xs
xsm
sm
md
lg

ประชากรศาสตร์ ปัญญาและการวิเคราะห์ธุรกิจ และ วิทยาการประกันภัยและการบริหารความเสี่ยง เกี่ยวข้องและเกื้อกูลกันอย่างไร

เผยแพร่:   โดย: อาจารย์ ดร. อานนท์ ศักดิ์วรวิชญ์

แฟ้มภาพ
อาจารย์ ดร. อานนท์ ศักดิ์วรวิชญ์
สาขาวิชา Business Analytics and Intelligence
สาขาวิทยาการประกันภัยและการบริหารความเสี่ยง
คณะสถิติประยุกต์ สถาบันบัณฑิตพัฒนบริหารศาสตร์


ประชากรศาสตร์ (Demography) เป็นศาสตร์ที่ศึกษาลักษณะและคาดการณ์จำนวนประชากร ได้แก่ การเกิด การเจ็บป่วย การแต่งงาน การเจริญพันธุ์ การย้ายถิ่น และการตาย

ปัญญาและการวิเคราะห์ธุรกิจ (Business Analytics and Intelligence) เป็นศาสตร์ที่บูรณาการสามศาสตร์คือ หนึ่ง สถิติ/คณิตศาสตร์ สอง วิทยาการคอมพิวเตอร์/ระบบและเทคโนโลยีสารสนเทศ และสามบริหารธุรกิจ เพื่อแปลงข้อมูลสู่สารสนเทศและปัญญาทางธุรกิจ ที่นำไปสู่ปัญญาในการแข่งขัน (Competitive Intelligence) และความสามารถในการแข่งขันทางธุรกิจ (Business Competitive Advantage)

วิทยาการประกันภัย (Actuarial Sciences) และการบริหารความเสี่ยง (Risk Management) เป็นคณิตศาสตร์สังคม ซึ่งประกอบด้วยสาขาวิชาต่างๆ ได้แก่ คณิตศาสตร์ ทฤษฎีความน่าจะเป็นและสถิติ การเงิน เศรษฐศาสตร์ เพื่อนำมาวางแผน ประเมินความเสี่ยง คิดรูปแบบการประกันภัย และคำนวณเบี้ยประกันภัย ประเมินความไม่แน่นอนในอนาคต สร้างแบบจำลองความเสี่ยง ทำนายความไม่แน่นอนและอนาคต วางแผนและจัดการความเสี่ยง ป้องกันและควบคุมความเสี่ยงที่จะเกิดขึ้น สามารถช่วยเหลือบรรเทาความเดือดร้อนของสังคมได้

สามสาขาวิชานี้มีความเกี่ยวข้องกันอย่างลึกซึ้ง

การจะสร้าง Business Competitive Advantage ต้องเข้าใจสภาวะประชากร ต้องมองเห็นอนาคตจากการฉายภาพประชากรว่าประชากรที่จะเป็นกลุ่มลูกค้าเป้าหมาย มีลักษณะประชากรเป็นเช่นไร ประเทศไทยจะเข้าสู่สังคมผู้สูงอายุ ลูกค้าผู้สูงอายุต้องการอะไร การจัดกลุ่มตลาด (Market segmentation) วิธีหนึ่งที่นิยมมากคือ Demographic segmentation จัดกลุ่มลูกค้าตามลักษณะประชากร เช่น ลูกค้าวัยรุ่นชาย น่าจะมีไลฟ์สไตล์ กิจกรรม ความสนใจ และความคิดเห็นที่แตกต่างจาก ลูกค้าหญิงสูงวัยเป็นต้น ประชากรศาสตร์ธุรกิจ (Business Demography) เป็นสาขาวิชาหนึ่งในประชากรศาสตร์ที่ใช้ความรู้ทางประชากรศาสตร์เพื่อมาสร้างความได้เปรียบในการแข่งขันทางธุรกิจ เข้าใจแนวโน้มของประชากรเพื่อให้สามารถวิเคราะห์ธุรกิจได้อย่างถ่องแท้มากขึ้น ธุรกิจการศึกษาของไทยจะลำบากมากขึ้นเรื่อยๆ เพราะมีเด็กเกิดน้อยมาก ในอนาคตใครที่คิดจะเปิดโรงเรียนหรือมหาวิทยาลัยคงไม่ใช่เรื่องง่ายๆ ที่จะทำได้สำเร็จและมีการดำเนินกิจการที่ดีพอ

