒนางานวิจัย เขียน proposal เพื่อขอใช้ข้อมูล ขอ consent ต่างๆ และทำให้นิสิต นักศึกษาต้องมาแข่งกันเสนอ proposal ที่มีคุณภาพเพื่อให้สามารถได้รับอนุญาตให้นำข้อมูลไปใช้และอาจจะมีทุนแถมพกให้อีกด้วย
ภาคเอกชน ก็มาเรียนรู้ Open Data และ Open Analytics เพื่อนำไปสู่ Open Innovation
ในระหว่างปีก็มีการจัด Open Data Clinic ให้คำแนะนำ กำหนดทิศทางในการสร้างงานวิจัยและพัฒนานวัตกรรม มีการจัด Open Analytics Clinic ให้คำแนะนำปรึกษาเรื่อง Analytics และมี Open Innovation Clinic and incubator ช่วยให้คำแนะนำปรึกษาในการสร้างนวัตกรรม
ในปีถัดไปก็อาจจะให้แสดงผลงานทั้งงานวิจัย งานพัฒนา และงานนวัตกรรมในงานเดียวกัน หากทำเช่นนี้ได้น่าจะเป็นช่วยส่งเสริมให้ประเทศไทยเข้าสู่ Digital Economy และ Knowledge-based economy ได้อย่างรวดเร็ว ตามนโยบาย Thailand 4.0
ว่าแต่ว่าใครจะเป็นเจ้าภาพงานนี้ดี ซึ่งต้องประสานทั้งสามภาคส่วน ผมคิดว่า สำนักงานรัฐบาลอิเล็กทรอนิกส์ น่าจะมีศักยภาพและความพร้อมมากที่สุด จึงขอฝาก ดร. ศักดิ์ เสกขุนทดไว้พิจารณาด้วยครับผม