ผู้จัดการรายวัน 360 - “บิ๊กตู่” ใช้อำนาจ ม.44 ติดดาบ กสทช.-กสท. ควบคุมสื่อ/รายการที่กระทบความมั่นคง-ความสงบได้ โดยไม่มีความผิดทั้งทางแพ่ง-อาญา แต่ให้สิทธิ์สื่อเรียกค่าเสียหายได้ “สุภิญญา” ทวิตค้าน ห่วงใช้อำนาจไม่ระวัง เชื่อเป้าแรก “พีซทีวี” ก่อนขยายไปที่อื่น ปลุกองค์กรสื่อไม่ยอมรับคำสั่ง
วานนี้ (14 ก.ค.) เวบไซต์ราชกิจจานุเบกษา ได้เผยแพร่คำสั่ง หัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ที่ 41/2559 เรื่อง การกำกับดูแลการเผยแพร่ข้อมูลข่าวสารต่อสาธารณะ โดยมีสาระสำคัญระบุว่า พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา หัวหน้า คสช.ได้อาศัยอำนาจตามมาตรา 44 ของรัฐธรรมนูญฉบับชั่วคราวมีคำสั่งให้ คณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กสทช.) และ คณะกรรมการกิจการกระจายเสียงและกิจการโทรทัศน์ (กสทช.) มีอำนาจในการควบคุมดูแลมิให้มีการเสนอข้อมูลข่าวสารหรือการออกอากาศรายการที่มีเนื้อหาสาระที่ก่อให้เกิดการล้มล้างการปกครองในระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข หรือที่มีผลกระทบต่อความมั่นคงของรัฐ ความสงบเรียบร้อยหรือศีลธรรมอันดีของประชาชน โดยจะได้รับความคุ้มครอง ไม่ต้องรับผิดทั้งทางแพ่ง ทางอาญา และทางวินัย จากการกระทำดังกล่าว ไม่ตัดสิทธิผู้ได้รับความเสียหายที่จะเรียกร้องค่าเสียหายจากทางราชการตามกฎหมายว่าด้วยความรับผิดทางละเมิดของเจ้าหน้าที่ โดยคำสั่งดังกล่างมีผลบังคับใช้ทันที
** ยันคิดนานแล้ว แต่เพิ่งประกาศ
นายวิษณุ เครืองาม รองนายกรัฐมนตรี กล่าวชี้แจงว่า ที่ผ่านมาการทำงานของ กสทช. และกสท. ไม่มีอะไรคุ้มครอง จนบางครั้งถูกฟ้อง จึงออกคำสั่งคุ้มครอง เพราะถือว่าเป็นเจ้าหน้าที่ แต่ไม่ได้ตัดสิทธิของสถานีโทรทัศน์ที่จะเรียกร้องค่าเสียหาย เพราะถ้าทั้ง 2 หน่วยงานเลือกปฏิบัติ ลำเอียง สามารถฟ้องได้เช่นกัน และ กสทช.กับ กสท.เองไม่มีอำนาจทำอะไรตามอำเภอใจ ไม่มีอำนาจกระทำเกินกว่าเหตุด้วย
“ยืนยันการออกคำสั่งดังกล่าวไม่เกี่ยวข้องกับกรณีที่สถานีโทรทัศน์พีซทีวีไปฟ้อง กสทช.ต่อศาลปกครองกลาง เนื่องจากได้พิจารณาคำสั่งนี้มานานแล้ว แต่เพิ่งประกาศใช้ และมาตรการนี้จะไม่ส่งผลต่อบรรยากาศการทำประชามติ รวมทั้งจะไม่ส่งผลกระทบต่อสื่ออื่น” นายวิษณุ ระบุ