สำหรับวิทยาการประกันภัยและการบริหารความเสี่ยงนั้น ใช้ความรู้และวิธีการทางประชากรศาสตร์มากมาย เช่น การคำนวณเบี้ยประกันภัยนั้นต้องอาศัยตารางชีพ (เรียกแบบนักประชากรศาสตร์) หรือ ตารางมรณะ (เรียกแบบนักคณิตศาสตร์ประกันภัย) ซึ่งแสดงความสัมพันธ์ระหว่างความน่าจะเป็นที่จะตายหรือเสียชีวิต และยังต้องอาศัยเทคนิคทางประชากรศาสตร์ที่เรียกว่าเทคนิคการฉายภาพประชากร (Demographic Projection) ในอนาคตว่าจะมีจำนวนประชากรเท่าใดและจำแนกตามเพศและอายุเป็นจำนวนอย่างละเท่าใด ทั้งสองวิธีการทางประชากรศาสตร์นี้ เป็นพื้นฐานในการประเมินทางคณิตศาสตร์ประกันภัย (Actuarial Valuation) เพื่อจะได้ทราบว่าควรต้องตั้งเงินทุนสำรองเป็นเท่าใด ต้องคิดเบี้ยประกันภัยเป็นเท่าใด และต้องนำเงินเหล่านั้นไปบริหารอย่างไรให้ได้ผลตอบแทนที่เหมาะสมภายใต้ความเสี่ยงที่ยอมรับได้เพื่อให้กองทุนสามารถอยู่รอดได้อย่างยั่งยืนสำหรับผู้เป็นสมาชิกกองทุนเป็นต้น

นอกจากนี้ในปัจจุบันวิทยาการประกันภัยและการบริหารความเสี่ยงนั้น ยังต้องใช้ความรู้ทางปัญญาและการวิเคราะห์ธุรกิจเป็นอย่างมาก ความสำคัญของ Business Analytics and Intelligence นั้นทำให้ Society of Actuaries เปลี่ยนแปลงหลักสูตรวิชาสอบให้มีวิชาที่เกี่ยวข้องกับ Business Analytics มากขึ้น เช่น Predictive Analytics และ Risk Modeling เป็นอาทิ การบริหารความเสี่ยงนั้นต้องมีการวิเคราะห์ข้อมูลทางธุรกิจ เช่น วิเคราะห์ว่ากรมธรรม์ประกันสุขภาพมีอัตราการสูญเสีย (Loss Ratio) ซึ่งคือจำนวนสินไหมที่จ่ายไป/จำนวนเบี้ยประกันที่รับเข้ามา จำแนกตามลูกค้า ตัวแทนจำหน่าย แพทย์ และโรงพยาบาล เป็นต้น การควบคุมการเบิกจ่ายสินไหมทำให้บริษัทประกันภัยอยู่รอดและมีกำไรได้ ต้องอาศัยข้อมูลแบบจำลองทางสถิติ และ Business Analytics อยู่ต่อเวลา งานที่เป็นส่วนผสมระหว่าง Business Analytics กับ Actuaries คือ Actuarial Analyst ทำหน้าที่วิเคราะห์ข้อมูลเกี่ยวกับกรมธรรม์และการเบิกจ่าย เพื่อเป็นฐานสำหรับการนำไปคิดเบี้ยประกันภัยและการบริหารความเสี่ยง แม้กระทั่งการออกแบบกรมธรรม์ประกันภัย (Product development) ก็ต้องอาศัยการวิเคราะห์ตลาด (Marketing Analytics) เพื่อให้เข้าใจพฤติกรรมของผู้บริโภคที่จะมาเป็นลูกค้าของบริษัทประกันภัย