** “สุภิญญา” ปลุกองค์กรสื่อลุกขึ้นสู้
ด้าน น.ส.สุภิญญา กลางณรงค์ กรรมการ กสทช. ได้แสดงความเห็นผ่านทวิตเตอร์ ระบุว่า ไม่เคยเห็นด้วยกับการปิดสื่อที่เห็นต่างทางการเมืองและได้ทำหน้าที่ต่อสู้หลักการใช้อำนาจทางกฎหมายมาตลอด ให้สื่อไปสู้ต่อที่ศาลปกครองได้ คำสั่งตามมาตรา 44 ของ คสช.ในวันนี้ เป็นการปกป้องการใช้อำนาจของ กสท. และ กสทช.(เสียงข้างมาก) จะกระทบกับภาพรวมเสรีภาพสื่อทั้งหมด ไม่ใช่แค่สถานีพีซทีวีเท่านั้น โดยปัจจุบัน กสทช.มีอำนาจกำกับสื่อได้อยู่แล้ว แต่ต้องใช้อำนาจอย่างรอบคอบ มีการถ่วงดุล การนำ มาตรา 44 มาปกป้องทำให้ กสทช.ใช้อำนาจแรงขึ้นได้อีก ส่วนประเด็นที่บอกว่า กสทช.ไม่ต้องรับผิดชอบทางอาญาหรือแพ่ง แต่ให้อำนาจเอกชนเรียกค่าเสียหายจากรัฐได้นั้น ก็เป็นการผลักภาระจาก กสทช.ไปให้เงินหลวง
น.ส.สุภิญญา ระบุด้วยว่า กรณีพีซทีวีเป็นเพียงกรณีตั้งต้นที่ตอนนี้ศาลคุ้มครองอยู่ และ กสท.ใช้อำนาจสั่งปิดซ้ำ จากนี้รอผลจากศาลปกครองอีกรอบ ต่อไปอาจมีกรณีอื่นๆ ตามมา ส่วนตัวไม่มีเจตนาอยากจะเห็นเพื่อนๆ กสทช.เสียงข้างมากถูกฟ้องอาญาหรือแพ่งจากการทำงาน แต่การมีมาตรา 44 มาคุ้มครองจะทำให้ขาดความระวังใช้อำนาจ ผลกระทบจากมาตรา 44 ครั้งนี้ ไม่ใช่ต่อช่องพีซทีวีเท่านั้น แต่จะส่งผลต่ออุตสาหกรรมสื่อวิทยุและโทรทัศน์ทั้งหมด ที่ควรตื่นตัวและมีความเห็น
“ดิฉันเห็นว่าองค์กรสื่อ วิชาชีพสื่อ อุตสาหกรรมสื่อควรแสดงจุดยืนต่อคำสั่ง คสช.เพื่อการถ่วงดุลอำนาจของ กสทช. ให้สื่อใช้สิทธิ์สู้ในศาลต่อได้ ไม่ว่าจะเป็นศาลปกครอง ศาลอาญา หรือศาลแพ่ง เพราะเป็นการต้องรับผิดชอบกับการใช้อำนาจของรัฐอย่างเป็นธรรมของรัฐ ตามกระบวนการ Rule of Law” น.ส.สุภิญญา ระบุ
** ส.นักข่าวฯจี้ คสช.ทบทวน
ขณะที่ นายเทพชัย หย่อง นายกสมาคมนักข่าววิทยุและโทรทัศน์ไทย กล่าวแสดงความไม่เห็นด้วยว่า เรื่องแบบนี้ไม่ควรเกิดขึ้นในบรรยากาศก่อนการลงประชามติร่างรัฐธรรมนูญ ซึ่งเป็นช่วงที่ทุกคนโดยเฉพาะสื่อควรมีเสรีภาพในการแสดงความเห็นเพื่อให้สังคมมีข้อมูลรอบด้านที่สุดในการตัดสินใจ เพราะฉะนั้นการมีคำสั่งนี้ออกมาก็ทำให้สื่อมีความรู้สึกว่าไม่สามารถทำหน้าที่ อยากให้ คสช. ทบทวนเรื่องนี้ เพราะปกติ กสทช.ก็มีกระบวนการที่จะบริหารจัดการกับผู้รับใบอนุญาตอยู่แล้ว มีกติกาที่ชัดเจน มีกระบวนการที่จะอุทธรณ์ต่อศาลปกครอง ถ้าจะบอกว่าปัจจุบันเป็นประชาธิปไตยก็ควรมีกระบวนการแบบนั้นอยู่ เพราะในคำสั่งอ้างว่า เป็นประชาธิปไตยอยู่แล้ว เมื่อคุณพูดว่าเป็นประชาธิปไตยอยู่ก็ต้องเคารพกฎกติกาที่อยู่ภายใต้กรอบประชาธิปไตย
“ผมไม่แน่ใจว่า คสช. หรือ กสทช. มีข้อตกลงอะไรกันอยู่หรือเปล่า มันก็ทำให้บทบาทของ กสทช. ที่เป็นองค์กรอิสระก็ถูกมองว่าถูกแทรกแซง และยิ่งทำให้คนตั้งคำถามถึงร่างกฎหมาย กสทช. ที่ขณะนี้อยู่ในสภานิติบัญญัติแห่งชาติว่าจะทำให้มีความเป็นอิสระแค่ไหน" นายเทพชัยกล่าว.
.
วานนี้ (14 ก.ค.) เวบไซต์ราชกิจจานุเบกษา ได้เผยแพร่คำสั่ง หัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ที่ 41/2559 เรื่อง การกำกับดูแลการเผยแพร่ข้อมูลข่าวสารต่อสาธารณะ โดยมีสาระสำคัญระบุว่า พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา หัวหน้า คสช.ได้อาศัยอำนาจตามมาตรา 44 ของรัฐธรรมนูญฉบับชั่วคราวมีคำสั่งให้ คณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กสทช.) และ คณะกรรมการกิจการกระจายเสียงและกิจการโทรทัศน์ (กสทช.) มีอำนาจในการควบคุมดูแลมิให้มีการเสนอข้อมูลข่าวสารหรือการออกอากาศรายการที่มีเนื้อหาสาระที่ก่อให้เกิดการล้มล้างการปกครองในระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข หรือที่มีผลกระทบต่อความมั่นคงของรัฐ ความสงบเรียบร้อยหรือศีลธรรมอันดีของประชาชน โดยจะได้รับความคุ้มครอง ไม่ต้องรับผิดทั้งทางแพ่ง ทางอาญา และทางวินัย จากการกระทำดังกล่าว ไม่ตัดสิทธิผู้ได้รับความเสียหายที่จะเรียกร้องค่าเสียหายจากทางราชการตามกฎหมายว่าด้วยความรับผิดทางละเมิดของเจ้าหน้าที่ โดยคำสั่งดังกล่างมีผลบังคับใช้ทันที
** ยันคิดนานแล้ว แต่เพิ่งประกาศ
นายวิษณุ เครืองาม รองนายกรัฐมนตรี กล่าวชี้แจงว่า ที่ผ่านมาการทำงานของ กสทช. และกสท. ไม่มีอะไรคุ้มครอง จนบางครั้งถูกฟ้อง จึงออกคำสั่งคุ้มครอง เพราะถือว่าเป็นเจ้าหน้าที่ แต่ไม่ได้ตัดสิทธิของสถานีโทรทัศน์ที่จะเรียกร้องค่าเสียหาย เพราะถ้าทั้ง 2 หน่วยงานเลือกปฏิบัติ ลำเอียง สามารถฟ้องได้เช่นกัน และ กสทช.กับ กสท.เองไม่มีอำนาจทำอะไรตามอำเภอใจ ไม่มีอำนาจกระทำเกินกว่าเหตุด้วย
“ยืนยันการออกคำสั่งดังกล่าวไม่เกี่ยวข้องกับกรณีที่สถานีโทรทัศน์พีซทีวีไปฟ้อง กสทช.ต่อศาลปกครองกลาง เนื่องจากได้พิจารณาคำสั่งนี้มานานแล้ว แต่เพิ่งประกาศใช้ และมาตรการนี้จะไม่ส่งผลต่อบรรยากาศการทำประชามติ รวมทั้งจะไม่ส่งผลกระทบต่อสื่ออื่น” นายวิษณุ ระบุ
** “สุภิญญา” ปลุกองค์กรสื่อลุกขึ้นสู้
ด้าน น.ส.สุภิญญา กลางณรงค์ กรรมการ กสทช. ได้แสดงความเห็นผ่านทวิตเตอร์ ระบุว่า ไม่เคยเห็นด้วยกับการปิดสื่อที่เห็นต่างทางการเมืองและได้ทำหน้าที่ต่อสู้หลักการใช้อำนาจทางกฎหมายมาตลอด ให้สื่อไปสู้ต่อที่ศาลปกครองได้ คำสั่งตามมาตรา 44 ของ คสช.ในวันนี้ เป็นการปกป้องการใช้อำนาจของ กสท. และ กสทช.(เสียงข้างมาก) จะกระทบกับภาพรวมเสรีภาพสื่อทั้งหมด ไม่ใช่แค่สถานีพีซทีวีเท่านั้น โดยปัจจุบัน กสทช.