ในงาน The First NIDA Business Analytics and Data Sciences Conference ซึ่งจะจัดในวันที่ 1-2 กันยายน นี้ มี Session หนึ่งซึ่งชื่อ Demographic and Actuarial Analytics มีผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.ปรีชา วิจิตรธรรมรส เป็น Chair จะได้นำเสนอความสัมพันธ์อย่างลึกซึ้งระหว่างสามศาสตร์ดังกล่าว

งานวิจัยสองชิ้น อาศัยความรู้ทาง Business Analytics เพื่อออกแบบผลิตภัณฑ์ทางการเงินและกรมธรรม์ประกันภัย คือ นำเสนอขาย RMF อย่างไรให้ได้ผล : การศึกษาเชิงทดลอง โดย ดนุพล ทองคำ และ นพพล อัตต์สินทอง และ ออกแบบกรมธรรมประกันชีวิตให้เข้าใจง่ายและดึงดูดใจคนซื้อ : การศึกษาตัวแปรส่งผ่านด้วย Bootstrapping โดย ตรัยคุณ โชประการ บุญชัย สุนทรวุฒิไกร ทำให้เราทราบว่าการใช้คำที่เข้าใจง่าย ให้ข้อมูลที่ครบถ้วนสมบูรณ์ แต่เนื้อหาไม่ยาวจนเกินไป ไม่นำเสนอขายจนมีตัวเลือกมากเกินไปจะช่วยให้ลูกค้ารู้สึกว่าตนเองมีความรู้ความเข้าใจมากขึ้นและทำให้มีความรู้เพิ่มขึ้นจริงและอยากที่จะซื้อ มาลองดูว่าสัญญากรมธรรม์ประกันภัยที่เขียนให้ได้แบบที่ว่าหน้าตาเป็นอย่างไร มีเทคนิคในการนำเสนอขายอย่างไรที่จะช่วยให้ขายได้

งานวิจัยที่ใช้วิธีการทางประชากรศาสตร์เพื่อศึกษาปัจจัยที่มีผลต่อการอยู่รอด และเป็นวิธีการที่นักคณิตศาสตร์ประกันชีวิตใช้กันอย่างแพร่หลาย ที่เรียกว่า การวิเคราะห์การอยู่รอด (Survival Analysis) เพื่อคำนวณหาโอกาสที่จะอยู่รอดจากการเจ็บป่วย โดยมีตัวแปรที่สนใจศึกษาคือระยะเวลาที่อยู่รอดจนวันที่เสียชีวิต ได้แก่ Proportional Hazard Model for Predicting Stroke Mortality โดย พิมพ์ชนก พุฒขาว นักศึกษาปริญญาเอกสาขาวิชาประชากรและการพัฒนา เจ้าหน้าที่เวชสถิติ สถาบันประสาทวิทยา กรมการแพทย์ กระทรวงสาธารณสุข และ รศ.ดร.เดือนเพ็ญ ธีรวรรณวิวัฒน์ จะพยากรณ์การอยู่รอดและศึกษาปัจจัยที่มีผลต่อการอยู่รอดของผู้ป่วยเส้นเลือดในสมองตีบหรือแตก อันเป็นพื้นฐานที่เชื่อมโยงกับประกันสุขภาพ

การประกันภัยรถภาคบังคับและการคำนวณค่าสินไหมสมบูรณ์ ซึ่งใช้ความรู้ทางสถิติและวิทยาการประกันภัยในการคำนวณ และเป็นงานที่สะท้อนความเป็นคณิตศาสตร์สังคมของวิทยาการประกันภัยอย่างแท้จริง เพราะพรบ รถ ภาคบังคับ ช่วยทำให้ทุกคนที่ประสบอุบัติเหตุได้รับการรักษาและทำให้ไม่ต้องมีใครตายข้างถนนโดยไม่ได้รับการรักษาพยาบาล นำเสนอโดย ดวงพร ศรีว่องไทย ผู้อำนวยการ สำนักบริหารอัตราและการรักษาพยาบาล บริษัทกลางคุ้มครองผู้ประสบภัยจากรถ จำกัด