มีอำนาจกำกับสื่อได้อยู่แล้ว แต่ต้องใช้อำนาจอย่างรอบคอบ มีการถ่วงดุล การนำ มาตรา 44 มาปกป้องทำให้ กสทช.ใช้อำนาจแรงขึ้นได้อีก ส่วนประเด็นที่บอกว่า กสทช.ไม่ต้องรับผิดชอบทางอาญาหรือแพ่ง แต่ให้อำนาจเอกชนเรียกค่าเสียหายจากรัฐได้นั้น ก็เป็นการผลักภาระจาก กสทช.ไปให้เงินหลวง
น.ส.สุภิญญา ระบุด้วยว่า กรณีพีซทีวีเป็นเพียงกรณีตั้งต้นที่ตอนนี้ศาลคุ้มครองอยู่ และ กสท.ใช้อำนาจสั่งปิดซ้ำ จากนี้รอผลจากศาลปกครองอีกรอบ ต่อไปอาจมีกรณีอื่นๆ ตามมา ส่วนตัวไม่มีเจตนาอยากจะเห็นเพื่อนๆ กสทช.เสียงข้างมากถูกฟ้องอาญาหรือแพ่งจากการทำงาน แต่การมีมาตรา 44 มาคุ้มครองจะทำให้ขาดความระวังใช้อำนาจ ผลกระทบจากมาตรา 44 ครั้งนี้ ไม่ใช่ต่อช่องพีซทีวีเท่านั้น แต่จะส่งผลต่ออุตสาหกรรมสื่อวิทยุและโทรทัศน์ทั้งหมด ที่ควรตื่นตัวและมีความเห็น
“ดิฉันเห็นว่าองค์กรสื่อ วิชาชีพสื่อ อุตสาหกรรมสื่อควรแสดงจุดยืนต่อคำสั่ง คสช.เพื่อการถ่วงดุลอำนาจของ กสทช. ให้สื่อใช้สิทธิ์สู้ในศาลต่อได้ ไม่ว่าจะเป็นศาลปกครอง ศาลอาญา หรือศาลแพ่ง เพราะเป็นการต้องรับผิดชอบกับการใช้อำนาจของรัฐอย่างเป็นธรรมของรัฐ ตามกระบวนการ Rule of Law” น.ส.สุภิญญา ระบุ
** ส.นักข่าวฯจี้ คสช.ทบทวน
ขณะที่ นายเทพชัย หย่อง นายกสมาคมนักข่าววิทยุและโทรทัศน์ไทย กล่าวแสดงความไม่เห็นด้วยว่า เรื่องแบบนี้ไม่ควรเกิดขึ้นในบรรยากาศก่อนการลงประชามติร่างรัฐธรรมนูญ ซึ่งเป็นช่วงที่ทุกคนโดยเฉพาะสื่อควรมีเสรีภาพในการแสดงความเห็นเพื่อให้สังคมมีข้อมูลรอบด้านที่สุดในการตัดสินใจ เพราะฉะนั้นการมีคำสั่งนี้ออกมาก็ทำให้สื่อมีความรู้สึกว่าไม่สามารถทำหน้าที่ อยากให้ คสช. ทบทวนเรื่องนี้ เพราะปกติ กสทช.ก็มีกระบวนการที่จะบริหารจัดการกับผู้รับใบอนุญาตอยู่แล้ว มีกติกาที่ชัดเจน มีกระบวนการที่จะอุทธรณ์ต่อศาลปกครอง ถ้าจะบอกว่าปัจจุบันเป็นประชาธิปไตยก็ควรมีกระบวนการแบบนั้นอยู่ เพราะในคำสั่งอ้างว่า เป็นประชาธิปไตยอยู่แล้ว เมื่อคุณพูดว่าเป็นประชาธิปไตยอยู่ก็ต้องเคารพกฎกติกาที่อยู่ภายใต้กรอบประชาธิปไตย
“ผมไม่แน่ใจว่า คสช. หรือ กสทช. มีข้อตกลงอะไรกันอยู่หรือเปล่า มันก็ทำให้บทบาทของ กสทช. ที่เป็นองค์กรอิสระก็ถูกมองว่าถูกแทรกแซง และยิ่งทำให้คนตั้งคำถามถึงร่างกฎหมาย กสทช. ที่ขณะนี้อยู่ในสภานิติบัญญัติแห่งชาติว่าจะทำให้มีความเป็นอิสระแค่ไหน" นายเทพชัยกล่าว.
.