การฉายภาพประชากรข้าราชการไทยใน 30 ปีข้างหน้า ทำให้เราทราบว่าข้าราชการไทยมีอายุเฉลี่ยสูงมาก ในอีก 30 ปีข้างหน้ารัฐบาลต้องดูแลข้าราชการบำนาญจำนวนมหาศาลและผู้มีสิทธิในการเบิกจ่ายค่ารักษาพยาบาลตามสิทธิราชการ นอกจากนี้อายุเฉลี่ยของข้าราชการที่เข้ารับราชการใหม่ในปัจจุบันก็สูงมากจนถึง 31 ปี งานวิจัยนี้สร้างตารางมรณะและฉายภาพประชากรข้าราชการไทย โดย อาจารย์ ดร. อานนท์ ศักดิ์วรวิชญ์ รศ.ดร.เดือนเพ็ญ ธีรวรรณวิวัฒน์ ผศ. ดร. ปรีชา วิจิตรธรรมรส ผศ. วีณา ฉายศิลปรุ่งเรือง รศ. ดร. โอม ศรนิล รศ. ดร. พาชิตชนัต ศิริพานิช และวศิน แก้วชาญค้า

และงานวิจัย เสถียรภาพและความมั่นคงของกองทุนการออมแห่งชาติ: การประเมินทางคณิตศาสตร์ประกันภัย โดย รัฐรักษ์ สวัสดิเกียรติ ฝ่ายคณิตศาสตร์ประกันภัย(Corporate Actuarial) บริษัท เอฟดับบลิวดี ประกันชีวิต จำกัด(มหาชน) และ ผศ. วีณา ฉายศิลปรุ่งเรือง จะช่วยให้เห็นว่ากองทุนการออมแห่งชาติจะประสบปัญหาทางการเงินหรือไม่ เมื่อประเทศไทยเข้าสู่สังคมผู้สูงอายุและต้องจ่ายเงินบำนาญให้กับสมาชิก กอช แล้ว กอช จะอยู่รอดหรือไม่ มีเสถียรภาพหรือความมั่นคงหรือไม่ จะประสบปัญหาเช่นเดียวกันกับกองทุนประกันสังคมซึ่งเงินกองทุนอาจจะติดลบภายใน 29 ปีข้างหน้านี้หรือไม่?

ในปัจจุบันและในอนาคต ธุรกิจและอุตสาหกรรมต้องการ Business Analyst, Data Scientist, และ Actuaries อย่างมากมหาศาล เมื่อโลกเชื่อมโยงด้วย internet of things ทำให้เกิด Big Data ขึ้นมามากมาย ในขณะที่ประเทศไทยกำลังเข้าสู่สังคมผู้สูงอายุเต็มตัว อาชีพนักคณิตศาสตร์ประกันภัยก็ขาดแคลนแสนสาหัสและทำรายได้ที่ดีได้ทั้งคู่ ขณะนี้ทั้งสองอาชีพนั้นมีกำลังคนไม่เพียงพอ ทำให้ต้องไปจ้างต่างชาติมาทำงานในประเทศไทยมากมาย และคนไทยยังเข้ามาเรียนกันน้อยมาก เมื่อเทียบกับจีน อินเดีย และเกาหลี นิสิต นักศึกษา ที่สนใจ มีพื้นฐานคณิตศาสตร์และภาษาอังกฤษที่ดีพอสมควร น่าจะเป็นอีกทางเลือกหนึ่งสำหรับอาชีพแห่งอนาคตได้

สำหรับรายละเอียด Conference ดูเพิ่มเติมได้ที่ https://businessanalyticsnida.wordpress.com/ สนใจลงทะเบียนฟรีสำหรับนักศึกษาระดับปริญญาตรี
กำลังโหลดความคิดเห็น